ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
Latitude : N 15° 43' 7.6552"
15.7187931
Longitude : E 100° 26' 22.7616"
100.4396560
No. : 197567
การแทงหยวกกล้วย
Proposed by. นครสวรรค์ Date 4 October 2022
Approved by. นครสวรรค์ Date 4 October 2022
Province : Nakhon Sawan
0 826
Description

ศิลปะการแทงหยวก เป็นหนึ่งในงานช่าง ๑0 หมู่ ประเภทงานสลักของอ่อน เป็นงานฝีมือที่สร้างสรรค์โดยช่างผู้ ชำนาญ ใช้วัสดุธรรมชาติที่หาง่าย ผลงานมีระยะเวลาในการคงอยู่ในระยะสั้น ๆ ไม่คงทนถาวร ตามลักษณะของ วัสดุ โดยเป็นการนำหยวกกล้วยมาฉลุลวดลายประดับตกแต่งในงานต่างๆ ทั้งงานมงคลและงานอวมงคล ได้แก่ งานบวช งานโกนจุก งานกฐิน ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ งานพิธีทางศาสนา ทำบุษบกแห่พระวันออกพรรษา และ งานศพ เป็นต้น

1.พิธีไหว้ครูก่อนการแทงหยวก

ก่อนจะเริ่มทำการแทงหยวก ช่างแทงหยวกจะต้องไหว้ครูเพื่อระลึกถึงพระคุณของครูบาอาจารย์ที่ให้วิชา ความรู้เหมือนกับช่างศิลปะแขนงอื่น ๆ ซึ่งเครื่องไหว้ที่ใช้ในพิธีไหว้ครูก่อนการแทงหยวกจะประกอบด้วยดอกไม้ ธูปเทียน น้ำ เหล้า บุหรี่ อุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ และแผ่นหยวกที่แทงเป็นลายแล้วสำหรับไหว้ครูเครื่องไหว้ ทั้งหมดจะนำมาใส่ในถาดรวมกันแล้วตั้งไว้บนโต๊ะใกล้ บริเวณที่ทำการแทง ซึ่งช่างทุกคนต้องไหว้ครูและเครื่องมือ ก่อนทำงานโดยว่าตามบทสวด ดังนี้

(ตั้งนะโม 3 จบ) "ลูกขอไหว้คุณครูผู้ประสาทวิชาให้แก่ตัวลูก ลูกของไหว้พระอินทร์ พระพรหม พระยม พระกาฬ พระจตุโลกบาลทั้งสี่ พระภูมิเจ้าที่ พระธรณี พระแม่คงคา แม่พระพาย สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก พระ วิษณุกรรม ท้าวเวสสุวรรณ ครูพักลักจำ ครูแนะครูนำ ครูสั่งครูสอน ที่ได้ประสาทพรให้แก่ลูกมา พุทธังประสิทธิเม ธรรมมังประสิทธิเม สังฆังประสิทธิเม" (กราบ 3 ครั้ง)

2.การแทงหยวกประดับจิตกาธาน

พระจิตกาธาน หรือ เชิงตะกอน แรกเริ่มคงจะมีที่มาจากธรรมเนียมการปลงศพของอินเดีย โดยใช้กองฟืน วางช้อนกันให้สูงใหญ่ จำนวนฟืนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชั้นยศของผู้วายชนม์ ต่อมาจึงคิดสร้างพื้นยกขึ้นเรียกว่า "ร้านม้า" สำหรับตั้งศพคร่อมเหนือกองฟืน ซึ่งร้านม้าที่ยกขึ้นนั้น ทำหน้าที่เป็นฐานสำหรับเผาศพ โดยใช้ไม้ไผ่หรือ้นหมากมาปักเรียงกัน ประมาณ ๓ คู่ นำฟืนเรียงใส่ให้เต็มในช่องว่าง นำหีบศพวางบนร้านม้าแล้วจุดไฟเผา ลักษณะเช่นนี้จะพบการปลงศพตามหมู่บ้านชนบท ที่นิยมปลงศพในป่าช้า เพราะใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นนั้นๆ

เมื่อค้นหาความเป็นมาของงานแทงหยวกในพงศาวดาร พบว่า สยามประเทศ หรือประเทศไทยในปัจจุบัน เป็นชาติแรกและชาติเดียวในโลก ที่มีงานช่างแทงหยวก ถือเป็นงานช่างของคนไทยโดยแท้จริง ซึ่งปัจจุบันนี้มีไม่กี่ ประเทศที่มีการใช้งานแทงหยวกมาประกอบพิธีกรรม

ความสำคัญของการแกะสลักหยวกกล้วยที่ปรากฎในวรรณคดี ขุนช้างขุนแผน เมื่อพระไวยกล่าวถึงการให้ ขุดศพนางวันทองขึ้นมา แล้วกล่าวถึงการทำพิธีว่าสถานที่วางหีบศพนั้นตกแต่งอย่างสวยงามและวิจิตรพิสดารเป็น รูปภูเขา มีน้ำตกมีสัตว์ต่างๆ มีกุฏิพระฤษี มีเทวดา เช่น รามสูร เมขลา ที่ตั้งศพที่เป็นภูเขานี้เห็นจะเป็นประเพณี ไทยที่เก่าแก่ ที่ทำเช่นนั้นก็คงหมายถึงว่า เขาพระสุเมรุคงเป็นที่เทวดาอยู่ตรงกับสวรรค์ ผู้ตายนั้น ถือว่าจะต้องไป สวรรค์ เช่น พระเจ้าแผ่นดินตาย เรียกว่า "สวรรคต" จึงนิยมทำศพให้เป็นภูเขา พระสุเมรุหรือเมรุ คือ ทำที่ตั้งเป็น ภูเขาทั้งสิ้น ต่อมาคงจะเปลี่ยนแปลงไป เช่น งานหลวงเล็กทำเป็นภูเขาเปลี่ยนทำเป็นเครื่องไม้เพราะอาจทำให้ สวยงามให้เป็นชั้นลดหลั่นลงมาเป็นเหลี่ยมจะหักมุมย่อให้วิจิตรพิสดารอย่างใดก็ได้ แต่แม้จะเอาภูเขาพระสุเมรุ จริง ๆ ออกไปก็ยังคงเรียกเมรุตามที่เคยเรียกมา เมรุ จึงกลายเป็นที่ตั้งศพไปบ้างก็ว่าศิลปะการแทงหยวกเกิดขึ้นจาก สมัยพระนเรศวรมหาราชล่าแผ่นดิน ในสมัยก่อนช่างอันดับ๑ คือ ช่างเหล็ก อันดับ ๒ คือช่างแทงหยวก

ไปรบที่ไหนก็ตายที่นั่น เผาที่นั่น ใช้ไม้ไผ่เป็นเชิงตะกอนแล้วนำหยวก (ต้นกล้วย) มาคุมเชิงตะกอนก่อนจะเผา แล้ว พัฒนาหยวกให้เกิดลวดลายที่สวยงาม จนเกิดคุณค่าแห่งความงามต่อสังคมไทยเรา ในการแทงหยวกจะช่วยพัฒนาสังคมในด้านจิตใจ ให้คนเห็นคุณค่า "ปรัชญา" ความสดสวย ไม่ช้าก็เหี่ยวแห้งเป็นธรรมดาตามหลักศาสนา

3.การเลือกต้นกล้วยในการแทงหยวก

พันธุ์กล้วยที่ดีที่สุดในการใช้แทงหยวก คือ กล้วยตานีที่ยังไม่ออกเครือ ด้วยคุณสมบัติของกล้วยตานีที่ รวงผึ้งด้านในกาบกล้วยค่อนข้างถี่กว่ากล้วยพันธุ์อื่น ๆ ทำให้หยวกกล้วยมีความชุ่มน้ำ ส่งผลให้ผิวของกาบกล้วย ตานีมีความคงทน สวยงาม ไม่เปราะบาง หรือแตกง่าย ไม่เน่าเปื่อย แต่จะเหี่ยวแห้งไปตามกาลเวลา ลักษณะพิเศษ ของกล้วยตานีอีกประการหนึ่งคือ เนื้อผิวหยวกมีสีขาวนวลสวย และมีเส้นใยที่สามารถมองเห็นเป็นแนวได้ ต้นกล้วยที่จะนำมาใช้ในการแทงหยวก ควรเลี้ยงให้ลำต้นมีความสูงตั้งแต่ 3 เมตรขึ้นไป และมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ของโคนต้นประมาณ ๒0 เซนติเมตร จึงจะเหมาะกับการฉลุลายได้ดี

ในการดำเนินการตัดต้นกล้วยนั้นจะต้องมีการทำพิธีขอขมาต้นกล้วยเสียก่อน ซึ่งช่างแทงหยวกจะทำพิธีขอ ขมาโดยใช้ใบตองห่อเศษเงินที่มีอยู่ในกระเป๋า จากนั้นจึงกล่าวบทสวดขอขมา แล้วซุกเงินไว้บริเวณโคนต้นกล้วย

การตัดต้นกล้วยจะตัดในทิศทางที่ให้ต้นเอนล้มใส่คนตัด เพื่อมิให้ต้นกล้วยนั้นหล่นลงพื้น จากนั้นจึงตัด ปลายต้นกล้วยออก เพื่อไม่ให้ต้นกล้วยช้ำ โดยจะตัดต้นกล้วยในแนวทแยงเพื่อให้ต้นกล้วยนั้นได้แทงหน่อต่อไปและ เว้นระยะการตัดจากโคนต้นประมาณ 1 คืบ เมื่อได้ต้นกล้วยตามที่ต้องการแล้วจึงนำมาตัดหัวตัดท้ายออกจากนั้น ทำการลอกกาบออกทีละชั้นด้วยความระมัดระวัง โดยใช้นิ้วมือสอดเข้าไปในกาบกล้วย แล้วค่อย ๆ ดันมือไป พร้อม ๆ กันทั้งสองข้าง ลอกไปจนเกือบถึงชั้นในสุด แล้วทำการคัดแยกขนาดของกาบไว้เป็นกลุ่ม ๆ เพื่อเตรียมใช้ ในการแทงหยวกกาบกล้วยที่จะนำไปแท่งหยวกนั้น ประกอบด้วย กาบเปลือก กาบเขียว กาบเขียวที่ค่อนข้างไป ทางขาว และแกนหยวก ซึ่งส่วนที่ใช้ในการแทงหยวกจริง ๆ นั้นควรเป็นกาบเขียวที่ค่อนข้างไปทางขาว เนื่องจาก เป็นกาบที่มีความสมบูรณ์ มีน้ำหล่อเลี้ยงภายในรวงผึ้ง ทำให้ชุ่มฉ่ำอยู่ตลอดเวลา

4.วัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ในการแทงหยวก

การสร้างสรรค์ศิลปะการแทงหยวกโดยมากจะใช้วัสดุและอุปกรณ์ที่หาได้ง่าย มีใช้ตามพื้นบ้านทั่วไป ได้แก่

4.1 หยวกกล้วย ที่ได้ทำการลอกกาบ คัดแยกขนาดของกาบกล้วย และเช็ดผิวทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว

4.2 กระดาษสี ใช้สำหรับประกอบงานแทงหยวก เพื่อเน้นลวดลายที่ได้ฉลุลงบนหยวกให้มีสีสันสวยสดงดงาม ซึ่งนิยมใช้กระดาษอังกฤษสีมันวาวคล้ายกระดาษตะกั่ว ที่มีคุณสมบัติสำคัญคือ เมื่อถูกน้ำแล้วไม่ ยับย่น สีไม่ลอก เนื่องจากเมื่อแทงหยวกเสร็จแล้วต้องมีการพ่นน้ำอยู่เสมอ

4.3 มีดแทงหยวก เป็นมีดปลายแหลมที่มีคมทั้งสองด้าน เพื่อให้สามารถแทงลวดลายในลักษณะเดินหน้าถอยหลัง ได้อย่างสะดวก ทำมาจากเหล็กลานนาฬิกา หรือใบเลื่อยโลหะ นำมาเจียรและลับให้คม ใบมีดมีขนาดความกว้าง ประมาณ ๕ มิลลิเมตร มีความยาวประมาณ ๓ นิ้วครึ่ง หรือแตกต่างกันไปตามความต้องการและความถนัดของช่าง แต่ละคน

4.4 หินลับมีด ใช้สำหรับสับมีดแทงหยวก เนื่องจากเมื่อมีการใช้งานนาน ๆ จะทำให้มีดแทงหยวกนั้นหมดคม ระหว่างใช้งานจึงต้องหมั่นลับมีดให้คมอยู่เสมอ เมื่อมีดมีความคมก็จะทำให้สวดลายบนหยวกมีความคมชัดสวยงาม

4.5 ตอก ใช้สำหรับประกอบหยวกเข้าเป็นลายชุด โดยใช้ตอกรัดตรึงหยวกที่แทงแล้วแต่ละชิ้นให้เป็นส่วนเดียวกัน ตอกที่ใช้สำหรับงานศิลปะการแทงหยวกนิยมทำจากไม้ไผ่ โดยมีความกว้างประมาณ ๑-๑.๕ เซนติเมตร และยาว ประมาณ ๖0 เซนติเมตร ซึ่งปลายตอกทั้งสองข้างจะมีความเรียวแหลมและคม

4.6 ไม้เสียบ ใช้สำหรับปักยึด หรือช่วยเสริมความแข็งแรงจากการประกอบหยวกด้วยตอกอีก

4.7 มีดบาง หรือมีดทำครัว ใช้สำหรับตกแต่งกาบกล้วย หรือตัดหยวกกล้วยให้ได้ขนาดตามที่ต้องการ โดยเฉพาะ เมื่อนำลายมาประกอบเป็นลายชุด และในช่วงที่ต้องตัดต่อเพื่อนำลายชุดไปประดับตกแต่งสถานที่ต่าง ๆ

5.ขั้นตอนกระบวนการแทงหยวก

กระบวนการขั้นตอนในการแทงหยวก โดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็น ๕ ขั้นตอน ดังน

5.1 การเตรียมหยวกกล้วย หลังจากทำพิธีไหว้ครูเรียบร้อยแล้ว ทำการตัดท่อนต้นกล้วยตามความยาวที่ต้องการ ลอกกาบออกเป็นชั้น " โดยระวังมีให้กาบกล้วยแตกหรือช้ำ จากนั้นทำการคัดแยกกาบที่มีความยาวและสีใกล้เคียง กันไว้เป็นกลุ่ม ๆ

5.2 การแทงหยวก นำกาบกล้วยที่ได้คัดแยกไว้มาทำการแทงฉลุเป็นลวดลายต่าง ๆ โดยใช้ปลายคมมีดแทงเข้าไป ในเนื้อหยวกกล้วย ซึ่งส่วนมากช่างจะนำกาบมาซ้อนกัน ๒-๓ ชั้น แล้วแทงเป็นลายพื้นฐานอย่างลายฟันหนึ่ง (ฟันปลา) ลายฟันสาม ลายฟันห้า เพื่อความรวดเร็ว แต่จะไม่นิยมใช้วิธีนี้ในการแทงลายหน้ากระดาน ลายเสา หรือ ลายประยุกต์อื่น ๆ

5.3 การประกอบเป็นลายชุด เมื่อได้หยวกที่มีการแทงฉลุลวดลายต่าง ๆ แล้ว ช่างจะนำกระดาษอังกฤษสีแวววาว ไปชุบนำแล้วนำมาติดกับหยวกอีกชั้น ใช้มือลูบให้กระดาษแนบติดสนิทกับความโค้งของหยวก จากนั้นนำหยวกอีก ชั้นที่แทงลวดลายเว้นพื้นหลังเรียบร้อยแล้วมาวางประกอบ โดยกดให้หยวกทั้ง ๒ ชิ้นเข้ากันได้สนิท เมื่อได้กำหนด ลวดลายที่จะนำมาเข้าชุดกันแล้ว จึงเลือกลายมาจัดวางให้เหลื่อมกัน หากวางได้รูปแบบแล้วจึงจะใช้ตอกแทงเข้าไป ในเนื้อหยวก จากด้านหนึ่งทะลุออกไปอีกด้านหนึ่ง ซึ่งขณะแทงตอกต้องใช้มือจับหยวกกล้วยทั้งหมดให้แน่น ไม่ให้ ขยับเขยื้อน จากนั้นยกชุดลายคว่ำเพื่อใช้ปลายตอกสอดรัดกลับมาด้านหลัง มัดชิ้นลายให้ครบทุกส่วนตามความ ยาวของชุดลายเมื่อครบทุกส่วนเรียบร้อยแล้วให้มัดเส้นตอกโดยการหมุนบิดเส้นตอกให้แน่นทั้งสองด้าน จากนั้นจึง ตัดส่วนเกินของปลายหยวกที่วางซ้อนกันออก เพื่อให้เรียบร้อยและสะดวกต่อการนำไปติดตั้ง แล้วทำการแกะพื้น หลังของลวดลายออก จะปรากฏสีสันของกระดาษอังกฤษที่ชัดเจนและสวยงาม พร้อมที่จะนำไปประดับตาม ส่วนประกอบต่าง ๆ

5.4 การประดับ เมื่อมีการประกอบหยวกเป็นลายชุดต่าง ๆ แล้วจึงนำมาติดตั้งเข้ากับโครงหรือฐานที่ใช้ในงานพิธี โดยใช้ตะปูเป็นวัสดุในการตอกยึดชุดหยวกกล้วยให้ติดอยู่กับฐาน

5.5 การตกแต่งด้วยเครื่องสด เช่น พุ่มดอกไม้ หรือดอกไม้ที่ร้อยเป็นม่านรัก และการแกะสลักผักผลไม้ ที่เรียกว่า "การแทงหยวกประกอบเครื่องสด"

6.หยวกที่เป็นองค์ประกอบของจิตกาธาน

6.1 รัดเกล้า คือส่วนที่อยู่ด้านบนสุดของจิตกาธาน มีส่วนประกอบของลายต่างๆประกอบเขาด้วยกัน ได้แก่ ลายหน้ากระดาน ลายฟันปลา ลายฟันสาม ประกอบเข้ากัน

6.2 ดอกไม้ใหว คือส่วนที่อยู่ด้านบนปักบนรัดเกล้าทิศละ ๕ ดอก

6.3 กระจังทิศ คือสวนที่ประกอบด้านบนรัดเกล้าอยู่ที่มุมทั้งสี่ทิศ

6.4 ฐานรองโกศ คือส่วนที่ประดับต้านล่งบริเวณของฐานรองโกศมีลายที่ประกอบเข้าด้วยกันได้แก่ลายกลีบบัว และลายฟันปลา ประกอบเข้ากัน

6.5 เสา คือส่วนที่ประดับเสาของจิตกาธาน มีสายที่ประกอบเข้าด้วยกันได้แก่ น่องสิงห์ และฟันปลา

7.ลายพื้นฐานการแทงหยวก

7.1 ลายฟันหนึ่ง(ลายฟันปลา) แทงหยวกด้วยมีดฉลุที่คมทั้งสองด้านและปลายแหลมคมในลักษณะขึ้นลง ๆ ใน ลักษณะซิกแซก แทงหยวกเดินหน้าและถอยหลัง แนวตรงในระยะห่างที่เท่า ๆ กัน โดยใช้แนวเส้นหยวกกล้วยเป็น แนวหลัก ใช้เป็นลายประกอบได้หลากหลาย

7.2 ลายฟันสาม มีรูปแบบมาจากลายตาอ้อย ใช้ประกอบลายในพิธีของสามัญชนจนถึงขุนนางชั้น ผู้ใหญ่ รวมไปถึงพระบรมวงศานุวงศ์ด้วย

7.3 ลายกลีบบัว ลายแทงหยวกด้วยมีดฉลุที่คมทั้งสองด้านและปลายแหลมคมในลักษณะขึ้นลง ๆ ในลักษณะ ชิกแซกแต่มีลักษณะลายที่ใหญ่โค้ง แทงหยวกเดินหน้าและถอยหลัง แนวตรงในระยะห่างที่เท่า ๆ กันโดยใช้แนว เส้นหยวกกล้วยเป็นแนวหลัก

7.4 ลายน่องสิงห์ เป็นลายที่ลอกเลียนแบบจากน่องสิงห์ในงานปูนปั้นต่าง ๆ ที่พบเห็นได้ทั่วไป ซึ่งสิงห์เป็นสัตว์ป่า หิมพานต์

7.5 ลายหน้ากระดานแนวนอน ใช้ประกอบส่วนคาน ฐานชั้นล่าง และชั้นประกอบฉัตร ลวดลายพัฒนาจากลาย เครือเถาที่นำมาผูกกันและเลื้อยออกไปทั้งสองด้าน ช่างแทงหยวกจะต้องแทงให้เท่ากันทั้งด้านซ้ายและขวา

8.การตั้งแต่งจิตกาธานพร้อมประดับเครื่องสด และดอกไม้ แผงบนเมรุ

พระจิตกาธาน คือ เชิงตะกอนหรือฐานที่ ทำขึ้นสำหรับ เผาศพ เป็นคำที่ใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุ วงศ์ประกอบด้วยแท่นฐานสำหรับเผาทรงสี่เหลี่ยม ภายในใส่ดิน เสมอปากฐานสำหรับวางฟืน ไม้จันทน์ จิตกาธาน มักประดับ ตกแต่งด้วยกระดาษสีและเครื่องสด เช่น ตอกไม้ ใบไม้ ใบตอง หยวกกล้วย และผลไม้บางชนิด เป็นต้น สำหรับเป็นเครื่องกันไฟ

ส่วนประกอบของจิตกาธาน ประกอบด้วย ฐาน เสา ๔ ตัน ตะแกรงเหล็กว่างโกศลองใน ตะแกรงหลังคา หยวกกล้วย แผงดอกไม้ผ้าขาว

การตั้งแต่งจิตกาธาน

๑. เจ้าหน้าที่ (ชุดกากี สนว. ๐๑) เชิญจิตกาธานขึ้นบนเมรุ ประกอบเสาเข้ากับฐาน

๒. นำตะแกรงเหล็กสำหรับรองโกศลองในใสในชั้น นำตะแกรง ชั้นหลังคาประกอบกับเสา

๓. นำหยวกและเครื่องสดตกแต่งหลังคา ชั้นตะแกรงวางโกศลอง ในประดับแผงดอกไม้

๔. นำหยวกมาวางที่ตะแกรงวางโกศลองในปูผ้าขาวทับ ปูผ้าขาวที่ฐานและที่วางฟืน

๕. ตกแต่งจิตกาธานประดับดอกไม้แผง จัดเตรียมฟืน

Location
Province Nakhon Sawan
Details of access
Reference อวยพร พัชรมงคลสกุล Email paitoog@hotmail.com
Organization สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์
Comment
Please Login Before comment.

Username
Password
No comment.
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่