บุหงาปูดะ” หรือ “ขนมดอกลำเจียก” เป็นขนมพื้นเมืองชื่อดังของจังหวัดสตูล แต่คนไทยทั่วไปรู้จักขนมนี้ในชื่อว่า “บุหงาบูดะ” ซึ่งเพี้ยนมาจาก คำว่า “บุหงาปูดะ” หรือ “โกยปูดะ” ที่แปลว่า “ขนมดอกเตย” ซึ่งในที่นี้หมายถึง ดอกเตยปาหนัน หรือบางคนอาจรู้จักในชื่อ ต้นลำเจียก หรือ เตยทะเล ที่ขึ้นอยู่ตามชายทะเลทั่วไป ผลมีลักษณะเป็นเหลี่ยม ดอกมีสีขาว มีลักษณะคล้ายคลึงกับขนมบุหงาบูดะ
บุหงาบูดะ เป็นขนมพื้นบ้านที่ทำสืบทอดกันมานานกว่าร้อยปีแล้ว ในอดีตขนมชนิดนี้ถือเป็นขนมหวานสำหรับชนชั้นสูง ทำกันมาตั้งแต่สมัยพระยาสมันตรัฐ โดยคนในสายสกุลกรมเมือง ที่เข้าไปรับใช้อยู่ในวังเก่าเจ้าเมืองสะโตย
สมัยอดีต ขนมบุหงาปูดะ มีเฉพาะสีขาว นิยมใช้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองและใช้เป็นบททดสอบหญิงสาวที่จะคัดเลือกเป็นคู่ครอง เนื่องจากขนมบุหงาปูดะเป็นขนมที่ทำยาก คนที่ทำขนมชนิดนี้ได้จะต้องเป็นคนสุขุม เยือกเย็นอย่างมากจึงจะได้ขนมบุหงาปูดะที่สวยงามตามต้องการ ขณะเดียวกันนิยมใช้ขนมชนิดนี้ในพิธีแห่ขันหมากในงานมงคลสมรสด้วย เพราะขนมชนิดนี้มีรูปทรงคล้ายหมอน เปรียบเสมือนการเริ่มใช้ชีวิตคู่ร่วมเรียงเคียงหมอนใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขนั่นเอง
ปัจจุบัน ขนมบุหงาปูดะ ทำด้วยมะพร้าวทึนทึกและแป้งข้าวเหนียวผสมด้วยน้ำตาล เกลือ น้ำ และกะทิ เป็นขนมพื้นบ้านของชาวมุสลิมที่นิยมทำเป็นขนมใช้ในงานเทศกาลงานพิธีที่สำคัญๆ ทางศาสนาอิสลาม อาทิ งานเทศกาลฮารีลายอ ตรุษของอิสลาม เทศกาลถือศีลอด งานแต่งงาน และเทศกาลงานอื่นๆ อีกมากมาย
ปัจจุบันได้มีการพัฒนารูปแบบขนมบุหงาปูดะใหม่ จากเดิมที่เป็นขนมสี่เหลี่ยมแบนๆ ธรรมดาให้กลายเป็นขนมที่มีรูปทรงสูงขึ้นคล้ายหมอนและเพิ่มสีสันให้กับขนมด้วยการนำสีจากธรรมชาติ อย่างสีเขียวจากใบเตย สีแดงจากน้ำหวาน สีม่วงจากดอกอัญชัน มาผสมทำให้ขนมบุหงาปูดะ ดูน่ารับประทาน นอกจากนี้ ยังปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ใหม่ บรรจุง่าย
ขนส่งแล้วขนมไม่แตก
คงรูปเดิมโดยทั่วไป ขนมบุหงาปูดะ สามารถเก็บไว้ได้นาน 15 วัน ในอุณหภูมิห้อง หากเก็บไว้ในตู้เย็น จะเก็บได้นาน 30 วัน
หากสนใจสามารถติดต่อใด้ที่ กลุ่มส่งเสริมอาชีพสตรีเกตรี โทร.081-961-9166 หรือ เพจ DA-WA ขนมบุหงาปูดะ