แกงขมิ้น/แกงขี้หมิ้น
๑. ชื่อ :แกงขมิ้น/แกงขี้หมิ้น
๒.แหล่งที่มา :นางอารี เขียวดำ เลขที่ ๙๖ หมู่ที่ ๕ ตำบลตะแพน อำเภอศรีบรรพต จังหวัดพัทลุง
๓.ประเภท: อาหารพื้นบ้าน
๔. ความเป็นมา :
ภูมิปัญญาด้านอาหารในสมัยก่อนส่วนหนึ่งใช้ผักพื้นบ้าน เช่น ใช้ใบไม้ ใบหญ้า ดอกผล รากเหง้าของต้นไม้ และสมุนไพรต่าง ๆ มาเป็นอาหาร และเมื่อต้องการเพิ่มรสชาติก็ใช้ยอดใบผลของพืชต่างๆ นำมาผสมปรุงแต่งให้มีรสชาติที่อร่อยเมื่อได้บริโภคแล้วสุขภาพร่างกายแข็งแรง ระบบขับถ่ายดี รักษาการเจ็บป่วยได้ ทำให้เกิดต้นตำรับของอาหารพื้นบ้านไทยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยวิถีชีวิตของชาวใต้ที่ผูกพันอยู่กับการเกษตร พื้นที่ว่างหลังบ้านจะปลูกผักสวนครัวไว้บริโภค ซึ่งผักชนิดหนึ่งที่นิยมปลูกคือขมิ้น เพราะขมิ้นเป็นทั้งสมุนไพรพื้นบ้าน ที่มีสรรพคุณแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่น จุกเสียด อาหารไม่ย่อย ฯลฯ และใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องแกงภาคใต้ ช่วยเพิ่มรสชาติและสีสันของอาหาร โดยเฉพาะแกงส้มจะเห็นสีเหลืองของขมิ้นอย่างชัดเจน ชวนรับประทานอย่างยิ่ง นอกจากใช้ขมิ้นเป็นเครื่องแกงแล้ว ภูมิปัญญาด้านอาหารในสมัยก่อนยังพบว่าสามารถนำหัวขมิ้นอ่อนมากทำเป็นผักใส่ในแกงได้ด้วย โดยเรียกชื่อว่าแกงขมิ้น
๕. อัตลักษณ์(ที่โดดเด่น)
แกงขมิ้นรสชาติกลมกล่อม ไม่มีกลิ่นฉุนของขมิ้นด้วยส่วนผสมของเครื่องแกงและความหวานมันของน้ำกะทิที่ช่วยกลบกลิ่นของขมิ้น เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ เพราะแกงขมิ้นคืออาหารที่เป็นยาเช่น แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่น จุกเสียด และอาหารไม่ย่อย ลดกรดในกระเพาะอาหาร ป้องกันมะเร็งลำไส้ แกงขมิ้นบ่งบอกถึงวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น
๖. ความสำคัญและคุณค่า
แกงขมิ้นเป็นอาหารพื้นบ้าน อาหารที่ทำกินกันในครัวเรือน ไม่เพียงแต่มีรสชาติที่อร่อยกลมกล่อม แต่เป็นอาหารเพื่อสุขภาพด้วยกินแล้วมีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่น จุกเสียด และอาหารไม่ย่อย ลดกรดในกระเพาะอาหารป้องกันมะเร็งลำไส้ ฯลฯ แกงขมิ้นเป็นเอกลักษณ์ที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของคนไทย ในท้องถิ่น ที่สมควรถ่ายทอดให้เป็นมรดกสู่ลูกหลาน
๗.องค์ประกอบของอาหาร
๑. ขมิ้นด้วงอ่อน (ไม่ใช่ขมิ้นไร้ราก)
๒. พริกแกงกะทิ
๓. กะปิ
๔. หัวกะทิ และ หางกะทิ
๕. ปลาย่าง
๖. ใบมะกรูด
๗. ใบขมิ้นอ่อน(ยอดอ่อนขมิ้น)
๘. วิธีการประกอบอาหาร
๑. นำขมิ้นอ่อนมาปอกเปลือกตำให้แหลก
๒. จุดไฟตั้งกระทะหรือหม้อใส่หางกะทิลงไปนำพริกแกงพร้อมกะปิละลายกับหางกะทิ จะได้เป็นน้ำแกงโดยไม่ต้องรอให้กะทิแตกมัน
๓. ใส่ขมิ้นที่ตำเอาไว้ลงไป และตั้งไฟอ่อนคนไปเรื่อยๆใส่ปลาย่างลงไป เพื่อให้น้ำแกงเข้าเนื้อปลา คนให้ขมิ้นเข้ากับน้ำแกงรอให้แกงเดือด จนกว่ากลิ่นจุนของขมิ้นหายไปโดยประมาณ ๓๐ นาที
๔. ใส่หัวกะทิลงไป รอให้กะทิเดือดต่อไปอีกประมาณ ๑๐ นาที อาจปรุงรสแกงด้วยผงชูรสเพิ่มเติมตามลงไปก็ได้ ใบขมิ้นอ่อนที่หั่นเป็นท่อนลงไปก่อนจะยกลงจากเตาใส่ใบมะกรูดเพื่อเพิ่มสีสันและความหอมให้กับแกง
๙.เอกสารอ้างอิง/บรรณานุกรม
- สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- นางอารีย์ เขียวดำ.สัมภาษณ์,๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๕.