อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร มีกลุ่มชาติพันธุ์ลาวผู้ไทซึ่งอพยพย้ายถิ่นฐานมาจากเมืองเซโปน แขวงสุวรรณเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อาศัยตั้งรกรากกระจายตามพื้นที่ตำบลห้องแซง ตำบลบุ่งค้า ตำบลกุดเชียงหมี มาเป็นระยะเวลากว่าร้อยปี มีการเพาะปลูกข้าวเป็นอาชีพหลัก ข้าว จึงมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของชาวผู้ไทในพื้นที่อำเภอเลิงนกทาเป็นอย่างมาก ในยุคสมัยที่ยังไม่มีการพึ่งพาเทคโนโลยีเช่นในปัจจุบัน ความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาตินั้นมีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของชาวผู้ไทเป็นอย่างมาก โดยมีพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวตั้งแต่การเพาะปลูก การหว่านดำ ตลอดจนการเก็บเกี่ยว โดยมีความเชื่อว่าการบูชาสิ่งเหนือธรรมชาติจะดลบันดาลให้เกิดผลผลิตที่ดี ไร้แมลงศัตรูพืชรบกวน มีฝนตกต้องตามฤดูกาลเพื่อให้ข้าวเจริญเติบโต มีข้าวเก็บไว้กินได้ทั้งครอบครัวและขายได้ราคาดีตลอดทั้งปี รวมทั้งเป็นศิริมงคลแก่ผู้ทำการเพาะปลูกทั้งครอบครัว ในปัจจุบัน พัฒนาการทางเทคโนโลยีเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตร ส่งผลให้วิถีชีวิตความเชื่อที่เคยปฏิบัติสืบต่อกันมาเริ่มเลือนหายไป แต่ในพื้นที่ตำบลบุ่งค้า อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ยังคงสืบทอดพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวไว้อยู่พิธีกรรมหนึ่ง คือ พิธีไขประตูเล้า
พิธีไขประตูเล้า ของชาวผู้ไทตำบลบุ่งค้า อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร จัดขึ้นในวันขึ้นสามค่ำเดือนสาม หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ขึ้นสามค่ำออกใหม่” ผู้ที่เป็นเจ้าของบ้าน จะนำอาหารคาว หวาน ผลไม้ตามฤดูกาล เหล้าขาว ไข่ต้ม จัดใส่พาข้าว วางไว้ที่นอกชานเล้า (ยุ้งข้าว) และปีนขึ้นไปบนเล้าข้าวเพื่อทำการ ไขประตูเล้า จากนั้น ผู้เป็นเจ้าของบ้านจะทำการบอกกล่าวแก่แม่โพสพ ว่าตนได้นำข้าวจากทุ่งนามาเก็บไว้
ในเล้า แล้วขอขมาแม่โพสพที่ได้กระทำการล่วงเกินพร้อมทั้งขอบคุณแม่โพสพที่ประทานข้าวมาให้ได้เก็บเกี่ยวจนเต็มเล้า และยังมีความเชื่อว่า การทำพิธีไขประตูเล้า จะทำให้ได้ผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์ในปีต่อไป โดยก่อนถึงวันขึ้นสามค่ำ เมื่อมีการเกี่ยวข้าวและตากข้าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านจะนำข้าวเปลือกใส่กระสอบและนำข้าวไปเก็บไว้ในเล้าก่อนจากนั้นจึงปิดประตูเล้าพร้อมนำผ้าไหมผืนที่ดีที่สุดในบ้านไปแขวนที่ประตูเล้าเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า มีข้าวใหม่อยู่ในเล้าแล้ว
จากพิธีกรรมที่ชาวผู้ไททุกบ้านยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน กลายเป็นการรวมตัวกันของคนในหมู่บ้านจัดพิธีกรรมร่วมกัน และมีการเฉลิมฉลองหลังการเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้นลงแล้ว ด้วยการรำฟ้อนและการจัดอาหารคาวหวานไว้รับประทานร่วมกัน โดยเฉพาะที่ขาดไม่ได้คือ เหล้าขาว ที่ผ่านการหมักจาก ข้าว เพื่อรอเวลาการเฉลิมฉลองหลังการเก็บเกี่ยว จากพิธีกรรมและกิจกรรมที่เกิดขึ้น กลายมาเป็นประเพณีไขประตูเล้า ที่มีแบบแผนปฏิบัติชัดเจนและสืบทอดกันมายาวนาน ซึ่งนอกจากพิธีไขประตูเล้าที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาแล้ว ยังมีพิธีบายศรีสู่ขวัญข้าวเพื่อความเป็นสิริมงคลของผู้เพาะปลูกและมีพิธีแฮกเสี่ยว (ผูกเสี่ยว) เพื่อสร้างความสามัคคีของคนในชุมชน ซึ่งเป็นกุศโลบายของผู้อาวุโสในชุมชนที่ให้คนรุ่นลูกหลานที่ปัจจุบันเริ่มมีความสัมพันธ์ห่างเหินกัน ได้รู้จักกันและช่วยลดปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในชุมชนได้ และเมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนของพิธีกรรมแล้วก็จะมีการแสดงรำฟ้อนจากชุมชน โรงเรียนร่วมกันจัดการแสดงร้อง รำฟ้อนแบบผู้ไทที่นับว่าหาชมได้ยากแล้วในปัจจุบันและการจัดอาหารคาวหวานต้อนรับผู้มาร่วมงาน โดยประเพณีไขประตูเล้ายังคงยึดถือธรรมเนียมปฏิบัติในเดือนสาม ซึ่งจะจัดขึ้นหลังจากจัดงานประเพณีบุญคูนลานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันการจัดงานประเพณีไขประตูเล้า ตำบลบุ่งค้า อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากเทศบาลตำบลบุ่งค้า อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ร่วมกับสภาวัฒนธรรมตำบลบุ่งค้า สถานศึกษา พ่อค้า ประชาชน โดยมีการจัดงานประเพณีไขประตูเล้าสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปยังแต่ละหมู่บ้านในพื้นที่ตำบลบุ่งค้า ต่อมาเมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาตั้งแต่ ปี ๒๕๖๔ เป็นต้นมา การจัดงานประเพณีไขประตูเล้าของตำบลบุ่งค้า ได้หยุดชะงักไป จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๖๖ ได้มีการจัดงานประเพณีไขประตูเล้า ที่วัดบ้านโคกก่อง หมู่ที่ ๑ บ้านบุ่งค้า ตำบลบุ่งค้าอำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๖
ประเพณีไขประตูเล้านอกจากเป็นประเพณีที่ชาวผู้ไทในตำบลบุ่งค้าได้แสดงออกถึงวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวผู้ไทแล้ว ยังเป็นโอกาสอันดีที่ลูกหลานชาวผู้ไทตำบลบุ่งค้า ที่เดินทางไปทำงานต่างถิ่นได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้งเพื่อร่วมงานประเพณีไขประตูเล้า รวมทั้งหน่วยงานที่เข้ามาร่วมบูรณาการ ในการจัดงานประเพณี จึงนับว่า ประเพณีไขประตูเล้าของชาวตำบลบุ่งค้า อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร เป็นประเพณีอันมีความเป็นศิริมงคล ช่วยเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ชาวผู้ไทตำบลบุ่งค้า พร้อมทั้งสร้างความสมานสามัคคีให้เกิดขึ้นในชุมชน รวมทั้งการมีส่วนร่วมของภาครัฐ และประชาชนเพื่อการอนุรักษ์ สืบสานประเพณีวัฒนธรรมให้คงอยู่สืบไป