ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
Latitude : N 15° 21' 7.997"
15.3522214
Longitude : E 104° 23' 52.2474"
104.3978465
No. : 198491
การแทงหยวกทำปราสาทผึ้งบ้านฟ้าห่วน
Proposed by. ยโสธร Date 16 April 2025
Approved by. ยโสธร Date 16 April 2025
Province : Yasothon
0 45
Description

สาระสำคัญโดยสังเขป:

งานช่างแทงหยวก เป็นงานช่างวิจิตรศิลป์ที่ใช้มีดปลายแหลมคมแทงลงไปบนกาบกล้วยให้เกิดลวดลายเป็นแบบลายไทยในลักษณะต่าง ๆ โดยไม่ต้องมีการร่างเส้นลวดลายลงบนกาบกล้วย เพราะจะทำให้กาบกล้วยช้ำเป็นรอยไม่สวยงาม วัสดุที่นำมาใช้เป็นสิ่งที่ได้จากธรรมชาติ ตัดและเก็บมาสด ๆ สามารถหาได้ในท้องถิ่นนั้น ๆ นายช่างที่ดีจึงจำเป็นจะต้องฝึกฝนทักษะด้านต่าง ๆ ให้เกิดความเชี่ยวชาญและชำนาญ อยู่เสมอ งานช่างแทงหยวกใช้ได้ทั้งในงานพิธีมงคลและงานอวมงคล เช่น การประดับเบญจารดน้ำ ประดับร้านม้าเผาศพ ประดับจิตกาธาน การทำปราสาทผึ้ง เป็นต้น งานช่างแทงหยวกมีการสืบทอดกทั้งในรูปแบบ ของงานช่างในราชสำนัก และรูปแบบของสกุลช่างชาวบ้าน ตามชุมชนหรือจังหวัดต่าง ๆ การแทงหยวก เป็นงานที่คนในชุมชนได้มาร่วมแรงร่วมใจทำด้วยแรงศรัทธาต่อผู้ที่เป็นเจ้าของงาน หรือเป็นการระลึกถึงบุญคุณของผู้วายชนม์ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว

ประวัติความเป็นมา:

เมื่อใกล้ถึงวันออกพรรษา ชาวบ้านฟ้าห่วนจะมีประเพณีที่ทำสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน นั่นคือ การทำปราสาทผึ้ง หรือต้นดอกผึ้ง ถวายเป็นพุทธบูชา ซึ่งเป็นศิลปะประเพณีที่สืบทอดกันมานาน ตามฮีตสิบสองของคนอีสาน โดยจะแทงหยวกกล้วยให้มีลวดลายต่าง ๆ และประกอบติดกับโครงสร้างเป็นปราสาทและติดดอกผึ้ง แห่ไปถวายพระสงฆ์เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษและถวายเป็นพุทธบูชา ในวันออกพรรษา หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วันมหาปวารณา เป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธ โดยเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาจำพรรษา 3 เดือนของพระสงฆ์เถรวาท โดยเป็นวันที่พระสงฆ์จะทำสังฆกรรม คือ การปวารณาในวันนี้ วันออกพรรษา (ออกปุริมพรรษา ๑) จะตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ (ประมาณเดือนตุลาคม) หลังวันเข้าพรรษา ๓ เดือน ตามปฏิทินจันทรคติไทย

ลักษณะเฉพาะที่แสดงถึงอัตลักษณ์/เอกลักษณ์/ความโดดเด่น:

ลักษณะเฉพาะที่แสดงถึงอัตลักษณ์ ช่างบ้านฟ้าห่วนจะมีความพิถีพิถันในการเลือกต้นกล้วย ซึ่งต้องเป็นต้นกล้วยตานีหรือต้นกล้วยน้ำว้าที่มีขนาดใหญ่ โตเต็มที่ และยังออกปลี เพราะจะหยวกที่ใหญ่ เมื่อแทงหยวกแล้วจะได้ลายที่ชัดเจน นิยมใช้กล้วยตานี เพราะมีความเหนียว คงทน กาบใหญ่ ใบหนา ไม่มีใยและในส่วนการลอกกาบกล้วย ให้ลอกออกทีละชั้น เพราะกาบนอกสุดจะมีรอยตำหนิ สีไม่สวยงาม ให้ลอกทิ้งไป เพื่อความสวยงามของการแกะสลัก

วัสดุอุปกรณ์ในการแทงหยวกทำปราสาทผึ้ง ดังนี้

๑. มีดปลายแหลม สำหรับแทง ฉลุ ตัดกาบกล้วยให้เป็นลวดลายต่าง ๆ

๒. หยวกกล้วย ควรเป็นต้นกล้วยที่มีขนาดใหญ่ โตเต็มที่

๓. ตอกหรือลวดสำหรับมัด

๔. ไม้ไผ่ สำหรับทำโครงสร้างปราสาทผึ้ง

๕. ต้นกล้วยขนาดเล็ก สูงประมาณ ๒ เมตร ใช้เป็นแกนกลางปราสาทผึ้ง

๖. ขี้ผึ้งสำหรับทำดอกผึ้ง ซึ่งใช้ได้ทั้งขี้ผึ้งแท้และขี้ผึ้งเทียม

๗. แม่พิมพ์สำหรับทำดอกผึ้ง เช่น ผลโพธิ์ทะเล แครอทแกะสลัก ก้นมะละกอ เป็นต้น

๘. ดอกไม้มงคลชนิดต่าง ๆ เช่น ดาวเรือง บานไม่รู้โรย

๙. สมุด ดินสอ ผ้า เครื่องอัฐบริขาร ต่าง ๆ

ขั้นตอนการทำปราสาทผึ้ง ดังนี้

๑. ทำโครงสร้างปราสาทผึ้ง โดยประกอบจากวัสดุ/อุปกรณ์ คือ ไม้ไผ่ทำคานหาม จำนวน ๒ อัน ไม้ไผ่ทำขาตั้งปราสาท จำนวน ๔ อัน ตอกสำหรับมัดโครงสร้างปราสาท ไม้แขวนเครื่องอัฐบริขาร ไม้ไผ่เหลาปลายแหลมสำหรับร้อยหรือเย็บกาบกล้วยเข้าไว้ด้วยกัน ต้นกล้วยขนาดเล็กสูงประมาณ ๑.๘ เมตร สำหรับตั้งเป็นแกนกลางของปราสาท

๒. วิธีแทงหยวกนั้นต้องเริ่มตั้งแต่การเลือกต้นกล้วย ซึ่งต้องเป็นต้นกล้วยตานีหรือต้นกล้วยน้ำว้าต้นที่ต้องการมา แล้วตัดหัวท้ายออกให้ได้ขนาดที่ต้องการ การตัดหยวกที่จะนำไปสลักจำเป็นต้องตัดหยวกให้มีขนาดยาวกว่าขนาดของโครงแบบประมาณ ๓๐ - ๔๐ เซนติเมตร เพราะในการประกอบแผงหยวกเข้ากับโครงแบบนั้น จะต้องมีการเฉือนหยวกออกเล็กน้อยให้เป็นมุม ๔๕ องศา เพื่อให้หยวกประกบกันได้สนิทเป็นมุมฉากในการเข้ามุม และการลอกกาบให้ลอกออกทีละชั้น เพราะกาบนอกสุดจะมีรอยตำหนิ สีไม่สวยงาม ให้ลอกทิ้งไป กาบรองลงมาแม้จะมีสีเขียวก็นำไปใช้รองด้านในได้จึงควรแยกไว้ต่างหาก โดยการลอกกาบกล้วยนี้ต้องทำด้วยความระมัดระวัง อย่าให้ช้ำเพื่อวามสวยงามของการแกะ เมื่อได้กาบกล้วยที่ต้องการแล้วช่างส่วนใหญ่จะนำมาแทงเป็นลวดลายต่าง ๆ อย่างลายฟันปลา ลายฟันสาม ลายฟันห้า ลายน่องสิงห์ หรือแข้งสิงห์ ลายฟันบัว ลายเครือวัลย์ (ลายกนก) หรืออื่น ๆ ตามความถนัด

๓. เมื่อแทงหยวกตามลายเพียงพอตามความต้องการโดยเป็นส่วน ๆ ตามโครงสร้างปราสาทผึ้งที่วางไว้แล้ว ถึงขั้นตอนการประกอบหยวก เพื่อทำเป็นเสาล่าง พรึง เสาบน รัดเกล้าเเละฐานล่าง โดยใช้ตอกผิวไม้ไผ่ เย็บให้ติดกัน เเล้วติดเเต่งมุมให้เรียบร้อยเป็นอันเสร็จเรียบร้อย

๔. การทำดอกผึ้ง โดยจะนำขี้ผึ้งมาอุ่นให้หลอมละลาย จากนั้นนำแม่พิมพ์รูปร่างคล้ายดอกไม้ เช่น ผลโพธิ์ทะเล แครอทแกะสลัก ก้นมะละกอมาจุ่มขี้ผึ้ง แล้วนำไปจุ่มน้ำเย็น ดอกผึ้งก็จะหลุดออกจากพิมพ์ ได้ดอกผึ้ง ตามที่ต้องการ จากนั้นนำไปติดประดับตามส่วนต่าง ๆ ของปราสาทผึ้ง

๕. การประดับตกแต่งปราสาทผึ้ง วัสดุสิ่งของที่นำมาประดับตกแต่งปราสาทผึ้งนั้นความสวยงามขึ้นกับการออกแบบของแต่ละคน ส่วนใหญ่จะตกแต่งด้วย ดอกผึ้ง ดอกไม้ ข้าวของเครื่องใช้ เครื่องอัฐบริขารต่าง ๆ ที่ต้องการอุทิศให้แก่ผู้วายชนม์ เพื่อให้มีความสุข ความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป และพระสงฆ์ยังได้ใช้ประโยชน์ด้วย

Location
บ้านฟ้าห่วน
No. ๑๐๓ Moo
Tambon ฟ้าห่วน Amphoe Kho Wang Province Yasothon
Details of access
นายวิชัย แสงกล้า
Reference นางสุมิตรา พรหมดี Email yasothonculture@gmail.com
Organization สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดยโสธร
Road แจ้งสนิท
Tambon ในเมือง Amphoe Mueang Yasothon Province Yasothon ZIP code 35000
Tel. ๐๔๕๗๑๕๑๓๗ Fax. ๐๔๕๗๑๕๑๓๘
Comment
Please Login Before comment.

Username
Password
No comment.
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่