ตีช้างน้ำนอง
ในการจัดงานประเพณีแข่งเรือออกพรรษาสองฝั่งโขง ไทย -ลาว ของจังหวัดมุกดาหารในอดีต หลังจากเสร็จจากการประกอบพิธีบวงสรวง สักการะ สิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว จึงได้จัดให้มีการแข่งขันเรือ หรือที่เรียกว่า ส่วงเฮือ ซึ่งเป็นเรือที่ชาวบ้านขุดจากไม้ตะเคียนต้นเดียว สาเหตุที่ใช้ต้นตะเคียน เชื่อว่ามีความคงทนต่อการกัดกร่อนของน้ำ จึงใช้เป็นเรือพายได้ดี มีความทนทาน การแข่งขันในสมัยนั้น จะทำการแข่งขันพร้อมกันทุกลำครั้งเดียว เที่ยวเดียว จะไม่มีการแข่งขันเที่ยวละลำ สองลำ เหมือนในปัจจุบัน โดยการแข่งขันนั้น จะให้เรือทุกลำที่เข้าแข่งขัน ไปพร้อมกัน ณ ท่าน้ำ จุดใดจุดหนึ่ง ซึ่งอยู่ทาง เหนือกองพิธีการจัดงานขึ้นไปพอประมาณมองเห็น เมื่อเรือแข่งทุกลำพร้อม เรือไม่ได้เปรียบเสียเปรียบกันมากนัก เป็นที่ยอมรับกันแล้ว กรรมการจากกองพิธีการ ก็จะส่งสัญญาณ โดยการตีกลอง หรือฆ้อง ซึ่งได้ยินในระยะไกลจากฝั่ง ฝีพายเรือก็จะเริ่มพายล่องลงมาตามลำน้ำโขง ผ่านหน้ากองพิธีการ โดยมีประชาชนมาเฝ้าชม ให้กำลังใจอยู่บนฝั่งเป็นจำนวนมาก
ในระหว่างการพายเรือนั้น เนื่องจากเรือมีจำนวนมาก การส่งสัญญาณในลำเรือ หรือการบอกจังหวะ ในการพายเรือแก่ฝีพายเรือนั้น จะไม่มีนกหวีดเหมือนในสมัยปัจจุบัน บ้างก็จะเคาะเกราะ ตีฆ้อง กลอง บ้างก็ร้องเป็นจังหวะ หรือโห่เพื่อเอาฤกษ์ เอาชัย โห่เพื่อเรียกขวัญ กำลังใจแก่ตนเอง โห่ร้องเพื่อให้ชาวเมืองของตนที่มาได้ยิน มองเห็นเรือของตนเอง การพายก็จะไม่ใช้ความเร็วมากนัก เกรงว่าเรืออาจจะชนกับเรือลำอื่น ทำให้ได้รับความเสียหาย โดยฝีพายเรือจะใช้ไม้พาย ซึ่งตกแต่งด้วยสีสันต่าง ๆ พายวิดน้ำขึ้นบนฟ้า หรือวิดน้ำใส่เรือลำอื่น จะได้ตามไม่ทัน เมื่อจำนวนเรือแข่งมีจำนวนมาก เต็มท้องน้ำโขงที่ใช้จัดแข่งขัน เสียงโห่ร้องของบรรดาฝีพายเรือ รวมทั้งเสียงฆ้อง กลอง ดังอึกทึกครึกโครม ฝอยน้ำจากไม้พายจนน้ำกระซ่านเซ็น ขึ้นบนอากาศสัมผัสกับแสงแดด ที่เปล่งประกายยามเช้า ส่องกระทบกับผิวน้ำ ที่เป็นคลื่นจากผลของการพายเรือแข่งทั้งหลาย ลักษณะเหมือนกับช้างเป็นโขลงลงเล่นน้ำ แล้วใช้งวงดูดน้ำพ่นขึ้นไปในอากาศ เป็นภาพที่สวยงดงามยิ่ง ตามโบราณได้เปรียบเปรย กับบรรยากาศและภาพเหล่านี้ เสมือนกับการเล่นน้ำของช้างเป็นโขลง จนทำให้น้ำบริเวณแห่งนั้น เป็นคลื่นขนาดใหญ่ สาดซัดเข้ากระทบฝั่ง ทำให้น้ำล้นตลิ่ง และเกิดเสียงดัง คล้ายกับคนไล่ช้างลงอาบน้ำ หรือเล่นน้ำพร้อมกันทีละหลายๆเชือก หรือทั้งโขลง จึงทำให้ผู้เฒ่า ผู้แก่เห็นแล้ว เปรียบเทียบว่า เป็นลักษณะเหมือนไล่ช้าง ตีช้างเล่นน้ำ จนน้ำนอง หรือที่เรียกว่า “ พิธีตีช้างน้ำนอง “
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เมืองมุกดาหาร จึงได้กำหนดและถือเอาพิธีกรรมนี้ จัดขึ้นทุกครั้งก่อนที่จะมีการแข่งขันเรือ จึงเป็นเอกลักษณ์ ของกิจกรรมหนึ่งในประเพณีแข่งเรือออกพรรษาสองฝั่งโขง ไทย -ลาว ที่จังหวัดมุกดาหารเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เป็นประเพณีหนึ่งเดียวในประเทศไทย โดยมีขั้นตอนที่สำคัญ ดังนี้
พิธีเบิกน่านน้ำ
การอัญเชิญเจ้าฟ้ามุงเมืองลงเรือลำแรก (ชื่อเรือมุกดาสวรรค์) โดยเจ้าฟ้ามุงเมืองในร่างของจ้ำหรือคนทรงจะประทับนั่งที่หัวเรือ เพื่อเป็นการเบิกน่านน้ำให้การแข่งขันเรือพายในครั้งนี้ ต่อจากเรือมุกดาสวรรค์จะเป็นเรือขบวนประเพณี ประกอบด้วยฝีพายที่เป็นหญิง แต่งกายสีสันตามแบบพื้นเมือง หัวเรือ ๒ คน และท้ายเรือ ๓ คน จะเป็นชาย หลังจากล่องเรือแข่งขันแล้วจะเริ่มพายเรือทวนน้ำจากหน้าวัดศรีบุญเรืองไปสิ้นสุดที่หน้าวัดศรีมงคลใต้ ระหว่างทางจะหยุดรับเครื่องสักการะจากชาวบ้าน มีเหล้า ธูป เทียน และดอกดาวเรือง ส่วนเรือประเพณีที่ตามหลังจะมีสาวงาม ๑ คน ฟ้อนหางนกยูงอย่างสวยงามที่หัวเรือ พร้อมกับฝีพายจะร้องเล่น เซิ้งและผญาอย่างสนุกสนาน
พิธีตีช้างน้ำนอง
เริ่มทำพิธีตีช้างน้ำนองบริเวณหน้าวัดศรีมงคลเหนือที่ถือเป็นจุดปล่อยเรือแข่ง (จุดเริ่มต้นของระยะทางการแข่งขัน) และพายลงมาตามลำแม่น้ำโขงจนถึงเส้นชัย (จุดตัดสิน) หน้าวัดศรีบุญเรือง ระยะทางประมาณ ๑,๘๐๐ เมตร ทุกลำฝีพายเรือต้องพายจนสุดกำลังความสามารถเพื่อให้ถึงเส้นชัย