แจ่วหม้อ มีเครื่องปรุง / ส่วนผสม ๑. พริกแห้ง ๒. หัวหอม ๓. กระเทียม ๔. กระชาย ๕. เนื้อกบหรือเนื้อหมู ๖. ปลาร้า ขั้นตอน / วิธีทำ ๑. ต้มปลาร้าให้เปื่อย และกรองเอาเฉพาะน้ำปลาร้า ๒. สับเนื้อหมู (กบ) ให้ละเอียด และนำไปรวนให้สุก ๓. ขั้วพริกแห้ง กระเทียม และหัวหอม พอมีกลิ่นหอม โขลกส่วนผสมทั้งหมดให้ละเอียด ๔. นำเนื้อหมู (กบ) และกระชายสด มาโขลกรวมกันเป็นครั้งสุดท้าย ๕. ตั้งกระทะ ใส่น้ำมันเล็กน้อย นำส่วนผสมที่อยู่ในครกทั้งหมด มาผัดให้เข้ากัน ๖. เติมน้ำปลาร้า ปรุงให้ได้รสชาติ เทคนิคในการทำ(เคล็ดลับ) ๑. ต้มน้ำปลาร้าให้นาน เพื่อให้เนื้อปลาร้าละลายและเข้ากับน้ำอย่างเข้มข้น ๒. ควรชิมรสชาติของน้ำปลาร้าให้เรียบร้อยก่อน หากเค็มไปควรใส่น้ำเพิ่มเติม เครื่องเคียง ๑. ผักชนิดต่าง ๆ เช่น ยอดทองหลาง , ดอกหรือยอดฟักทอง , ถั่วพลู , สมอ , มะเขือเปราะ , ชะพลู , ยอดมะกอก , ดอกกระเจียว , กระเจี๊ยบ ฯลฯ ๒. ปลาเค็มแดดเดียว เช่น ปลาสลิด ปลาสร้อยทอดกรอบ บุคคลผู้รู้ด้านอาหารพื้นบ้าน ชื่อ นางนิรชา แก้วบัวดี อายุ ๓๒ ปี อาชีพ เกษตรกร มีประสบการณ์ในการทำงาน ๒๐ ปี ที่อยู่ ๒๘ หมู่ ๕ ตำบลถาวรวัฒนา อำเภอ ทรายทองวัฒนา จังหวัดกำแพงเพชร ๖๒๑๙๐ จำหน่ายที่ ๒๘ หมู่ ๕ ตำบลถาวรวัฒนา อำเภอ ทรายทองวัฒนา จังหวัดกำแพงเพชร ๖๒๑๙๐ ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ น. – ๑๕.๐๐ น. เบอร์โทรศัพท์ ๐๘๑-๙๗๒๐๒๘๒ ที่มาของอาหาร แจ่วหม้อ เป็นน้ำพริกยอดนิยม ที่ถือว่าเป็นอันดับหนึ่งของบรรดาน้ำพริกของชาวอีสาน การทำแจ่วหม้อที่มีมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ยังคงมีการสืบสานมาจนถึงทุกวันนี้ ในทุกมื้อของอาหารที่แต่ละครอบครัวจำเป็นต้องมีประดับในถาดข้าวก็คือ แจ่วหม้อและผักที่เป็นเครื่องเคียงนานาชนิด เพียงแต่รายละเอียดของวัตถุดิบที่นำมาใช้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา รวมทั้งวัตถุดิบที่เคยมีบางรายการที่ไม่สามารถหาได้ง่ายในปัจจุบัน ในอดีต ส่วนผสมสำคัญของแจ่วหม้อ คือ เนื้อกบหรือเขียดที่เป็นอาหารตามธรรมชาติ ที่พอหาได้ตามท้องไร่ท้องนา บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ในอดีตกาล ซึ่งต่อมาก็ไม่สามารถหาได้ง่ายแล้ว หลายครอบครัวจึงใช้ส่วนผสมที่หาได้ง่ายแทน เช่น เนื้อหมู เป็นต้น แจ่วหม้อนิยมทำในทุกฤดูกาลเพราะสามารถหาวัตถุดิบได้ง่าย ปัจจุบันในฤดูฝน ถ้ามีกบหรือเขียด ชาวบ้านก็ใช้กบหรือเขียดแทนหมู ความนิยมของแจ่วหม้อเกิดจากการที่แจ่วหม้อเป็นน้ำพริกที่ใช้เวลาทำน้อย ไม่ยุ่งยาก และอร่อย โดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องปรุงรสใด ๆ ทั้งสิ้น นอกจาก “น้ำปลาร้า” การปรุงต้องต้มน้ำปลาร้าให้ได้ที่เพื่อจะทำให้แจ่วหม้อมีรสชาติอร่อยโดยไม่ ต้องใส่ผงชูรส ถดูที่นิยมกิน ได้ตลอดทั้งปี รสชาติ กลมกล่อม คุณค่าโภชนาการ ให้อาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ครบ ทั้ง ๕ หมู่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรท ไขมัน เกลือแร่ วิตามิน