ตั้งอยู่ที่ วัดพระธาตุบุ บ้านโคกป่าฝาง ตำบลปะโค อ.เมืองหนองคาย เป็นพระธาตุที่เชื่อกันว่าบรรจุพระธาตุเขี้ยวฝาง(พระทันตธาตุ) ตามตำนานพระอรุงคธาตุ มีลักษณะทางศิลปกรรมเจดีย์ทรงระฆังสูง ก่ออิฐสอด้วยดินและยางไม้ ประวัติความเชื่อ เมื่อครั้งพระพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงนิมิตเห็นว่า อีกสามเดือนพระองค์จะปรินิพพานแล้ว ศาสนาของพระองค์จะไม่แผ่ไปยังนานาประเทศ ด้วยเหตุดังนี้ พระองค์จึงได้ตรัสแก่พระอานนท์ว่า "เมื่อคถาคตปรินิพพานแล้ว ขอจงให้อัฐิธาตุแตกเรี่ยรายออกเป็น 3 สัณฐาน ให้มหาชนอัญเชิญไปนมัสการ ก่อสถูปบรรจุพระบรมไว้นานาประเทศที่อยู่แห่งตน แล้วเมืองนั้นจะมีผลร่มเย็นเป็นสุข ผู้พบเห็นจะบังเกิดความเลื่อมใส ผู้กราบไหว้บูชาจักเป็นประโยชน์แก่ตน เห็นทางไปสู่คติโลกสวรรค์ พระพุทธศาสนาจะแผ่ไพศาลรุ่งเรือง และจงมอบให้พระมหากัสสปะนำพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานไว้ตามเมืองที่คถาคตเคยหมายไว้ ซึ่งพระมหากัสสปะมีญาณหยั่งรู้เป็นพิเศษเอง" ด้วยความเชื่อนี้ ทำให้การก่อสร้างพระมหาเจดีย์หรือพระมหาธาตุ ถือเป็นบุญเขตอันยิ่งใหญ่ มีประโยชน์ต่อทั้งทวยเทพ มนุษย์ และอมนุษย์ ที่จะได้สักการะบูชา และธำรงไว้ซึ่งพระธรรมของศาสนา สำหรับองค์พระธาตุบุนั้น เป็นพระธาตุปิดรูพญานาค ซึ่งพญานาคได้ "บุ" (ภาษาอีสานแปลว่า โผล่พ้นด้นดั้นขื้นมา) พื้นดินเป็นรูขึ้นมา (จากหนังสือประวัติหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และหลวงปู่ชอบ ฐานสโม กล่าวว่า ท่านเคยเห็นพญานาคมาทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์กับท่าน) เมื่อพญานาคจากเมืองบังพวนทราบว่า เมืองโพนจิกเวียงงัวมีพระบรมสารีริกธาตุและมีพระอรหันต์ประจำอยู่ จึงบุพื้นขึ้นมากราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุทำบุญและฟังธรรม บางครั้งพญานาคก็เผลอต่อการจำแลงกายทำให้ชาวบ้านเห็นเข้าก็เกิดความกลัว จึงได้ช่วยกันก่อพระธาตุปิดรูพญานาค ปี พ.ศ.2525 กรมศิลปากรได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้ พระมหาธาตุโพนจิกเวียงงัว เป็นโบราณสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการบูรณปฏิสังขรณ์ เนื่องจากองค์พระมหาธาตุทรุดโทรมลงตามกาลเวลา