ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
Latitude : N 12° 28' 54.0001"
12.4816667
Longitude : E 102° 4' 25"
102.0736111
No. : 9697
ท่านพ่อสุ่น วัดปากน้ำแหลมสิงห์
Proposed by. - Date 1 January 2010
Approved by. จันทบุรี Date 23 June 2021
Province : Chanthaburi
0 1558
Description

ท่านพ่อสุ่น ธมมฺสุวณฺโณ นามเดิมว่า สุ่น นามสกุล เวชภิรมณ์ เกิดที่ ตำบลบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี เกิด ณ วันพฤหัสบดี เดือน เมษายน พ.ศ. 2393 บิดาชื่อ บุตร มารดาชื่อ ปลิว มีน้องชาย1 คน ชื่อ อุ่น น้องสาว 1 คน ชื่อ อ่ำ

ท่านพ่อสุ่น เมื่อเยาว์วัยท่านมีใจบุญกุศลยิ่งนัก พูดได้ว่าเกิดมาท่านไม่เคยฆ่าสัตว์ตัดชีวิตก็ว่าได้ เพื่อนเด็กรุ่นเดียวกันชวนท่านไปยิงนกบ้าง ตกปลาบ้าง ท่านพ่อท่านก็จะไม่ไปด้วยและยังบอกสั่งสอนอีกว่ามันเป็นบาปกรรม ท่านพ่อท่านได้ศึกษาเล่าเรียนอักขระในสำนักวัดบางสระเก้ากับอาจารย์ และพออายุครบอุปสมบท บรรดาญาติจึงจัดการบรรพชาอุปสมบทให้ในวัดนั้น พระเทียน วัดกลาง ตำบลพลิ้ว เป็นอุปัชฌาย์ ท่านพ่อสุ่นเมื่อบวชเป็นภิกษุแล้ว ท่านได้ศึกษาวิชาอาคมกับขรัวตาจัน เจ้าอาวาสวัดบางสระเก้าในสมัยนั้น ขรัวตาจันผู้นี้เป็นผู้เรืองวิชายิ่งนัก เล่าสืบทอดกันมาว่าสมัยก่อนการคมนาคมต้องไปทางเรือ ขรัวตาจันท่านมีธุระโดยใช้เรือไป และระหว่างทางเรือท่านโดนโจรสลัดปล้น โจรสลัดใช้ปืนยิงเรือท่าน ยิงทีแรกลูกปืนก็ตกเกือบถึงเรือท่าน ยิงครั้งที่ 2 กลิ้งตกใกล้กระบอกปืนเข้ามา ส่วนเรือท่านก็ยังวิ่งเข้าหาเรือโจรสลัดนั้น พวกโจรยิ่งยิง กระสุนปืนก็ยิ่งตกใกล้กระบอกปืนมากเข้า จนในที่สุดก็ตกอยู่หน้ากระบอกปืนเป็นที่มหัศจรรย์นัก ขรัวตาจันองค์ท่านมีวิชาอาคมของท่านรอบตัว และท่านโปรดท่านพ่อสุ่น ยิ่งนัก จึงได้ถ่ายทอดวิชาอาคมให้จนหมด และโยมบุตรบิดาท่านพ่อสุ่น ก็เก่งทางวิชาอาคมยิ่งนักได้ถ่ายทอดให้ท่านจนหมดเช่นกัน

ท่านพ่อสุ่น เมื่อบวชได้ 5 พรรษา ทางวัดปากน้ำแหลมสิงห์ เจ้าอาวาสก็ว่างลง ชาวบ้านปากน้ำแหลมสิงห์ สมัยนั้นจึงพร้อมใจกันไปนิมนต์ท่านมาจากวัดบางสระเก้า ให้ท่านมารับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำแหลมสิงห์ แล้วท่านก็ปกครองวัดเรื่อยมา และบูรณปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมเสนาสนะทำนุบำรุงวัดเป็นการใหญ่ สั่งสอนภิกษุสามเณรให้ประพฤติดีงามตามพระธรรมวินัย และมิได้มีแต่เพียงวัดปากน้ำแหลมสิงห์ เท่านั้น วัดท่าหัวแหวนท่านยังรับเป็นธุระช่วยบูรณะปฎิสังขรณ์และก่อสร้างขึ้นอีกหลายอย่าง อุโบสถ วิหารการเปรียญซึ่งปรากฏอยู่ วัดท่าหัวแหวนทุกวันนี้เกิดขึ้นด้วยน้ำพักน้ำแรงของท่านเสียโดยมาก ลูกศิษย์ลูกหาที่ใกล้ชิดเล่าว่า ท่านพ่อสุ่น ท่านเป็นพระที่มีวิชาอาคมเข้มขลังมาแต่หนุ่มๆแล้ว ท่านพ่อเป็นที่เคารพนับถือของชาวอำเภอแหลมสิงห์และอำเภอใกล้เคียงตลอดจนชาวจันทบุรี ในสมัยนั้นมาก และท่านเป็นผู้เคร่งในพระธรรมวินัยยิ่งนัก ตี 4

ท่านลุกขึ้นครองผ้าสวดมนต์ไหว้พระทุกวัน กวาดลานวัดเป็นกิจประจำวันไม่ว่าในพรรษาหรือออกพรรษา ท่านสนใจและรอบรู้พระธรรมวินัยอย่างดี ปกติท่านเป็นพระที่ใจดีและคุยสนุกเมตตาอารีผู้อื่นอยู่เสมอ ท่านจึงเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ผู้น้อยสมัยนั้นทุกคน

ท่านพ่อเมื่อมาถึงช่วงนี้ ท่านก็ได้รับหนังสือแต่งตั้งจากเจ้าคณะจังหวัดสมัยนั้น คือท่านเจ้าเอ๋ง วัดเขาพลอยแหวน จันทบุรี แต่งตั้งให้ท่านเป็นเจ้าคณะแขวง (เจ้าคณะอำเภอ) แต่ท่านไม่ยอมรับตำแหน่งนี้ ท่านจึงชวนลูกศิษย์ท่านลงเรือใบใหญ่ของวัดหนีไป เพราะวัดของท่านมีเรือลำใหญ่และเล็กหลายลำ โดยท่านกะว่าจะไปบางกะสร้อย (บางปลาสร้อย) จังหวัดชลบุรี (ท่านผู้อ่านครับช่วงนี้เรื่องของท่านจะเริ่มใช้วิชาอาคมของท่านเป็นที่เปิดเผยแล้ว และได้ค้นคว้าประวัติท่านมาร่วม 6 - 7 ปี สืบเสาะค้นคว้าจดจำบันทึกพยานหลักฐานต่างๆ จากคนเฒ่าคนแก่ จากลูกศิษย์ท่านเป็นสำคัญ รวมทั้งบันทึกที่ทางวัดปากน้ำแหลมสิงห์ มี และของทางวัดบางสระเก้า วัดเก่าของท่านรวมกันแล้วจึงนำมาเรียบเรียงเขียนขึ้น ลูกศิษย์ที่เป็นเจ้าอาวาสมี 3 องค์ และเป็นวัดที่อยู่ในอำเภอเดียวกัน คือ

1. พระครูประจักษ์ยติคุณ (ท่านพ่อหุน) อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าหัวแหวน
2. พระครูจันทศิลคุณ (ท่านพ่ออวน) อดีตเจ้าอาวาสวัดเกาะเปริด
3. พระครูประศาสน์สิทธิการ (ท่านพ่อเฮ้า) อดีตเจ้าอาวาสวัดปากน้ำแหลมสิงห์
ลูกศิษย์ท่านพ่อสุ่น ที่ให้ข้อมูลสำคัญๆ คือ
1. นายแหม ฉวีวรรณ
2. นายแถน ผ่องแผ้ว
3. นายอุปถัมป์ บุญชู (เป็นศิษย์ที่ใกล้ชิดท่านพ่อสุ่นมากที่สุด)
4. นายพัฒน์ มีรส (เป็นผู้เลี้ยงวัวของท่านพ่อสุ่น)
5. นายผลิ เนินริมหนอง
นายผลิ เนินริมหนอง ได้จดคำบันทึกการบอกเล่าของนายแผด เนินริมหนอง ซึ่งเป็นบิดา และผู้เฒ่าผู้
แก่ ไว้หลายคน

ท่านพ่อสุ่นได้เล่าแก่ลูกศิษย์ลูกหา ว่าเมื่อครั้ง พระพุทธเจ้าหลวง (รัชกาลที่ 5) มาที่วัดปากน้ำแหลมสิงห์ประมาณเดือน 12 พ.ศ.2448 - 2449 และเดือน 12 อยู่ในระหว่างคลื่นใหญ่ลมจัดมีพายุ ท่านเสด็จมาโดยเรือใหญ่จอดไว้ที่หน้าเกาะ แล้วลงเรือเล็กมาและได้ทอดกฐิน ที่วัดด้วย รัชกาลที่ 5 ท่านทรงมีนิสัยชอบผจญภัยอยู่แล้ว ท่านอยากเสด็จประพาสเมืองจันทน์โดยใช้เรือพาย พายไปจากแหลมสิงห์เข้าแม่น้ำจันทบุรี ชาวบ้านก็พากันกราบทูลคัดค้านไม่ให้ท่านไป กลัวเรือจะจม เพราะคลื่นใหญ่ลมจัดเหลือเกิน แต่รัชกาลที่ 5 ท่านไม่ทรงเชื่อ ท่านได้บอกกับท่านพ่อว่าท่านจะไปเมืองจันทน์โดยเรือพาย ท่านพ่อท่านก็ว่า "เมื่อมหาบพิตรจะไปอาตมาก็ขอให้โชคดี" รัชกาลที่ 5 ท่านก็ว่า "ชาวบ้านคัดค้านไม่ให้ไปเพราะกลัวเรือจะจมหลวงพ่อเห็นเป็นยังไงครับ" ท่านพ่อท่านก็ว่า "วันที่มหาบพิตรเดินทางคงจะไม่มีอะไร" และก็เป็นที่น่าอัศจรรย์นัก พอวันที่รัชกาลที่ 5 ท่านจะเดินทางเข้าประพาสจันทน์โดยใช้เรือพาย เช้านั้นเองคลื่นลมพายุใหญ่ที่พัดกระหน่ำอยู่อย่างรุนแรง ก็สงบราบคาบลงเหมือนจะรู้เห็นเป็นใจในการที่จะให้รัชกาลที่ 5 ท่านประพาสเมืองจันทน์สมความปรารถนาของท่าน และสมคำท่านพ่อที่ว่า "คงไม่มีอะไร" เพราะรัชกาลที่ 5 บุญญาธิการของท่านก็สูงส่งและท่านพ่อวาจาของท่านก็ประกาศิตอยู่แล้ว ประชาชนชาวบ้านปากน้ำฯทั้งข้าราชการที่ไปส่งท่านพากันโห่ร้องสรรเสริญบุญบารมีของท่านไปตามๆกัน

ท่านพ่อสุ่น แทบจะไม่มีเวลาพักผ่อน ญาติโยม คนไหนป่วยเป็นโรคภัยไข้เจ็บ ถูกคุณถูกกระทำ เมื่อมานิมนต์ท่านๆก็จะไปให้ทุกคนไม่เคยขัด คนที่ถูกผีเข้าเจ้าสิง พอท่านก้าวขึ้นบันไดบ้านคนนั้นผีจะพากันร้องและออกไปทันที ฉะนั้นท่านพ่อจึงเป็นที่พึ่งของสัตว์ผู้ยากโดยแท้ เป็นเสมือนกิ่งโพธิ์กิ่งไทร ให้ลูกนก ลูกกา อาศัย และลงว่าผู้ใดมานิมนต์ท่านให้ทางลำบากยังไงท่านก็ต้องดั้นด้นไปจนได้ จะหาผู้ใดเสมอเหมือนท่านไม่มีอีกแล้ว และสาเหตุที่สำคัญที่บั่นทอนสุภาพร่างกายของท่านก็คือ ถนนหนทางสมัยก่อนขรุขระลำบากมาก ทางซักกิโลนั่งเกวียนไปเกวียนก็กระแทกกับถนนซึ่งเป็นหลุมเป็นบ่อ ร่างกายของท่านก็ทรุดโทรมลง ประกอบกับไม่มีเวลาพักผ่อน สังขารของท่านจึงทรุดโทรมเรื่อยมา แต่ท่าน พ่อท่านไม่เคยปริปากบ่นให้ใครได้ยิน แม้แต่ลูกศิษย์ที่ใกล้ชิด และในที่สุดก็เป็นวัฏฏะของชีวิตว่าจะต้องมี เกิด แก่ เจ็บ ตาย ท่านพ่อสุ่นท่านก็เริ่มเจ็บออดๆแอดๆเรื่อยมาด้วยโรคชรา และเมื่อสุดจะทนฝืนสังขารต่อไปได้ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ วันพฤหัสบดี เดือน 3 แรม 5 ค่ำ พ.ศ. 2471 (ต้นรัชกาลที่ 7 ) ท่านก็ถึงกาลมรณะภาพลงด้วยโรคชราอย่างสงบ รวมอายุท่านได้ 77 ปี 57 พรรษา วันที่ท่านพ่อสุ่น มรณะภาพลงนั้น ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ไปซักถามจะพูดเป็นเสียงเดียวกันหมดว่า "วันนั้นเหมือนดวงอาทิตย์ดับที่แหลมสิงห์ " ทุกบ้านเรือนเงียบเหงาวังเวง ทุกคนมุ่งหน้าเข้าสู่วัดทั้งๆที่หน้านองด้วยน้ำตา ทุกคนช่วยกันคนละไม้ละมือจัดการงานศพท่าน พวกบางกะสร้อยเมืองชล เมื่อรู้ข่าวก็พากันมาหลายสิบลำเรือ ขนข้าวขนของมาช่วยงาน หลวงพ่อภูและพระทางเมืองชลหลายสิบรูปพร้อมใจกันมาช่วยงานศพท่าน และได้ประชุมลงความเห็นกันว่าสมควรจะนำศพท่านไว้ที่วัดสำหรับไว้ให้ลูกศิษย์ลูกหา และชาวบ้านเคารพกราบไหว้กันก่อน แล้วค่อยประชุมเพลิงศพท่านทีหลัง

ทางวัดจึงนำศพท่านไว้ที่วัดจนถึง เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2472 จึงพร้อมใจกันจัดการประชุมเพลิงศพท่าน และให้มีการแสดงมหรสพทุกชนิด จัดว่าเป็นงานใหญ่ที่สุดตั้งแต่จัดงานกันมา ผู้คนจากสารทิศหลั่งไหลมาช่วยงานท่านแน่นวัดไปหมด พวกมาจากบางกะสร้อย เมืองชลพากันมาเนืองแน่นอีกครั้ง หลวงพ่อภูเป็นประธานจัดการแต่งศพท่านอย่างสวยงาม พวกผู้หญิงที่มาจากบางกะสร้อยพากันแกะสลัก ฟัก แฟง แตงกวา เป็นรูปลวดลายต่างๆอย่างสวยงามใส่เรือมา ทำกับข้าวให้คนกินเนื่องในวันประชุมเพลิงศพท่าน พระจากเมืองจันทน์และใกล้เคียงพร้อมใจกันมาช่วยงานท่านหลายสิบรูป พระพื้นบ้านก็มี หลวงพ่อยวน วัดเขาชำห้าน หลวงพ่อทอก วัดหนองชิ่ม หลวงพ่อจิ่ม วัดไผ่ล้อมท่าใหม่ มาเป็นผู้ทำพลุ ตะไล ไฟพะเนียง อีตื้อ โดยหลวงพ่อจิ่มมาอยู่เตรียมการก่อนเกือบครึ่งเดือน และหลวงพ่อจิ่มได้ทำ นกบินกลับรังคือ ทำโครงไม้ไผ่เป็นรูปนกและพอจุดไฟ นกโครงไม้ไผ่ก็ร่อนออกไป และเมื่อหมดเชื้อไฟก็บินกลับมาตกที่เดิมได้ เป็นที่ชื่นชอบของชาวบ้านยิ่งนัก และการประชุมเพลิงศพท่านพ่อสุ่นนั้น ลำบากมากเพราะทำท่าว่าจะเผาไม่ไหม้ ต้องมีการจุดธูปเทียนขอขมาลาโทษหลายคน เมื่อประชุมเพลิงศพท่านเสร็จ ทางวัดจึงรวบรวมอัฏฐิท่านไว้ที่วัดต่อไป

และต่อมาจนถึงวันที่ 2 เมษายน 2480 บรรดาศิษย์ยานุศิษย์ระลึกถึง พระคุณท่าน จึงพร้อมใจกันก่อเจดีย์ เชิญอัฏฐิท่านมาบรรจุไว้เพื่อให้ลูก หลานที่เดินผ่านไปผ่านมาได้เคารพ กราบไหว้ระลึกถึงคุณงามความดีของท่านต่อไป และวันนั้นทางวัดได้สร้างเหรียญรูปท่านขึ้นมาแจกแก่ผู้ไปร่วมงาน เรียกว่า 2480

บทส่งท้าย ท่านพ่อสุ่นทุกวันนี้ลูกหลานเหลนของท่านยังอยู่มากก็ที่ ตำบลบางสระเก้า และหลวงพ่อแสง เจ้าอาวาสวัดบางสระเก้า ปัจจุบันนี้มีศักดิ์เป็นเหลนของท่าน และมีรูปร่างใกล้เคียงกันมาก และท่านก็เป็นพระที่ชาวบ้านบางสระเก้านับถือกันมาก

ท่านพ่อสุ่นถือเป็นพระที่มีวาจาประกาศิต, มีวิชาอาคม ผู้สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.watpaknamlaemsing.org

Location
วัดปากน้ำแหลมสิงห์
No. 1 Moo 1 Soi - Road -
Tambon ปากน้ำแหลมสิงห์ Amphoe Laem Sing Province Chanthaburi
Details of access
http://www.watpaknamlaemsing.org/luang-phor-soon-history.php
Reference เจ้าอาวาสวัดปากน้ำแหมสิงห์
Organization วัดปากน้ำแหลมสิงห์
No. 1 Moo 1 Soi -
Tambon ปากน้ำแหลมสิงห์ Amphoe Laem Sing Province Chanthaburi ZIP code 22130
Tel. 0819890065
Website http://www.watpaknamlaemsing.org
Comment
Please Login Before comment.

Username
Password
No comment.
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่