เจ้าอุษา เป็นบุตรีของเจ้าเมืองฉอด ในสมัยกรุงธนบุรี ก่อนปี พ.ศ. ๒๓๑๔ พม่ายกกองทัพตีเมืองฉอด เจ้าพ่อพะวอ (เชื้อสายกะเหรี่ยง) เป็นบุตรเขยและเป็นขุนศึกของเจ้าเมืองฉอด เจ้าเมืองฉอดเห็นว่าต้านทัพพม่าไม่ได้ จึงให้เจ้าพ่อพะวอ นำเจ้าแม่อุษาพร้อมไพร่พลและทรัพย์สมบัติบางส่วน อพยพออกจากเมืองฉอดโดยยึดแนวภูเขาเป็นทางเดินทัพ มุ่งหน้าไปทางเมืองตาก ขณะนั้นเจ้าแม่อุษาได้ตั้งครรภ์แล้ว การเดินทางเป็นไปด้วยความลำบาก ผ่านหลายหมู่บ้าน ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๓ - ๔ เดือน เพราะต้องทำการสู้รบกับกองทัพพม่าที่ไล่ติดตามมา
หลังเจ้าแม่อุษาคลอดลูก เจ้าพ่อพะวอ จึงให้ทหารสำรวจพื้นที่ พบถ้ำมีบ่อน้ำเย็นที่ผุดออกมาจากรูหิน มีบ่อน้ำร้อนอยู่ใกล้ ๆ เป็นสมรภูมิที่ดีมากเพราะอยู่ติดดอย จึงหยุดพัก เจ้าแม่อุษา พร้อมไพร่พล ทรัพย์สมบัติเข้าไปอยู่ในถ้ำ และได้ปิดปากถ้ำบางส่วน เหลือช่องทางลับเข้าไป เจ้าพ่อพะวอก็ได้เดินทางต่อไป ส่วนเจ้าแม่อุษาก็ได้เสียชีวิตในเวลาต่อมาในสถานที่นั้น ด้วยแรงศรัทธานับถือของผู้คนในหมู่บ้าน จึงตั้งชื่อ และให้ตั้งศาลขึ้นเป็น "ศาลเจ้าแม่อุษา" เป็นตำนานเล่าต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน