กลุ่มผู้ผลิตผ้าไหมมัดหมี่ลายราตรีวังนารายณ์ ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 22 หมู่ 4 ตำบลโคกเจริญ อำเภอโคกเจริญ จังหวัดลพบุรี โดยมีนายวินัย ปัจฉิม เกิดวันที่ 25 พฤศจิกายน 2500 อยู่บ้านเลขที่ 22 หมู่ 4 ตำบลโคกเจริญ อำเภอโคกเจริญ จังหวัดลพบุรี เป็นประธานกลุ่ม
ประวัติความเป็นมา
ผ้าไหมมัดหมี่ลายราตรีวังนารายณ์ เป็นผ้าไหมที่มีลวดลายเป็นเนื้อหารวบรวมสิ่งสำคัญและสื่อคำขวัญของจังหวัดลพบุรีที่ว่า “วังนารายณ์คู่บ้านศาลพระกาฬคู่เมือง ปรางค์สามยอดลือเลื่อง เมืองแห่งดินสอพอง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เกริกก้องแผ่นดินทองสมเด็จพระนารายณ์” ไหมที่ใช้ในการทอเรียกว่า “ไหมบ้าน (ไหมเหลือง)”กรรมวิธีในการสาวไหมใช้การสาวไหมด้วยมือ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาไทยอย่างแท้จริงเป็นไหมขนาดใหญ่ ใช้ไหมทั้งหมด 135 ลำ คันไหมทั้งหมด 20 ขีน (คู่) ทอแบบสองตะกอสอดด้ายดำเพื่อความประณีต และเน้นลักษณะผ้าทอโดยเฉพาะใช้โทนสีแบบโทนสีเบญจรงค์ ทำให้รู้สึกเข้มขลังเหมาะกับชิ้นงานเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม แสดงรูปแบบงานสถาปัตยกรรมด้วยงานหัตถกรรมการทอทั้งกระบวนการผลิตและลวดลายจากภูมิปัญญาไทย ขนาดผ้ายาว 186 เซนติเมตร ราคา 2,000 บาท สามารถผลิตได้วันละ 50 เซนติเมตร
มาตรฐานและรางวัลที่ได้รับ
1. รางวัลชนะเลิศผลิตภัณฑ์ดีเด่น จังหวัดลพบุรีหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์
2.รางวัลชนะเลิศผลิตภัณฑ์ดีเด่นภาคกลาง ผ้าไหมมัดหมี่ประเภทภูมิปัญญา
วัตถุดิบ และส่วนประกอบ
เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้การทอผ้าในการทอผ้าประกอบด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์ดังนี้
1. กี่หรือหูก เป็นโครงสร้างที่ใหญ่ของเครื่องมือที่ทอใช้ไม้เนื้อแข็งขัดเกลาจากช่างผู้ชำนาญประกอบขึ้นเป็นตัวกี่
2.ฟืมหรือฟันหวี คือส่วนที่กระทบให้ด้ายที่ทอเข้ากันแน่น มีลักษณะเป็นแผ่นทำด้วยเหล็ก หรือสแตนเลตทำเป็นช่องถี่เล็กๆ เรียงต่อกัน ระหว่างช่องเหล่านี้ได้ใช้สำหรับสอดได้ยืนทั้งหมดความยาวประมาณ 1.10 เมตร
3. ไม้แกนม้วนผ้า คือไม้ที่ใช้ม้วนผ้าที่ใช้แล้ว ไว้อีกส่วนหนึ่ง เป็นไม้เนื้อแข็ง กลมหรือเหลี่ยมก็ได้ขนาดความกว้างเท่ากับกี่ หรือเท่ากับความกว้างของผ้าที่ทอ ส่วนใหญ่ประมาณ 1 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 เซนติเมตร ปลายทั้งสองเป็นเหล็กหรือไม้ก็ได้ทำเหมือนกงจักรเพื่อให้ง่ายต่อการหมุนเครือข่ายหรือม้วนกลับเข้าเหมือนเดิมกงจักรที่เป็นเหล็ก จะต้องหมุนด้วยพลาสติก เพื่อป้องกันสนิมและการเกี่ยวขาดของด้ายไม้กงจักรจะอยู่ด้านนอกเพื่อค้ำยันด้วยเครื่องให้อยู่กับที่โดยมีไม้สำหรับคั่นเครือช่วยค้ำ
4. ไม้สำหรับนั่งทอผ้า ใช้สำหรับผู้ทอผ้าเวลาทำการทอผ้า ลักษณะเป็นแกนไม้ไผ่มีไม้แผ่นตรงกลางเป็นที่นั่ง เป็นแผ่นไม้เนื้อแข็งขนาดพอดีกับการนั่ง
5. กระสวย คือ ไม้ที่เป็นรูปเรียว ตรงปลายทั้งสองข้างตรงกลางป่อง มีร่องสำหรับใส่หลอดด้ายอยู่ตรงกลางใช้สำหรับพุ่งหลอดไปในระหว่างช่องการทอ ให้เส้นด้ายพุ่งไม่ขัดกับด้ายเครือสลับกับการกระทบฟืม มีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร
6. หลอดด้ายพุ่ง คือหลอดไม้ไผ่ที่บรรจุด้ายจนเต็ม ใส่อยู่ภายในกระสวย สำหรับเป็นด้ายพุ่ง มี 2 ขนาดหลอดใหญ่ใช้กรอเส้นด้ายเครือ (ในการเดินด้าย) มีความกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 19 เซนติเมตร หลอดเล็กใช้กรอเส้นด้ายพุ่ง ใส่ไส้กระสวยสำหรับทอผ้ามีความกว้างประมาณ 0.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7 เซนติเมตร
7. ไม้เหยียบหรือคานไม้ เป็นไม้สี่เหลี่ยมอยู่ด้านกลาง มีเชือกผูกเชื่อมโยงสลับเขาหูกทั้งสองอันสำหรับเหยียบเพื่อให้เส้นด้ายเครือสลับกันเป็นช่องก่อนจะสอดด้ายลายหมี่ในหลอดกระสวย
8. ตะกอหรือเขา มีลักษณะเป็นกรอบไม้สี่เหลี่ยมผืนผ้า ผู้ทอจะเก็บตะกอตามเส้นด้ายเครือเส้นเว้นเส้นสลับกันไปจนหมดความกว้างของเส้นด้ายเครือ ตะกอลายพื้นฐานมี 2 อันสำหรับแยกเส้นด้ายยืนออกเป็นหมู่ 2 ฝ่าย เพื่อที่จะพุ่งกระสวยผ่านไปมาตระกอจะมีเชือกเส้นด้ายผูกแขวนไว้ ด้านบนเคลื่อนที่ไปมาได้ด้านล่างมีเชือกผูกติดกับคานเหยียบ ให้เลื่อนขึ้นลงเปิดเส้นด้ายยืนให้เป็นช่องเพื่อพุ่งกระสวยให้เข้าหากันได้สะดวก ตะกอและคานเหยียบจะมีมากชุดเมื่อต้องการผ้าที่มีลายมาก
ขั้นตอนการทอผ้า
การทอผ้ามัดหมี่เป็นวิธีการทอที่ต้องนำเส้นด้ายที่เป็นด้ายพุ่งไปมัดให้เป็นลวดลายด้วยเชือกฟางก่อนนำไปย้อมสี แล้วกรอด้ายให้เรียงตามลวดลาย ใส่กระสวยนำไปทอพื้นฐานจะได้ลายมัดหมี่ที่เรียกว่า มัดหมี่เส้นพุ่งรอยซึมของสีที่วิ่งไปตามลวดลายที่ผูกมัดของเส้นด้ายจะทำให้เกิดลักษณะลายที่ต่างจากผ้าทอชนิดอื่น ลำดับในการทอผ้าพื้นเมือง มีดังนี้
1.การขึ้นเครือด้ายหรือด้ายยืนการขึ้นเครือด้ายขึ้นเป็นเมตร ตั้งแต่ 150 , 200,250, 300, 350 และ 400 เมตร โดยเฉลี่ยแล้วเครือด้าย 2 เมตร จะทอผ้าซิ่นหรือผ้าถุงได้ 1 ผืน ปัจจุบันนิยมขึ้นเครือด้ายตั้งแต่ 200 เมตรขึ้นไป
2. การค้นหมี่เป็นลำทำโดยนำด้ายม้วนสำเร็จที่ซื้อมา มาค้นทีละเส้นสลับเป็นจุดโดยมีเครื่องมือช่วยค้นปัจจุบันใช้กันทั้งเครื่องมือช่วยค้นแบบดั้งเดิมซึ่งใช้แรงงานคนโยกเครื่องค้นและแบบสมัยใหม่ที่ใช้มอเตอร์หมุนเครื่องค้นซึ่งการค้นนี้สามารถค้นได้ 7,14,17,21,25,31,41,51 และ 61 ลำตามที่ต้องการถ้าจำนวนลำน้อยจะมัดลายได้ไม่ละเอียดนักและได้สีน้อย ส่วนมากจะมัดลายกันตั้งแต่ 25ลำขึ้นไปจึงจะมัดลายได้ละเอียด สามารถเลือกใช้สีได้หลากสีสามารถประดิษฐ์ดัดแปลงได้ตามต้องการ ในกรณีผ้าไหมลายราตรีวังนารายณ์ จะค้นหมี่จำนวน 271 ลำ 20 ขีน (คู่) จะได้ผ้า 4 เมตร
3. การมัดหมี่หรือการโอบลายหมี่ เป็นการเลือกที่จะให้ลายบริเวณไหนเป็นสีอะไรตามเทคนิคของผู้ทำหรือตามแบบที่มีอยู่แล้วการมัดหมี่จะใช้เชือกฟางที่ผ่านการขยี้หรือทำให้นิ่มแล้ว เพื่อง่ายต่อการมัดตัดและฉีกให้กว้างประมาณ 2 เซนติเมตร พันรอบเส้นด้ายตามลายที่ต้องการในการมัดอาจใช้เชือกฟางสีต่างกันเพื่อความสะดวกและเห็นลวดลายชัดเจน กรณีผ้าไหมลายราตรีวังนารายณ์จะให้สีได้ถึง 7 สี
4. การย้อมหมี่ เมื่อมัดหมี่เสร็จอาจนำปอฟางมาโอบดอก ลายไว้สำหรับการย้อมสีอื่นการมัดหมี่หรือโอบลายหมี่ของผู้นำ หากใช้เทคนิคต่างกันแม้ว่าจะเป็นหมี่ลายเดียวกันแต่การย้อมสีแต่ละสีต่างกันก็สามารถทำให้ผ้ามีลวดลายที่ดูต่างกันได้สำหรับวิธีการย้อมนั้นก็จะนำหมี่ที่ต้องการย้อมไปแช่น้ำประมาณ 5-10 นาทีแล้วบิดพอหมาด หลังจากนั้นจึงทำการย้อมสีในน้ำต้มที่เดือด คนและพลิกกลับไปมาประมาณ15-20 นาที ถ้าคนไม่ดีจะทำให้หมี่ที่ได้สีไม่สม่ำเสมอเมื่อได้สีตามที่ต้องการก็จะยกหมี่ไปแช่น้ำเย็น 3-5 นาทีต่อจากนั้นนำไปฟอกด้วยผงซักฟอกหรือน้ำยาปรับผ้านุ่มเพื่อล้างสีที่ย้อมไม่ติดหรือที่ติดกับฟางออกแล้วนำไปมัดใหม่อีกรอบเพื่อย้อมสีต่อไป เมื่อย้อมได้ทุกสีตามต้องการแล้วก็จะนำไปใส่โครงมักอีกครั้งและใช้กรรไกรตัดปอฟาง
5. การปั่นหมี่ใส่หลอด หมี่ที่มัดและย้อมสีแล้วจะนำไปตากให้แห้งแล้วนำมาแก้ปอฟางออกให้หมดต่อมาจึงนำมาใส่กงปั่นด้าย (อุปกรณ์ที่ใช้ในการปั่นด้ายทำด้วยไม้ประกอบเป็นโครงอาจมีขนาดเล็กหรือใหญ่ตามความถนัดของคนปั่นมีขาตั้ง 2 ข้างขนานกัน) การปั่น จะปั่นใส่หลอดโดยอาศัยหลาช่วย (อุปกรณ์ปั่นด้ายและหลอดด้ายโดยใช้เหล็กหรือไม้เป็นที่ปั่นส่วนที่สำคัญเรียกว่าเหล็กในทำด้วยเหล็กแท่งเล็กสำหรับใส่หลอดด้าย) การปั่นอาจปั่นได้เกือบเต็มขนาดหลอด แต่ต้องไม่ลุ่ยแล้วตัดด้ายหลอดด้ายที่ปั่นเสร็จแล้วจะร้อยเชือกไว้ทีละหลอด
6. การทอผ้า นำหลอดด้ายที่ปั่นเสร็จแล้วไปทอผ้าให้เป็นชิ้น
เทคนิคการผลิต
เทคนิคการทอผ้าปัจจัยที่จะทำให้ผ้ามัดหมี่ลายสวย เนื้อเรียบ ขึ้นอยู่กับกระบวนการก่อนทอ กล่าวคือ
1. การมัดลาย ต้องมัดลายให้ตรงกัน
2. การปั่นด้าย ด้ายที่นำมาปั่นต้องแห้งสนิทเป็นด้ายที่มีคุณภาพดี ไม่ยึด
3. การค้นด้าย ต้องใช้แรงค้นอย่างสม่ำเสมอจะทำให้ด้ายยึดตัวเท่าๆ กัน
4. การขึ้นเครือด้าย ต้องขึ้นให้ด้ายมีความตึงเสมอกันทุกเส้น และขนาดความยาวของด้ายพุ่งที่กำหนดไว้แต่ละลาย ต้องมีความยาวเท่ากับหน้าผ้าพอดี
5. การทอ ต้องทอให้น้ำหนักมือสม่ำเสมอโดยเฉพาะเมื่อทอผ้าได้ยาวได้ระดับหนึ่ง จะต้องม้วนผ้าเข้าแกนม้วนผ้าระยะแรกต้องผ่อนแรง
แหล่งจำหน่าย
ศูนย์ศิลปิน OTOP เลขที่ 22 หมู่ที่ 4ตำบลโคกเจริญ อำเภอโคกเจริญ จังหวัดลพบุรี 15250
โทร. 089- 9059332