บ้านซับศรีจันทร์ หมู่ 2 ตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เดิมหมู่บ้านนี้เป็นป่า โดยคนกลุ่มแรกที่เข้ามาก่อตั้งบ้านเรือนคือ ตาศรี กับ ยายจันทร์ และเริ่มมีชาวบ้านอพยพมาตั้งรกรากตามมาจนเป็นหมู่บ้าน และได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านซับศรีจันทร์” เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้มาบุกเบิก จึงเอาชื่อของตาศรีกับยายจันทร์ มารวมกันเป็น
“บ้านซับศรีจันทร์”
บ้านซับศรีจันทร์เริ่มแรกเป็นตำบลลาดบัวขาว หมู่ที่ 13 เมื่อปี พ.ศ. 2512 มีผู้ใหญ่บ้านคนแรกชื่อ นายคนึง ศิริวัฒนกุล และต่อมาได้แยกจากตำบลลาดบัวขาวมาเป็นตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เมื่อปีพ.ศ.2538 ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 6 กันยายน 2538 ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันชื่อนายจักรกฤษณ์ จันทรกลาง
ชาวบ้านซับศรีจันทร์ มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่สงบ เรียบง่าย ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ
ด้านเกษตรกรรมการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ภาษาที่ใช้คือภาษาไทยอิสาน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีวัดประจำหมู่บ้าน 1 แห่ง คือ วัดซับศรีจันทราราม เป็นสถานที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ปฏิบัติธรรม และเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน ชาวบ้านได้ร่วมกันสืบสานประเพณีอันดีงามของไทย ได้แก่ ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีทำบุญเข้าพรรษา ประเพณีทำบุญออกพรรษา ประเพณีลอยกระทง ประเพณีทอดกฐิน และประเพณีแห่นางแมว ตลอดจนวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา
บ้านซับศรีจันทร์มีปราชญ์ชาวบ้านที่มีความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านต่าง ๆ ได้แก่
ด้านแพทย์แผนไทย สมุนไพร หมอพื้นบ้าน ด้านอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น
ด้านงานฝีมือต่าง ๆ เช่น ช่างไม้ ช่างปั้น ช่างแกะสลัก หัตถกรรม จักสาน ทอผ้า
ด้านการเกษตร เช่น การเพาะปลูก ขยายพันธุ์ การปรับใช้เทคโนโลยี ด้านการถนอมอาหาร ด้านความเชื่อ โหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ และชาวบ้านได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อจัดทำผลิตภัณฑ์ชุมชนที่สำคัญของหมู่บ้าน คือ ผลิตภัณฑ์จากหินทราย และกลุ่มผลไม้กวน