วัดแม่พระมหาการุณย์ หนองบกเดิมชื่อว่า “วัดพระกุมารเยชู” ตั้งอยู่ ณ หมู่บ้านหนองบก ตำบลคำตากล้า อำเภอคำตากล้า จังหวัดสกลนคร เมื่อประมาณปี ค.ศ. ๑๙๕๗ มีคริสตชนจำนวน ๗-๘ ครอบครัวจากบ้านนาดูน ตำบลบ้านแรกเปือย อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดสกลนครได้ย้ายถิ่นฐานมาขออาศัยอยู่กับชาวบ้านหนองพอกน้อย ตำบลคำตากล้า อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนครซึ่งเป็นชาวพุทธ บาทหลวงอันเคร ฟรังชีโน อธิการโบสถ์วัดบ้านนาดูนในเวลานั้น ได้ติดตามมาเยี่ยมเยียน ต่อมามุขนายกมีคาแอลเกี้ยน เสมอพิทักษ์ ประมุขมิสซังในสมัยนั้นได้มาเยี่ยมเยียนถามไถ่ทุกข์สุขและได้มอบหมายให้บาทหลวงยอแซฟอินตา นันสีทอง อธิการโบสถ์วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว ตำบลหนองแวง อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนครในขณะนั้นให้ดูแลคริสตชนกลุ่มนี้ บาทหลวงอินตาได้สร้างวัดขนาดเล็กขึ้นมา สำหรับใช้เป็นที่ภาวนาและถวายบูชามิสซาร่วมกัน โดยไปถวายมิสซาเดือนละครั้งสองครั้งและได้ปฏิบัติเช่นนี้ในบ้านหนองพอกน้อยเป็นเวลาประมาณ ๓ ปี ประมาณปี ค.ศ.๑๙๖๐ บาทหลวงอินตา ได้ขอแบ่งซื้อที่ดินของโรงเรียนบ้านหนองพอกน้อยกับนายบุญเลิศ ศรีสุราช ครูใหญ่โรงเรียนในขณะนั้นเพียงราคา ๕๐๐.-บาท ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านหนองพอกน้อย ขณะนั้นยังเป็นป่ามีสัตว์ป่าอยู่มากมายและมีหนองน้ำอยู่กลางป่าเรียกว่า”หนองบก” จึงได้นำคริสตชนทั้งหมดมาตั้งถิ่นฐานใหม่ตรงบริเวณที่ดินที่ซื้อเอาไว้ พร้อมทั้งได้ย้ายวัดน้อยนั้นออกมาตั้งอยู่บริเวณหนองน้ำดังกล่าวด้วย และได้ตั้งชื่อหมู่บ้านใหม่นี้ว่า”บ้านหนองบก” ต่อมาบาทหลวงอินตาฯ ได้ซื้อบ้านไม้หลังหนึ่งจากชาวบ้านเพื่อนำเอาไม้มาสร้างวัดและให้ชาวบ้านช่วยกันเลื่อยไม้เพิ่มเติม ปี ค.ศ.๑๙๖๒ บาทหลวงอินตาฯ ได้ร่วมมือกับชาวบ้านในการสร้างวัดไม้หลังใหม่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยมีนายช่างเวียนฯ จากบ้านนาบัว และนายช่างจานกอง จากบ้านหนองพอกน้อยจนกระทั่งแล้วเสร็จและเริ่มใช้งานในปี ค.ศ. ๑๙๖๔ โดยตั้งชื่อวัดหลังใหม่นี้ว่า “วัดพระกุมารเยซู” ซึ่งได้ใช้เป็นศูนย์กลางในการภาวนาและถวายมิสซาเรื่อยมา เมื่อมีคริสตชนอพยพจากที่อื่นเพิ่มมากขึ้นวัดจึงคับแคบลง ปี ค.ศ.๑๙๗๔ บาทหลวงปิแอร์ โกลาส์ อธิการโบสถ์วัดนาบัวและดูแลวัดหนองบกได้ขยายตัววัดด้านพระแท่นให้ยาวออกไป ส่วนหนองน้ำหน้าวัดนั้นได้ถมเพื่อเป็นสนาม และได้ขุดสระน้ำด้านหลังวัดเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้เป็นสาธารณประโยชน์ของหมู่บ้าน แม้วัดจะขยายเพิ่มเติมแต่ก็ยังไม่เพียงพอกับจำนวน คริสตชนที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับวัดไม้เริ่มเก่าแก่และผุพังไปตามกาลเวลา ทางอัครสังฆมณฑลจึงได้อนุมัติให้มีการสร้างวัดใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม บาทหลวงมีคาแอลเฉลิมศิลป์ จันลา อธิการโบสถ์ในขณะนั้นได้ร่วมมือกับชาวบ้านรื้อวัดไม้หลังดังกล่าวเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๙๒ และได้ต่อเติมดัดแปลงศาลาประชาคมที่สร้างเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๘๕ ขณะบาทหลวงอเล็กซิสไทยวัฒน์ นิลเขต ให้เป็นวัดชั่วคราว ในระหว่างนั้นได้ดำเนินการถมดิน เตรียมที่สำหรับสร้างวัดหลังใหม่ รวมทั้งถมหนองบกบริเวณหน้าวัดให้เป็นสนามและขุดบ่อเลี้ยงปลาบริเวณด้านหลังวัด ทำให้พื้นที่วัดกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ต่อมาปี ค.ศ. ๑๙๙๓ ได้เริ่มสร้างวัดหลังใหม่ โดยมีนายประวิทย์ เจริญพงศ์ เป็นสถาปนิก นายสมภาร ทรงเล็กสิงห์ จากบ้านท่าแร่เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง ด้วยความร่วมมือของชาวบ้าน ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการก่อสร้างของอัครสังฆมณฑลและบาทหลวงเฉลิมศิลป์ฯ อธิการโบสถ์ การก่อสร้างได้ดำเนินการเรื่อยมาจนเสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ. ๑๙๙๕ ใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น ๒ ปี และได้เปลี่ยนชื่อวัดหลังใหม่นี้เป็น”วัดแม่พระมหาการุณย์” ตามเจตนารมณ์ของผู้บริจาคเงินในการก่อสร้าง มีพิธีเสกและเปิดเป็นทางการเมื่อวันพุธที่ ๑๙ เมษายน ค.ศ. ๑๙๙๕ โดยมุขนายกลอเรนซ์คาย แสนพลอ่อน ซึ่งวัดนี้มีพื้นที่ประมาณ ๑๕ กว่าไร่ สัตบุรุษ ประมาณ ๒๕๓ ครอบครัว ประชากร ประมาณ ๑,๑๗๐ คน ได้จัดวิถีชุมชน จำนวน ๑๐ กลุ่ม (ผู้ให้ข้อมูลบาทหลวงสุรวุฒิ สมงาม อธิการโบสถ์วัดแม่พระมหาการุณย์ บ้านหนองบก ตำบลคำตากล้า อำเภอคำตากล้า จังหวัดสกลนคร โทร.๐๘๗๙๑๙๔๓๑๕)