ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
Latitude : N 17° 13' 48.3255"
17.23009042849819
Longitude : E 104° 14' 1.6612"
104.23379477656249
No. : 162793
อัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง
Proposed by. สกลนคร Date 4 October 2012
Approved by. สกลนคร Date 20 October 2012
Province : Sakon Nakhon
2 1937
Description

อัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ.1950 (พ.ศ.2493) เรียกว่า “มิสซังท่าแร่”ซึ่งครอบคลุมภาคอีสานทั้งหมดของประเทศไทย (รวมถึงนครราชสีมาที่มอบให้อยู่ในความดูแลของมิสซังกรุงเทพฯ เป็นการชั่วคราว)ก่อนหน้าที่จะแยกออกเป็น 3 มิสซังในเวลาต่อมา คือ เทียบเท่ามิสซังอุดรธานี (Prefecture)มิสซังอุบลธานี และมิสซังท่าแร่ ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ.1953 (พ.ศ.2496)ต่อมามิสซังท่าแร่ได้รับยกฐานะเป็น “สังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง” เมื่อวันที่ 25มีนาคม ค.ศ.1960 (พ.ศ.2503)โดยเพิ่มชื่อ “หนองแสง”เข้ามาในฐานะที่หนองแสงเคยเป็นศูนย์กลางมิสซังในระยะเริ่มแรก และได้รับการสถาปนาพระฐานานุกรมเป็น “สังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง”เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ.1965 (พ.ศ.2508)

อย่างไรก็ดี สังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง มีประวัติความเป็นมายาวนานพร้อมกับการเข้ามาของคริสตศาสนาในภาคอีสานของประเทศไทย อันเป็นที่มาของบทความนี้ โดยมุ่งศึกษาถึงความเป็นมาในอดีตในระยะเริ่มแรกจนถึงปี ค.ศ.1950 (พ.ศ.2493)เพื่อจะได้ทราบถึงประวัติความเป็นมา และการถือกำเนิดขึ้นของพระศาสนจักรท้องถิ่นแห่งนี้ อีกทั้งจะเป็นอนุสติเตือนใจให้บรรดาพระสงฆ์ นักบวช และผู้แพร่ธรรมทั้งหลายในปัจจุบันให้มีความหวัง เมื่อได้เห็นว่า หยาดเหงื่อแรงกายของมิชชันนารีในอดีตที่ได้ทุ่มเทอุทิศให้แก่พระศาสนจักรอีสานนั้น ได้เกิดดอกออกผลมากมายและเป็นแรงบันดาลใจสำหรับอนุชนรุ่นหลังให้ก้าวเดินต่อไป แม้จะมีความยากลำบากเพียงใดก็ตาม

1. การเข้ามาของคริสต์ศาสนาในภาคอีสาน

ในอดีตดินแดนที่เรียกว่า “ภาคอีสาน”ปัจจุบัน เคยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของขอม ซึ่งยังปรากฎร่องรอยทางวัฒนธรรมให้เห็นในรูปของปราสาท ปรางค์ กู่ และโบราณสถานต่างๆ โดยเฉพาะในเขตอีสานใต้ ในช่วงปี ค.ศ.1353-1707 (พ.ศ.1896-2250)ภาคอีสานถือเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านช้าง โดยมีหลวงพระบางเป็นราชธานี ซึ่งต่อมาภายหลังเปลี่ยนเป็นเวียงจันทน์และจำปาศักดิ์ตามลำดับ การปกครองของคนอีสานได้สืบทอดเป็นจารีตประเพณีเรื่อยมา ซึ่งคณะผู้ปกครองสูงสุดเรียกว่า “อาญาสี่” มี 4 ตำแหน่ง คือ เจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ และราชบุตร จนขึ้นอยู่กับกรุงธนบุรีภายใต้การปกครองของพระเจ้าตากสินและสืบเนื่องถึงรัตนโกสินทร์ จนกระทั่งถึงปี ค.ศ.1890 (พ.ศ.2433)ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้จัดระบบการปกครองใหม่โดยแบ่งภาคอีสานออกเป็น 4 เขต ได้แก่ นครจำปาศักดิ์ เมืองอุบลราชธานี เมืองหนองคายและนครราชสีมาภายใต้การปกครองของข้าหลวง อันเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ฝรั่งเศสได้แผ่อิทธิพลเข้ามาในเขมรและเวียดนามในปีต่อมา คือปี ค.ศ.1891 (พ.ศ.2434)จึงได้โปรดเกล้าให้พระเจ้าน้องยาเธอ 3 พระองค์ไปเป็นข้าหลวงใหญ่ต่างพระองค์สำเร็จราชการหัวเมืองอีสาน เพื่อป้องกันการแทรกแซงจากฝรั่งเศสและปรับปรุงระบบการบริหารงานให้รัดกุมยิ่งขึ้น คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงพิชิตปรีชากร ดูแลหัวเมืองลาวกาว ประจำที่นครจำปาศักดิ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ดูแลหัวเมืองลาวพวน ประจำที่เมืองหนองคาย และ พระเจ้าบรมวงศ์กรมหลวงสรรพสิทธิ์ประสงค์ ดูแลหัวเมืองลาวกลาง ประจำที่นครราชสีมา

ภาคอีสานก่อนหน้าที่คริสต์ศาสนาจะแผ่ขยายเข้ามานั้นมีศาสนาอยู่แล้ว คือศาสนาผีหรือวิญญาณ อันเป็นความเชื่อดั้งเดิมของคนอีสาน เช่น ผีปู่ตา ผีฟ้า ผีเชื้อ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาคนในครอบครัวหรือหมู่บ้าน และมีบทบาทในการลงโทษคนที่กระทำความผิดโดยอาศัยคนกลางที่เรียกว่า “จ้ำ” คนอีสานจึงตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของผี นอกจากนั้นยังมีผีร้ายอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่า “ผีปอป”พวกที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น “ผีปอป”จะอยู่ร่วมกับคนอื่นไม่ได้ ทั้งนี้ก็เพราะเชื่อกันว่า ผีปอปเป็นผีที่กินตับไตไส้พุงของผู้คน ทำให้ถึงแก่ความตายจนเป็นที่เกรงกลัวและรังเกียจของสังคมด้วยเหตุนี้ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนจึงมักถูกขับไล่อยู่ตลอดเวลา บางแห่งรุนแรงถึงขั้นขว้างปาหรือเผาบ้านเรือน

ส่วนพุทธศาสนาเพิ่งจะเข้ามามีอิทธิพลในภายหลัง แต่ก็สามารถผสมผสานให้เข้ากับความเชื่อดั้งเดิมของคนอีสานได้อย่างกลมกลืน เป็นพระพุทธศาสนาที่ปะปนอยู่กับความเชื่อเรื่องผีและเป็นที่ยอมรับของคนทุกระดับตั้งแต่ชนชั้นปกครองลงไปถึงราษฎร โดยได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมาในรูปของ

ธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ความเชื่อเรื่องผีที่ปะปนอยู่กับความเชื่อในพระพุทธศาสนาของผู้คนในดินแดนอีสานในลักษณะดังกล่าว นับว่ามีส่วนอย่างสำคัญต่อการกลับใจเป็นคริสตชนของคนอีสานในเวลาต่อมา

1.1 ความพยายามในระยะเริ่มแรก

ความพยายามที่จะส่งมิชชันนารีออกไปประกาศศาสนาในภาคอีสานเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.1640 (พ.ศ.2183)โดย คุณพ่อเลเรีย (LERIE)คณะเยซูอิตจากประเทศฟิลิปปินส์ได้เดินทางมาอยุธยาเพื่อเดินทางไปลาวแต่ไม่ได้รับอนุญาตจึงเดินทางไปเขมร และเดินทางจากเขมรขึ้นไปเวียงจันทน์ในปี ค.ศ.1642 (พ.ศ.2185)โดยพำนักอยู่ในลาวเป็นเวลาถึง 5 ปี แต่เราไม่มีหลักฐานงานแพร่ธรรมของคุณพ่อเท่าไรนัก ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา พระสังฆราชลาโน (Louis LANEAU: 1674-1696)ได้ส่ง คุณพ่อโกรส (GROSSE)และ คุณพ่ออังเยโล (ANGELO) ให้เป็นผู้เผยแผ่ศาสนาในประเทศลาวโดยเดินทางไปสุโขทัยและนครไทย แต่ทั้งสองท่านได้ถึงแก่มรณภาพก่อนที่จะไปถึงประเทศลาว ในปีค.ศ.1773 (พ.ศ.2316)พระสังฆราชเรเดอเรต์ (REYDERET) ประมุขมิสซังตังเกี๋ยตะวันตกได้ให้ครูคำสอน 2 คนไปสำรวจดูประเทศลาว และเลือกหาหมู่บ้านที่เหมาะสมสำหรับการแพร่ธรรมโดยเดินทางไปถึงเชียงขวาง ในปี ค.ศ.1842 (พ.ศ.2385) คุณพ่อแวร์เนท์ (VERNHET)มีความตั้งใจที่จะเดินทางไปแพร่ธรรมในภาคอีสานโดยเดินทางไปถึงพิษณุโลกแต่ที่สุดได้ล้มเลิกความตั้งใจ ต่อมาเมื่อแบ่งเขตมิสซังและตั้งมิสซังเขมรในปี ค.ศ.1850 (พ.ศ.2393)พระสังฆราชมิช (MICHE)ประมุของค์แรกของมิสซังเขมรได้รับมอบหมายให้ดูแลงานแพร่ธรรมในล้านช้าง ได้พยายามส่งมิชชันนารีไปประเทศลาวในปี ค.ศ.1852 (พ.ศ.2395) แต่เข้าไปไม่ได้ ในปี ค.ศ.1855 (พ.ศ.2398)ได้พยายามส่งคุณพ่อโอโซเลย (AUSSOLEIL)และคุณพ่อทรีแอร์ (TRIAERE)ไปหลวงพระบางโดยผ่านทางประเทศสยามไปถึงน่านและเป็นไข้มาลาเรียถึงแก่มรณภาพไปไม่ถึงหลวง พระบาง

ในปี ค.ศ.1866 (พ.ศ.2409)คุณพ่อดาเนียล (DANIEL) และคุณพ่อมาติน (MATIN)จากกรุงเทพฯ ได้พยายามสำรวจเส้นทางที่จะขึ้นมานครราชสีมาและได้ออกเดินทางจากทับสะแกมาถึงนครราชสีมาพร้อมกับครูคำสอนชาวจีน 2 คนและสมัครพรรคพวกอีกหลายคน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านกำลังอดอยากและมีขโมยมากจึงไม่มีใครสนใจเรียนคำสอน ประกอบกับคุณพ่อทั้งสองไม่สบายจึงเดินทางกลับกรุงเทพฯ แต่ที่น่าสนใจคือมีคนจากนครราชสีมา 8 คนตามไปเรียนคำสอนที่ทับสะแก ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1868 (พ.ศ.2411)กระทรวงเผยแพร่ความเชื่อได้แบ่งเขตมิสซังใหม่ และมอบหมายการแพร่ธรรมในล้านช้างให้มิสซังสยาม โดยมีคำสั่งให้ส่งมิชชันนารีไปล้านช้างให้เร็วที่สุดเท่าที่จำได้ พระสังฆราชยอเชฟ ดือปอง (Joseph DUPOND: 1864-1872) ซึ่งไปประชุมสังคายนาวาติกันครั้งที่ 1 ได้ตกลงที่จะส่งมิชชันนารีไป แต่เป็นที่น่าเสียดายที่พระสังฆราชดือปอง ได้ถึงมรณภาพก่อนที่จะได้ปฏิบัติตามคำขอร้องจากกรุงโรม

นี่คือความพยายามในสมัยต่างๆ ที่จะไปแพร่ธรรมในภาคอีสานและประเทศลาว ทั้งนี้เพราะในอดีตที่ผ่านมางานของพระศาสนจักรคาทอลิกของมิสซังสยามจำกัดอยู่แต่เฉพาะภาคกลางของประเทศเท่านั้น ความพยายามนี้มาสำเร็จในสมัยพระสังฆราชยัง หลุยส์ เวย์ (Jean Louis VEY: 1875-1909)

1.2 มิชชันนารีสององค์แรก

ในปี ค.ศ.1876 (พ.ศ.2419) พระสังฆราชเวย์ ได้ส่งคุณพ่อกองสตัง ฌอง โปรดม (Constant Jean PRODHOMME)ให้ขึ้นไปช่วย คุณพ่อแปร์โร (PERRAUX)ซึ่งปกครองคริสตชนที่อยุธยาและมอบหมายให้สำรวจดูว่า มีทางที่จะขึ้นไปภาคอีสานอย่างไร โดยหวังที่จะเอาอยุธยาเป็นศูนย์กลางการแพร่ธรรมในภาคอีสาน คุณพ่อโปรดม ได้ไปดูแลกลุ่มคริสตชนที่หัวแก่งหรือแก่งคอยในปัจจุบัน ซึ่งขณะนั้นมีผู้เตรียมตัวเป็นคริสตชนประมาณ 250-300 คน และได้ไปสร้างวัดที่คลองท่าเกรียนใกล้มวกเหล็ก

ในปี ค.ศ.1880 (พ.ศ.2423)คุณพ่อโปรดม ได้พยายามเดินทางไปแพร่ธรรมที่นครราชสีมาแต่อยู่ได้ไม่นานนักเพราะเป็นไข้มาลาเรียต้องไปรักษาตัวที่กรุงเทพฯ และพักฟื้นที่จันทบุรี ในขณะเดียวกันคุณพ่อซาเวียร์ เกโก (Xavia GEGO)กำลังเรียนภาษาไทยที่วัดอัสสัมชัญเกิดเป็นแผลที่หัวเข่าได้ไปรักษาตัวที่จันทบุรีด้วย พระสังฆราชเวย์ จึงมอบหมายให้คุณพ่อโปรดม กับคุณพ่อเกโก ไปสำรวจภาคอีสาน เพราะเล็งเห็นว่าการแพร่ธรรมในภาคอีสานจะเกิดผลอย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อผู้แพร่ธรรมไปอยู่ในภาคอีสาน จึงดำริให้ตั้งศูนย์แพร่ธรรมขึ้นที่เมืองอุบลราชธานี อุบลฯ จึงกลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ธรรมในภาคอีสานในเวลาต่อมา และนับเป็นกลุ่มที่ 7 ที่เดินทางมาแพร่ธรรมในภาคอีสาน

การแพร่ธรรมในภาคอีสานได้เริ่มต้นขึ้นอย่างแท้จริง เมื่อพระสังฆราชเวย์ แต่งตั้งคุณพ่อโปรดม และคุณพ่อเกโก ให้เดินทางไปแพร่ธรรมในภาคอีสานเมื่อวันที่ 2 มกราคม ค.ศ.1881 (พ.ศ.2424)โดยมีภารกิจหลักคือการตั้ง “มิสซังลาว”คุณพ่อทั้งสองได้ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 มกราคม ค.ศ.1881(พ.ศ.2424)พร้อมกับครูเณรคนหนึ่งและคนรับใช้อีก 2-3 คนมุ่งสู่อุบลฯ ผ่านแก่งคอยมาถึงนครราชสีมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ และพักอยู่ที่บ้านพ่อค้าชาวจีนคนหนึ่งเป็นเวลา 12 วันก่อนออกจากนครราชสีมามุ่งหน้าสู่ขอนแก่นผ่านอำเภอชนบทถึงที่นั่นวันที่ 16 มีนาคม และไปถึงกาฬสินธุ์เมื่อวันที่ 25 เดือนเดียวกัน ออกจากกาฬสินธุ์วันที่ 1 เมษายน มุ่งหน้าไปทางกมลาไสยถึงร้อยเอ็ด วันที่ 4 และวันที่ 11 ได้มาถึงยโสธร เนื่องจากอยู่ในช่วงสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์จึงหยุดพักทำสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ และฉลองปัสกาในเต็นท์ที่นั่น นับเป็นการฉลองปัสกาครั้งแรกในภาคอีสาน ที่สุดได้มาถึงอุบลฯ ในวันอาทิตย์ที่24 เมษายน รวมระยะเวลาในการเดินทางครั้งนั้น 102 วัน

วันต่อมาคุณพ่อได้เข้าเยี่ยมคารวะท่านข้าหลวงใหญ่ พร้อมกับแสดงเอกสารสำคัญจากกรุงเทพฯ ที่อนุญาตให้เดินทางไปมาในภาคอีสานได้โดยเสรีและจะจัดตั้งที่พักที่ไหนก็ได้ ข้าหลวงใหญ่ได้เชิญให้คุณพ่อพักอยู่ที่มุมหนึ่งของศาลาว่าการเมือง โดยใช้ไม้ไผ่สานขัดแตะกั้นมุมหนึ่งไว้สำหรับเป็นที่ทำการ การพักอยู่ที่นั้นแม้ออกจะแออัดอยู่บ้าง แต่ก็เป็นโอกาสให้คุณพ่อได้เรียนรู้ขนบธรรมเนียม ประเพณีบ้านเมือง และเป็นดังวิทยาลัยให้เกิดความรู้ทางกฎหมายและการปกครองบ้านเมืองด้วย ซึ่งนับว่ามีประโยชน์อย่างมากสำหรับงานแพร่ธรรมในเวลาต่อมา

2. การแพร่ธรรมในระยะเริ่มแรก ค.ศ.1881-1899 (พ.ศ.2424-2442)

เมื่อแรกเดินทางมาถึงอุบลฯ คุณพ่อทั้งสองไม่แน่ใจว่าจะอยู่ภาคอีสานได้นานแค่ไหน ตั้งใจว่าเมื่อสิ้นฤดูฝนจะเดินทางกลับกรุงเทพฯ จึงไม่คิดที่จะตั้งวัด การมาครั้งแรกนั้นเพียงเพื่อดูว่าชาวบ้านมีความเป็นอยู่อย่างไร และมีคนสนใจศาสนาหรือไม่

2.1 การไถ่ทาส

งานแพร่ธรรมแรกในภาคอีสานคือ การไถ่ทาส กล่าวคือปลายเดือนมิถุนายน ค.ศ.1881 (พ.ศ.2424)คุณพ่อโปรดม ได้ปลดปล่อยทาส 18 คนที่ถูกพวกกุลาจับมาจากประเทศลาวเพื่อขายเป็นทาส โดยได้ยื่นฟ้องพวกกุลา 2 ข้อหา คือ พวกกุลาเป็นโจรเพราะขโมยคนมาขาย และได้แอบอ้างชื่อคุณพ่อเป็นผู้สั่งให้ค้าขายทาส ศาลได้ตัดสินปล่อยทาสทั้ง 18 คนเป็นอิสระ พวกเขาจึงมารขออาศัยอยู่กับคุณพ่อและเป็นกลุ่มแรกที่ได้เริ่มเรียนศาสนา ข่าวการชนะคดีและปลดปล่อยทาสให้เป็นอิสระครั้งนั้นได้แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็วและได้สร้างชื่อเสียงให้กับคุณพ่อ พวกทาสได้มาขอความช่วยเหลือจากคุณพ่อเป็นจำนวนมาก การไถ่ทาสจึงกลายเป็นภารกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งในการแพร่ธรรม ซึ่งได้กลายเป็นเอกลักษณ์เด่นของบรรดามิชชันนารีในเวลาต่อมา “เมื่อคุณพ่อเดินทางไปที่ไหน พวกทาสในถิ่นนั้นมักขอให้คุณพ่อเป็นทนาย ขอให้ศาลปล่อยเป็นอิสระเสมอ”พวกทาสเหล่านั้นเมื่อได้รับอิสรภาพก็ไปอยู่กับมิชชันนารีเพราะกลัวจะถูกจับไปเป็นทาสอีก การอยู่กับมิชชันนารีและการเข้าศาสนาของพวกเขาจึงเป็นการหนีร้อนมาพึ่งเย็น

2.2 บุ่งกะแทว ศูนย์กลางแห่งแรกของมิสซัง

เมื่อมีคนมาอยู่กับคุณพ่อมากขึ้น การพักอาศัยในอาคารหลวงจึงเป็นการไม่สะดวกและไม่เหมาะสมอย่างยิ่งคุณพ่อจึงเร่งเจ้าเมืองอุบลฯ ให้หาที่อยู่ให้ใหม่ เจ้าเมืองอุบลฯ ได้เสนอให้คุณพ่อไปอยู่ในที่ดินที่เป็นบ้านร้างทางตะวันตกของตัวเมืองอุบลฯ ซึ่งถือเป็นที่เคล็ดมีผีร้ายชาวบ้านอยู่ไม่ได้จึงทิ้งไป ความจริงบริเวณดังกล่าวเป็นเพียงป่าทึบชื้นแฉะผิดหลักสุขลักษณะทำให้เกิดไข้มาลาเรีย ตั้งอยู่ริมบุ่งหรือบึงที่ชื่อว่า “บุ่งกะแทว”

อย่างไรก็ตาม คุณพ่อโปรดม ได้ไปดูสถานที่ด้วยตนเองและพอใจที่ดินผืนนั้นจึงได้ซื้อบ้านเก่ามาปลูกและเข้าอาศัยอยู่เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ.1881 (พ.ศ.2424)รวมคุณพ่อ คนงาน และผู้สมัครมาอยู่ด้วยทั้งหมดประมาณ 30 คน หลังจากช่วยกันหักล้างถางพงเป็นที่เรียบร้อยคุณพ่อได้เริ่มสอนคำสอนทันทีเมื่อตั้งหลักได้แล้วคุณพ่อโปรดม ได้เดินทางไปกรุงเทพฯเพื่อรายงานกิจการต่อ พระสังฆราชเวย์ กลางเดือนมีนาคม ค.ศ.1882 (พ.ศ.2425)คุณพ่อโปรดม กลับจากกรุงเทพฯโดยนำคุณพ่อเกลมังต์ พริ้ง (Clemente PHRING)พระสงฆ์ไทยขึ้นมาด้วยพร้อมกับครูสอนคำสอน 2 คน การเรียนคำสอนได้ทำอย่างจริงจัง ที่สุดในโอกาสสมโภชพระนางมารีย์รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ วันที่ 15 สิงหาคมปีนั้นเอง พวกที่ถูกปลดปล่อยได้รับศีลธรรมล้างบาปเป็นคริสตชน และด้วยความวางใจในคำเสนอวิงวอนของพระนางมารีย์ คุณพ่อโปรดม จึงเลือกเอาพระนางเป็นองค์อุปถัมภ์วัดแรกของภาคอีสานโดยตั้งชื่อว่า “วัดแม่พระ นฤมลทิน”บุ่งกะแทวจึงกลายเป็นศูนย์แรกของกลุ่มคริสตชนในภาคอีสาน เป็นที่พักของมิชชันนารีและเป็นที่ตั้งของ “มิสซังใหม่”ตลอดเวลาหลายปี

เดือนธันวาคม ค.ศ.1882 (พ.ศ.2425)คุณพ่อโปรดม ได้เดินทางไปกรุงเทพฯอีก ขณะที่คุณพ่อเกโก ไปแพร่ธรรมที่อำนาจเจริญแต่ไม่เป็นผลจึงบุ่งกะแทว ที่กรุงเทพฯพระสังฆราชเวย์ ได้ปรารภกับคุณพ่อโปรดม ด้วยความห่วงใยว่า “ไม่รู้ว่าจะสนับสนุนมิสซังใหม่อย่างไรดี พ่อกลุ้มใจมากเพราะการส่งพระสงฆ์ไปตามป่าดงหลายวันก็เท่ากับส่งเขาให้ไปเป็นไข้ป่าตาย อีกอย่างหนึ่งก็เกินความสามารถของมิสซังที่จะส่งพระสงฆ์ ครูคำสอนหรือทรัพย์สมบัติขึ้นไปช่วยเสมอๆ เอาอย่างนี้เป็นไงคือให้คุณพ่อพาคนทั้งหมดของมิสซังใหม่ย้ายมาอยู่ทางนี้เสียก็แล้วกัน พร้อมกับเสนอให้หาที่ทำกินสำหรับทุกคนเช่นใกล้กับวัดหัวไผ่ จากนั้นได้ถามคุณพ่อโปรดม ว่าคิดอย่างไรกับแผนการนั้น นับเป็นความโชคดีของพระศาสนจักรในภาคอีสานที่คุณพ่อโปรดม ไม่เห็นด้วยกับความคิดของพระสังฆราชเวย์ ไม่เช่นนั้นนั้นการแพร่ธรรมในภาคอีสานคงจะหยุดเพียงแค่นั้น ตรงข้ามคุณพ่อโปรดม ได้ตอบพระสังฆราชเวย์ ด้วยความสุภาพว่า การกระทำเช่นนี้เท่ากับเป็นการทำลายการแพร่ธรรมในภาคอีสานอย่างสิ้นเชิง การแพร่ธรรมในภาคอีสานจึงดำเนินต่อมา และเจริญเติบโตเป็นปึกแผ่นมั่นคงเรื่อยมาถึงวันนี้

2.3 การตั้งกลุ่มคริสตชนที่สกลนคร

เมื่อตั้งกลุ่มคริสตชนที่นครพนมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต่อมาในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1884 (พ.ศ.2427)คุณพ่อโปรดม เดินทางไปสกลนครพร้อมกับครูทัน ตั้งใจจะไปเยี่ยมคริสตชนที่มาจากประเทศเวียดนามที่ได้ยินมา และเปิดศูนย์คาทอลิกที่นั่นหากเป็นไปได้ คุณพ่อได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากคริสตชนชาวเวียดนามและมีชาวเวียดนามจำนวนหนึ่งแจ้งความจำนงจะเป็นคริสตชน คุณพ่อจึงได้สร้างที่พักและที่อยู่กับพวกเขา 1 เดือนแล้วจึงมอบให้ครูทัน ดูแลส่วนคุณพ่อเดินทางกลับนครพนม

กลางเดือนสิงหาคม ค.ศ.1884 (พ.ศ.2427)คุณพ่อโปรดม เดินทางไปสกลนครอีกครั้งหนึ่งพร้อมกับคุณพ่อเกโกจากนครพนม คุณพ่อได้ใช้โอกาสนั้นสอนศาสนาแก่ชาวเวียดนามที่สนใจ ในใบบอกเมืองสกลนครทำให้เราทราบว่ามีชาวเวียดนามเป็นจำนวนมากสมัครเป็นคริสตชนในครั้งแรกนั้น “…ครั้น ณ. เดือน 7 ปีวอก ฉศก บาทหลวงอเล็กซิสโปรดม บาทหลวงซาเวียร์ เกโก ชาวฝรั่งเศสได้ขึ้นมาเมืองสกล เพี้ยศรีสองเมือง นายกองญวน เพี้ยจ่าย ปลัดกองญวนได้พาพรรคพวกญวน 75 คน สมัครเข้าศาสนาบาทหลวง เหลือญวนเมืองสกลนคร ที่ยังไม่เข้าศาสนากับบาทหลวงเพียง 35 คน เมื่อเห็นว่าจำนวนผู้สมัครเป็น คริสตชนเพิ่มจำนวนมากขึ้น คุณพ่อโปรดม จึงได้ตั้งศูนย์คาทอลิกสกลนครขึ้นในปี ค.ศ.1884 (พ.ศ.2427)ซึ่งพระสังฆราชเกลาดิอุส บาเย ได้อ้างบันทึกของคุณพ่อโปรดม ในรายงานประจำปีค.ศ. 1910 (พ.ศ.2453)เอาไว้ในหนังสือ “ประวัติการเผยแพร่พระศาสนาในภาคอีสานและประเทศลาว”ที่แปลโดยพระอัครสังฆราชมีคาแอลเกี้ยน เสมอพิทักษ์ ว่า “กลุ่มคริสตังสกลนครซึ่งเริ่มก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1884 (พ.ศ.2427) และในวันที่ 8 กันยายนปีเดียวกันก็ได้มีการโปรดศีลล้างบาปให้คริสตังใหม่กลุ่มแรก ภายในวัดน้อยที่ตั้งไว้ชั่วคราวระหว่างหนองหารและตัวเมือง”ในบริเวณซึ่งเคยเป็นที่ตั้งโรงภาพยนตร์ประสานราษฎร์เดิม แต่จากหลักฐาน “สมุดบันทึก ศีลล้างบาป คริสตัง สกลนคร ปี 1884,1885,1886”ที่บันทึกโดยคุณพ่อโปรดม พบว่า ผู้ที่ได้รับศีลล้างบาป ในลำดับที่ 1 ชื่อ “มารีอา เตียง”ได้รับศีลล้างบาปในวันสมโภชพระนางมารีย์ได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ วันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1884 (พ.ศ.2427)ทำให้เราแน่ใจว่า คุณพ่อโปรดม ได้ล้างบาปให้คริสตชนที่สกลนครก่อนหน้านั้นแล้ว หลังจากนั้นจึงได้มอบกลุ่มคริสตชนใหม่นั้นให้คุณพ่อเกโกกับครูทัน ดูแลและเดินทางกลับไปอุบลฯ เพื่อเตรียมตัวเดินทางไปกรุงเทพฯ

นานวันเข้าได้มีหลายคนมาสมัครเป็นคริสตชน ส่วนใหญ่เป็นชาวเวียดนามที่ได้รับการปลดปล่อยจากการเกณฑ์แรงงานและคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผีปอบ 40 คน ทำให้จำนวนคริสตชนเพิ่มมากขึ้น เป็นความลำบากมากทีเดียวที่จะจัดหาที่ดินเพื่อพักอาศัยและทำกินสำหรับคริสตชนเหล่านั้นในตัวเมืองสกลนคร ประกอบกับถูกกลั่นแกล้งไม่หยุดหย่อนจากเจ้าหน้าที่บางคน คุณพ่อเกโก จึงได้คิดหาทำเลสำหรับตั้งหมู่บ้านคริสตชนใหม่ ในคืนวันหนึ่งหลังการสมโภชนักบุญทั้งหลายปี ค.ศ.1884 (พ.ศ.2427)คุณพ่อเกโก และครูทัน ได้ตัดสินใจย้ายกลุ่มคริสตชน โดยจัดทำแพใหญ่ทำด้วยเรือเล็กและไม้ไผ่ผูกติดกับบรรทุกทั้งคนและสัมภาระลงแพ ใช้ผ้าห่มและผืนผ้าขึงแทนใบให้ลมพัดไปในทิศทางที่พระเป็นเจ้าทรงประสงค์ ที่สุดพวกเขาสามารถข้ามไปยังอีกฟากหนึ่งของหนองหารอย่างปลอดภัย และตั้งหลักแหล่งที่นั่น

2.4 กลุ่มคริสตชนวัดมหาพรหมมีคาแอล หนองหาร

คริสตชนกลุ่มแรกที่ย้ายมามี 20 ครอบครัวประมาณ 150 คน นับทั้งที่ได้รับศีลล้างบาปแล้วกับผู้ที่กำลังเตรียม ซึ่งมีทั้งชาวเวียดนามและชนพื้นเมือง ส่วนมากเป็นทาสที่ได้รับการไถ่ให้เป็นอิสระหรือพวกที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผีปอบและคริสตชนใหม่จำนวน 35 คนได้รับศีลมหาสนิทครั้งแรกในโรงเรียนที่ทำเป็นวัดชั่วคราวในดินแดนแห่งใหม่นั้นเองในวันสมโภชพระคริสตสมภพปี ค.ศ.1884 (พ.ศ.2427)พร้อมกับการล้างบาปคริสตชนกลุ่มแรกที่ท่าแร่จำนวน 8 คน เนื่องจากคริสตชนเหล่านั้นได้ร้องขอความช่วยเหลือจากอัครเทวดามีคาแอลเป็นประจำ เพื่อให้ช่วยคุ้มครองป้องกันและสู้ทนกับความยากลำบาก วัดหลังแรกที่สร้างเป็นโรงเรือนชั่วคราวจึงตั้งชื่อว่า “วัดมหาพรหมมีคาแอล หนองหาร”ดังปรากฏในหลักฐาน “สมุดบันทึกศีลล้างบาป วัดนักบุญมารีอามักดาเลนา บ้านนาโพธิ์ 1888”ที่บันทึกโดย คุณพ่อยอแวฟ กอมบูริเออ (Joseph COMBOURIEU)บอกให้เราทราบว่า คริสตชนกลุ่มแรกของวัดนาโพธิ์ล้างบาปที่ “วัดมหาพรหมมีคาแอล หนองหาร”(Ecclesia Sti Michaelis Nong-Han)เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1888 (พ.ศ.2431)

เป็นที่น่าสังเกตว่าในการล้างบาปคริสตชนที่ท่าแร่ในเวลาต่อมาในปี ค.ศ.1885 (พ.ศ.2428)ที่บันทึกโดย คุณพ่อยอร์ท ดาแบง ยังคงใช้คำว่า “วัดสกล”(Ecclesiae Sakhon)บางครั้งก็ใช้คำว่า “วัดเล็กเมืองสกลนคร”(sacello civitatis Sakhon Nakhon)ในการล้างบาปอีกครั้งในวันฉลองแม่พระลูกประคำ วันที่ 7 ตุลาคม จึงใช้คำว่า “วัดมหาพรหมมีคาแอล เมืองสกล”(Ecclesia Sti Michaelis Urbis Sakhon)ต่อมาในสมัยคุณพ่อกอมบูริเออ ใช้เพียงว่า “วัดมหาพรหมมีคาแอล”(Ecclesia Michaelis) ตามที่ปรากฎใน “สมุดบันทึกศีลล้างบาปคริสตัง สกลนคร ปี 1884, 1885, 1886”ยังไม่มีการใช้ชื่อ “ท่าแร่”แต่อย่างใด

เป็นไปได้ว่าชื่อ “หนองหาร”อาจเป็นชื่อดั้งเดิมของกลุ่มคริสตชนที่ท่าแร่ ส่วนการจะเปลี่ยนชื่อเป็น “ท่าแร่”เมื่อไรนั้นไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่จากเอกสารที่เขียนด้วยอักษรโรมัน (ภาษาวัด)2 เล่ม ซึ่งผู้เขียนให้ชื่อว่า “บันทึกเหตุการณ์และหนังสือเข้า” และ “สำเนาหนังสือออกและคดีความ”ที่บันทึกเหตุการณ์และหนังสือเข้า และ “สำเนาหนังสือออกและคดีความ” ที่บันทึกโดยคุณพ่อกอมบูริเออ ในช่วงแรกไม่ปรากฏการใช้ชื่อ “ท่าแร่”แต่อย่างใด นอกจากชื่อ “วัดมหาพรหมมีคาแอลแขวงเมืองสกลนคร” เพิ่งจะมาปรากฏในบันทึก “สำเนาหนังสือออกและคดีธรรม”เลขที่ 10 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ.1901 (พ.ศ.2444)ที่คุณพ่อกอมบูริเออ เขียนถึงพระวิชิตพลทหาร ผู้ช่วยเมืองสกลนคร จึงได้ใช้ชื่อ “บ้านท่าแร่” โดยเขียนขึ้นต้นหนังสือฉบับนั้นว่า “ที่สำนักท่านบาทหลวง บ้านท่าแร่”อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันว่าชื่อ “ท่าแร่”เรียกตามชื่อถิ่นที่ตั้งหมู่บ้านอันเป็นบริเวณที่เต็มไปด้วยป่าไม้มีหินลูกรังอยู่ทั่วไป ซึ่งคนภาคพื้นนั้นเรียกว่า “หินแฮ่” และเป็นชื่อที่เรียกขานกันตั้งแต่แรกเช่นเดียวกันในหมู่ชาวบ้านจนเป็นที่นิยมเรียกกันทั่วไปจนติดปาก ต่อมาชื่อ “ท่าแร่”จึงได้กลายมาเป็นชื่อหมู่บ้านอย่างในปัจจุบัน

ในระยะเริ่มแรกกลุ่มคริสตชนที่นครพนม และท่าแร่อยู่ในความดูแลของคุณพ่อเกโก ส่วนคุณ พ่อโปรดมเดินทางไปกรุงเทพฯ และกลับมาในเดือนมีนาคม ค.ศ.1885 (พ.ศ.2428)พร้อมกับคุณพ่อ กอมบูริเออ มาถึงท่าแร่วันที่ 4 พฤษภาคมปีนั้นเอง และคุณพ่อโปรดม ได้แต่งตั้งให้คุณพ่อกอมบูริเออ เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ.1937 (พ.ศ.2480)จึงได้ลาออกจากตำแหน่งและถึงแก่มรณภาพที่ท่าแร่เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ.1939 (พ.ศ.2482)นับเป็นเจ้าอาวาสวัดท่าแร่ที่ยาวนานที่สุดกว่า 52 ปี และได้สร้างประโยชน์สำหรับชาวท่าแร่เป็นอย่างมาก จนท่าแร่เจริญก้าวหน้าและกลายเป็นอาณาจักรของพระเยซูคริสตเจ้าที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในปัจจุบัน

2.5 คำเกิ้ม ศูนย์กลางมิสซังแห่งที่สอง

หลังจากฉลองคริสตสมภพปีค.ศ.1884 (พ.ศ.2427)ที่ท่าแร่ คุณพ่อเกโก ได้เดินทางไปนครพนมในต้นเดือนมกราคมค.ศ.1885 (พ.ศ.2428)เวลานั้นคริสตชนใหม่และผู้เตรียมเป็นคริสตชนมีไม่มาก และรวมกลุ่มอาศัยอยู่ทางทิศเหนือของตัวเมืองนครพนม ใกล้กับที่เรียกว่า “วัดป่า” คุณพ่อโปรดม เห็นชอบที่จะย้ายกลุ่มคริสตชนดังกล่าวไปอยู่ในที่ที่เหมาะสมกว่า ได้ปรึกษาหารือกับทุกคนถึงเรื่องสถานที่ใหม่ เวลานั้นคุณพ่อดาแบงเดินทางมาจากท่าแร่ได้รับเชิญให้ร่วมปรึกษาหารือด้วย เมื่อปรึกษาปรึกษากันดีแล้วได้ตกลงเอาบ้านคำเกิ้ม ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของตัวเมืองนครพนมประมาณ 3-4 กิโลเมตร บ้านคำเกิ้มเวลานั้นมีคนต่างศาสนาอยู่ก่อนแล้ว 3-4 ครอบครัว ซึ่งยินดีที่จะกลับใจเป็นคริสตชน เช้าวันรุ่งขึ้นทุกคนทั้งคริสตชนใหม่และผู้เตรียมตัวเป็นคริสตชนได้ไปรวมกันที่บ้านคำเกิ้ม และลงมือหักล้างถางพงเพื่อตั้งบ้านเรือนและที่ทำกิน

ต่อมาภายหลัง เมื่อมีพระสงฆ์องค์หนึ่งประจำที่คำเกิ้มและอีกองค์หนึ่งที่ท่าแร่ บ้านคำเกิ้มได้กลายเป็นที่ตั้งของศูนย์มิสซังใหม่แทนที่บุ่งกะแทว อุบลราชธานี และเป็นที่ที่บรรดาพระสงฆ์ได้มาประชุมเข้าเงียบประจำปีในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี รวมทั้งได้เริ่มบันทึกรายชื่อผู้รับศีลล้างบาปในสมุดหนาหนึ่งเล่มที่คุณพ่อดาแบงนำติดตัวมา โดยเริ่มต้นดังนี้ “บันทึกศีลล้างบาป ของคริสตังที่นครพนม วัดนักบุญยอแซฟ ค.ศ.1885”และผู้ที่ได้รับศีลล้างบาปลำดับที่ 1 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1885 (พ.ศ.2428)จากเดิมที่เคยจดบันทึกศีลล้างบาปของวัดบุ่งกะแทวและในระหว่างนั้น คุณพ่อเกโก ได้เดินทางไปมาระหว่างคำเกิ้มและท่าแร่ จนถึงเวลาที่ คุณพ่อโปรดม แต่งตั้ง คุณพ่อกอมบูริเออ เป็นเจ้าอาวาสวัดท่าแร่ ในช่วงเวลานั้น มิสซังมีศูนย์กลางอยู่ 3 แห่ง คือ บุ่งกะแทว สำหรับภาคใต้ ท่าแร่ สำหรับภาคตะวันตก และ คำเกิ้ม สำหรับภาคเหนือและตามลำน้ำโขง ซึ่งศูนย์ทั้งสามแห่งได้กลายเป็นศูนย์กลางสำคัญสำหรับการขยายการแพร่ธรรมในหมู่บ้านต่างๆ ทั้งใกล้และไกล จนมีหมู่บ้านคริสตชนเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่งในเวลาต่อมา กล่าวคือจนถึงปีค.ศ. 1899 (พ.ศ.2442)มิชชันนารีสามารถจัดตั้งชุมชนคาทอลิกในภาคอีสานและประเทศลาวได้ทั้งหมด 55 หมู่บ้าน โดยเกิดจากศูนย์บุงกะแทวในเขตอุบลฯ 15 หมู่บ้าน จากศูนย์ท่าแร่ในเขตสกลนคร 9 หมู่บ้าน และที่ศูนย์คำเกิ้มในเขตนครพนม 31 หมู่บ้าน

จากปี ค.ศ.1881 (พ.ศ.2424)ถึงค.ศ.1898 (พ.ศ.2441)คุณพ่อโปรดม ผู้บุกเบิกต้องเดินทางไปกรุงเทพฯ 18 ครั้ง เพื่อรายงานกิจการ ตลอดจนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้พระสังฆราชเวย์ ทราบ และเพื่อรับคำแนะนำและสิ่งของต่างๆ ที่ต้องการสำหรับ 1 ปี เช่น เงิน น้ำองุ่น แป้งทำฮอสเตีย ยารักษาโรค ฯลฯ และนำพระสงฆ์ใหม่สำหรับไปช่วยงานแพร่ธรรม การเดินทางสมัยนั้นนับว่าลำบากมากต้องฝ่าอันตรายผ่านป่าดง ข้ามภูเขาหลายลูก จากอุบลฯถึงกรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางอย่างน้อย 25 วัน และจากกรุงเทพฯถึงอุบลฯ 30 วัน การเดินทางส่วนใหญ่จะใช้ม้า เรือแจว และเหวียนไม่สะดวกเหมือนเช่นทุกวันนี้

2.6 การตั้งโรงเรียนครูคำสอนที่ดอนโดน

คุณพ่อโปรดม มองเห็นความจำเป็นเรื่องการเตรียมครูสอนคำสอนเป็นการเฉพาะ เนื่องจากบรรดาเณรที่มาช่วยงานและสอนคำสอนในช่วงพักทดลองไม่พร้อมสำหรับการทำงานในภูมิภาคนี้เท่าไรนัก ดังนั้นในเดือนพฤษภาคม ปีค.ศ.1891(พ.ศ.2434)จึงได้ตั้งโรงเรียนครูคำสอนขึ้นที่เกาะดอนโดน ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ กลางลำแม่น้ำโขงในเขตประเทศลาวเหนือนครพนมขึ้นไปประมาณ 4-5 กิโลเมตร พร้อมกันนั้นได้เตรียมผู้ที่จะเป็นพระสงฆ์โดยคัดเลือกเอาคนที่มีลักษณะดีเหมาะสมจากวัดต่างๆ เข้ารับการฝึกอบรมเตรียมเป็นพระสงฆ์ ดังปรากฎในบันทึกการก่อตั้งมิสซังลาวของคุณพ่อปิแอร์ แอกกอฟฟอง ความว่า “เดือนพฤษภาคม ค.ศ.1891(พ.ศ.2434) คุณพ่อโปรดม คุณพ่อใหญ่ได้ตัดสินใจที่จะสร้างโรงเรียนครูคำสอนขึ้นที่ดอนโดน เพื่อ 1)อบรมครูสอนคำสอน 2)เตรียมเณรหากเป็นไปได้” โรงเรียนที่ตั้งขึ้นที่ดอนโดนจึงเป็นทั้งบ้านเณรและโรงเรียนครูคำสอนในเวลาเดียวกัน ภายใต้การดูแลของคุณพ่อเดอลาแล็กซ์ ในปีแรกมีนักเรียน 12 คน เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี ค.ศ.1892 (พ.ศ.2435)มีนักเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 24 คน ต่อมาในปีค.ศ.1894 (พ.ศ.2437) คุณพ่อโปรดม ได้แต่งตั้งคุณพ่อแอกกอฟฟอง เป็นอธิการและคุณพ่ออัมโบรซิโอ ชื่น เป็นอาจารย์ประจำ.

น่าเสียดายที่ “บ้านเณรดอนโดน” หรือ “โรงเรียนดอนโดน” ดำเนินการฝึกอบรมเยาวชนเพื่อเตรียมตัวเป็นพระสงฆ์และครูคำสอนได้ไม่นานก็พังทลายลงเพราะพายุใต้ฝุ่น ประมาณเดือนเมษายน ปี ค.ศ.1901 (พ.ศ.2444)ดังปรากฏในบันทึกของพระสังฆราชกืออ๊าส ความว่า “บ้านเณรดอนโดนของเราถูกพายุใต้ฝุ่นระหว่างอาทิตย์ปัสกาพัดพังทลายเหลือความสามารถที่จะซ่อมแซมได้ เราจำเป็นจะต้องสร้างตึกใหม่ ซึ่งจะไม่อยู่บนเกาะนี้อีกแล้ว แต่จะไปสร้างในสถานที่มั่นคงกว่านั้นอยู่ทางเหนือของหนองแสง ระยะห่างเดินประมาณ 20 นาที”อย่างไรก็ดี บ้านเณรแห่งนี้ได้ผลิตพระสงฆ์พื้นเมืององค์แรกและองค์เดียวแก่ศาสนจักรท้องถิ่นคือ คุณพ่ออันตนหมุน ธารา จากอุบลฯ ซึ่งได้บวชเป็นพระสงฆ์ที่วัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ สามเสน เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ.1912 (พ.ศ.2455)และได้ผลิตครูคำสอนที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยงานแพร่ธรรมของมิสซังตามหมูบ้านต่างๆ อีกหลายคน

2.7 หนองแสง ศูนย์กลางของมิสซังแห่งใหม่

ในเวลานั้นมีพระสงฆ์ประจำอยู่ที่ศูนย์บุงกะแทว คำเกิ้ม และท่าแร่ คำเกิ้มซึ่งเป็นสถานที่อยู่กึ่งกลางกว่าบุ่งกะแทว ได้กลายเป็นศูนย์กลางแห่งที่ 2 ของมิสซัง ซึ่งบรรดาพระสงฆ์ที่อยู่ทางแขวงนั้นพากันมาประชุมและเข้าเงียบเป็นประจำในเดือนพฤศจิกายนทุกปี แต่เนื่องจากผู้ปกครองมิสซังในสมัยนั้นไม่ได้พำนักอยู่กับคำเกิ้ม ตามตำแหน่ง แต่มักพักอยู่กับพระสงฆ์มิชชันนารีองค์อื่น เพื่อช่วยงาน หรือไปเยี่ยมเยียนสัตบุรุษตามวัดต่างๆ ซึ่งได้ก่อให้เกิดปัญหาและความไม่สะดวกหลายอย่างตามมา พระสงฆ์ที่ประสบปัญหาไม่สามารถปรึกษาหารือได้ อีกทั้งเจ้าหน้าที่บ้านเมืองหรือบุคคลภายนอกไม่สามารถติดต่อได้

ดังนั้น หลังการเข้าเงียบประจำปีในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1896 (พ.ศ.2439)บรรดาพระสงฆ์ได้เสนอความเห็นให้มีสถานที่หนึ่งสำหรับใช้เป็นสำ

Category
Religious place
Location
Tambon ท่าแร่ Amphoe Mueang Sakon Nakhon Province Sakon Nakhon
Details of access
Reference จีราพิศ สะท้านอิทธิฤทธิ์ Email mook_jeerapit@hotmail.com
Organization สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสกลนคร
Road ศูนย์ราชการ
Tambon ท่าแร่ Amphoe Mueang Sakon Nakhon Province Sakon Nakhon ZIP code 47000
Comment
Please Login Before comment.

Username
Password
No comment.
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่