ประวัติตำบลสวนพริกไทย
“สวนพริกไทย”เป็นชื่อตำบลหนึ่งอยู่ในเขตอำเภอเมืองปทุมธานี ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณริมแม่น้ำอ้อม(แม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่า) ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ บรเวณตำบลสวนพริกไทยนี้ มีการทำสวนพริกไทยเพื่อส่งหลวง
ในประเทศไทย พริกไทยปลูกกันมากทางภาคใต้และภาคตะวันออ เช่น จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด แต่การปลูกพริกไทยที่จังหวัดปทุมธานีนั้น มีมูลเหตุมาจาก พวกชาวไทยอิสลามได้อพยพมาจากเมืองปัตตานี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปีพุทธศักราช ๒๓๓๔ ซึ่งสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท ได้ยกกองทัพไปทำสงคราม เพื่อรวมชาติไทยให้เป็นปึกแผ่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ต่อมาพุทธศักราช ๒๓๗๓ เจ้าเมืองปัตตานีได้แข็งเมือง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิส บุนนาค) ได้ยกทัพไปปราบและกวาดต้อนครอบครัวไทยอิสลามมาเป็นครั้งที่สอง และครั้งที่สาม ทางเมืองปัตตานีเกิดแข็งเมืองขึ้นอีก สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัด บุนนาค) จึงได้ยกทัพกรุงเทพไปปราบปราม เมื่อพุทธศักราช ๒๓๘๑ ได้กวาดต้อนครัวไทยอิสลามมาอีก ซึ่งการที่ต้องจำใจให้ชาวไทยอิสลามเมืองปัตตานีอพยพมานั้น ก็เพื่อจะแยกให้เหลือน้อยลงจะได้ไม่รวมตัวกันแข็งเมือง ทั้งนี้ เพื่อมุ่งหวังความสงบสุขของบ้านเมืองเป็นประการสำคัญ และชาวไทยอิสลามเหล่านี้ ทางราชการได้เอาใจใส่ดูแลให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ใต้วัดสร้อยทอง(วัดเสด็จ) บริเวณแม่น้ำอ้อม(แม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่า) ที่เรียกว่า“บ้านแขก”ให้ประกอบอาชีพทำสวนพริกไทย โดยทำการขุดร่องสวน ทำคูกั้นน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งถ้าดูในแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศจะแลเห็นได้ชัดเจน
เมื่อครวเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์เป็นกบฏ เมื่อพุทธศักราช ๒๓๖๙ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้โปรดเกล้าให้ เจ้าพระยามหาโยธา ยกทัพไปทางดงพระยากลาง เมื่อกองทัพปราบปรามสงบราบคาบแล้ว จึงได้กวาดต้อนครัวลาวเวียงจันทร์มาเป็นเชลย ให้ตั้งบ้านเรือนเหมือนหมู่บ้านแขก ใกล้กับวัดสร้อยทอง ที่เรียกว่า“บ้านลาว”เวลานี้
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้เสด็จประพาสมาเยี่ยมเยียนเชลย ได้ประทับที่บริเวณวัดสร้อยทอง พวกลาวเวียงจันทร์ อิสลาม มอญ ไทย และญวน ได้พากันมาเฝ้ารับเสด็จเป็นจำนวนมาก กาลเวลาล่วงมา ท้องถิ่นนี้ จึงกลายเป็นชุมชนที่หนาแน่นขึ้น ทางราชการจึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นตำบล ให้ชื่อว่า“ตำบลสวนพริกไทย”และวัดสร้อยทองก็ได้เปลี่ยนชื่อเสียใหม่ว่า“วัดเสด็จ”จนกระทั่งทุกวันนี้