ขนมไทยหัวสำโรง อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นขนมพื้นบ้านมักทำกันในเวลามีงานวัด งานบุญ งานในหมู่บ้าน งานมงคล งานบวช งานแต่ง เป็นต้น การทำขนมไทยของคนหัวสำโรงได้สืบทอดมาตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย จนถึงลูกหลาน เช่นขนมเปียกปูน ขนมชั้น ตะโก้ หม้อแกง สังขยา และขนมหัวผักกาด ในที่นี้จะขอกล่าวถึงขนมหัวผักกาด เนื่องจากเป็นขนมที่หาซื้อรับประทานยากไม่มีขายตามท้องตลาด หากใครอยากจะลองรับประทานก็ต้องไปที่ร้านขนมเจ๊เน้ยหัวสำโรง หรือคุณมณี จันทรศร
นางมณี จันทรศร อายุ ๔๖ ปี เป็นผู้มีความรู้ และประสบการณ์ในการทำขนมไทยทุกชนิดมาจากมารดา นานกว่า ๑๕ ปี โดยเฉพาะขนมหัวผักกาด มีความอร่อยเป็นเลิศ เป็นขนมพื้นบ้านมักจะทำกันในงานบวช งานแต่ง ใช้เวลานานพอสมควรในการทำแต่ละครั้ง จึงนิยมทำในเวลามีงานสำคัญ ๆ และต้องร่วมแรงกันทำในหมู่วงศ์ญาติพี่น้อง และคนในหมู่บ้าน การทำขนมหัวผักกาดมีเครื่องปรุง และส่วนผสม ดังนี้
๑.ฟัก ๒.น้ำมันพืช ๓.หัวหอม ๔. ถั่วลิสง ๕.แป้งขนมชั้น ๖. หมูบด ๗. กะทิ,มะพร้าว ๘. น้ำตาลปีบ,น้ำตาลทราย
ขั้นตอน/วีธีการทำ๑. ถั่วลิสงบด และซอยชิ้นบาง ๒. ปอกหัวหอม ซอยบาง ๓. นำหมูมาบด ๔. นำฟักมาขูดให้เป็นเส้นฝอย ๕. คั้นกะทิ ๖. นำหมูมารวน หัวหอม ฟัก ให้เหลือง ๗. นำแป้งขนมชั้นมานวดใส่กะทิ น้ำตาลกรองใส่กระทะ ๘. ตั้งไฟ กวนจนเหนียวประมาณ ๑ ชั่วโมง ๙. เทใส่ถาด โรยด้วยถั่วลิสงที่ซอยชิ้นบาง รสชาติของขนมหัวผักกาด จะมีรสชาติหวานมัน เหนียวนุ่ม มีกลิ่นหอมชวนรับประทาน
เทคนิคในการทำ (เคล็ดลับ) ถั่วลิสงต้องคั่วใหม่ ๆ กะทิต้องสด กวนให้เหนียว และรักษาความสะอาด ฤดูนิยมรับประทาน เทศกาลสำคัญ ๆ เช่น งานบุญเข้าพรรษา ออกพรรษา งานบวช งานแต่ง ของฝากญาติผู้ใหญ่ งานมงคลต่าง ๆ คุณค่าทางโภชนาการ มีโปรตีนจากถั่วลิสง และหมูบด คาร์โบไฮเดรตจากแป้ง มีวิตามิน เกลือแร่จากฟัก หัวหอม กะทิสด ไม่ใส่สารกันบูด
ปัจจุบันขนมไทยเจ๊เน้ย มีขายที่ ตลาดสดเทศบาลตำบลหัวสำโรง อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งแต่เวลา ๑๔.๐๐ –๑๘.๐๐ น. และในงานประเพณีขึ้นเขา เผาข้าวหลาม ของอำเภอแปลงยาวขึ้น ๑๔ –๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปี