นายเอี๊ยะ สายกระสุน
หมอพื้นบ้าน ต.บักได อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์
จังหวัดสุรินทร์อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณนานาชนิด บรรพบุรุษปู่ย่าตายาย ได้สั่งสมองค์ความรู้ในด้านการใช้สมุนไพรไทย เป็นยารักษาโรคสืบทอดกันมาเป็นภูมิปัญญาไทย ทั้งนี้สมุนไพรไทยหลากหลายชนิดที่หมอพื้นบ้านของเราสามารถนำมาเป็นยารักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่มีผลข้างเคียงต่อร่างกาย และยังมีราคาถูกกว่ายารักษาโรคแผนปัจจุบัน เป็นการบำบัดรักษาด้วยวิถีชีวิตแบบพอเพียง อย่างเช่น หมอเอี๊ยะ สายกระสุน ที่ท่านได้นำสมุนไพรอย่างโลดทะนงแดงมารักษาผู้ป่วยที่ถูกสัตว์พิษกัด งูกัด โดยไม่ต้องอาศัยยาแผนปัจจุบันที่ต้องจ่ายค่าใช้แพงๆ มีเพียงแค่ค่าตั้งครูของพ่อหมอเท่านั้น
ประวัติทั่วไป
หมอเอี๊ยะ สายกระสุน เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2493 เกิดที่บ้านทวารไพร ตำบลเมืองลีง อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ หมอเอี๊ยะมีพี่น้องทั้งหมด 6 คน เป็นชาย 3 คน หญิง 3 คน หมอเอี๊ยะเป็นบุตรคนที่ 3 ขณะอายุได้ 7 ปี พ่อ-แม่ ได้พาอพยพมาตั้งหลักแหล่งที่บ้านท่าสว่าง ตำบลบักได เพราะหมู่บ้านเดิมแห้งแล้งกันดารมาก จึงพากันมาจับจองที่ดินทำกินเพราะเห็นว่าสภาพพื้นที่อุดมสมบูรณ์ หมอเอี๊ยะจึงได้ตั้งหลักปักฐานอยู่ที่บ้านท่าสว่าง ตำบลบักได ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ติดแนวชายแดนไทย – กัมพูชา ด้านการคมนาคมมีบางพื้นที่ยังเดินทางไปยังตัวอำเภอและตัวจังหวัดไม่สะดวก สภาพถนนยังเป็นถนนดินแคบๆ หมู่บ้านอยู่ห่างจากตัวจังหวัดสุรินทร์ ประมาณ 70 กิโลเมตร ชาวบ้านที่อาศัยอยู่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมีทั้ง เขมร ลาว และส่วย ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำสวนยางพารา ไร่อ้อย เลี้ยงวัว และมีการติดต่อค้าขายไปมาหาสู่กันระหว่างชาวไทยกับชาวเขมร (กัมพูชา) พื้นที่ที่เป็นป่าจะมีมากบริเวณชายแดน แถบปราสาทตาเมือนธม ซึ่งจะมีทหารอยู่ดูแลความมั่นคงของประเทศชาติโดยตลอด
หมอเอี๊ยะ เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนบ้านรุน เมื่อจบการศึกษาได้ออกมาช่วยพ่อแม่ทำนา และไปรับจ้างที่กรุงเทพ (แบกข้าวโพด เลื่อยไม้) หมอเอี๊ยะ ไม่เคยบวชเรียน เพราะต้องช่วยพ่อแม่ออกทำมาหากินมาตลอด จากการที่หมอเอี๊ยะได้ไปเยี่ยมญาติ (ลุงเขย) ที่อำเภอท่าตูม และช่วยงานที่บ้านญาติ จึงได้พบกับภรรยา ซึ่งเป็นชาวบ้านโนนกลาง ตำบลเมืองแก อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ และแต่งงานเมื่ออายุ 21 ปี มีบุตรทั้งสิ้น 4 คน หมอเอี๊ยะประกอบอาชีพรับจ้างเป็นอาชีพหลัก มีฐานะปานกลางพอมีพอกิน มีรายได้จากการไปรักษาคนไข้ที่โรงพยาบาล และรายได้จากการรับจ้างถอนมัน หมอเอี๊ยะ บอกว่า “ ทุกวันนี้พออยู่ได้ ลูกส่งมาให้บ้าง แล้วก็ได้เงินจากที่ไปรักษาที่โรงพยาบาลนี่แหละ ช่วยให้มีรายได้ “ ส่วนภาวะหนี้สินปัจจุบันเป็นหนี้กองทุนหมู่บ้านเพียงอย่างเดียวเพราะไม่อยากเป็นหนี้สินอีกจึงพยายามใช้เท่าที่มี
ปัจจุบันหมอเอี๊ยะอายุ 62 ปี อยู่บ้านเลขที่ 61 หมู่ 2 บ้านท่าสว่าง ตำบลบักได อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ โดยสภาพบริเวณพื้นที่บ้านเป็นบ้านไม้สองชั้น รอบตัวบ้านมีความร่มรื่นสงบ มีการปลูกสมุนไพรหลายชนิดไว้รอบบริเวณบ้านอย่างเป็นสัดส่วน อาทิ ว่านระงับพิษ พลู หมาก เป็นต้น หมอเอี๊ยะเป็นผู้มีอุปนิสัยร่าเริง อารมณ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส พูดจาฉะฉาน ฝักใฝ่แสวงหาความรู้เกี่ยวกับยาสมุนไพร วิธีการรักษาโรคเพิ่มเติมให้กับตนเองอยู่เสมอ ไม่หวงวิชาและยินดีที่จะถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาที่ตนเองมีแก่บุคคลผู้สนใจ
ประวัติการเป็นหมอพื้นบ้าน
ในขณะอยู่ในวัยรุ่น ได้ออกไปหาปู หากบ กับน้องสาว ในขณะนั้นน้องสาวมีอายุ 12 ปี ได้ถูกงูเห่ากัดที่มือ พ่อพาน้องไปรักษากับหมอพื้นบ้าน ที่บ้านท่าสว่าง หมอพื้นบ้านได้ให้ยากินผสมเหล้าและเป่ารักษาอยู่ได้ 7 วัน น้องสาวก็ต้องเสียชีวิต “ ก่อนที่ผมจะเป็นหมองู น้องสาวของผมถูกงูเห่ากัดหลายวันจึงเสียชีวิต ตอนนั้นไม่มีรถยนต์สำหรับการเดินทางมารักษาในโรงพยาบาลประจำจังหวัด ต้องปล่อยให้น้องสาวนอนตายไปทีละน้อยจนตายทั้งตัว ในความรู้สึกขณะนั้นผมรู้สึกว่าทำไมผมจึงไม่สามารถช่วยเหลือน้องสาวได้ “ จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้หมอเอี๊ยะรู้สึกว่าพื้นที่ที่ตนอยู่ไม่มีหมอยาพื้นบ้านที่เก่งและช่วยรักษาคนไข้ได้ หมอเอี๊ยะจึงได้เสาะหาหมอที่คิดว่ารักษางูพิษกัดได้ “ ผมจึงเริ่มหาวิชาที่เกี่ยวกับการรักษางูพิษ ผมไปถามที่บ้านเกิด และไปที่อำเภอท่าตูม ญาติบอกว่าลุงเขยมียาสมุนไพรและเป็นหมอยารักษางูกัดแต่ทุกวันนี้ลุงไปอยู่ที่พิจิตร ถ้าอยากเรียนให้ลงไปเรียนที่พิจิตร “ ด้วยความอยากเรียน หมอเอี๊ยะจึงได้เดินทางไปที่จังหวัดพิจิตรไปหาหมอขวัญ เชียงคำ ซึ่งเป็นลุงเขย (ลุงเรียนมาจากชาวเขมร) หมอเอี๊ยะจึงตามไปเรียนจนรู้จักยาและวิธีการรักษา ในการเรียนวิชาครั้งนั้นมีพิธีการมอบตัวเป็นศิษย์โดยจะต้องมี อุปกรณ์ คือ ผ้าขาว 1 ผืน ขันธ์ 5 ดอกไม้ ธูปเทียน และเงิน 4 บาท
การเรียนรู้ แหล่งความรู้เพิ่มเติม ในด้านการเรียนรู้เพิ่มเติมนั้น หมอเอี๊ยะบอกว่า ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้กับหมอพื้นบ้านอื่นๆ เมื่อได้มีการประชุมสัมมนาตำรายาร่วมกัน หรือการร่วมกันเดินป่าสำรวจพันธุ์สมันไพรในท้องถิ่น ทำให้ได้ความรู้เรื่องสมุนไพรเพิ่มขึ้นและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ด้วย
ระยะเวลาในการเป็นหมอพื้นบ้าน การรักษาครั้งแรกเมื่ออายุ 21 ปี ผู้ที่ถูกงูเห่ากัดมา 3 วัน ไปรักษาที่โรงพยาบาลแต่อาการไม่ดีขึ้น ญาติจึงขออนุญาตหมอขอนำกลับบ้านโดยบอกว่าจะกลับมาตายบ้าน จากนั้นได้นำมาหาหมอเอี๊ยะ โดยบอกว่า “ไหนๆ ก็จะตายอยู่แล้วก็ลองมาให้รักษาดู” หมอเอี๊ยะเองก็ไม่แน่ใจในการรักษาครั้งแรกเท่าไหร่นัก ดังที่บอกว่า " ผมก็ไม่แน่ใจในการรักษาของผม เพราะเป็นรายแรก แต่ญาติเขาขอให้ผมรักษา ผมจึงลองรักษาดู ซึ่งขณะนั้นผู้ถูกงูกัดไม่มีสติ คางแข็ง ต้องเอาช้อนงัดปากกรอกยา ต่อมาซักครึ่งชั่วโมงเขาก็ลืมตาแล้วลุกขึ้นบอกว่าหิวข้าว จึงให้ญาติหาข้าวปลาให้กิน หลังจากนั้นเขาก็หายเป็นปกติ " หมอเอี๊ยะบอกว่าคนไข้คนแรกนี้ในปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่ นับจากเริ่มรักษาจนถึงปัจจุบันรวม 37 ปี
ในด้านจำนวนผู้มารับการรักษา หมอเอี๊ยะบอกว่า ในแต่ละปีมีไม่ต่ำกว่า 60-70 คน ส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ มีบางรายที่มาจากต่างอำเภอ เช่น อำเภอจอมพระ ที่มาจากต่างจังหวัด เช่น บุรีรัมย์ นครราชสีมา โดยในช่วงหน้าฝน พบมีผู้ถูกงูกัดมาก เพราะชาวบ้านต้องออกกรีดยาง ออกหาอาหารในเวลากลางคืน ประเภทของงูที่กัดคนไข้ที่เคยรักษา คือ งูเห่า งูเขียวหางไหม้ งูกะปะ โดยพบถูกกัดแทบทุกส่วน เช่น ขา คอ หลัง อก หัว ฯลฯ หมอเอี๊ยะบอกว่า ถ้าถูกกัดแล้วทิ้งไว้นาน แผลจะเปื่อย แผลจะเน่า ทำให้รักษายาก
การบูชาครู
การบูชาครู การตั้งครู นิมนต์ให้หมอรักษา ประกอบด้วย เงิน 12 บาท ผ้าขาว 1 ผืน ดอกไม้ ธูปเทียน 1 ห่อ เมื่อรักษาหายไม่ให้เรียกร้องค่ารักษาแล้วแต่คนไข้จะยกครู และหลังการรักษา ถ้าคนไข้ไม่ยกครู หมอจะหาดอกไม้ ธูปเทียน และเงิน มาจัดการไหว้ครูเอง
การปฏิบัติตนของพ่อเอี๊ยะ พ่อบอกว่า “ไม่มีข้อปฏิบัติอะไรมาก แค่ศีล 5 ก็พอแล้ว”
การรักษา
การจำแนกประเภทของงูที่กัด
-งูสามเหลี่ยมกัด จะมีอาการง่วงนอน
-งูเขียวหางไหม้กัด มีอาการปวดมาก บวมมากกว่างูชนิดอื่น ถ้าจับบริเวณที่ถูกงูกัดดูจะร้อน บริเวณที่ถูกงูกัดมีเหงื่อออกมาก
-งูเห่ากัด มีอาการปวดบวม ง่วงนอนหนังตาตก จับดูจะรู้สึกร้อน ถ้าถูกกัดที่นิ้ว นิ้วมีรอยช้ำแสดงว่าปล่อยพิษมาก งูเห่าไฟกัดแล้วแผลเปื่อย ส่วนใหญ่งูเห่ามักจะกัดเข้าเส้นเลือด หากสัมผัสดูบริเวณที่กัด จะมีอาการร้อน
-งูดิน ชอบอยู่ในโคลน พิษแรง มีอาการปวดน้อย บริเวณที่ถูกกัดจะเย็น จากนั้นผู้ที่ถูกกัดจะค่อยๆมีอาการซึม ปากแข็ง ทำให้มีคนถูกกัดตาย เพราะคิดว่าไม่เป็นไร
-งูทับสมิงคลา จะมีเหงื่อออกรอบๆแผล และมีอาการบวมรอบๆรอยที่กัด
หมอเอี๊ยะบอกว่า ถ้าได้ตัวงูมาด้วย แสดงว่าผู้ถูกกัดมักจะได้รับพิษมาก เพราะงูกัดแล้วปล่อยพิษเต็มที่จึงหนีไม่ทัน แต่ถ้าไม่ได้ตัวงูมาพิษมักจะน้อยเพราะงูฉกแล้วหนี และงูที่กัดฝังเขี้ยวทั้ง 4 เขี้ยว และปล่อยพิษทั้ง 4 เขี้ยว ทำให้ได้รับพิษมาก เป็นกรณีที่รักษายาก
ลักษณะอาการของผู้ที่ถูกงูพิษกัดทั่วๆไป
-เจ็บปวดบริเวณที่ถูกกัด
-มีรอยฟันหรือรอยเขี้ยวตรงตำแหน่งที่ถูกกัด
-ถ้าคนไข้โดนพิษมามาก จะมีอาการซึม หลับ หนังตาตก ใจสั่น
-มีอาการบวม แดงร้อน บริเวณที่ถูกกัด
ลักษณะอาการที่ถูกแมงมุมกัดมานาน (เรื้อรังและไม่ได้เอาเขี้ยวออก)
-ชาบริเวณที่ถูกกัด
-หนาวสั่นเมื่ออากาศเย็นหรือฝนตก
-ปวดศีรษะเรื้อรัง
-หวาดกลัวและตกใจง่าย เช่น เมื่อได้ยินเสียงฟ้าร้องจะตกใจกลัว
ลักษณะอาการที่ถูกตะขาบและแมงป่องต่อย
-ปวดบริเวณที่ถูกกัดมาก บางครั้งปวดเหมือนเสียดแทงไปถึงหัวใจ
-บวม แดง ร้อน บริเวณที่ถูกกัด มีเหงื่อออกบริเวณที่บวมแดง ซึ่งแตกต่างจากงูกัดเพราะงูกัดจะไม่มีเหงื่อออก บางรายอาจมีอาการมาก เช่น มีผื่นแดงทั้งตัว และมีไข้สูง
-บางรายอาจมีอาการปวดและมึนศีรษะร่วมด้วย
อาการที่ถูกเงี่ยงปลาดุกตำ
-ปวดบริเวณที่ถูกตำมากเสียดแทงไปถึงหัวใจ
-ปวด บวม แดง ร้อน บริเวณที่ถูกตำ
การตรวจร่างกายและการวินิจฉัยคนไข้สัตว์พิษกัด
การตรวจร่างกายใช้การดูลักษณะแผลที่ถูกกัด รอยเขี้ยว ร่องรอยรอบๆแผล อาการปวด บวม อาการแสดง เช่น แน่นหน้าอก อาการซึม หลับ หนังตาตก ใจสั่น การสัมผัสโดยการจับดูบริเวณที่ถูกกัดเปรียบเทียบกับส่วนอื่นๆของร่างกาย เช่น ถ้าถูกกัดที่เท้าซ้ายจะจับเท้าขวาเปรียบเทียบกัน
นอกจากนั้นก็จะซักประวัติเกี่ยวกับสถานที่ที่ถูกกัด เวลาที่กัด สิ่งที่เห็น ฯลฯ จากนั้นจึงจะวินิจฉัยบอกว่าถูกสัตว์ประเภทใดกัด และหมอเอี๊ยะมีความเห็นว่าการที่คนไข้ถูกงูกัดแล้วรอดูอาการทำให้พิษมากขึ้น
กระบวนการรักษาควรใช้น้ำอุ่นล้างแผล จากนั้นนำสมุนไพรมาใช้รักษา ดังนี้
1. รากโลดทะนงแดง (พระเจ้าปลูกหลง(ลาว),ปะเตียลกะรัญ(เขมรสุรินทร์)) ซึ่งมีรสเบื่อเมา ขับพิษ
2. เมล็ดหมากแห้ง
3. มะนาว
วิธีการใช้ยา
1. นำรากโลดทะนงแดงมาฝนกับหมากแห้งใช้น้ำสะอาดเป็นกระสายยา ฝนยาจนกระทั่งน้ำเป็นสีขาวขุ่น ใช้ประมาณ 1 แก้ว
2. ให้คนไข้ดื่มยา รอสักครู่ประมาณ 3-5 นาที คนไข้จะอาเจียนออกมา 30 นาทีหลังจากนั้นให้คนไข้ดื่มซ้ำอีก
3. ในขณะเดียวกัน ก็ใช้รากโลดทะนงแดงฝนกับหมากแห้งและบีบมะนาวเป็นกระสายยา ปิดแผลบริเวณที่ถูกงูกัด โดยทาซ้ำไปเรื่อยๆทุก 2 ชั่วโมง
4. กรณีที่มีรอยไหม้ แผลเน่าให้ใช้ว่านอึ่งทุบปิดแผลร่วมด้วย จะช่วยให้อาการดีขึ้น การรักษาไม่มีคาถากำกับ
การฝนยา การฝนยาสำหรับดื่ม ให้ฝนรากโลดทะนงแดงกับหมากแห้ง กับ หินลับมีดจนกระทั่งน้ำเป็นสีขาวคล้ายพารา 1 เม็ด ผสมน้ำ 1/2 แก้ว กรณีใช้กับเด็กให้ลดปริมาณลง ส่วนการฝนยาสำหรับทา ให้บีบมะนาวก่อนฝนแล้วฝนรากโลดทะนงแดง ฝนหมากแห้ง ให้ได้น้ำข้นค่อนข้างหนืดแล้วจึงแปะลงแผลที่ถูกงูกัด
ในการรักษาห้ามใช้เหล้าล้าง และ ห้ามดื่มเหล้า เพราะจะทำให้พิษกระจายได้เร็วขึ้นหากคนไข้ที่ถูกงูกัดยังมีอาการเจ็บปวดหรือบวมอยู่ หมอเอี๊ยะ จะตัดรากโลดทะนงแดงแบ่งให้ไปฝนทาที่บ้านต่อ การรักษาครั้งแรกๆของหมอ ด้วยเกรงว่า คนไข้จะไม่หายหมอเอี๊ยะจึงให้คนไข้ กินยาถึง 3 ครั้งด้วยกัน ต่อมาสังเกตเห็นว่า การรักษาได้ผลดี และเห็นว่าไม่จำเป็นต้องให้กินยาถึง 3 ครั้ง จึงได้ลดจำนวนครั้งของการให้กินยาเหลือ 2 ครั้ง จากประสบการณ์ที่รักษาคนไข้มากขึ้นทำให้เห็นว่าไม่จำเป็นต้องกินยาถึง 2 ครั้ง จึงลดลงเหลือให้กินเพียงยา 1 ครั้ง ซึ่งใช้ได้ผลเช่นกัน เหตุผลที่ตัดสินใจให้ยาแค่ครั้งเดียวเพราะ เกรงว่าคนไข้จะอ่อนเพลียเนื่องจากการอาเจียน (ใช้เวลารักษาโดยให้กินยาครั้งเดียวมาประมาณ 20 ปีแล้ว)
การรักษาแผลเปื่อยกรณีที่มีอาการเปื่อยไหม้ ต้องรอให้คนไข้หายปวดก่อน ปกติผิวหนังจะแห้ง แต่ถ้าเป็นฟองดำสีเลือด ผิวหนังเกรียมไหม้ ใช้ว่านสารพัดพิษทา ถ้าเป็นแผลเปื่อย เละ ผิวหนังลอกออก ใช้ว่านอึ่งทา เมื่อทายาไม่ต้องขูดแคะเอายาออก ให้พอกไปเรื่อยๆ และต้องดูว่าอาการที่แผลร้อนยังมีอยู่หรือไม่ ที่สำคัญไม่ควรพันผ้าปิดแผลไว้ เพราะจะทำให้พิษบริเวณนั้นยังคงอยู่ การพันแผลหรือการลอกแผลเป็นการทำให้แผลยิ่งเปื่อยมากขึ้น
การปฏิบัติตัวคนไข้ห้ามกินเหล้าช่วงรักษา
การประเมินและอธิบายผลการรักษาการที่จะบอกว่าคนไข้หายหรือไม่ หมอเอี๊ยะดูจากอาการปวด บวม และใช้วิธีจับดูอวัยวะที่ถูกกัด โดยก่อนการรักษา หมอเอี๊ยะก็จะจับดูตั้งแต่แรกว่าร้อนหรือเย็น โดยเทียบกับอวัยวะที่ปกติ และหลังให้ยา จับดูหากไม่ร้อนมีอาการปกติทั้ง 2 ข้าง ถือว่าหาย ดูอาการว่าหายปวด ไม่เจ็บ เดินได้ปกติ แขนขาใช้ได้ปกติ แม้ยังไม่ยุบบวมก็สามารถกลับบ้านได้
วิธีการเก็บยา
เก็บเฉพาะวันอังคาร ยาจะมีสรรพคุณดีมาก มีดอกไม้ 1 คู่ พร้อมธูปเทียนไปขออนุญาต ขุดยา มีพิธีกรรม คือ นำดอกไม้ ธูปเทียน ไปขอจากต้นไม่อื่นที่อยู่ใกล้เคียง โดยพูดว่า " มาหาอาจารย์หมองู ต้นนี้เหรอ " จากนั้นก็พูดตอบเองว่า " ไม่ใช่ อาจารย์ใหญ่อยู่ทางโน้น " (ชี้ไปที่ต้นโลดทะนงแดงที่เล็งไว้แล้ว) แล้วไปถามต้นโลดทะนงแดงว่า " เป็นหมองูใหญ่ใช่ไหม " แล้วก็ตอบว่า " ใช่ " ถามต่อไปว่า " จะขอไปรักษาได้ไหม " ตอบว่า " ได้ " จากนั้นเอาดอกไม้วางไว้ข้างต้นโลดทะนงแดงแล้วขุดเอาราก
ยาตำรับนี้ สามารถใช้ร่วมกันกับยาแผนปัจจุบันได้ หมอเอี๊ยะ เชื่อว่า รากโลดทะนงแดงและหมากช่วยสลายพิษงู ต้องใช้ทั้ง 2 อย่าง ไม่สามารถแยกใช้ได้ และเชื่อว่า มะนาวจะช่วยดูดพิษออกมาที่ปากแผล หากไม่มีมะนาวอาจใช้มะกรูดแทนได้ ให้ผลในการรักษาเหมือนกัน นอกจากนี้ยังเคยใช้โลดทะนงแดงกับสุนัขที่ถูกยาเบื่อ ออกฤทธิ์ 6-8 ชั่วโมงถอนพิษได้ กรณีถูกงูเห่าพ่นพิษใส่ตา ให้ฝนยาเพื่อหยอดตาด้วย รากโลดทะนงแดงยังมีสรรพคุณในการรักษาพิษแมลงสัตว์กัดต่อยได้ทุกชนิด
องค์ความรู้ด้านการรักษาโรคอื่นๆ
นอกจากการรักษางูพิษกัดแล้ว หมอเอี๊ยะยังมีความรู้เรื่อง ยาริดสีดวง รักษาฝี รักษาโรคนิ่ว ยาแก้ไข้ทับระดู ช่วยรักษาให้กับผู้คนในหมู่บ้านด้วย
การทำงานร่วมกับระบบบริการสุขภาพภาครัฐ
พ่อเอี๊ยะ มีการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลทั่วไปตลอดจนหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และยังเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้โดยการเป็นวิทยากรให้กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ในการประชุมสัมมนาเรื่องต่างๆ อีกหลายๆครั้ง และปัจจุบันในโรงพยาบาลพนมดงรักเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ยังได้หมอเอี๊ยะไปร่วมรักษาคนไข้ที่ถูกงูกัดที่โรงพยาบาล หมอเอี๊ยะ บอกว่า การให้ไปรักษาที่โรงพยาบาลนั้นดี เพราะมีหมอที่โรงพยาบาลช่วยดูแลคนไข้ ไม่ต้องกังวลมาก อีกทั้งยังช่วยให้ตนเองมีรายได้ด้วย
การยอมรับนับถือภายในชุมชนและความรู้สึกภาคภูมิใจ
หมอเอี๊ยะเป็นที่นับถือของคนในชุมชนมากและสังคมส่วนหนึ่งให้ความยอมรับโดยเฉพาะหมอและพยาบาลที่มีความภูมิใจที่หมอเอี๊ยะรักษาคนไข้หายทำให้โรงพยาบาลนั้นๆ มีชื่อเสียง หมอเอี๊ยะ บอกว่าสิ่งที่ตนเองภาคภูมิใจมากที่สุด คือ การที่โรงพยาบาลให้ตนเองได้ไปดูรักษาคนไข้ถูกงูกัดที่โรงพยาบาล ทำให้ตนรู้สึกว่ามีความสำคัญ ทางโรงพยาบาลยอมรับในความสามารถของตน ก็พอมีรายได้จากที่ไปรักษาที่โรงพยาบาล ช่วยผมได้เยอะ “ผมภูมิใจที่สุดที่หมอให้ผมไปช่วยรักษาที่โรงพยาบาล ทำให้คนรู้จักผมมากขึ้น”