ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
Latitude : N 16° 56' 52.254"
16.947848323732153
Longitude : E 104° 43' 40.1429"
104.72781747579575
No. : 192554
พิธีถวายข้าวพีชภาคและบุญเสียค่าหัวข้าโอกาสพระธาตุพนม
Proposed by. นครพนม Date 25 March 2020
Approved by. นครพนม Date 30 March 2020
Province : Nakhon Phanom
0 1129
Description

ความเป็นมา (ภูมิหลัง/ความเชื่อ)

ประเพณีถวายข้าวพีชภาคและบุญเสียค่าหัว
พิธีถวายข้าวพีชภาคและบุญเสียค่าหัว เป็นประเพณีเฉพาะของกลุ่มข้าโอกาสพระธาตุพนม ที่ทำหน้าที่ดูแลวัด โดยเฉพาะในช่วงงานบุญประเพณี ข้าโอกาสจะต้องนำผลผลิต พืชพรรณ ข้าวสาร เพื่อมาถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ ผู้ศึกษาขอนำเสนอตามลำดับดังนี้
๑) ความหมายของข้าวพีชภาคและบุญเสียค่าหัว
พิธีถวายข้าวพีชภาค ถือเป็นพิธีที่สำคัญที่ข้าโอกาสทุกคนจะต้องถือปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย และเพื่อความเป็นศิริมงคล (ทศพล อาจหาญ, ๒๕๓๕ : ๗๒) เป็นประเพณีเฉพาะกลุ่ม ต่อเนื่องมาจากสมัยโบราณ
ข้าวพีชภาค หมายถึง ผลผลิตทางทางการเกษตรที่ได้จากที่ดินของวัดเดิม “นาจังหัน” โดยแยกว่า “ข้าว” หมายถึงข้าวจ้าว ข้าวเหนียว และ “พีช” หมายถึง พืชพันธ์ต่างๆ ผลไม้ ฯ “ภาค” หมายถึง ส่วน รวมแล้ว มีความหมายว่า เป็นผลผลิต ได้แก่ หอม มันแกว กล้วย อ้อย และผลผลิตอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต โดยข้าวเป็นผลผลิตที่สำคัญ และข้าวถือเป็นอาหารหลักของพระภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาในวัดพระธาตุพนม ส่วนผลผลิตอื่นๆเป็นองค์ประกอบ (สุรชัย ชินบุตร,๒๕๕๗)
สัญญา ชิตมาโร (๒๕๖๐: สัมภาษณ์) กล่าวถึง ข้าวพีชภาค หมายถึง ข้าวสาร ที่นำไปถวายแก่วัดพระธาตุพนม รวมถึง พืชพรรณต่างๆ เรียกรวมว่า ข้าวพีชภาค
วันทนารี สุวรรณกลาง (๒๕๖๐: สัมภาษณ์) กล่าวถึง ข้าวพีชภาค ว่า สมัยบรรพบุรุษ จะนำข้าวจากไร่นา ไปถวายแด่องค์พระธาตุเป็นประจำทุกปี มีหอม กระเทียม มัน พืชต่างๆ ประกอบด้วย
พินิจ ประเคนคะชา (๒๕๖๐: สัมภาษณ์) กล่าวถึง นาจังหัน หมายถึง ที่ดินของวัด สำหรับให้ข้าโอกาสได้ทำไร่ ทำนา และเมื่อได้ผลผลิตต้องให้แก่ทางวัด
สรุปได้ว่า ข้าวพีชภาค หมายถึง ข้าว พืชพรรณ ต่างๆ ที่กลุ่มข้าโอกาสถือปฏิบัตินำมาถวายแด่องค์พระธาตุพนม ซึ่งสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ
๒) เครื่องประกอบพิธีกรรม
จากการศึกษาพบเครื่องประกอบพิธีกรรมดังนี้ (สุรชัย ชินบุตร,๒๕๕๗)
๒.๑) ขันหมากเบ็ง ตั้งไว้ ๔ ทิศ ขันหมากเบ็งมีลักษณะเป็นพุ่มใส่เครื่องบูชาทำจากใบตอง มีลักษณะคล้ายกรวยสูง ภายในกรวยจะใส่เครื่องบูชา ขัน ๕ ได้แก่ ธูป เทียน หมากพลู ข้าวตอก ดอกไม้ มีการตกแต่งด้วยดอกไม้ต่างๆ อาทิ ดอกดาวเรือง ดอกสามปี ดอกบานไม่รู้โรย ฯ
ขันหมากเบ็งมีหลายขนาด ถ้าเป็นตัวแทนของหมู่คณะ ชุมชน จะมีขนาดใหญ่ มีความหมายว่า เป็นการรวมใจกันของกลุ่มข้าโอกาส เพื่อมาขอขมาและบูชาองค์พระธาตุพนม และวิญญาณของกษัตริย์ที่ร่วมกันสร้างพระธาตุพนม เป็นการแสดงถึงความจงรักภักดี อ่อนน้อม เพื่อให้ความศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระธาตุพนมช่วยคุ้มครอง ปกปักรักษาสมาชิกในครอบครัวให้มีความสุข และปลอดภัย รวมทั้งสัตว์เลี้ยง และพืชพันธ์ธัญญาหารให้อุดมสมบูรณ์
๒.๒) ข้าวเปลือก ข้าวเป็นอาหารหลักของพระภิกษุสงฆ์ เป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต อาจเป็นข้าวเหนียว หรือข้าวจ้าว ข้าวเป็นสัญลักษณ์ของการดำรงอยู่ การมีชีวิต เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนภายในวัดเพื่อให้ดำรงอยู่และดำเนินชีวิตต่อไป
๒.๓) ผลไม้ พืชผัก ต่างๆ จากความหมายของ “ข้าวพีชภาค” ข้างต้น ผัก ผลไม้ต่างๆ เป็นสิ่งบริวารของเครื่องถวายพีชภาค ได้แก่ ข้าวโพด มันแกว พริก ต้นหอม มะพร้าว กล้วย อ้อย เป็นผลผลิตจากสวน ไร่ ของกลุ่มข้าวโอกาส
๒.๔) ต้นไม้เงินต้นไม้ทอง แสดงถึงความมั่งคั่ง ร่ำรวย เจริญรุ่งเรือง คล้ายกับการถวายดอกไม้เงิน ดอกไม้ทองเพื่อขึ้นกับองค์พระธาตุพน เดิมนั้นทำจาก เงิน และ ทองคำ จริง
๒.๕) เงินตามศรัทธา เป็นเงินที่บริจาคให้กับทางวัด โดยมีพระภิกษุคอยรับ เรียบกว่า “เงินเสียค่าหัว” ต้องชำระ ครอบครัวละ ๔ บาท ซึ่งอาจเกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลสยาม เรียกเก็บภาษีจากชายฉกรรจ์ ที่มีความสูงจากไหล่ถึงเท้า ๒ ศอก ๑ คืบ โดยเก็บคนละ ๔ บาท ซึ่งมีการนำมากำหนดเสียค่าหัวให้กับองค์พระธาตุพนม ในปัจจุบัน เงินเสียค่าหัว ไม่ระบุจำนวน ส่วนมาก ตั้งแต่ ๑๐๐ บาทขึ้น ไป ตามศรัทธา โดยไม่ได้กำหนดตายตัว เมื่อนำเงินเสียค่าหัวมาเสียให้กับทางวัดแล้ว จะต้องนำ “เทียนเวียนหัวคาคีง” มาประกอบ ซึ่งนับเท่ากับจำนวนสมาชิกในครอบครัว แล้วนำมาถวายพระธาตุพนม
๓) ขั้นตอนการประกอบพิธีกรรม
การถวายข้าวพีชภาคและเงินเสียค่าหัวของชาวข้าโอกาส ครั้งโบราณกำหนดให้ถวายในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๓ หลังจากเสร็จงานนมัสการพระธาตุพนมประจำปีแล้ว ต่อมาทางวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร (สมัยพระธรรมปริยัติมุนี เป็นเจ้าอาวาสได้กำหนดให้ชาวข้าโอกาสถวายเงินค่าหัวพร้อมกับถวายข้าวพีชภาคในวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๓ ) เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของชาวบ้านในปัจจุบันส่วนข้าโอกาสในประเทศลาวทุกวันนี้ไม่ได้รับอนุญาตจากทางการลาวให้ถวายเงินค่าหัวและข้าวพีชภาคเหมือนสมัยอดีต
จากการสัมภาษณ์ นายพินิจ ประเคนคะชา (๒๕๖๐ : สัมภาษณ์) รองนายกเทศมนตรีเทศบาลธาตุพนม กล่าวถึงการประกอบพิธีถวายข้าวพีชภาคแตกต่างออกไป คือ พิธีถวายข้าวพีชภาคมี ๒ ลักษณะ คือ ประการแรก เป็นการถวายข้าวพีชภาคปกติทั่วไป หลังจากทำไร่ ทำนาเสร็จแล้ว บางหมู่บ้านจะเอาข้าวใหม่มาถวายพระสงฆ์ โดยมีพระสงฆ์ในหมู่บ้านนำพามา ซึ่งไม่ระบุเจาะจงเป็นบุญเดือนสามเท่านั้น เพราะข้าวที่นำมาถวายนั้นจะนำไปประกอบอาหารเลี้ยงเจ้าหน้าที่ ผู้ดูแลพระธาตุพนมส่วนประการที่สองจะนำมาถวายในวันแห่พระอุปคุต ในงานบุญเดือนสามทั่วไป
พิธีถวายเงินค่าหัวและข้าวพีชภาคในวัยขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๓ เริ่มด้วยการทำบุญที่ลานหน้าองค์พระธาตุพนม ซึ่งตรงกับงานประเพณีนมัสการพระธาตุพนมในวันแรก จากการศึกษาของ ทศพล อาจหาญ (๒๕๔๒) และมาลินี กลางประพันธ์ (๒๕๕๕) มีข้อมูลไปในลักษณะเดียวกันว่า ในงานประเพณีนมัสการพระธาตุพนม ข้าโอกาสที่อพยพไปทำกินที่อื่นจะกลับมาทำพิธี เสียข้าหัวและถวายข้าวพีชภาคตามประเพณีของข้าโอกาสตลอดทั้งเดือน โดยจะเริ่มตั้งแต่ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๓ จนถึงแรม ๑ ค่ำ เดือน ๓ รวม ๗ วัน ๗ คืน โดยพิธีถวายข้าวพีช ภาคจะดำเนินไปหลังพิธีการแห่พระอุปคุต เมื่อพระสงฆ์เสร็จภัตกิจแล้ว เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมฯ เป็นประธานนำชาวบ้านและชาวข้าโอกาสไปทำพิธีอัญเชิญพระอุปคุตจากท่าน้ำโขง หน้าด่านศุลกากร อำเภอธาตุพนม แห่มาสถิตอยู่ที่หน้าพระประธาน (ด้านหน้าพระธาตุพนม) ครั้นถึง ๑๐:๓๐ น. เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมฯ เป็นประธานนำชาวบ้านข้าโอกาสทำพิธีถวายเงินค่าหัวและข้าวพีชภาค ที่บริเวณลานพระธาตุพนมชั้นในทั้ง ๔ ด้านตามลำดับพิธี ดั้งนี้
๑.นมัสการพระรัตนตรัย
๒.อัญเชิญเทวดามาร่วมพิธีถวายเงินค่าหัวและข้าวพีชภาค
๓.ประธานนำกล่าวคำถวาย ดังนี้
“สุทินนัง วะตะเมทานัง อาสะวักขะยาวะหัง โหตุ ข้าพเจ้าชาวข้าโอกาสพระธาตุพนมทั้งหลาย ขอน้อมถวายเงินค่าหัว พร้อมด้วยพีชภาค แด่องค์พระธาตุพนมตามเยี่ยงบรรพบุรุษที่พาทำมาทุกๆ ปี ขอองค์พระธาตุพนมจงรับเงินค่าหัวและพีชภาคของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่ออุทิศให้แก่เทพยดาอารักษ์ผู้รักษาองค์พระธาตุพนม ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ บรรพบุรุษทั้งหลาย ตลอดจนสรรพสัตว์ทั้งหลาย และเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาละนานเทอญ”
โดยจะกำหนดพื้นที่ของชุมชนข้าโอกาสนั่งประกอบพิธีกรรมรอบพระธาตุพนม ดังนี้ (ทศพล อาจหาญ ,๒๕๔๒ : ๗๖-๗๗)
บริเวณทิศตะวันออกขององค์พระธาตุพนม เป็นพื้นที่ของ ชุมชนข้าโอกาสตำบลพระกลางทุ่ง ตำบลธาตุพนม ตำบลธาตุพนมเหนือ ซึ่งจะจัดเตรียมขันหมากเบ็ง บายศรี ข้าวพีชภาคต่างๆ
บริเวณทิศใต้ขององค์พระธาตุพนม เป็นพื้นที่ของ ชุมชนข้าโอกาสตำบลน้ำก่ำ ตำบลอุ่มเหม้า และอำเภอหว้านใหญ่ จัดขันหมากเบ็งบายศรี ๑ ขัน พร้อมด้วยข้าวพีชภาค
บริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้ขององค์พระธาตุพนม เป็นพื้นที่ของชุมชนข้าโอกาสตำบลนาแก จัดขันหมากเบ็งบายศรี ๑ ขัน พร้อมด้วยข้าวพีชภาค
บริเวณทิศตะวันตกขององค์พระธาตุพนม เป็นพื้นที่ของชุมชนข้าโอกาสตำบลผึ่งแดด ตำบลนาหนาด ตำบลนาถ่อน ตำบลบ้านกลาง จัดขันหมากเบ็งบายศรี ๑ ขัน พร้อมด้วยข้าวพีชภาค
บริเวณทิศเหนือขององค์พระธาตุพนม เป็นพื้นที่ของชุมชนข้าโอกาสตำบลแสนพัน ตำบลโพนแพง ตำบลดอนนางหงส์ ตำบลกุดฉิม และอำเภอเรณูนคร จัดขันหมากเบ็งบายศรี ๑ ขัน พร้อมด้วยข้าวพีชภาค
จากการศึกษาของ ทศพล อาจหาญ (๒๕๓๕ : ๖๗-๖๘) กล่าวถึงฮีตคองของข้าโอกาสดังนี้
ข้อที่ ๑ ข้าโอกาสจะต้องให้การอุปัฏฐากพระภิกษุสงฆ์ สามเณร เมื่ออาพาธ เจ็บป่วย และถวายภัตตาหาร บิณฑบาต จตุปัจจัยตามสมควร
ข้อที่ ๒ ข้าโอกาสจะต้องทำนุบำรุงรักษาบูรณะซ่อมแซมองค์พระธาตุพนมให้ดูสะอาดเรียบร้อยและเผยแพร่สืบทอดศาสนาพุทธต่อไป
ข้อที่ ๓ วันศีล วันพระ ข้าโอกาสจะต้อง จำศีล ภาวนา ถือศีล ๕ ศีล ๘ นำดอกไม้ธูปเทียน บูชาพระธาตุพนม
ข้อที่ ๔ ไม่พูดเท็จ หลอกลวง พูดคำหยาบ ในบริเวณวัดพระธาตุพนม
ข้อที่ ๕ ไม่เล่นการพนัน หรือการแสดงที่เป็นสิ่งลามกอนาจาร ผิดจารีตประเพณีในบริเวณวัด
ข้อที่ ๖ ไม่เสพสุรา ของมึนเมาอันเป็นเหตุให้เสียสติ ส่งเสียงอึกทึกรบกวน พระภิกษุสงฆ์ และผู้แสวงบุญ ในวัด
ข้อที่ ๗ ข้าโอกาสจะต้องแต่งตัวที่เหมาะสม สุภาพเรียบร้อย เข้ามาในบริเวณวัด
ข้อที่ ๘ ข้าโอกาสจะต้องไม่กระทำกิจกรรมใดๆในบริเวณวัดอันเป็นการหาผลประโยชน์ส่วนตัว
ข้อที่ ๙ ข้าโอกาสทำพิธีกรรมเพื่อบอกกล่าวพระธาตุพนมให้จัด ขัน ๕ ของหวาน พานบายศรี ดอกไม้ ธูปเทียน มาถวายเป็นเครื่องสักการบูชา


ความเชื่อของชุมชนข้าโอกาสต่อพระธาตุพนม มีดังนี้
๑.ความเชื่อเกี่ยวกับองค์พระธาตุพนม
๑.๑ ความเชื่อเรื่องบาป บุญ ใครที่ได้ทำบุญต่อองค์พระธาตุพนมจะได้อานิสงส์มากและส่งผลให้เกิดใหม่ในชาติหน้า
๑.๒ ความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระธาตุว่า จะช่วยคุ้มครองป้องกันภยันตรายทั้งปวงได้ แม้ว่าจะประกอบพิธีกรรมที่ไหน ขอให้ระลึกถึงองค์พระธาตุพนม จะคอยปกป้องคุ้มครองข้าโอกาสตลอดเวลา โดยจุดธูปเทียนแล้วอธิษฐานให้พระธาตุพนมคุ้มครอง
๑.๓ ความเชื่อน้ำมนต์พระธาตุพนม ข้าโอกาสพระธาตุพนมเชื่อว่าน้ำมนต์พระธาตุพนม เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ พญานาคที่อาศัยอยู่ใต้พระธาตุพนม ในวันพระ พญานาคจะขึ้นมาในตอนกลางคืน เพื่อทำน้ำมนต์ใส่บาตรขนาดใหญ่ ที่ตั้งอยู่หน้าองค์พระธาตุพนม เมื่อนำมาประพรมจะเกิดสิริมงคล และรักษาความเจ็บป่วยได้
๒.ความเชื่อเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติ
๒.๑ ความเชื่อเรื่องเจ้าเฮือนสามพระองค์ โดยข้าโอกาสจะนับถือมาก และจะประกอบพิธีกรรมทุกปี สืบเนื่องจากในสมัยสร้างพระธาตุพนม มีเจ้าต่งกว้าง เป็นผู้นำในการรักษาพระธาตุ ปรากฏในงานของ มาลินี กลางประพันธ์ (๒๕๕๕ : ๑๑๘-๑๒๒) ว่า เจ้าโต่งกว้างเป็นเจ้าเฮือน 3 พระองค์ เมื่อครั้งที่พระครูวิโรจน์รัตโนบล วัดทุ่งศรีเมือง มาเป็นหัวหน้าบูรณะซ่อมแซมพระธาตุพนม ท่านต้องการจะบูรณะพระธาตุพนมทั้งหมด แต่ชาวบ้านคัดค้าน ให้บูรณะเฉพาะลานพระธาตุเท่านั้น เกิดการโต้เถียงกันอย่างรุนแรง ในขณะที่ชาวบ้านกำลังประชุมกันอย่างเคร่งเครียดใน ปรากฏว่า มีหญิงคนหนึ่ง ถูกเจ้าเข้าสิง บ่น ดุด่า หัวหน้าชาวบ้าน ผู้ขัดขวาง คัดค้านการบูรณะของพระครูวิโรจน์รัตโนบลว่า
“...อ้ายคนใดบังอาจขัดขวางเจ้ากู มิให้ท่านซ่อมแซม พระธาตุ กูจะหักคอมัน ท่านจะทำก็ปล่อยให้ท่านทำ สูจะไปขัดขืนทำไม แม้แต่กูยังเกรงบารมีทางท่าน....”
ฝ่ายชาวบ้านเกรงจะมีภัยอันตราย มาถึง จึงกราบวิงวอนให้ พระครูฯ ท่านได้เป็นผู้นำบูรณะอย่างสุดแล้วแต่ท่าน ท่านจึงรับกิจนิมนต์อยู่ปฏิบัติงานจนสำเร็จ เหตุการณ์ดังกล่าว ชาวบ้านเชื่อว่า เป็นฤทธิ์เดชของเจ้าโต่งกว้าง เป็นเจ้าเฮือน 3 พระองค์ รักษาพระธาตุพนม ตามตำนานอุรังคธาตุว่า ภายหลังพญาทั้ง ๕ คือ พญาสุวรรณภิงคาร พญาคำแดง พญาจุลนณีพรหมทัต พญาอินทปัจนคร และพญานันทเสน สร้างพระธาตุพนมเรียบร้อยแล้ว และกลับไปยังบ้านเมืองของตน พระอินทร์ได้นำบริวารลงมาบูชาพระอุรังคธาตุและเฉลิมฉลอง พร้อมแต่งตั้งเทวดารักษาพระบรมธาตุ ดังนี้ วนปคุมพาเทวดา พร้อมบริวาร ๑,๐๐๐ ตน รักษาด้านเหนือ ภุมมปติรุกขเทวดา พร้อมบริวาร ๕๐๐ ตน รักษาทิศใต้ สุรุทกาเทวดา พรอมบริวาร ๕๐๐ ตน รักษาด้านทิศตะวันตก สุนทิธรณีเทวดา พร้อมบริวาร๕๐๐ ตน รักษาภูกำพร้า วิจิตรเลขาเทวดา พร้อมบริวาร ๑,๐๐๐ ตน รักษาภายบนอากาศ นอกจากเทวดามี มเหศักดิ์อีก 3 ตน ตนหนึ่งชื่อว่า ทักขิณรัฎฐา คือเจ้าเมืองขวา อยู่หน้าวัดทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตนหนึ่งชื่อว่า สหัสสรัฎฐา คือเจ้าแสนเมืองอยู่ริมบึงด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตนหนึ่งชื่อว่า นาคกุฎฐวิตถาร คือ เจ้าโต่งกว้าง อยู่ปากเซ ตกก้ำใต้ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เป็นมเหศักดิ์ รักษาพระธาตุพนมจากการศึกษาของ สพสันติ์ เพชรคำ (๒๕๕๔ : ๑๔๔-๑๕๓) พบความเชื่อเจ้าโต่งกว้างในกลุ่มลวงลุ่มน้ำโขง ในประเทศลาว ว่า เจ้าโต่งกว้าง เป็นผีเฮือนเจ้าสามองค์ มีตำนานพื้นบ้านเล่าสืบต่อกันมาว่า เจ้าเมืองสามองค์เป็นพี่น้องกัน ได้แบ่งแว่นแคว้นปกครองในบริเวณลุ่มน้ำโขง พระอนุชาคนแรก คือเจ้าเมืองขวา ปกครองบ้านเมืองอยู่ทางตอนเหนือ ครอบคลุมอาณาบริเวณสามหมื่นเมืองเฟือง แขวงหลวงพระบางในปัจจุบัน พระอนุชาคนที่สอง เป็นเจ้าโฮงกลาง ปกครองเมืองทางตอนใต้ ครอบคลุมพื้นที่แถบบริเวณวัดพู จำปาสัก ส่วนองค์ที่ 3 เป็นพี่ชาย คือ เจ้าโต่งกว้าง ปกครองบ้านเมืองอยู่ท่าคอย เป็นบ้านเมืองอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์แห่งแรก บริเวณใกล้ปากลำเซบั้งไฟ ต่อมา ภายหลังการสถาปนาองค์พระธาตุพนมเสร็จสิ้นตามคำทำนายของพระพุทธเจ้า เจ้าเมืองทั้งสามดังกล่าวได้ตัดสินใจยอมเสียสละชีวิตของตนเองเพื่อให้ดวงวิญญาณของพวกตนอยู่เฝ้ารักษาองค์พระธาตุพนมสืบไป โดยเจ้าโต่งกว้างได้ใช้ดาบฟันคอน้องชายทั้งสองคนแล้วฟันคอของตัวเองตาม ดวงวิญญาณทั้ง ๓ จึงทำหน้าที่ปกปักรักษาองค์พระธาตุพนม
๓. ความเชื่อโหราศาสตร์
๓.๑ ความเชื่อเซียมซี ข้าโอกาสพระธาตุพนมเชื่อว่า การเสี่ยงซียมซีเพื่อทำนายดวงชะตา หากได้รับคำทำนายที่ดี จะถวายเงินเพื่อสะเดาะเคราะห์ให้กับองค์พระธาตุพนม (พินิจ ประเคนคะชา, ๒๕๖๐ : สัมภาษณ์)
๓.๒ ความเชื่อพระเสี่ยงทาย โดยข้าโอกาสเชื่อว่า การยกพระหินเสี่ยงทายหนักเบา เพื่อทำนายเกี่ยวกับการสอบแข่งขัน กิจการร้านค้า โดยอธิษฐานจากองค์พระธาตุพนม (พินิจ ประเคนคะชา, ๒๕๖๐ : สัมภาษณ์)

อัตลักษณ์ (ที่โดดเด่น)

แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และเทศกาล ประกอบด้วย ประเภท สถานที่ แหล่งปฏิบัติ ระเบียบพิธีกรรม การประพฤติปฏิบัติของการแสดงออกนั้นๆ ภูมิธรรม ภูมิปัญญา เอกลักษณ์ อัตลักษณ์และความเชื่อ
-เป็นพิธีกรรมเฉพาะของลูกหลานข้าโอกาสพระธาตุพนม ที่ปฏิบัติสืบเนื่องมาจากบรรพบุรุษ ซึ่ง บรรพบุรุษเดิมเป็นกรรมสิทธิ์ของวัด ลูกหลานที่เกิดมาใหม่จะต้องสืบทอดเป็นข้าโอกาสสืบมา สะท้อนให้เห็นถึงการเคารพบูชา สักการบูชา อ่อนน้อมถ่อมตน ต่อองค์พระธาตุพนม ที่บรรจุพระอุรังคธาตุ ของพระพุทธเจ้า รวมทั้งเทพยดา อารักษ์ ที่รักษาองค์พระธาตุพนม วิญญาณศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าเมืองที่ร่วมสร้างพระธาตุพนม มีแนวปฏิบัติที่ต่อเนื่องสืบทอดต่อๆกันมา และพบแห่งเดียวของชุมชนข้าโอกาสในปัจจุบัน

ความสำคัญและคุณค่าทางสังคมและทางจิตใจที่มีในวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชนนั้นๆ
๑.คุณค่าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สำคัญ
พิธีถวายข้าวพีชภาคและบุญเสียค่าหัวถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมาจากอดีต อย่างน้อยเท่าที่มีหลักฐานปรากฏ เมื่อ พ.ศ. ๒๑๕๗ จากจารึกวัดพระธาตุพนม ๒ ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษเดิมของชาวจังหวัดนครพน การประกอบพิธีกรรมถวายข้าวพีชภาคและบุญเสียค่าหัว ยังคงดำเนินต่อเนื่อง มีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบัน หากไม่ดำเนินการฟื้นฟู อนุรักษ์ จะส่งผลให้กลุ่มข้าโอกาส ที่มีหน้าที่ถวายข้าวพีชภาคเดิม หลงลืม รากเหง้าวัฒนธรรมอันดีงามต่อไป อนึ่ง จากการทบทวนในประเทศไทยตอนนี้ ยังพบร่องรอยและพิธีกรรมถวายข้าวพีชภาคและบุญเสียค่าหัวเฉพาะในวัดพระธาตุพนมเท่านั้น จึงจำเป็นต้องมีการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอย่างเร่งด่วน
๒.บทบาทของชุมชนที่มีต่อมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรม
ชุมชนในบริเวณรอบพระธาตุพนม มีความเชื่อว่า ตนเองเป็นลูกหลานของกลุ่มข้าโอกาสมาแต่ดั้งเดิม และได้รับการปลูกฝัง เรียนรู้ สืบทอดความคิดความเชื่อมาโดยตลอด และยังคงยึดถือปฏิบัติพิธีถวายข้าวพีช ภาคและบุญเสียค่าหัวอย่างต่อเนื่อง แม้ว่า บริเวณพระธาตุพนมจะมีกิจกรรมทางศาสนาและความเชื่อที่หลากหลายในปัจจุบัน ชุมชนข้าโอกาสเดิม อาทิ ชุมชนเทศบาลตำบลธาตุพนม ตำบลน้ำก่ำ ตำบลพระกลางทุ่ง ตำบลหลักศิลา ตำบลฝั่งแดง ตำบลอุ่มเหม้า ตำบลนาถ่อน ตำบลแสนพัน การปฏิบัติในปัจจุบัน ทุกปี เมื่อ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๓ ข้าโอกาสจะไปรวมตัวที่บริเวณพระธาตุพนม และให้มัคทายกได้พากล่าวถวายข้าวพีชภาคและบุญเสียค่าหัว ส่วนข้าโอกาสตำบลรอบนอก จะนัดหมาย กันในวันที่แตกต่างกัน อาทิ ตำบลหนองฮี อำเภอปลาปาก จะไปเสียค่าหัว ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๓ รวมทั้งชุมชนต่างๆในจังหวัดนครพนม

Location
Tambon ธาตุพนม Amphoe That Phanom Province Nakhon Phanom
Details of access
Reference นายอธิราชย์ นันขันตี Email nankhantee.a@gmail.com
Organization คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม
No. 167 Moo 8
Tambon นาราชควาย Amphoe Mueang Nakhon Phanom Province Nakhon Phanom ZIP code 48000
Tel. 081-6035261 Fax. 042-587182
Comment
Please Login Before comment.

Username
Password
No comment.
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่