1. เดิมเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ ต่อมามีประชาชนอพยพมาจากบ้านพยาท บ้านแตงเม บ้านขอม บ้านลาว เป็นคนชอง และเขมร ได้อาศัยตั้งบ้านเรือนอยู่ เมื่อถึงฤดูแล้ว ฝนไม่ตก ทำให้เกิดความแห้งแล้งมาก ไม่มีน้ำกินน้ำใช้ ชาวบ้านจึงจับเอานางแมวมาทาขมิ้น ดินสอพอง ทำพิธีแห่นางแมว เดินร้องเพลงแห่นางแมวขอฝน ชาวบ้านนั้นจึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านหามแมว” และต่อมาก็เรียกเพี้ยนเป็น “บ้านหางแมว” มาถึงปัจจุบันนี้ ผู้ให้ข้อมูล นายขวน วิชุวงษ์
2 ในลำคลองมีแมวน้ำอยู่มาก เวลาแมวน้ำดำผุดดำว่ายจะเห็นหางโผล่อยู่สลอน จึงได้ชื่อว่า “บ้านหางแมว” ที่มา : หนังสือก่อนกาลแก่งหางแมว
3 เนื่องจากในคลองหางแมวมีปลาชนิดหนึ่งที่ออกเสียงสำเนียงภาษา ชอง ฟังคล้ายคำว่า “แมว” อยู่ชุกชุมมาก จะเห็นหางปลาชนิดนี้อยู่ไสวในคลอง ทำให้เกิดนามเรียกขานว่า “คลองหางแมว” ที่มา : หนังสือก่อนกาลแก่งหางแมว
4. ในสมัยก่อนพื้นที่บริเวณนี้เป็นป่าทึบ อาชีพโดยทั่วไปของชาวบ้านแถบนี้คือหาของป่าล่าสัตว์ อยู่มาวันหนึ่ง ได้มีชาวบ้านยิงเสือตัวหนึ่งได้ และเสือตัวนั้นได้วิ่งหนีไปและตายบริเวณใกล้ลำคลอง ปรากฏว่าเสือตัวนั้นเป็นเสือสมิง ร่างของเสือจึงได้อันตรธานหายไป คงเหลือเพียงแค่หางไว้เพียงเท่านั้น ประกอบกับชาวบ้านที่หากินในป่ามีธรรมเนียม ความเชื่อว่า หากเข้าป่าห้ามพูดถึงสัตว์ป่าที่ดุร้าย ไม่ว่าจะเป็นเสือ สิงโต ช้างป่า หากพูดถึงจะมีเหตุอันต้องพบเจอสัตว์ชนิดนั้น ดังนั้นหากจำเป็นต้องพูดถึงให้เรียกเป็นสัตว์ที่คล้ายกันแต่ไม่ดุร้ายแทน ชาวบ้านจึงเรียกเสือสมิงตัวนั้นว่า “แมว” และเรียกหางเสือว่า “หางแมว” และเรียกคลองดังกล่าวว่า “คลองหางแมว” ผู้ให้้ข้อมูล นางเวียน แสงสุข
5. ในสมัยโบราณ บริเวณนี้มีบ้านไม่กี่หลัง ในจำนวนนั้นมีบ้านหลังหนึ่งได้เลี้ยงแมวไว้ตัวหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รักใคร่ของสมาชิกในบ้านเป็นอันมาก อยู่มาวันหนึ่งแมวได้หายไปจากบ้าน จึงได้ออกตามหาแมวสุดที่รัก ก็ไปพบอยู่ที่คลองข้างบ้าน โดยเห็นหางแมวโผล่ขึ้นพ้นน้ำ ส่วนหัวและลำตัวจมอยู่ในน้ำ และจากความอาลัยในแมวตัวโปรด จึงได้เกิดชื่อคลองดังกล่าวว่า “คลองหางแมว” และเมื่อเกิดชุมชนขึ้นในบริเวณนี้จึงมีชื่อว่า “บ้านหางแมว” ผู้ให้ข้อมูล พระนก คุณวโร