ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
Latitude : N 15° 7' 2.7581"
15.1174328
Longitude : E 103° 36' 40.9928"
103.6113869
No. : 96318
พิธีกรรมแกลมอ / แกลออ
Proposed by. vannatit kitdee Date 12 June 2011
Approved by. สุรินทร์ Date 8 October 2012
Province : Surin
0 2376
Description
ภาษากูย /กวย เรียก แกลมอ /แกลออ หรือ แกลแม็ด ภาษาเขมร เรียก โจลมะม็วด ภาษาลาว เรียก รำผีฟ้า / เล่นแถน / เล่นแม่มด เป็นพิธีกรรมสำคัญของชาวไทยกูย/กวย และชาวไทยเขมร แทบทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล จะมีมอ-ออ หรือกรู-บา (ภาษากูย/กวย) หรือแม่ครูมะม็วด (ภาษาเขมร) เป็นตัวเอกในพิธีกรรมดังกล่าว ชาวไทยเขมรใช้พิธีกรรมมะม็วด ชาวไทยกูย/กวยใช้พิธีกรรมแกลมอ / แกลออ ตามเทศกาล หรือโอกาสอันสมควรและตามจุดประสงค์ ๒–๓ แบบกล่าวคือ แบบที่ ๑ เป็นการเข้าทรงเพื่อรักษาผู้ป่วย เรียกขวัญผู้ป่วย ถือเป็นการรักษาทางใจโดยใช้เสียงเพลงกล่อมบรรเลง เป็นการปลอบขวัญให้ความทุกข์คลี่คลายลง จะจัดพิธีนี้ขึ้นเมื่อ ผู้ป่วยซึ่งพยายามรักษาโดยวิธีปกติธรรมดาแล้วไม่หาย เข้าโรงพยาบาลก็ไม่หาย แบบที่ ๒ เป็นการเข้าทรงเพื่อการเสี่ยงทาย หรือพิธีการขอขมา ถามหาสาเหตุแห่งการเจ็บป่วย เมื่อรู้ถึงสาเหตุแห่งการเจ็บป่วยแล้ว จะถามถึงวิธีการแก้บน หรือรักษาว่าจะให้ทำอย่างไร ผู้ป่วยถึงจะหาย แบบที่ ๓ เป็นพิธีกรรมที่เกิดจากความเชื่อในการบูชา บวงสรวงบรรพชนให้รักษาคุ้มครองผู้ที่อยู่ในครอบครัวหรือชุมชน ให้อยู่ด้วยความสงบสุขร่มเย็น ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ เช่น ๑) เป็นพิธีการเข้าทรงเพื่อบูชาครูกำเนิด บวงสรวงครูกำเนิด หรือเมือผู้เข้าทรงแล้วบอกว่า มีเทวดามาขออยู่ด้วย คนนี้จะมีหูทิพย์ตาทิพย์ จะจัดพิธีบูชา บวงสรวงหรืออัญเชิญ ขอบคุณเทวดาอารักษ์ทีคอยปกปักดูแลลูกหลานให้มีความสุข ความเจริญ ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บมาตลอดปี ๒) หรือเป็นพิธีการบวงสรวงแก้บน แต่เดิมชาวกูย/กวยอะจีงก่อนจะออกไปโพนช้าง(จับช้างป่า) จะประกอบพิธีกรรมเซ่นไหว้ บวงสรวงผีปะกำ ผีบรรพบุรุษ ผีบ้านผีเรือน ต่างๆ ให้การเดินทางไปคล้องช้างครั้งนี้ประสบความสำเร็จ(สามารถจับช้างป่าได้) และมีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินตลอดการเดินทาง เมื่อประสบความสำเร็จสามารถ จับช้างป่ามาได้ และเดินทางกลับบ้านด้วยความปลอดภัย ก็จะจัดพิธีแกลมอเพื่อ บวงสรวง แก้บน และแสดงการขอบคุณต่อผีบรรพชน พิธีกรรมแกลมอของชาวกูย/กวย เป็นพิธีกรรมสืบเนื่องมาแต่โบราณกาล ไม่สามารถระบุได้ว่า เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด จุดประสงค์ในการประกอบพิธีกรรม เพื่อเป็นวิธีหนึ่งในการรักษาโรคของผู้เจ็บป่วย หรือเพื่อความเป็นสิริมงคลของครอบครัว/ชุมชน และเป็นพิธีกรรมความเชื่อเฉพาะของกลุ่มชาวกูย/กวย โดยเฉพาะความเชื่อในผีบรรพบุรุษ ที่ตายไปแล้ว ยังเชื่อว่าวิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปยังคงมีความผูกพัน มีความสัมพันธ์กับครอบครัว คอยระวังปกปักรักษาให้บุคคลในครอบครัวมีความสุข ความเจริญ ปลอดภัย ปราศจากภัยพิบัติอื่นๆ บทบาทของพิธีกรรมแกลมอ มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของชุมชนชาวกูย/กวย เป็นอย่างยิ่ง เพราะชาวกูย/กวยมีความเชื่อถือและให้ความเคารพต่อบรรพชนเป็นอย่างยิ่ง และผลของแกลมอ สามารถรักษาพยาบาลได้บ้างตามสมควร โดยเฉพาะมีผลทางจิตวิทยา(จิตวิทยาสังคม) มูลเหตุของการเจ็บป่วย บางกรณีอาจเกิดจากการขาดการเอาใจใส่ ขาดการดูแลจากผู้ใกล้ชิด ทำให้เกิดการป่วย โดยเฉพาะการป่วยทางจิต ซึ่งเมื่อได้รับ การบำบัดรักษาทางจิต จึงสามารถตอบสนองผลการรักษาได้ตามสมควร ช่วงระยะเวลาการแกลมอ พิธีกรรมแกลมอมักจะเลือกวันอังคารหรือวันพฤหัสบดี ซึ่งถือว่าเป็นวันครู จะไม่เล่นในวันพระ(ขึ้น/แรม ๘ ค่ำ และขึ้น/แรม ๑๔-๑๕ ค่ำ) จะเลือกเล่นในช่วงเดือน ๒ – ๓ ยกเว้นหากมีครอบครัวใดเจ็บป่วย ไม่สบาย หรือหมอโบลบอกสาเหตุการเจ็บป่วย ต้องมีการแกลมอเพื่อเข้าทรงดูว่า ผู้ป่วยในครอบครัวนั้นเป็นอะไร สาเหตุมาจากอะไร และมีวิธีการรักษาให้หายป่วยอย่างไร ก็จัดพิธีแกลมอขึ้นและเล่นเป็นหมู่คณะ ตั้งแต่ ๕ - ๑๐ คน หรือ ๑๐ - ๑๕ คน องค์ประกอบอุปกรณ์พิธีกรรมแกลมอ องค์ประกอบพิธีกรรมแกลมอเป็นสิ่งสำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่งในการจัด การประกอบพิธีกรรมแต่ละครั้ง จะต้องจัดให้ดีและจัดเตรียมทุกอย่างให้ครบ และถูกต้องตามแบบแผนและขนบธรรมเนียมนิยมโดยมีครูบา หรือผู้อาวุโสผู้เคยประกอบพิธีกรรมคอยแนะนำ และตรวจสอบความถูกต้อง ในแต่ท้องถิ่นหรือในแต่ละพิธีกรรมแกลมอ ของชาวไทยกูย/กวย(กูยจอมพระ เรียกการเล่นนี้ว่า แกลแม็ด) หรือชาวไทยเขมร เรียกว่า โจลมะม็วด จะมีองค์ประกอบ อุปกรณ์และเครื่องบวงสรวงแตกต่างกันบ้างตามแต่ครูบา หรือครูมะม็วดของแต่ละแห่งจะเป็นผู้บอก ซึ่งมักจะแตกต่างกันในส่วนปลีกย่อย ส่วนประกอบขององค์ประกอบหลักมักจะเหมือนกัน ในที่นี้ ขอนำพิธีแกลมอ / แกลออ ของชาวกูย/กวย มาเสนอดังต่อไปนี้ เครื่องดนตรีประกอบ อุปกรณ์ดนตรีขึ้นอยู่กับว่า เป็นการเล่นแกลมอแบบใด แบบที่ ๑ –๒ –๓ หรือตามครูบาต้องการ ประกอบด้วยแคน ๑ เลา กลอง /กลองตะโพน ๒ ใบ ฆ้อง ๑ ใบ ซอ และปี่ เครื่องเซ่นไหว้ ๑.อุปกรณ์ปะรำพิธี ได้แก่ ปะรำพิธี(ขนาดตามความต้องการของครูบา) ,โต๊ะที่ตั้งเครื่องเซ่นไหว้ , ใยแมงมุมทำด้วยฝ้าย หรือด้าย , พานขัน ๕ ขัน และ ๘ ,กรวย ๑๒ คู่ ๒.เครื่องเซ่นไหว้ ได้แก่ ข้าวต้มมัด ต้นกล้วย กล้วย ไก่ต้มทั้งตัว ไข่ไก่สุก ไข่ไก่ดิบ ข้าวตอก ดอกไม้ ธูป เทียน เครื่องบายศรี ด้ายผูกแขน ๓.เครื่องแต่งกาย และอุปกรณ์แต่งกาย ได้แก่ มีผ้าถุง เสื้อสีดำ ผ้าสไบเฉียง สีดำ ผ้าไหม ผ้าสะไบ แป้ง น้ำมันทาผม ฯลฯ ๔.อาวุธ ได้แก่ธนู มีด ดาบ ปืน หอก ฯลฯ ๕.พาหนะจำลองได้แก่ เรือ (ทำจากไม้ขนาดเล็กพอถือได้) ช้าง (ทำด้วยไม้) ม้า(ทำด้วยไม้) พวงมาลัย ๔ ไม้พาย ฯลฯ ขั้นตอนการประกอบพิธี ๑.ครูบา (ครูบา คือผู้ที่ประกอบพิธี ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับการถ่ายทอด หรือสืบทอดมาจากครูบาคนก่อนในลักษณะคล้ายการถ่ายทอดวิชา) จะทำการไหว้ครู พร้อม เครื่องบวงสรวงจะเอามือทั้ง ๒ จับขันหรือถือขันที่จุดเทียนไว้บนขันนั้น จิตจะเพ่งที่เทียน ขณะเดียวกันมือที่ถือขันก็จะหมุนไปมา เพื่ออัญเชิญผีบรรพชนมาเข้าทรง ขณะเดียวกันดนตรีก็จะบรรเลงไปพร้อมๆกับพิธีอัญเชิญเข้าทรง ๒. ผู้เข้าร่วมพิธีกรรม หรือสมาชิก ซึ่งอาจเป็นลูกศิษย์ ลูกหลาน ญาติพี่น้องในตระกูล และเพื่อนบ้านในชุนชน ที่นับถือบรรพบุรุษเดียวกันมาร่วมพิธีกรรมด้วย จะร่วมรำเพื่อเป็นการเร่งเร้าให้ผีบรรพชน หรือครูประจำตัวเข้าสู่ร่างทรงเร็วขึ้น ๓. เมื่อครูประจำตัว หรือผีบรรพบุรุษเริ่มเข้าประทับทรง จะสอบถามถึงสาเหตุของการป่วยไข้ พร้อมวิธีการรักษาหรือขอขมา หรือความไม่สงบสุขขึ้นในชุมชน (หากเป็นการเล่นเพื่อเสี่ยงทาย หรือหาสาเหตุของการป่วย หรือสาเหตุของความไม่สงบสุข) ผู้เข้าทรงจะมีการแต่งตัว ร่ายรำอาวุธ ทำท่าทำการรบพุ่งกับภูตผีปีศาจทั้งหลายที่อยู่นอกปะรำ (หากเป็นการเล่นเพื่อรักษา ปกป้องคุ้มครอง ขับไล่ภูตผีปีศาจที่มารังควานลูกหลาน ครอบครัว หรือชุมชน) อาการของผู้เข้าทรง มักจะมีลักษณะอากัปกิริยาที่แตกต่างไปจากคนเดิม บางคนร้องไห้ บางคนแสดงอาการโกรธผู้ป่วยเพราะทำผิด ญาติหรือเจ้าภาพต้องสอบถาม สาเหตุของความผิดนั้น พร้อมวิธีแก้ วิธีรักษา หรือวิธีทำอย่างไรจึงจะพ้นจากความผิดนั้น หลังจากนั้นก็จะจัดเครื่องเซ่น บวงสรวงเพื่อขอขมา ขอโทษผีบรรพชน หรือจะทำพิธีตาม ผู้เข้าทรงบอกเพื่อให้หายป่วย หรือพ้นจากความผิด
Location
อำเภอจอมพระ
Amphoe Mueang Surin Province Surin
Details of access
สภาวัฒนธรรมอำเภอจอมพระ
Reference นายสนาน สุขสนิท
Organization สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์
No. 796 Moo 20 Road เลี่ยงเมือง
Tambon นอกเมือง Amphoe Mueang Surin Province Surin ZIP code 32000
Tel. 044712854 Fax. 044512030
Comment
Please Login Before comment.

Username
Password
No comment.
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่