ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 16° 34' 0.4861"
16.5668017
ลองจิจูด (แวง) : E 102° 0' 53.8646"
102.0149624
เลขที่ : 113379
บุญกองหด ( กองฮด )วัดแจ้งสว่างนอก
เสนอโดย sukanda วันที่ 14 กันยายน 2554
อนุมัติโดย วันที่ 27 มีนาคม 2555
จังหวัด : ขอนแก่น
0 4511
รายละเอียด

บุญกองหด หรือ พิธีเถราภิเษก เพื่อหดสรงพระภิกษุสามเณรผู้เหมาะสมขึ้นดำรงตำแห่นงสมณศักดิ์โดยปกติเมื่อถึงมื้อโฮมหรือวันโฮม คือวันรวมหรือวันเริ่มงาน ซึ่งเป็นวันก่อนวันงาน 1 วัน จะมีการ ตั้งกองหด ขึ้นบนศาลาโรงธรรมหรือหอแจก อันได้แก่ศาลาการเปรียญ โดยตั้งเครื่องหดและเครื่องประกอบกองหด ไว้เป็นกอง ๆ เท่าจำนวนผู้ที่จะได้รับเถราภิเษก มีการประดับตกแต่งให้สวยงามตามความแก่สติกำลังและความสามารถของชุมชน

ก. เครื่องหดเครื่องกองหด คือเครื่องที่ใช้ในพิธีเถราภิเษก ซึ่งบางแห่งเรียกว่าบริขารเครื่องยศ ประกอบด้วย

๑. เครื่องสมณบริขาร ๘ อย่าง คือ ผ้าสบง ผ้าคลุม ผ้าสังฆาฏิ ( ไตรจีวร) บาตร มีดโกน เข็ม ประคตเอว และผ้ากรองน้ำ จัดอย่างเดียวกันกับเครื่องบวชนาค

๒. เครื่องสมณูปโภค ได้แก่เครื่องใช้สอยอันควรแก่ สมณะ บางอย่าง เช่น ผ้าห่ม ตาลปัตร มีดตัดเล็บ รองเท้า ร่ม ไม้เท้าเหล็ก กาบหัว หรือ หว่อมกาบ ( กระโจมศีรษะ ) ที่นอน เสื่อ เตียงนอน ผ้านิสีทนะ เซี่ยนหมาก สำรับ กระโถน เป็นต้น

๓. หลาบเงิน หลาบคำ คือแผ่นเงิน ( หิรัญบัฏ ) และแผ่นทองคำ ( สุพรรณบัฏ ) สำหรับจารึกนามผู้ได้รับ เถราภิเษก ไม่มีกำหนดว่าชั้นไหนควรได้รับหลาบเงิน ชั้นไหนควรได้รับหลาบคำ จะเป็นหลาบชนิดใดก็ได้ ให้เลือกถวายตามศรัทธา แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นหลาบเงินก่อนเมื่อมีการหดสรงครั้งที่ 2 จึงจะเป็นหลาบคำ หลาบเงิน –หลาบคำนั้น มีกำหนดขนาดยาวไว้แน่นอน

ข. เครื่องประกอบกองหด ได้แก่เครื่องสักการบูชา ต่าง ๆ เฉพาะที่จำต้องมีจะขาดเสียมิได้นั้น ได้แก่เทียนเล่มบาท เทียนเล่มเบี้ย เทียงกิ่ง( เทียนง่า ) เทียนเล็ก ขันหมากเบงจ์

โฮงหด( โรงหด ) จะตั้ง ฮางหด ศิลาอาสน์ โอ่งน้ำหอม ไว้ให้พร้อม สถานที่จัดทำพิธีนี้จัดที่วัดแจ้งสว่างนอก บ้านแสนสุข ต.โนนสะอาด อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น

ขั้นตอนการประกอบพิธีหดสรงหรือเถราภิเษก ส่วนมากใช้ศาลาโรงธรรมเป็นโรงพิธี และนิยมประกอบพิธีในตอนบ่ายของวันงาน ซึ่งประกอบพิธีสถาปนาหรือเถราภิเษกนั้น มีขั้นตอนดังนี้

ชาวบ้านและชาววัดประชุมพร้อมกันที่ศาลาโรงธรรม

นิมนต์ผู้ที่ได้รับเถราภิเษกนั้น นั่งบนอาสนะที่จัดไว้เฉพาะต่างหาก นิมนต์พระพิธีที่ได้รับนิมนต์ให้สวดชยันโตนั้นบนอาสนสงฆ์ที่จัดไว้ จัดให้มีพราหมณ์ 4 คน นุ่งขาวห่มขาว ถือไม้หลาบ คือ ไม้แบน ๆ ยาวประมาณ 1 วา ยืนเฝ้ารักษาประจำอยู่ 4 ทิศของโฮงหด เมื่อได้ฤกษ์แล้ว พระเถระผู้เป็นประธานในพิธีมอบตาลปัตรให้ผู้ได้รับเถราภิเษก สวมหว่อมกาบศีรษะ ( กระโจมมงคล ) ให้ทุกรูป ยื่นไม้เท้าเหล็กให้ผู้ได้รับเถราภิเษกจับแล้วจูงออกจากโรงพิธี (ศาลาโรงธรรม ) เข้าสู่ห้องสรงที่โฮงหด คฤหัสถ์ผู้ชายทอดตนถวายเป็นสะพานให้ผู้จะได้รับเถราภิเษกเดินเหยียบเข้าสู่ห้องสรง โดยพร้อมกันนอนคว่ำเรียงเป็นแถว ตั้งแต่โรงพิธีถึงห้องสรง (ถ้ามี) เมื่อถึงห้องสรงแล้ว พระเถระผู้เป็นประธานในพิธีพร้อมทั้งพระพิธีพากันจุดเทียนกิ่งบนราวเทียนข้างฮางหด แล้วพระพิธีเดินกลับโรงพิธี พระเถระคงอยู่ในห้องสรง พระเถระผู้เป็นประธานในโฮงหดถอดหว่อมกาบจากศีรษะของผู้ได้รับเถราภิเษก จับบ่าซ้ายขวา หมุน 3 รอบ เป็นทักษิณาวรรต (ขณะที่ผู้ได้รับเถราภิเษกยืนอยู่) เสร็จแล้วนนิมนต์ให้ผู้จะรับการเถราภิเษกนั่งบนศิลาอาสน์ ดังกล่าวแล้ว (แต่บางแห่งให้นั่งบนเก้าอี้ วางเท้าเหยียบก้อนหินหรือแผ่นหิน) โดยให้ผู้ได้รับเถราภิเษกนั้นนั่งหันหน้าไปทางทิศหัวใจเป็น ตามวันนั้นๆคือ

วันอาทิตย์ หัวใจเป็น อยู่ทางทิศอุดร

วันจันทร์ “ อยู่ทางทิศหรดี

วันอังคาร “ อยู่ทางทิศอีสาน

วันพุธ “ อยู่ทางทิศบูรพา

วันพฤหัสบดี “ อยู่ทางทิศอาคเนย์ วันศุกร์ “ อยู่ทางทิศพายัพ วันเสาร์ “ อยู่ทางทิศทักษิณ บางแห่งนิยมหันหน้าไปทางทิศตะวันออกก็มี

- ครั้นแล้วฆราวาสญาติโยม ก็พร้อมกันกล่าวคำถวายน้ำหอมสำหรับสรงและกล่าวคำถวายผ้าไตรจีวรไปพร้อมๆกัน แล้วนำน้ำหอมไปถวายพระเถระผู้เป็นประธานในพิธี พระเถระรับน้ำหอมแล้วได้ทำพิธีสรงให้ก่อน โดยสรงศีรษะผู้ได้รับเถราภิเษก ขณะนั้นพระพิธีก็เริ่มสวดชยันโต (บางแห่งสวดชัยน้อยชัยใหญ่) พร้อมทั้งมีการลั่นฆ้องชัย ตีกลอง ฯลฯ จุดตะไล อย่างครึกครื้น พระสงฆ์และฆราวาสญาติโยมชายหญิง ทุกวัยที่ไปร่วมพิธีก็จะนำน้ำหอมไปสรง โดยเทลงที่ฮางหดส่วนที่อยู่นอกห้องสรง (น้ำจะไหลไปรดผู้ได้รับเถราภิเษกที่นั้งอยู่บนศิลาอาสน์ในห้องสรง)

- เมื่อพระผู้ได้รับเถราภิเษกได้รับการหดสรงแล้ว ญาติโยมก็พร้อมกัน ถวายผ้าไตร พระผู้ได้รับเถราภิเษกทำกัปปะพินทุตามพระวินัย ครองผ้าให้เรียบร้อยอยู่ในโฮงหดนั่นเอง

- จากนั้นพระเถระผู้เป็นประธานที่อยู่ในโฮงหด ก็จะให้ผู้ได้รับเถราภิเษกตีฆ้องชัยโดยใช้กำปั้นตีให้ดังๆ 3 ลา ขณะตีให้ผู้ได้รับเถราภิเษกกล่าวคำว่า สีหนาทํ นทนฺเต เต ปริสาสุ วิสารทา 3 หน พร้อมกับการตีฆ้องนั้น ตีแต่ละครั้งฆราวาสญาติโยม ก็พากันส่งเสียงขึ้นกันพร้อมกันดังๆว่า

สำเร็จ! สำเร็จ! สำเร็จ! (หรือ)

ซา! ซา! ซา! (หรือ) ญาซา ญาซา ญาซา

คู! คู! คู! (หรือ) ญาคู ญาคู ญาคู

คือส่งเสียงขึ้นพร้อมกัน ๓ ครั้งตามระดับชื่อชั้นของพระผู้ได้รับเถราภิเษกแล้วนั้น

- ครั้นแล้ว พระเถระผู้เป็นประธานมอบตาลปัตร สวมหว่อมกาบ หี่ผ้า(เอาผ้าหี่)ให้ทุกรูปแล้วยื่นไม้เท้าเหล็กให้จับ แล้วจูงขึ้นบนศาลาโรงธรรมฆราวาสผู้ชายก็จะทอดตนเป็นสะพาน โดยนอนคว่ำเป็นแถวให้ผู้ได้รับเถราภิเษกเดินเหยียบขึ้นบนศาลาโรงธรรมอีก ถือว่าได้บุญกุศลมากทีเดียว

- ครั้นที่ประชุมพร้อมแล้ว ฆราวาสญาติโยมก็จะพากันจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ไหว้พระ-รับศีล โดยพระผู้ได้รับเถราภิเษกที่มีอาวุโสกว่าทุกรูปเป็นผู้ให้ศีล

(บางท้องถิ่นให้ผู้ได้รับถราภิเษกให้ศีลพร้อมกันทั้งหมด)

- เสร็จเรียบร้อยแล้ว พระผู้ได้รับเถราภิเษกก็จะทำพิธีจุดเทียนเล่มเบี้ย โดยมีคนนำเทียนเล่มเบี้ยทั้งคู่ไปตั้งไว้ตรงหน้า แล้วจุดเทียนเล่มบาททั้งคู่ส่งถวาย พระเถระผู้ได้รับเถราภิเษกรับแล้ว เอาเทียนเล่มบาทนั้น ( เป็นเทียนชนวน ) จุดเทียนเล่มเบี้ย พิธีจุดนั้นคือให้มือไขว้กัน โดยทีแรกให้มือขวาทับมือซ้าย แล้วกลับซ้ายทับขวา และกลับขวาทับซ้าย เป็น 3 หน เอาเทียนเล่มบาทที่มือขวาถือ จุดเทียนเล่มเบี้ยที่ตั้งอยู่ข้างซ้าย เอาเล่มที่ถืออยู่ทางซ้ายมือ จุดเทียนเล่มเบี้ยที่ตั้งอยู่ทางขวามือ เสร็จแล้วมอบให้คนนำไปติดไว้ที่ราวเทียนข้างฮางหด(บางแห่งอยู่ตรงกลางฮางหด)

- ครั้นสมาทานศีลจบแล้ว ผู้เป็นประธานฝ่ายฆราวาส หรือศาสนบัณฑิต จะอ่านหลาบเงิน - หลาบทอง (หิรัญบัฏ-สุบรรณบัฏ) (อ่านทีละรูป) เมื่ออ่านจบวาระแรก ก็ตีฆ้องชัย 1 ที ให้เสียงสาธุการ 1 ครั้ง

เมื่ออ่านจบวาระที่ 2 ก็ตีฆ้องชัย 2 ที ให้เสียงสาธุการ 2 ครั้ง

เมื่ออ่านจบวาระที่ 3 ก็ตีฆ้องชัย 3 ที ให้เสียงสาธุการ 3 ครั้ง

- จากนั้นประกอบพิธีบายศรีถวายโดยการอัญเชิญเทพยุดาและว่าคำบายศรีต่อไปจนจบ

ความเชื่อ พิธีบุญกองหด หรือ พิธีเถราภิเษก ทำเพื่อเป็นการเคารพ สร้างความเชื่อถือความศรัทธา ความยินดี ให้แด่พระภิกษุสามเณรผู้เหมาะสมให้ขึ้นดำรงตำแห่นงสมณศักดิ์

สถานที่ตั้ง
วัดแจ้งสว่างนอก
เลขที่ 147 หมู่ที่/หมู่บ้าน ม.5 บ้านแสนสุข ต.โนนสะอาด อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ซอย - ถนน -
จังหวัด ขอนแก่น
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
วัดแจ้งสว่างนอก
บุคคลอ้างอิง พระครูสโมธานเขตคณารักษ์ เจ้าคณะอำเภอชุมแพ อีเมล์ kirati_noiwan@hotmail.com
ชื่อที่ทำงาน วัดแจ้งสว่างนอก
เลขที่ 147 หมู่ที่/หมู่บ้าน ม.5 บ้านแสนสุข ต.โนนสะอาด อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ซอย - ถนน -
จังหวัด ขอนแก่น รหัสไปรษณีย์ 40290
โทรศัพท์ 0862207709 โทรสาร 043-391015
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่