เมื่อถึงวัยพ้นเดียงสา บิดามารดาจะให้บุตรหลานเข้าบวชในศาสนาเพื่ออบรมกล่อมเกลาอุปนิสัยให้ใฝ่ดี การบวชสามเณร เรียกว่า บรรพชา ผู้บวชเรียกว่า จัว บวชพระภิกษุ เรียกว่า การอุปสมบท ผู้บวชเรียกวาหม่อม หากสึกออกมา สามเณรเรียกว่าเซียง พระภิกษุเรียกว่าทิด ขั้นตอนในการบวชทั้ง ๒ ประเภทมีขั้นตอนดังนี้ การประเคนนาค(ฝากตัวนาค) จะต้องนำไปฝากไว้กับวัดที่เห็นสมควร ไว้ฝึกหัดกิริยามารยาทและคำสวดนาคประมาณ ๑ เดือนก่อนบวช การปล่อยนาคก่อนบวช ๒-๓ วัน จะให้นาคนำธูปเทียนไปขมาญาติพี่น้องขออโหสิกรรม หลังจากนั้นต้องเตรียมกองบวช มีเครื่องอัฐบริขารครบสมบูรณ์หลังจากนั้นจะเป็นพิธี การแห่นาคการสู่ขวัญนาค การบวชนาค และการลาสิกขาบท(สึก)
การบวช คนสกลนครแต่โบราณนิยมให้ลูกหลานได้บวชเรียน ถือเป็นการศึกษาอบรมตนให้รู้หลักนักปราชญ์ รู้จารีตธรรมเนียม ฮีตบ้านครองเมือง ที่สำคัญคือเป็นการทดแทนบุญคุณของพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดหรือบุพการีผู้มีพระคุณแก่ตน ผู้ที่บวชเมื่อสึกแล้ว ชาวบ้านจะเรียกทิดจารย์หรือเซียงนำหน้าชื่อตามด้วยฐานะที่ตนบวช และถือว่าเป็นคนสุกเป็นคนดีมีศีลธรรม จะสู่ขอลูกสาวใครมาแต่งเป็นเมียก็ไม่มีใครขัดข้อง ครั้นเมื่อมีวัยวุฒิสูงขึ้น(อาวุโส) ก็มักจะได้รับเลืกให้เป็นผู้นำของชาวบ้าน เป็นผู้พิจารณาตัดสินคดีความของชาวบ้าน ซึ่งใครๆก็ยอมรับในความเที่ยงธรรม แม้ในปัจจุบันความนิยมนี้จะลดลงก็ตาม แต่ก็ยังถือว่าเป็นความสำคัญสำหรับผู้ชายทุกคนที่จะต้องถือบวช การบวชมีพิธีการที่สำคัญ ดังนี้
มอบนาค บุตรหลานที่จะบวชต้องนำไปมอบให้เจ้าอาวาสก่อนวันบวชเรียกว่าการเข้านาค หรือการประเคนนาค หรือมอบนาคทั้งนี้เพื่อศึกษาเล่าเรียนการทำวัดสวดมนต์ ท่องบ่นคำขานนาค ทำพินทุปัจจุบันอธิษฐานเรียนหนังสือธรรม หรืออื่นๆที่เจ้าอาวาสเห็นสมควร การนำบุตรหลานไปมอบให้เจ้าอาวาสจะต้องจัดขันห้าหรือดอกไม้ธูปเทียนนำไปถวายเจ้าอาวาสเป็นการประเคนนาค เมื่อท่านรับแล้วก็ตีโปงหรือระฆังให้ชาวบ้านได้อนุโมทนาสาธุการในการนี้ด้วย
ปล่อยนาค ก่อนจะถึงวันบวชอีก ๒-๓ วันให้นาคนำดอกไม้ธูปเทียนไปลาญาติพี่น้องเพื่อสมมาลาโทษ(ขอขมา) ผู้หลักผู้ใหญ่ที่ตนเคารพนับถือ และสั่งลาชู้สาว(ถ้ามี) หากมีหนี้ก็ให้ชำระชดใช้เสีย การอนุญาตให้นาคไปเพื่อการนี้เรียกว่า ปล่อยนาคทั้งนี้เพื่อให้นาคได้มีโอกาสขอขมาลาโทษผู้หลัดผู้ใหญ่ สั่งเสียชู้สาว และเพื่อปลดเปลื้องหนี้สินบวชแล้วจะได้ตั้งหน้าบำเพ็ญเพียรต่อไป
กองบวช เครื่องใช้ที่จะนำมาบวชเรียกว่า กองบวช ถ้าบวชเป็นพระภิกษุต้องจัดหาเครื่องบริขารสำหรับบวช ๘ อย่าง เรียกว่า อัฐบริขาร หรือบริขาร ๘ มีผ้าสบง จีวร(ผ้าคลุม) สังฆาฎิ ประคตเอว บาตร มีดโกนพร้อมหินลับ เข็มพร้อมด้าย และธมกรก(ผ้ากรองนำ้) บริขารนอกจากนี้จัดเป็นเครื่องบริวาร เช่น เสื่อ สาด อาสนะ ร่ม รองเท้าแตะ เต้า(กาน้ำ) กระโถน เตียง ตั่ง เป็นต้น จะมีหรือไม่มีก็ได้ไม่จำเป็น
ขันเม็ง กองบวชดังที่กล่าว ถ้ามีหลายกองให้นำมารวมกันที่วัดตอนเย็นพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เสร็จแล้วบังสกุลอุทิศส่วนกุศลแด่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว กลางคืนมีมหรสพ ตอนเช้าถวายอาหารบิณฑบาต ถ้ามีกองเดียวก็ทำที่บ้านเจ้าภาพ ตอนค่ำนิมนต์พระสงฆ์ไปเจริญพระพุทธมนต์ที่บ้าน มีฟังเทศน์ รุ่งขึ้นตอนเช้าทำบุญเลี้ยงพระ แล้วแห่กองบวชออกมารวมกันที่วัด กองบวชใช้เม็ง คือเตียงหามออกมา และเตียงนั้นใช้เป้นเตียงนอนของพระบวชใหม่ เมื่อกองเม็งมารวมกันแล้ว บังสกุลอุทิศส่วนกุศลแด่ผู้ตายแล้วด้วย จึงสู่ขวัญนาค ที่กล่าวมาข้างต้นนี้เรียกว่าขันเม็ง
สู่ขวัญนาค ก่อนสู่ขวัญนาคจะมีพิธีแห่นาครอบศาลาวัด การแห่นาคทำตามศรัทธาของเจ้าภาพ จะแห่ด้วยช้าง ม้า รถ ก็ได้ นาคทุกคนต้องโกนผม โกนคิ้ว นุ่งเสื้อผ้าให้เรียบร้อย เมื่อแห่รอบศาลาแล้ว นาคเข้าพาขวัญโดยญาติพี่น้องนั่งห้อมล้อม พราหมณ์หรือหมอสวดทำพิธีสู่ขวัญผูกแขนนาคเสร็จแล้วนำเข้าพิธีบวชต่อไป
พิธีบวช เวลานาคจะเข้าโบสถ์ พ่อของนาคจูงมือซ้าย แม่จูงมือขวาถ้าพ่อแม่ของนาคไม่มีให้ญาตพี่น้องเป็นคนจูง ก่อนจะเข้าโบสถ์ให้นาคนำดอกไม้ธูปเทียนบูชาเสมาก่อน ครั้นเข้าไปภายในโบสถ์แล้วให้นาคนำดอกไม้ธูปเทียนไปบูชาพระ แล้วกลับมานั่งที่ที่จัดไว้ พ่อแม่จะยกผ้าไตรส่งให้นาค ก่อนจะรับผ้าไตรนาคต้องกราบพ่อแม่ก่อน(๑ ครั้ง) แล้วรับผ้าไตรเดินคุกเข่าประนมมือเข้าไปในท่ามกลางสงฆ์ กล่าวคำขอบรรพชาอุปสมบทพระสงฆ์โดยพระอุปัชฌาย์เป็นประธานจะดำเนินการประกอบพิธีการบวชตามพิธีกรรมจนนาคนั้นได้บรรพชา(บวชสามเณร) และหรือ อุปสมบท(บวชพระภิกษุ) โดยสมบูรณ์แล้ว
ลาสิกขา ผู้บวชในสมัยโบราณเป็นผู้เบื่อหน่ายต่อโลก จึงไม่มีการสึกหรือลาสิกขา ครั้นต่อมาการบวชได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นบวชตามประเพณี ผู้บวชที่ไม่ประสงค์จะอยู่ต่อไปก็ลาสิกขา การลาสิกขาต้องกระทำเป็นพิธีการ โดยผู้ประสงค์จะลาสิกขาต้องนำดอกไม้ธูปเทียนไปทำวัตรพระอุปัชฌาย์อาจารย์ เมื่อถึงวันกำหนดแล้วจัดสถานที่แล้วนิมนต์พระสงฆ์มาพร้อมกัน พระภิกษุผู้จะลาสิกขาแสดงอาบัติ แล้วตั้งนะโม ๓ จบ ว่าอดีตปัจจเวท ๑ จบแล้วกล่าวคำลาสิกขา ๓ จบ แล้วพระเถระชักผ้าสัง ฆาฎิของผู้ลาสิกขาออก จากนั้นผู้ลาสิกขาออกไปเปลื้องผ้าสบง จีวร และผ้าเหลืองอื่นออกให้หมดแล้วนุ่งห่มผ้าขาวหรืออื่นๆตามเหมาะสม แล้วกลับเข้าไปกล่าวคำขอไตรสรณคมน์ และศีล ๕ รับไตรสรณคมน์และศีล ๕ แล้วกล่าวคำปฎิญาณตนเป็นพุทธมามกะ จบแล้วพระสงฆ์นั่งอันดับรับสาธุพร้อมกัน ผู้ลาสิกขากราบ ๓ หน แล้วน้อมตนเข้าไปรับน้ำมนต์พระสงฆ์สวดชยันโต ๓ จบเสร็จแล้วผู้ลาสิกขานำเครื่องสักการะเข้าไปถวาย พระสงฆ์อนุโมทนาเป็นเสร็จพิธี สำหรับการลาสิกขาของสามเณรไม่มีบัญญัติไว้ คงอนุโลมใช้ตามอย่างการลาสิกขาของพระภิกษุ