กู่น้อย จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ กู่น้อยสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษ ที่ ๑๗ (ประมาณ พ.ศ.๑๗๐๐) สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แห่งเขมร ปัจจุบันตั้งอยู่ที่บ้านโพธิ์ทอง หมู่ ๑ ตำบลพระธาตุ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม อยู่ในเขตปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบลพระธาตุ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญทางโบราณคดีของเมืองโบราณนครจัมปาศรี ช่วงสมัยทวารวดี สภาพแวดล้อมในปัจจุบันตั้งอยู่บนพื้นที่ราบอยู่ใกล้กับวัด หมู่บ้านบริเวณทุ่งนา และทุ่งหญ้า มีพื้นที่ ๘ ไร่ ๒ งาน ๙๔ ตารางวา ลักษณะการก่อสร้างเป็นศิลปกรรมแบบ ปาปวน และนครวัดของเขมร มีโบราณวัตถุพบอยู่ในบริเวณกู่น้อยแห่งนี้ ได้แก่ ประติมากรรมหินทราย พระศฺวะ พระนารายณ์ และเศียรทวารบาล
กู่น้อย เป็นศาสนสถานเนื่องในศาสนาฮินดุประกอบด้วย ปราสาทประธาน สร้างด้วยศิลาแลงและหินทรายสีแดง มีฐานอาคารศิลาแลงก่อยื่นจากปราสาทประธานออกไปเป็นอาคารโถง มีเครื่่องบนเป็นไม้หลังคามุงกระเบื้อง ล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลง มีคูน้ำรูปเกือกม้าล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง มีซุ้มประตู (โคปุระ)ก่อเป็นมุข ๔ ด้าน ในอดีตใช้เป็นที่ก่อพิธีกรรมสำคัญทางความเชื่อและศาสนา ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ศึกษาดูงานของนักเรียน นักศึกษาและผู้ที่สนใจทั่วไป
กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๒ วันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๘ และกำหนดขอบเขตโบราณสถานในราชกิจจานุบกษา เล่มที่ ๙๙ ตอนที่ ๑๗๒ วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๕