พระมหาธาตุเจดีย์พุทธธรรมบันลือ ประดิษฐานอยู่บนยอดเขาล้าน ห่างจากที่ตั้งวัดประมาณ 1.4 กิโลเมตร เขาล้านเป็นดินดานสูงจากพื้นราบประมาณ 150 เมตร พื้นที่รอบๆ ตั้งแต่เชิงเขาขึ้นไปเป็นสวนยางพารา สวนผลไม้ของชาวบ้านสลับกับป่าไม้ธรรมชาตินานาพันธุ์ ระยะทางจากเชิงเขาขึ้นไปถึงยอดเขาประมาณ 1.3 กิโลเมตร ปัจจุบันการคมนาคมสะดวก มีถนนคอนกรีตเสริมเหล็กกว้าง 5 เมตร ไปโดยตลอดจนถึงยอดเขา ก่อนถึงยอดเขาประมาณ 300 เมตร ทางด้านซ้ายมือประดิษฐานพระร่วง 3 พี่น้อง เป็นพระพุทธรูปประทับยืน เพื่อให้เป็นเทพผู้เปิดโลก นำมวลมนุษย์และสัตว์ในสากลโลกที่ตกอยู่ในกิเลสทั้งสิ้นเข้าสู่โลกใหม่ นั่นคือโลกแห่งบวรพุทธศาสนา ได้ปรับระดับดินเป็นลานกว้างสำหรับเป็นที่จอดรถยนต์ และบนยอดเขาปรับระดับดินเป็นลานกว้างสำหรับเป็นที่จอดรถยนต์อีกจุดหนึ่ง โดยรอบลานกว้างทำเป็นม้านั่งคอนกรีตเสริมเหล็กปูทรายล้างสำหรับนั่งพักผ่อน ด้านขวาของลานจอดรถสร้างเป็นศาลาการเปรียญหลังคาทรงไทยติดกันเป็นกุฏิเจ้าอาวาส หน้าศาลาการเปรียญเป็นสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม มีพระแม่ธรณีบีบมวยผมอยู่ตรงกลางสระ ต่อจากลานจอดรถทำเป็นทางคอนกรีตเสริมเหล็กกว้าง 5 เมตร ทอดขึ้นไปสู่พระมหาธาตุเจดีย์พุทธธรรมบันลือ สองข้างทางประดับด้วยรูปปูนปั้นพญานาค 5 เศียร อยู่ในท่าเลื้อยลงมาจากพระมหาธาตุ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่านาคสะดุ้ง โดยมีความเชื่อกันว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์โดยบันไดนาค ส่วนบนสุดของทางขึ้น 2 ข้าง เป็นรูปปั้นสิงห์ 4 ตัวยืนหันหลังชนกัน หันหน้าออกสู่ทิศสี่ทิศ โดยยืนบนฐานปูนปั้นสี่เหลี่ยมย่อมุมสิบสอง ด้วยว่าสิงห์เป็นสัญลักษณ์ของความกล้าหาญ แข็งแกร่ง จึงสร้างไว้เพื่อพิทักษ์รักษาองค์พระมหาธาตุเจดีย์ บริเวณโดยรอบขององค์พระมหาธาตุเจดีย์ ทางทิศเหนือมีพลับพลาหลังคาทรงไทย ทางด้านทิศใต้มีเรือนรับรองชั้นเดียวทรงแปดเหลี่ยม หลังคาทรงปิรามิด ถัดลงไปตามไหล่เขาสร้างที่พักสำหรับภิกษุหรือญาติโยมที่ขึ้นไปปฏิบัติธรรม และสร้างถ้ำจำลองไว้สำหรับเจ้าอาวาสเข้าไปปฏิบัติธรรมในช่วงเข้าพรรษา
พระมหาธาตุเจดีย์พุทธธรรมบันลือสร้างขึ้นจากนิมิตของพระครูปลัดพิศาล ปุรินทโก หรือ “พระอาจารย์ชัย”อดีตเจ้าอาวาสวัดราษฎร์อุปถัมภ์ ปัจจุบันได้พระราชทานชั้นยศที่พระวิสิฐพัฒนวิธาน เจ้าคณะอำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ หรือ เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุวชิรมงคล ตำบลนาเหนืออำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2529 แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2539 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์เป็นองค์ประธานประกอบพิธีวางแผ่นศิลาฤกษ์องค์พระธาตุเจดีย์นิมิต เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2533 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามเจดีย์ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2539 ว่า “พระมหาธาตุเจดีย์พุทธธรรมบันลือ” และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรง ประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระมหาธาตุเจดีย์พุทธธรรมบันลือ เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2543
พระมหาธาตุเจดีย์พุทธธรรมบันลือมีลักษณะผสมระหว่างพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช กับพระบรมธาตุทางภาคเหนือ ด้วยเหตุที่ว่าพระบรมสารีริกธาตุนั้นได้มาจากอำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือ ส่วนพระครูปลัดพิศาล ปุรินฺทโก เป็นคนใต้และเคารพในพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราชเป็นที่สุด และพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราชยังเป็นปูชนียสถานที่สำคัญทางภาคใต้ นอกจากนี้แล้ว พุทธศาสนายังถือกำเนิดในประเทศอินเดีย ดังนั้นพระมหาธาตุเจดีย์พุทธธรรมบันลือจึงมีลักษณะของศิลปะแบบอินเดียมาผสมด้วย ลักษณะพระมหาธาตุเจดีย์พุทธธรรมบันลือเป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมเท่ากันทุกด้าน อันมีความหมายถึงมรรคมีองค์ 8 สร้างเป็น 3 ชั้น จากฐานชั้นล่างถึงยอดสูง 109 เมตร ทุกชั้นมีฐานเป็นลักษณะแปดเหลี่ยมเท่ากันทุกด้าน