ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 14° 14' 1.0997"
14.2336388
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 2' 4.263"
100.0345175
เลขที่ : 124352
ตำนานสองพี่น้อง
เสนอโดย supat วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555
อนุมัติโดย สุพรรณบุรี วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2555
จังหวัด : สุพรรณบุรี
0 2282
รายละเอียด

ตำนานสองพี่น้อง

“ชื่อมีคนน้อย อร่อยปลาหมำเลิศล้ำพระสงฆ์ หลวงพ่อโหน่งพระเครื่อง รุ่งเรืองนาไร่ พระใหญ่โลกรู้ เสภาชั้นครู อู่น้ำอู่ปลา ราชินีนักร้องสองพี่น้อง”

ทำไมอำเภอสองพี่น้อง จึงมีชื่อดังกล่าว มีตำนานเล่าขานกันมาหลายตำนานเป็นวรรณกรรมท้องถิ่นและคติชนวิทยาที่น่าสนใจในที่นี้จะยกมานำเสนอไว้ดังนี้

ตำนานแรก เล่าว่ามีชายสองคนพี่น้องเป็นลูกกำพร้า พ่อแม่ตายตั้งแต่ยังเยาว์ทั้งสองคนมีความมานะบากบั่นสร้างตนจนมีฐานะร่ำรวย ทั้งสองสัญญากันว่าจะแต่งงานพร้อมกัน แล้วได้ แล้วได้ส่งแม่สื่อออกไปสืบหาคู่ครองให้ไปพบสาวสองพี่น้องเช่นกันอยู่บ้านท่าตลาด (ในเขตอำเภอบางปลาม้า) ชายสองพี่น้องพอใจในที่สุด ทั้งสองฝ่ายตกลงจะแต่งงานกัน เมื่อถึงวันแต่งงานฝ่ายชายก็เชิญแขกลงเรือสำเภา พร้อมเครื่องขันหมากและมโหรี เรือสำเภาแล่นฝ่าคลื่นออกไป มโหรีก็บรรเลงไป ในเรือมีการเลี้ยงอาหาร เหล้ายากันผู้คนเมามาย เสียงสีซอดังไปทั่วคุ้งน้ำ บ้านที่เรือสำเภาผ่านตรงนั้นจึงได้ชื่อต่อมาว่า “บางซอ”มโหรีสีซอกันอย่างสนุกสนานยิ่งนัก หมู่บ้านนั้นจึงได้ชื่อว่า “สีสนุก”ยิ่งนานเข้าคนบนเรือยิ่งเมามายวุ่นวาย วิ่งกันขวักไขว่ ห้ามไม่ฟัง ขณะนั้นท้องฟ้าก็มืดครึ้ม เกิดพายุฝนกระหน่ำ จนเรือสำเภาล่มทลายลง ผู้คนต่างจมน้ำบ้างก็ถูกจระเข้กันตายบริเวณที่เรือสำเภาล่มเรียกกันว่า “บ้านสำเภาทลาย”ต่อมาเปลี่ยนชื่อเพื่อความเป็นสิริมงคลและสอดคล้องกับใบสำเภาที่มีสีทองเป็น “สำเภาทอง”บางคนเล่าเสริมมาว่าเสากระโดงเรือมาเดาะก่อนที่บ้าน “ไผ่เดาะ”และศพคนตายมากมายลอยไปส่งกลิ่นเหม็นเหมือนปลาร้า หมู่บ้านนั้นจึงเรียกกันว่า “บางปลาร้า”ส่วนร่างของชายสองพี่น้องถูกจระเข้คาบว่ายทวนขึ้นมาทางบ้านท่าตลาด เจ้าสาวสองพี่น้องเห็นจึงวิ่งตามไปบนฝั่งจนหมดแรง จระเข้คาบชายทั้งสองไปสุดสายตา บริเวณนั้นจึงเรียกว่า “วัดสุด”นางทั้งสองอ่อนใจอ่อนกายทรุดลง บริเวณนั้นจึงได้ชื่อว่า “โคกนางอ่อน”นางต่างเดินกันต่อไปด้วยความซึมเซา บริเวณนั้นก็ได้ชื่อว่า “โพนางเซา”ในที่สุดนางทั้งสองก็ได้พบซากศพชายทั้งสองตรงบริเวณที่เรียกกันว่า “วัดศพ” ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น “วัดประสบสุข”ส่วนเจ้าสาวพี่น้องจึงกลับมาด้วยความโศกเศร้าเพราะต้องกลายเป็นม่ายขันหมาก บ้านท่าตลาดที่นางทั้งสองอยู่อาศัย จึงได้ชื่อว่า “บางแม่หม้าย”สืบมา บ้านที่เป็นภูมิลำเนาของชายสองพี่น้องผู้เป็นเจ้าบ่าวจึงได้ชื่อว่า “สองพี่น้อง”

ตำนานที่สอง เล่ากันว่าในป่าแห่งหนึ่งต้นป่าคงอยู่แถว ๆ อู่ทอง มีช้างโขลงหนึ่งหากินอยู่ จ่าโขลงมีสองตัวเป็นพี่น้องกัน ต่อมาเหล่าน้ำที่เคยใช้ดื่มกินอยู่ประจำคงจะต้องเกิดแห้ง ช้างทั้งสองตัวต้องนำโขลงของมันเดินทางลัดเลาะลงมาหาน้ำกินถึงลำน้ำใหญ่ คงจะเป็นแม่น้ำท่าจีน เส้นทางที่ช้างทั้งสองนำโขลงช้างเดินไปมาอยู่ประจำได้ถูกน้ำกัดเซาะจนกลายสภาพมาเป็นคลอง มีลักษณะคดเคี้ยวมาก ไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีนเรียกว่า “คลองสองพี่น้อง”ตามที่ช้างพี่น้องสองตัวดังกล่าว หมู่บ้านนั้นจึงเรียกว่า “สองพี่น้อง”ไปด้วยบางคนก็เล่าว่า เพราะมีช้างสองเชือก ลงมาเล่นน้ำในลำคลองนั้นเสมอ และชาวบ้านเข้าใจว่าช้างสองเชือกเป็นพี่น้องกัน จึงเรียกคลองนั้นว่า “คลองสองพี่น้อง”อำเภอนี้อยู่ริมคลองสองพี่น้องจึงชื่ออำเภอสองพี่น้อง

ตำนานที่สาม เล่ากันว่าพี่น้องสองคนสร้างวัดแข่งกันอยู่คนละฝั่งคลอง วัดหนึ่งคือวัดท่าจัด ที่ตำบลบางพลับ อีกวัดหนึ่งคือวัดโคกเหล็ก (ปัจจุบันเป็นวัดร้าง) คลองนั้นจึงเรียกว่า “คลองสองพี่น้อง”บางคนเล่าคล้ายเรื่องกล่องข้าวน้อยฆ่าแม่ว่า ชายสองพี่น้องนี้ไปไถนา แม่นำข้าวมาส่ง พอเปิดข้าวเห็นข้าวน้อยคิดว่าไม่พอกินจึงตีแม่ตาย ภายหลังสำนึกผิดจึงสร้างวัดไถ่บาป

เรื่องราวของตัวตนคนสองพี่น้องยังมีประวัติและความเป็นมาอีกมาก ทั้งที่เกี่ยวกับวรรณคดี ประวัติศาสตร์ หากท่านผู้อ่านสนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คุณไพศาล ตันติไพจิตร ประธานชมรมอนุรักษ์อำเภอสองพี่น้อง

หมวดหมู่
อื่นๆ
สถานที่ตั้ง
อำเภอสองพี่น้อง
อำเภอ สองพี่น้อง จังหวัด สุพรรณบุรี
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
บุคคลอ้างอิง คุณวิศาล ตันติไพจิตร
ชื่อที่ทำงาน ประธานชมรมอนุรักษ์อำเภอสองพี่น้อง
ตำบล สองพี่น้อง อำเภอ สองพี่น้อง จังหวัด สุพรรณบุรี รหัสไปรษณีย์ 72000
โทรศัพท์ 035-536058 โทรสาร 035-536045
เว็บไซต์ http://province.m-culture.go.th/suphanburi
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่