งานงิ้วศาลเจ้าพ่อพญาสี่เขี้ยว เป็นงานประจำปีของชาวไทยเชื้อสายจีนในอำเภอสีคิ้ว
ที่จัดโดยคณะกรรมการมูลนิธิศาลเจ้าพ่อพญาสี่เขี้ยว เพื่อสักการะให้ความเคารพนับถือ
พ่อพญาสี่เขี้ยว ในฐานะเสื้อบ้านเสื้อเมืองที่มีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองลูกหลานชาวอำเภอสีคิ้ว
ให้อยู่ร่วมกันด้วยความร่มเย็นเป็นสุขตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน กำหนดจัดงานประมาณเดือนต้น
เดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี
มีการแสดงขบวนแห่เจ้าพ่อที่สวยงามอลังการ อาทิ มังกร เอ็งกอ สิงโต การแสดงงิ้วแต้จิ๋ว
งิ้วไหหลำ การออกร้านจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ และการแสดงมโหสพนักร้อง นักดนตรี ให้ความ
บันเทิง ตลอด 6 วัน 6 คืน
งิ้ว หรือ อุปรากรจีน เป็นศิลปะการแสดงที่มีความหลากหลาย ผสมผสานระหว่างการขับร้อง
และการเจรจาประกอบกับลีลาท่าทางของนักแสดงให้ออกเป็นเรื่องราว โดยสมัยนั้นได้นำเอา
เหตุการณ์ต่าง ๆ ในพงศาวดารและประวัติศาสตร์มาดัดแปลงเป็นบทแสดง รวมทั้งยังมีการนำ
เอาความเชื่อทางประเพณีและศาสนาเข้าไปผสมผสานกับการแสดงงิ้วด้วยเช่นกัน
เดิมประเทศจีนมีงิ้วราว 300 กว่าประเภท งิ้ว ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ งิ้วหลวง
กับ งิ้วท้องถิ่น งิ้วปักกิ่งเป็นงิ้วที่มีชื่อเสียงมากที่สุด และงิ้วได้รับการยอมรับจากองค์การ
ยูเนสโก และยกระดับงิ้วให้เป็น “มรดกโลก”
ความโดดเด่นของการแสดงงิ้ว นอกจากลีลาการร่ายรำ การเคลื่อนไหวของผู้แสดงแล้ว
เสื้อผ้า เครื่องแต่งกายตลอดจนการแต่งหน้า ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
สำหรับเมืองไทยนั้นมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บ่งบอกว่าคนไทยเรารู้จัก “งิ้ว” มาตั้งแต่
ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา นั่นคือ บันทึกรายวันของบาทหลวง เดอ ชัวสี ในคราวที่ติดตาม
มองซิเออร์ เลอ เชอวาเลีย เดอโชมองต์ เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทยในสมัย
พระนารายณ์มหาราช และบันทึกของลาลูแบร์ทูตชาวฝรั่งเศสเรียกการแสดงชนิดนี้ว่า
“Comedie a la chinoife” และ “A ChinefeComedy” ซึ่งมีความหมายโดยรวมว่า “
ละครจีน” ในสมัยกรุงศรีอยุธยาไม่มีบันทึกหลักฐานใดๆที่บ่งบอกถึงที่มาของชื่อ “งิ้ว”
ไว้อย่างแน่ชัด จนกระทั่งมาถึงในสมัยของพระเจ้ากรุงธนบุรีซึ่งเป็นยุคที่มีชาวจีนอพยพ
มาตั้งถิ่นฐานในเมืองไทยมากขึ้น ได้เรียกชื่อของการแสดงนี้ว่า “งิ้ว” ดังนั้นชื่อของ “งิ้ว”
จึงเกิดขึ้นในสมัยของพระเจ้ากรุงธนบุรี
งิ้ว จึงเปรียบเสมือนประหนึ่งตัวแทนที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม
ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณีของชาวจีนในยุคโบราณที่ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างเห็น
ได้ชัด และมีความสำคัญเกี่ยวเนื่องอยู่กับความเชื่อของผู้คนชาวจีนอยู่ไม่น้อย เพราะไม่ว่า
จะเป็นสถานที่ใดที่มีชาวจีนมาตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัย ก็มักจะมีการสร้างศาลเจ้าขึ้นมาควบคู่กัน
เสมอ การแสดงงิ้ว ก็จะถูกกำหนดให้จัดขึ้นในช่วงเทศกาลหรืองานประเพณีสำคัญ ๆ เช่น งานฉลองศาลเจ้า งานฉลองวันสารทเดือน 7 งานฉลองวันเทศกาลกินเจเดือน 9 งานฉลองแก้บน ฯลฯ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะถือว่าเป็นการตอบแทนคุณศาลเจ้าที่คอยคุ้มครองดูแลปกปัก
รักษาให้คนที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นนั้น ๆ ได้อยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข ไม่มีทุกข์ภัยใด ๆ
มาเบียดเบียน