ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 12° 3' 59.288"
12.066468886142358
ลองจิจูด (แวง) : E 99° 51' 29.7034"
99.85825093663178
เลขที่ : 131667
วัดกุยบุรี
เสนอโดย pompom วันที่ 20 เมษายน 2555
อนุมัติโดย ประจวบคีรีขันธ์ วันที่ 1 ธันวาคม 2564
จังหวัด : ประจวบคีรีขันธ์
1 1527
รายละเอียด

วัดกุยบุรี เป็นวัดที่มีมาตั้งแต่โบราณกาล เดิมชื่อว่า “วัดกุย” ตั้งอยู่ที่เลขที่ ๔๐๑ หมู่ที่ ๑ ตำบลกุยบุรี อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ติดกับแม่น้ำกุยบุรีฝั่งซ้าย และอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของถนนเพชรเกษม อยู่ห่างจากสถานีรถไฟกุยบุรีประมาณ ๑ กิโลเมตรเศษ มีถนนหน้าวัดซึ่งเทคอนกรีตตัดสู่ถนนเพชรเกษม ๘๐ เมตร มีหลักฐานที่ดินของวัดตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๖๑๒ เล่มที่ ๗ หน้า ๑๒ อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประชาชนชอบเรียกกันสั้นๆ ว่า วัดกุย เป็นที่ตั้งอยู่ศูนย์กลางของชุมชนในเขตเทศบาลตำบลกุยบุรีในปัจจุบัน จากการสอบถามผู้สูงอายุบางท่าน ได้กล่าวถึงวัดกุยบุรีไว้ว่า บริเวณที่ตั้งวัดกุยบุรี นี้เดิมมีอยู่ ๒ วัด คือ วัดกวยตั้งอยู่ทางทิศเหนือ และวัดกุยบุรีตั้งอยู่ทางทิศใต้ อาณาเขตของวัดทั้งสองจะอยู่ติดกัน ระยะต่อมาซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า วัดทั้ง ๒ ได้รวมเข้าเป็นวัดเดียวกัน และเรียกกันว่าวัดกุยบุรี บริเวณวัดกวยปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนประถมศึกษาวัดกุยบุรี ส่วนอุโบสถและวิหารของวัดกวยถูกลื้อทำลายจนหมด โบราณวัตถุของวัดกวยที่ยังหลงเหลืออยู่ คือ พระพุทธรูปปางมารวิชัยทำจากทรายสีแดง (ทรายแลง) ปัจจุบันประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ในพระอุโบสถหลังใหม่ของวัดกุยบุรี แต่ได้มีการฉาบผิวปูน และลงรักปิดทองคำจนไม่สามารถเห็นเค้าเดิม นอกจากนี้ ชาวเมืองกุยบุรียังมีความเชื่อเกี่ยวกับบริเวณที่ตั้งของวัดกวย ก่อนที่จะมารวมกับวัดกุยโดยกล่าวกันว่าบริเวณหน้าวัดกวยมีบ่อน้ำทิพย์อยู่บ่อหนึ่ง เมื่อปีใดฝนแล้ง ชาวเมืองกุยบุรีจะไปขุดบ่อน้ำทิพย์ดังกล่าว และหากขุดพบขอนไม้สีดำอยู่ก้นบ่อเมื่อใด ฝนก็จะตกลงมา ความแห้งแล้งก็จะหมดไปในที่สุด ความเชื่อของชาวเมืองกุยบุรีที่มีต่อวัดกวย และวัดกุยดังกล่าวข้างต้น แม้ว่าเป็นเรื่องที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ก็ตาม แต่ก็สามารถชี้ให้เห็นถึงความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อวัดได้อย่างชัดเจน และวัดทั้ง ๒ ชาวกุยบุรีเรียกว่าวัดพี่น้องมาแต่โบราณ วัดกวยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวัดกุยเมื่อใดนั้นไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด นอกจากบอกเล่าสืบต่อกันมา และประวัติความเป็นมาของวัดกุย และวัดกวย ว่าสร้างขึ้นเมื่อใด ใครเป็นผู้สร้างก็ไม่ปรากฏหลักฐานเอกสารระบุไว้เลย ในการศึกษาประวัติความเป็นมาของวัดกุยบุรี จึงใช้วิธีเปรียบเทียบกับหลักฐานอื่นๆ กล่าวคือ ๑. ศึกษาเปรียบเทียบประวัติเมืองกุยบุรี เพราะว่าชุมชนในสมัยโบราณมักจะมีประเพณี หรือมีคตินิยมสร้างวัดขึ้นเป็นศูนย์กลางของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นชุมชนขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ระดับเมือง ดังนั้น วัดกุยบุรีซึ่งเป็นศูนย์กลางของชุมชนเมืองกุยบุรีจนถึงปัจจุบัน ก็น่าจะสร้างขึ้นมาพร้อมกับการพัฒนา หรือการสร้างเมืองกุยบุรี ๒. ศึกษารูปแบบศิลปกรรมจากโบราณวัตถุ และโบราณสถานภายในวัด

การบริหารปกครองมีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม(ตามที่สอบถามจากผู้อาวุโส) คือ

๑. พระอาจารย์บู๋ พ.ศ. –
๒. พระอาจารย์เต็ม พ.ศ. –
๓. พระอาจารย์วาด พ.ศ. ๒๔๖๗
๔. พระอาจารย์จันทร์ พ.ศ. ๒๔๖๘-๒๔๘๒
๕. พระอาจารย์สอน พ.ศ. ๒๔๘๒-๒๔๘๕
๖. พระอาจารย์ชุ่ม พ.ศ. ๒๔๘๕-๒๔๘๖
๗. พระครูสุนทรวรญาณ (ทองสุข) พ.ศ. ๒๔๘๖-๒๕๐๕
๘. พระมหากรด ธมฺมธโร ปธ.๕ พ.ศ. ๒๕๐๗-๒๕๐๘
๙. พระย้อย พรหมสโร พ.ศ. ๒๕๐๘-๒๕๐๙
๑๐. พระครูสุทธาจารคุณ (เกตุ) พ.ศ. ๒๕๐๙-๒๕๑๔
๑๑. พระถาวร ฐานวโร พ.ศ. ๒๕๑๔-๒๕๑๕
๑๒. พระครูประยุติวรกิจ (สนิท โพธิ์ ปธ.๔)พ.ศ. ๒๕๑๕-๒๕๔๒
๑๓. พระอาจารย์ทรัพย์ กตปุญฺโญ พ.ศ. ๒๕๔๓-๒๕๔๔ (รักษาการเจ้าอาวาส)
๑๔. พระราชรัตนวิสุทธิ์ พ.ศ. ๒๕๔๔ (เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน)

อาคารเสนาสนะประกอบด้วย ๑. อาคารกุฏิที่ประดิษฐานองค์หลวงพ่อในกุฏิเก่า สร้างขึ้นในสมัยใดไม่ปรากฏ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคามุงด้วยกระเบื้อง มีประตูเข้าเพียงประตูเดียวอาคารกว้างประมาณ ๓.๐๐ เมตร ยาว ๔.๐๐ เมตร ปัจจุบันทางวัดได้พยายามบำรุงไว้เป็นสมบัติเก่าแก่ของวัดเพื่อเก็บไว้ศึกษาค้นคว้าต่อไป ๒. วิหาร สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระประธานภายในอุโบสถหลังเก่า เป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ เสาคอนกรีตเสริมเหล็ก ผนังก่ออิฐถือปูน กว้าง ๖.๐๐ เมตร ยาว ๑๘.๐๐ เมตรหลังคามุงด้วยกระเบื้องลูกฟูกลอนเล็กสีแดง พื้นเทคอนกรีต ยกอาสนะสงฆ์ไว้ด้วยไม้เนื้อแข็ง ๓. มณฑปที่ประดิษฐานองค์หลวงพ่อในกุฏิปัจจุบัน สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ แบบจัตุรมุข (สี่มุข) เป็นตึกทั้งหลัง หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบแดงคั่นสีเหลืองเขียว ช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ประดับกระจกสีเหลือง หน้าบรรทุกด้านปั้นลวดลาย และลงรักปิดทองและประดับกระจกอย่างสวยงาม ๔. วิหารรอบทิศอุโบสถ จำนวน ๔ หลัง แต่ละหลัง กว้าง ๔๐๐ ยาว ๗.๕๐ เมตร หลังคา ๒ ชั้น ๓ ลดมุงด้วยกระเบื้องสีทอง ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ประดับกระจกสีทองหน้าบันและคูหาปั้นลาย เสาและพื้นขัดหินอ่อนทั้งหมดสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๖ ๕. อุโบสถหลังใหม่ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๘ หลังคา ๓ ชั้น แบบ ๓ ลด มุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีทอง ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ และได้ทำการผูกพัทธสีมา เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๔ โดยพระสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ สมัยดำรงสมณะศักดิ์เป็นพระธรรมคุณาภรณ์ วัดสามพระยา กรุงเทพฯ ได้เมตตาเป็นพระประธานสวดพัทธสีมา ปัจจุบันช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ใหม่ทั้งหมด เพราะของเก่าแตกชำรุด ประดับกระจกสีทอง หน้าจั่วทั้งสองด้านปั้นลวดลายปิดทองคำล่องชาดประดับกระจก ปั้นลวดลายซุ้มประตูและหน้าต่างหมด พื้น และเสาหน้าหลัง บันไดและฐานบังรอบอุโบสถขัดหินอ่อน อาคารอุโบสถ กว้าง ๘๐๐ เมตร ยาว ๒๑.๐๐ เมตร ๖. หอระฆัง ๑ หลัง สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก รูปทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ขนาดกว้าง ๒.๕๐ เมตร สี่เหลี่ยมจตุรัส สูงประมาณ ๕.๕๐ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖ ๗. ศาลาฌาปนสถานและเตาเผาศพ ศาลาเป็นอาคารทรงไทย หลังคา ๒ ชั้น มุงด้วยกระเบื้องลูกฟูกลอนเล็กสีเขียว ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ประดับสีทอง หน้าบันด้านหน้าพร้อมทั้งคู่ปั้นลวดลาย อาคารเป็นศาลาโถง มีห้องเก็บของด้านหลัง ๒ ห้อง มีเตาเผาศพติดอยู่ที่มุขด้านหลัง ปล่องเตาเผาสูง ๒๓.๗๕ เมตร เวทีตั้งศพและบันไดขัดหินอ่อน พื้นเทคอนกรีต มีอาสนะสงฆ์เป็นไม้เนื้อแข็ง สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๗ อาคารกว้าง ๑๒.๐๐ เมตร ยาว ๒๘.๕๐ เมตร ๘. ศาลาการเปรียญ เป็นแบบทรงไทย อาคาร ๒ ชั้น เป็นตึกทั้งหลัง หลังคา ๒ ชั้น แบบตรีมุข(สามมุข) กว้าง ๑๒.๕๐ เมตร ยาว ๒๗.๕๐ เมตร หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีแดงแบบสุโขทัย ช่อฟ้า ใบระกาหางหงส์ ประดับกระจกสีทอง หน้าจั่วทั้ง ๓ ด้าน ปั้นลวดลายลงรักปิดทองคำประดับกระจก เพดานชั้นบนติดดาวลงรักปิดทองคำประดับประจก พื้นชั้นบนไม้แดงปนประดู่ส้ม พื้นชั้นล่างขัดหินอ่อน ชานรอบศาลาและบันไดขัดหินอ่อน กรองประตูและหน้าต่างทุกช่องมีลวดลายรอง สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๒ สิ้นเงิน ๒,๖๐๐,๐๐๐ บาทเศษ (ปัจจุบัน ชั้นบนใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของผู้ที่มารักษาศีลอุโบสถ ส่วนชั้นล่างเป็นศูนย์อบรมเด็กก่อนวัยเรียน) ๙. อาคารโรงครัวของวัด เพื่อใช้ในงานศพคู่ศาลาฌาปนสถาน หลังคามุงด้วยสังกะสี เสาคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง ๑๔.๐๐ เมตร ยาว ๒๕.๐๐ เมตร มีห้องเก็บของ ๒ ห้อง มีโต๊ะอาหารหินอ่อน ๒๐ ชุด พื้นเทคอนกรีต มีห้องน้ำห้องส้วม ๖ ห้อง สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ ๑๐. อาคารสำรองและอาคารที่พักแขกคอยจุดศพ รวม ๒ หลัง เทียบกับศาลาฌาปนสถานทั้งด้านซ้าย และด้านขวา อาคารที่พักแขก กว้าง ๖.๕๐ เมตร ยาว ๒๐.๐๐ เมตร ส่วนอาคารสำรองตั้งศพ นั้นกว้าง ๑๐.๐๐ เมตร มีห้องเก็บของ ๒ ห้อง พื้นเทคอนกรีต อาคารสำรองสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐ อาคารที่พักแขกสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๓ ๑๑. อาคารหอฉันแบบทรงไทยประยุกต์ ซึ่งเดิมเป็นฌาปนสถานและเตาเผาศพ ภายหลังได้ทำการทุบเตาเผาศพออก เปลี่ยนแปลงมาเป็นหอฉัน หลังคามุงด้วยกระเบื้องลอนคู่สีเขียว โดยยกอาคารคร่อมให้เชื่อมกับหอฉันเก่า ร่วมเป็นอาคารแฝดติดกันหมด ๓ หลัง พื้นไม้เนื้อแข็งและรอบบริเวณหอฉันติดลูกกรงไม้มะค่าโมง ได้ปรับปรุงเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๑ ๑๒. กุฏิเจ้าอาวาส เป็นอาคารทรงไทยคู่ อาคาร ๒ ชั้น ๓ ห้อง กว้าง ๑๑.๐๐ เมตร ยาว ๑๐.๕๐ เมตร เป็นตึกทั้งหลัง มุงด้วยกระเบื้องลูกฟูกลอนเล็กสีแดง พื้นไม้แดง บันไดขัดหินอ่อน ปรับปรุงเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑ ๑๓. ศาลาจัตุรมุข เป็นศาลาโถงทรงไทย เสาคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคามุงด้วยกระเบื้องลูกฟูกลอนเล็กสีเขียว ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ประดับทั้งสี่ด้าน และคูหาปั้นลวดลาย พื้นเทคอนกรีต สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๙ ซึ่งนายเที่ยง นางระเบียบ เปรมปรีดิ์ เป็นผู้สร้างถวาย(ปัจจุบันได้ตกแต่งเป็นสำนักงานเจ้าอาวาส) ๑๔. กุฏิสงฆ์ จำนวน ๑๑ หลัง สร้างแบบถาวร แต่ละหลังกว้าง ๖.๒๕ เมตร ยาว ๑๐.๕๐ เมตร อาคาร ๒ ชั้น ๆ ละ ๓ ห้อง ครึ่งตึกครึ่งไม้ ๙ หลัง เป็นตึกทั้งหลัง ๒ หลัง เป็นทรงไทย ๖ หลัง ทรงสากล ๕ หลัง หลังคามุงด้วยกระเบื้อง

หมวดหมู่
ศาสนสถาน
สถานที่ตั้ง
วัดกุยบุรี
เลขที่ 401 หมู่ที่/หมู่บ้าน 1 ถนน เพชรเกษม
ตำบล กุยบุรี อำเภอ กุยบุรี จังหวัด ประจวบคีรีขันธ์
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
วัดกุยบุรี
บุคคลอ้างอิง พระราชรัตนวิสุทธิ์
ชื่อที่ทำงาน วัดกุยบุรี
เลขที่ 401 หมู่ที่/หมู่บ้าน 1 ถนน เพชรเกษม
ตำบล กุยบุรี อำเภอ กุยบุรี จังหวัด ประจวบคีรีขันธ์ รหัสไปรษณีย์ 77150
โทรศัพท์ 032-681556
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่