แห เป็นอุปกรณ์จับปลาที่นิยมใช้ทั่วทุกภูมิภาค ขึ้นอยู่กับสภาพของสิ่งแวดล้อม แหล่งน้ำ ชนิด หรือขนาดพันธุ์ปลาที่ต้องการจะจับ ส่วนใหญ่นิยมประดิษฐ์แหด้วยตนเอง เนื่องจากแหที่ผลิตจากโรงงานไม่เหมาะกับสภาพพื้นที่ และความต้องการของผู้ประกอบอาชีพ แห มีหลายประเภท คือ
- แหด่อง เป็นแหที่ประดิษฐ์จากด้ายขนาดเล็ก (ด้าย สาม สี่) เพื่อให้มีเนื้อแหน้อย มีน้ำหนักเบา จมน้ำไว ขนาดของแหและความยาวไม่แน่นอน ใช้จับปลาในน้ำลึก เช่น ปลาช่อน ปลากราย เป็นต้น ใช้หลักการที่ว่าเมื่อทอดแหครอบปลาได้แล้ว ปลาจะว่ายน้ำหนี แต่เนื่องจากเส้นแหเล็กและเบา จึงทำให้แหพันตัวปลาอยู่ ผู้จับสามารถดำน้ำลงไปครอบทั้งปลาและแหขึ้นมาได้ทันที
- แหเพลา เป็นแหตาถี่ นิยมประดิษฐ์ให้มีความยาวมาก ราว 10 - 15 ศอก และที่ปลายสุดคือตีนแหจะทำเป็นถุงเรียกว่าเพลา ใช้หลักการที่ว่าเมื่อแหครอบปลาแล้ว ปลาจะว่ายน้ำหนีเข้าไปติดในถุงที่ตีนแห (เพลา) ใช้สำหรับจับปลาขนาดเล็ก เช่น ปลาสร้อย ปลากระดี่ ปลาหมอ แหชนิดนี้จะมีเชือกผูกติดที่จอมแห (จุดศูนย์กลางของแห) เมื่อทอดไปแล้ว ไม่ต้องลงน้ำไปจับปลา จะใช้วิธีดึงเชือกขึ้นมาแทน วิธีการทอดแหชนิดนี้หากผู้มีความชำนาญการเรียกปลารวมกลุ่มแล้ว ก็จะสามารถจับปลาได้ครั้งละมาก ๆ เช่น การโยนปุ่มก่อนทอดแห
- แหงม เป็นแหที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อจับปลาต่าง ๆ เมื่อทอดไปแล้วผู้ทอดแหจะต้องลงไปงมจับปลาที่ติดอยู่ในแหใต้น้ำ หลักการโดยทั่วไปแล้วผู้จับปลาจะต้องมีความชำนาญในการดูรอยปลาผุด แล้วจึงจะทอดแหไปยังที่หมายเอาไว้