จังหวัด เพชรบุรี มีชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่กระจัดกระจายในอำเภอแก่งกระจาน และ อำเภอหนองหญ้าปล้อง และมีหลากหลายกลุ่ม บางกลุ่มเรียกตัวเองว่ากะหร่าง หรือปาเกอญอ บางกลุ่มก็เรียกกะเหรี่ยง ซึ่งเราจะเห็นความแตกต่างได้จาก เช่น ภาษา การแต่งกาย และประเพณีที่สืบทอดกันมา
ที่ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี มี 2 หมู่บ้าน ซึ่งมีชาวกะหร่างอาศัยอยู่ โดยที่ หมู่ 1 บ้านบางกลอย เป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่ากะหร่าง อยู่เหนือสุดของตำบล เดิมตั้งอยู่ติดแม่น้ำบางกลอย ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของต้นน้ำเพชรบุรี ภาษากะหร่างเรียกว่า “คลิโอ” แปลเป็นไทยว่า “คลองบางกลอย” เนื่องจาก 2 ฝั่งคลองมีกลอยป่าอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวกะหร่างส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำไร่ ปลูกข้าว ละหุ่ง พริก และมะละกอ ต่อมาอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จึงให้ชุมชนบางกลอยอพยพลงมาอยู่ ณ ที่ตั้งปัจจุบัน ห่างจากพื้นที่เดิม ประมาณ 4 กิโลเมตร ส่วนหมู่ที่ 2 บ้านโป่งลึก เป็นกลุ่มชาวเขาเผ่ากะหร่างที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานก่อนชุมชนบางกลอย โดยอพยพมาจากเขตจังหวัดมะริด ประเทศสหภาพพม่า เดิมชาวกะหร่างเรียกบริเวณนี้ว่า “ไพรไพรโล” แปลว่า “คลองเพชรบุรี” ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่าที่มาหากินดินโป่งในอดีต จนมีบริเวณกว้าง จึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านโป่งลึก” มาจนถึงปัจจุบัน หรือ อีกนัยหนึ่ง ว่าเป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่ากะหร่างที่เข้ามาอาศัยอยู่ที่ลึกที่สุด (บริเวณต้นน้ำเพชรบุรี)ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ชาวกะหร่างที่นี่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และยังยึดถือศิลปวัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ โดยเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การนับถือผี วิญญาณบรรพบุรุษ และมีประเพณี การละเล่นพื้นบ้าน ที่โดดเด่น ได้แก่ ประเพณีไหว้พระจันทร์ ,ประเพณีกินไก่ การเล่นรำตะน่า การเล่นสะบ้า เป็นต้น
ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก รายงานเรื่องชุมชนบ้านโป่งลึก – บางกลอย นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี