ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 15° 2' 49.9999"
15.0472222
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 9' 42.0001"
100.1616667
เลขที่ : 140371
ประเพณีตำข้าวเม่า
เสนอโดย pimnipa วันที่ 21 มิถุนายน 2555
อนุมัติโดย ชัยนาท วันที่ 9 กรกฎาคม 2555
จังหวัด : ชัยนาท
2 5041
รายละเอียด

ประวัติความเป็นมา

ข้าวเม่าเป็นอาหารหวานอย่างหนึ่งของชาวไทยภาคกลางที่ประกอบอาชีพทำนา ชาวนารู้จักทำข้าวเม่ากันมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล โดยใช้เมล็ดข้าวเจ้าหรือข้าวเหนียวที่มีรวงแก่ใกล้จะเก็บเกี่ยวได้ นำมาคั่ว ตำ แล้วนำไปรับประทานได้เลย ถ้าทำสุกใหม่ ๆ ก็จะนิ่ม หรือบางคนก็จะนำไปคลุกเคล้าด้วยน้ำตาลทราย มะพร้าวและเกลือ รับประทานแทนขนมหวาน แต่ในปัจจุบัน การตำข้าวเม่ากำลังจะสูญหายไปจากชาวนาไทย เนื่องจากจังหวัดชัยนาทเป็นสังคมเกษตรกรรมโดยเฉพาะ การทำนาปลูกข้าวจึงได้ทำให้สภาพชีวิตของชุมชนมีความผูกพันอยู่กับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ การตำข้าวเม่าเป็นประเพณีหนึ่งซึ่งนอกจากจะนำความสนุกสนานรื่นเริงมาสู่ชาวบ้านแล้วยังทำให้ได้กินของอร่อย และสามารถตากแห้งเก็บไว้กินได้ตลอด ทั้งปี

ในสมัยก่อนการตำข้าวเม่ามักจะทำในเวลากลางคืน จะเป็นคืนเดือนมืดหรือคืนเดือนหงายก็ได้แล้วแต่สะดวก ในระหว่างคั่วข้าวเม่าบนเตาไฟจะมีประเพณีการเล่นของหนุ่มสาวโดยนำเอามะพร้าวทึนทึกขว้างไปที่เตาไฟทำให้ภาชนะที่ใช้คั่วข้าวเม่าแตกกระจายหรือบุบบู้บี้ จะทำให้บรรยากาศสนุกสนาน คนขว้างที่แอบอยู่ในมุมมืดจะวิ่งหนี ผู้ที่กำลังทำข้าวเม่าก็จะช่วยกันวิ่งไล่จับเอาตัวมาทำโทษ โดยเอาดินหม้อทาหน้า หลังจากนั้นก็จะช่วยกันตำข้าวเม่าโดยใช้ครกไม้ตำข้าวเปลือกและสากไม้มาช่วยกันตำให้เป็นข้าวเม่า

ในจังหวัดชัยนาทมีประเพณีตำข้าวเม่ามานานแล้ว และได้เลิกไปหลายปี ชาวบ้านบางน้ำพระ และบ้านวัดพระแก้ว หมู่ ๑๐ ตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี ได้ฟื้นฟูวัฒนธรรมการทำข้าวเม่าไว้ให้ลูกหลานรุ่นหลังได้สืบทอด และระลึกถึงวัฒนธรรมที่มีค่ามาแต่โบราณ โดยได้จัดกิจกรรมนี้มาตั้งแต่ปี ๒๕๓๙ จนถึงปัจจุบัน และถือว่าจะต้องปฏิบัติสืบต่อไปทุกปี โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ชาวนารุ่นใหม่ได้เรียนรู้และสืบทอดประเพณีการตำข้าวเม่า และเผยแพร่ออกไปให้กว้างขวาง เป็นการเสริมสร้างความสามัคคีของคนในท้องถิ่น และส่งเสริมให้อนุชนรุ่นหลังช่วยกันอนุรักษ์ประเพณีการตำข้าวเม่าสืบไป

พิธีกรรม

ชาวบ้านและคณะกรรมการจัดงาน จะมาพร้อมกันที่ลานตากข้าววัดพระแก้ว เวลาประมาณ

๑๗.๐๐ น. หลังจากนั้นจะมีการสาธิตการตำข้าวเม่า และมีกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อความสนุกสนานในงาน เช่น การขูดมะพร้าว การตำข้าวเม่า การกินข้าวเม่า งบประมาณที่ใช้ในการจัดงานได้รับบริจาคจากคณะกรรมการหมู่บ้าน ชาวบ้าน ครู-อาจารย์ หน่วยงานราชการต่าง ๆ

วิธีการทำข้าวเม่า

(การตำข้าวเม่า) เมื่อถึงระยะเวลาที่ข้าวออกรวง เมล็ดข้าวมีสีเหลืองอมเขียวหรือมีสีเหลือง

เกือบทั้งรวง ชาวนาก็จะเก็บเกี่ยวและมัดรวมเป็นกำ ๆ ประมาณ ๗-๘ กำมือ ใช้ผ้าขาวม้าห่อนำกลับบ้าน เมื่อมาถึงบ้านวางรวงข้าวบนกระด้งใบใหญ่ ใช้เท้าเหยียบย่ำลงบนรวงข้าวที่นำมากองรวมกัน (เรียกว่า "การนวดข้าว") จนกระทั่งเมล็ดข้าวหลุดร่วงออกมาจากรวงหมด หลังจากนั้นฝัดเอาเมล็ดข้าวที่ลีบออกให้หมด นะไปใส่กระบุง ใช้เกลือป่นโรยลงไปพอประมาณ ต่อไปก็ก่อไฟโดยใช้ฟืนแห้ง ๆ มีก้อนเส้าวางรอบ ๆ กองไฟ ๓ ก้อน เมื่อไฟติดดีแล้วตั้งหม้อดินหรือกระทะขนาดใหญ่บนก้อนเส้า ใช้ถ้วยแกงตักเมล็ดข้าวในกระบุง ๑-๒ ถ้วย ใส่ลงในหม้อดินหรือกระทะ ใช้ไม้ไผ่เหลาปลายแหลมยาวประมาณ ๑ ศอกเศษ ตรงปลายแหลมเสียบติดกับกาบมะพร้าวที่มีเปลือกติดอยู่ ตัดสั้นขนาด ๑ ฝ่ามือตามขวาง ใช้สำหรับคนเพื่อให้เมล็ดข้าวในหม้อดินหรือกระทะถูกความร้อนได้ทั่วถึงกัน จนกระทั่วได้ยินเสียงข้าวในหม้อดินหรือกระทะแตก แล้ให้รีบยกลง เทข้าวลงในครกแล้วช่วยกันตำ สังเกตเมล็ดข้าวจะมีลักษณะลีบแบนทั่วทั้งหมด แล้วนำมาใส่ในกระด้งแล้วฝัดแยกส่วนที่เป็นผงหรือป่นมาก ๆ ออก แล้วนำไปเก็บในภาชนะ

ระยะเวลาและสถานที่จัดกิจกรรม เดือนธันวาคมของทุกปี (วันจัดกิจกรรมชุมชนจะกำหนดเอง)

สถานที่จัด ณ วัดพระแก้ว หมู่ที่ 10 ตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท

ลักษณะโดดเด่น/ ความสำคัญ

ประเพณีการตำข้าวเม่า ในจังหวัดชัยนาทไม่มีที่ใดทำจะมีแต่บ้านบางน้ำพระ หมู่ที่ ๑๐ ตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี ประเพณีการตำขาวเม่านี้แสดงให้เห็นถึงความสมัครสมาน สามัคคีของชุมชนที่ได้ร่วมกันตำข้าวเม่าจนเสร็จขั้นตอน เพราะเริ่มตั้งแต่การเก็บเกี่ยวข้าวมาตำข้าวเม่า การนำข้าวมาฟาดให้เมล็ดหลุดจากรวง การคั่วข้าวเม่า การตำ การฝัดข้าว ในแต่ละขั้นตอนจะสำเร็จได้ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกันงานจึงจะสำเร็จ และที่สำคัญชาวบ้านในชุมชนได้มีโอกาสพบปะสนทนากัน หากเป็นสมัยก่อนจะเป็นที่นัดพบกันของหนุ่มสาวได้มีโอกาสเกี้ยวพาราสีกัน แต่ในปัจจุบันเด็ก ๆ จะได้มีโอกาสเรียนรู้วิถีชีวิตของคนรุ่นก่อน และได้เรียนรู้ถึงกรรมวิธีการตำข้าวเม่าด้วย

การนำไปใช้ประโยชน์

เป็นแหล่งเรียนรู้ทางภูมิปัญญา วัฒนธรรมของท้องถิ่น เยาวชน และชุมชน ได้เรียนรู้ถึงวิธีการตำข้าวเม่า และสามารถตำข้าวเม่าเป็น

สภาพปัจจุบัน

ปัจจุบันชาวชุมชนบางน้ำพระ และบ้านวัดพระแก้ว หมู่ที่ ๑๐ ตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จังหวัด จะจัดประเพณีการตำข้าวเม่า ประมาณเดือนธันวาคม ของทุกปี และจะตำข้าวเม่าในตอนค่ำเนื่องจากสภาพอากาศเย็น เวลาตำข้าวเม่าต้องมีขั้นตอนการคั่ว และตำ จะได้ไม่ร้อน และหาข้าวตำข้าวเม่าได้ง่ายเพราะข้าวจะเริ่มเป็นข้าวเม่าในช่วงระหว่างเดือนนี้ ปัจจุบันในการจัดงานจะมีการกลองยาว หรือกลองยาวประยุกต์ เข้าร่วมบรรเลงในงานด้วย เพื่อเพิ่มความสนุกสนานในงาน

ในการจัดประเพณีการตำข้าวเม่านั้น เดิมชาวบ้านจะช่วยกันบริจาคสมทบทุนในการตำข้าวเม่า และขอบริจาคจากหน่วยงานราชการต่าง ๆ และจัดกันเองภายในชุมชน ปัจจุบันมีหน่วยงานราชการเข้ามาสนับสนุนให้การจัดงานยิ่งใหญ่ขึ้น เพื่อเผยแพร่ภูมิปัญญาของท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น เช่นสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด เทศบาลตำบลสรรคบุรี เป็นต้น

ระยะเวลาในการดำเนินการ เดือนธันวาคมของทุกปี (วันจัดกิจกรรมชุมชนจะกำหนดเอง)

สถานที่ตั้ง
วัดพระแก้ว
หมู่ที่/หมู่บ้าน บ้านวัดพระแก้ว หมู่ที่ 10
ตำบล แพรกศรีราชา อำเภอ สรรคบุรี จังหวัด ชัยนาท
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
บุคคลอ้างอิง นายอดุลย์ ศรีมาตร
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดชัยนาท อีเมล์ cntculture@gmail.com
ถนน พรหมประเสริฐ
ตำบล แพรกศรีราชา อำเภอ สรรคบุรี จังหวัด ชัยนาท รหัสไปรษณีย์ 17000
โทรศัพท์ 056416575 โทรสาร 056416576
เว็บไซต์ http://province.m-culture.go.th/chainat/
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่