รายการสุขนาฏกรรม ของ กรมศิลปากร
วันทนีย์ ม่วงบุญ จัดทำคำบรรยาย
1. บรรเลงเพลงโหมโรงมหาฤกษ์
เพลงโหมโรงมหาฤกษ์ 3 ชั้นนี้ นายมนตรี ตราโมท ได้แต่งขึ้นจากเพลงมหาฤกษ์ 2 ชั้น ในเรื่องทำขวัญ เมื่อ พ.ศ.2476 เป็นเพลง 2 ท่อน มีความหมายถึงเวลาอันเป็นสวัสดิ์มงคลอย่างประเสริฐ
ที่ควรเริ่มกิจการน้อยใหญ่ทั้งปวงสำหรับในวันนี้ได้นำเพลงขยะแขยง ซึ่งเป็นเพลงของครูจันทร์ ครูปี่พาทย์ ของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงมาออกเป็นเพลงต่อท้าย
2. รำถวายพระพรสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ
เนื่องในมหามิ่งมงคลวโรกาส เฉลิมพระชนมพรรษา 75 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เวียนมาบรรจบครบอีกวาระหนึ่ง ในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2550 ในนามพสกนิกรชาวไทยทั่วสารทิศ ขอน้อมเกล้า น้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยมงคล ให้พระองค์ทรง พระเกษมสำราญ พระชนม์ยิ่งยืนนาน พระเดชแผ่ไพศาล เจิดตระการด้วยจตุรพิธพรชัย ทรงเป็นมิ่งขวัญ ปวงชนชาวไทยนิรันดร์กาล ด้วยการรำถวายพระพร ตามบทขับร้องของนายเสรี หวังในธรรม
ศิลปินแห่งชาติ บทรำถวายพระพรสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสรี หวังในธรรม ประพันธ์บทและบรรจุเพลงร้อง
3. ละครชาตรีเรื่องมโนห์รา ตอนพระสุธนตามนางมโนห์รา
ละครชาตรี คือละครรำแบบหนึ่งของไทย ตามโบราณนั้นได้กำหนดให้ผู้ชายแสดง และนิยมแสดง เรื่องมโนห์รา โดยยึดหลักการแสดงแบบละครนอก แต่ก็ยังคงให้มีเพลงร้องทำนองชาตรี และมีรำซัดชาตรี ไหว้ครูเบิกโรง ก่อนเริ่มแสดงละครตามประเพณี บทละครเรื่องมโนห์รา ที่นำมาใช้แสดงละครชาตรีนี้ มีฉบับตกทอดสืบมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา คราวที่กรมศิลปากรจัดแสดงละครเรื่องนี้ ณ โรงละครศิลปากร เมื่อ พ.ศ.2498 จึงได้ปรับปรุงบทขึ้นใหม่ โดยมอบหมายให้ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านแต่งบทดังนี้ นายมนตรี ตราโมท แต่งตอนพรานบุณจับนางมโนห์รา และพระสุธนพบนางมโนห์ราที่นครไกรลาส ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี แต่งตอน พระสุธนลานางมโนห์ราไปรบข้าศึก พันเอกหลวงรณสิทธิพิชัย แต่งตอนบูชายัญ นายธนิต อยู่โพธิ์ แต่งตอนพระสุธนเดินป่า สำหรับการแสดงครั้งนี้ ได้จัดตอน พระสุธนตามนางมโนห์รา อันมีเนื้อหาโดยสังเขป ดังนี้ มโนห์รา เป็นนางกินรีและเป็นธิดาองค์สุดท้อง ในจำนวนธิดาทั้ง 7 องค์ ของท้าวทุมราชกับ นางจันทกินรีแห่งนครไกรลาส ทุก ๆ วันเพ็ญ บรรดานางกินรี ทั้ง 7 จะพากันบินมาลงเล่นน้ำ ในสระโบกขรณีเป็นประจำ จนเป็นที่รู้ของพรานบุณ และหาวิธีที่จะจับนาง จนครั้งหนึ่งเมื่อพรานบุณ ได้ช่วยชีวิตท้าวชมพูจิตพญานาคไว้ ท้าวชมพูจิตได้มอบบ่วงนาคบาศให้เป็นเครื่องตอบแทน พรานบุณจึงใช้นาคบาศนั้นจับนางกินรีได้สำเร็จ ซึ่งก็ได้เพียงนางมโนห์รา พรานบุณจึงนำมโนห์รา ไปถวายพระสุธน พระยุพราชแห่งเมืองปัญจาล
4. จินตลีลาประกอบเพลงสมเด็จพระมิ่งแม่และเพลงนาถมาตา
เป็นการแสดงที่ใช้ลีลา ท่าทางให้ผสมกลมกลืนไปตาม คำร้อง และทำนอง จังหวะของเพลง “สมเด็จพระมิ่งแม่” และเพลง “นาถมาตา” อันมีความหมายบ่งบอกถึงความสำคัญของผู้เป็นแม่เพื่อให้ บรรดาลูก ๆ ได้ระลึกถึงพระคุณของแม่ เนื่องในวันแม่ที่จะมาถึงในวันที่ 12 สิงหาคม 2550 ซึ่งประพันธ์คำร้อง และทำนองเพลงโดย นายเสรี หวังในธรรม ศิลปินแห่งชาติ เรียบเรียงเสียงประสานโดย นายพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์
5. โขน เรื่องรามเกียรติ์ ตอนพระแม่เจ้าเกาสุริยา
นางเกาสุริยา เป็นพระมเหสีองค์หนึ่งในจำนวน 3 องค์ของท้าวทศรถ อันได้แก่ นางเกาสุริยา นางไกยเกษี และนางสมุทรชา นางเกาสุริยาได้ให้กำเนิดพระราม เป็นพระโอรสองค์แรก ต่อมานางไกยเกษี
ได้ให้กำเนิดพระพรต และนางสมุทรชาได้ให้กำเนิดพระลักษมณ์และพระสัตรุด นางเกาสุริยาทรงเป็น พระมารดาที่รักและเอาใจใส่ดูแล ตลอดจนปลูกฝังพระนิสัยที่ดีงามให้แก่พระราม จะเห็นได้จากเหตุการณ์ เมื่อครั้งท้าวทศรถทรงต่อสู้กับอสูรปทูตทันต์ และถูกปทูตทันต์แผลงศรจนเพลารถทรงที่ท้าวทศรถกับ นางไกยเกษีประทับมาหักลง นางไกยเกษีเห็นเหตุการณ์เช่นนั้นก็ทรงยื่นแขนสอดแทนเพลารถ พร้อมกับตั้งสัตยาธิษฐานให้นางสามารถช่วยท้าวทศรถปราบปทูตทันต์ได้ ในที่สุดก็สำเร็จ ท้าวทศรถจึงพระราชทานให้นางไกยเกษีขอสิ่งใดก็ได้ตามปรารถนา ซึ่งต่อมานางก็ได้ทูลขอให้พระพรตพระโอรส ครองราชย์สมบัติแทนพระราม ท้าวทศรถจำต้องให้พระรามรับสัตย์ว่าจะเสด็จออกผนวชอยู่ในป่า เป็นเวลา 14 ปี พระรามมิได้ทรงทราบเรื่องแต่ก่อน ก็ทรงคิดว่าท้าวทศรถบิดาทรงโกรธเคือง จึงนำความมาทูลให้นางเกาสุริยามารดาทรงทราบ นางเกาสุริยาทั้งรักและสงสารพระราม แต่มิรู้ที่จะแก้ไขประการใด นางจึงบอกเหตุบอกผลแก่พระโอรส ทั้งยังเห็นดีเห็นงามให้พระโอรสทรงทำในสิ่งที่ถูกที่ควร โดยพระนางจะทรงเป็นพระกำลังใจให้
6. ละครพันทาง เรื่องราชาธิราช ตอนอภิเษกสมิงพระราม
การแสดงชุดนี้ เป็นตอนหนึ่งในวรรณคดี เรื่องราชาธิราช ที่แสดงให้เห็นถึงความรักอันต่าง ฐานันดรศักดิ์ ต่างเชื้อชาติของตัวละคร เช่น สมิงพระราม ทหารเอกแห่งเมืองหงสาวดี กับพระราชธิดาแห่ง
เมืองอังวะ แต่ทั้งคู่กลับต้องมาพบ มาอยู่ด้วยกัน ทั้งนี้เนื่องจากการศึกสงครามระหว่างมอญกับพม่าเป็นเหตุ จึงทำให้สมิงพระรามต้องมาเป็นเชลยและติดคุกทุกข์ทนทรมานอยู่ในเมืองอังวะ ครั้นสบโอกาส
เมื่อครั้งพระเจ้าอังวะทรงให้หาผู้อาสาต่อสู้กับกามนีทหารเอกแห่งจีนที่ยกมาหมายจะตีอังวะ สมิงพระราม คิดจะตัดศึกจีนมิให้ล่วงเลยไปถึงหงสาวดี จึงขอรับอาสาต่อสู้ ในที่สุดก็ได้ชัยชนะ พระเจ้าอังวะจึงประทานพระราชธิดาให้อภิเษกด้วย แม้ว่าทั้งคู่จะไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้จักกัน แต่ด้วยบุพเพสันนิวาสทำให้ทั้งสอง มีจิตพิศวาส และเกิดสนิทเสน่หาต่อกันได้อย่างมั่นคง
จัดแสดงที่โรงละครแห่งชาติภาคตะวันตก จังหวัดสุพรรณบุรี ในวันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม 2550