บ้านสันติสุข
เดิมทีก่อนที่จะมาเป็นบ้านสันติสุขนั้น ในปี พ.ศ.2500 ได้มีนายจงจอ แซ่ม้า และญาติพี่น้อง จำนวน 15 ครัวเรือน ได้อพยพย้ายมาจากบ้านสบบง ตำบลสบบง อำเภอเชียงคำ จังหวัดเชียงราย และมากับเผ่าเย้าที่บ้านปง ทางดอยผาจิ ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดเชียงราย ต่อมาในปี พ.ศ. 2503 นายเยี้ยโก๊ะ แซ่ม้า ย้ายมาจากอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย จำนวน 5 หลังคาเรือน มาอยู่ด้วยกันรวมเป็น 20 หลังคาเรือน สมัยนั้นชาวบ้านได้เรียกบ้านสันติสุขว่า “บ้านปงอาง” มีนายเยี่ยโก๊ะ แซ่ม้า เป็นผู้ใหญ่บ้านบ้านปงอาง และยังมีส่วนหนึ่งย้ายมาจากบ้านสบบงตามมาอยู่ด้วย
ต่อมาในปี พ.ศ. 2510 ได้มีขบวนการทางการเมือง พ.ค.ท. เข้ามาเคลื่อนไหวปลุกระดมลัทธิคอมมิวนิสต์ในพื้นที่บริเวณบ้านปงอาง ทางเจ้าหน้าที่จังหวัดน่านทราบข่าวจึงส่งกำลังทหารเข้ามาปราบปรามทันที ทำให้ชาวบ้านปงอางอยู่ไม่ได้เนื่องจากภัยสงครามจึงได้หนีเข้าไปอาศัยอยู่ในป่า
ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2511 ชาวบ้านปงอาง ดอยผาจิทั้งหมดจึงได้พร้อมใจกัน
เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พ.ค.ท.) จับอาวุธขึ้นมาต่อสู้ฝ่ายรัฐบาล ในช่วง 14 ปี
ที่ชาวบ้านปงอาง ดอยผาจิอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เพื่อความสะดวกในการควบคุมและดูแลพรรคให้สิทธิเท่าเทียมกันแก่ประชาชน กับผู้ที่ปฏิบัติงานหรือหัวหน้า พรรคได้จัดแบ่งเป็น 3 หมู่บ้าน ดังนี้ บ้านธงแดง บ้านต่อสู้ และบ้านเอกราช เป็นเขตปกครองดูแลให้หัวหน้าหมู่บ้านมีคณะกรรมการช่วยกันดูแลด้วย
ในแต่ละฝ่ายมีดังนี้
1. กรรมการฝ่ายปกครอง
2. กรรมการฝ่ายป้องกัน หัวหน้าทหารบ้าน
3. กรรมการฝ่ายเศรษฐกิจ และสหกรณ์
4. กรรมการฝ่ายอนามัย
5. กรรมการฝ่ายสตรีและเยาวชน
ได้ช่วยกันลาดตระเวนรอบเขตปกครองไม่ให้ฝ่ายตรงข้าม (ฝ่ายรัฐบาล) เข้ามาในเขต และในแต่ละหมู่บ้านยังจัดให้มีผู้ปฏิบัติงานมาให้ความรู้แก่ชาวบ้าน ให้รู้จักและสามัคคีกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกันมีเสรีภาพเท่าเทียมกัน เหมือนพี่เหมือนน้อง อยู่ครอบครัวเดียวกัน ยึดระเบียบวินัย เป็นที่เคารพของผู้ใหญ่และเด็ก
ต่อมาประชาชนบ้านผาจิหรือดอยผาจิได้ร่วมกับประชาชนผาช้างน้อยหรือบ้านฉลองกรุง
อีก 3 หมู่บ้าน คือบ้านรวมใจ บ้านยืนหยัด บ้านลูกไฟ ประชาชนทั้งหมด 6 หมู่บ้าน ได้จัดตั้งเป็นสภาตำบลขึ้นมาเป็นเขตงาน ที่ 7 เรียกว่าเขต 7 เป็นสำนัก ดังนี้
1. สำนัก 5 อ. คือ ถ้ำพบาลหรือก่ำหมอ
2. ถ้ำสื่อสารเพื่อติดต่อภายในเมือง
3. สำนัก 46 เป็นที่เก็บอาวุธปืน
4. สำนัก 44 เป็นที่กองบัญชาการทหาร
5. ยังสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อออกวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
ในปี พ.ศ.2516 ได้มีนิสิตนักศึกษาจากสถาบัน แห่งหนึ่ง นับพันๆ คนขึ้นมาอยู่ร่วมกันโดยอยู่อย่างเป็นพี่ เป็นน้องกันจนถึงปี 2525 รัฐบาลได้ประกาศนโยบาย 66/23 แผนยุทธการโฆษณาออกทางการเมืองนำการทหารมาโฆษณาให้ประชาชน เขตที่ 7 จึงพร้อมใจกันเข้ามอบตัวกับทางรัฐบาลที่ศูนย์กรุงเทพฯ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน เป็นระยะเวลา 8 เดือน เพื่อพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไปตามโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงของกองทัพภาค ที่ 3
ที่มาของหมู่บ้านสันติสุขนั้นในปี พ.ศ. 2526 ทางกองทัพภาคที่ 3 ก็ได้เริ่มดำเนินการตามโครงการพัฒนาพื้นที่ดอยผาจิและลำน้ำสาวแห่งนี้ เริ่มสร้างถนนจากบ้านผาตั้งเข้ามาถึงลำน้ำสาวและออกไปยังบ้านสบขุ่นและอีกสายหนึ่งจากบ้านสันผีเสื้อเหนือมาสุดที่ลำน้ำสาว และพัฒนาพื้นที่ลำน้ำสาวให้ชาวบ้านเข้ามาอยู่อาศัย ในปี พ.ศ.2527 ชาวบ้านเข้ามาตั้งเป็นหมู่บ้านตามพื้นที่จัดสรรในบริเวณลำน้ำสาวตามโครงการพัฒนาความมั่นคง
ต่อมาในปี พ.ศ. 2528 บ้านปงอางก็ตั้งเป็นหมู่บ้านขึ้นโดยใช้ชื่อหมู่บ้านว่า หมู่บ้านสันติสุข หมู่ที่ 7 ตำบลควร อำเภอปง จังหวัดพะเยา หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2537 หลังจากที่ตำบลควรได้แยกเขตการปกครองออกเป็น 2 ตำบล บ้านสันติสุขได้อยู่ในเขตการปกรองของตำบลขุนควร หมู่ที่ 7 อำเภอปง จังหวัดพะเยา จนถึงปัจจุบัน
อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือติดกับบ้านขุนกำลัง หมู่ที่ 4 ตำบลขุนควร
ทิศใต้ติดกับบ้านปี้ บ้านหลวง จังหวัดน่าน
ทิศตะวันออกติดกับสบขุ่น จังหวัดน่าน
ทิศตะวันตกติดกับบ้านขุนกำลัง หมู่ที่ 4 ตำบลขุนควร
แหล่งท่องเที่ยว
ดอยผาจิมีระยะทางห่างจากที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลขุนควร ประมาณ 32 กิโลเมตร เป็นภูเขาที่มีความสูงชัน เมื่อขึ้นไปถึงยอดดอยจะเห็นทิวทัศน์ที่สวยงาม สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของจังหวัดน่านได้อย่างชัดเจน ช่วงฤดูหนาวยามเช้าจะเห็นทะเลหมอก เมื่ออยู่บนยอดดอยตอนสายจะเห็นพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้าได้อย่างสวยงาม ในปีพ.ศ.2511-2525 ดอยผาจิเคยเป็นที่ตั้งของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย มีสถานที่หลายแห่งทางประวัติศาสตร์ เหมาะสำหรับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวศึกษาแหล่งประวัติศาสตร์
น้ำตกรัชดามีระยะทางห่างจากที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลขุนควร ประมาณ
28 กิโลเมตร ในบริเวณน้ำตกมีป่าไม้ที่อุดุมสมบูรณ์ มีน้ำไหลตลอดทั้งปี
อาชีพ
ในด้านการประกอบอาชีพชาวบ้านจะประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่
ศาสนา
ชาวบ้านนับถือผี และศาสนาคริสต์เป็นส่วนใหญ่
การศึกษา
ในด้านการศึกษาในระดับก่อนวัยเรียนเข้าเรียนที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านสันติสุข ในระดับประถมศึกษาเด็กนักเรียนส่วนใหญ่ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนบ้านสันติสุข ในระดับมัธยมศึกษาเข้าเรียนที่โรงเรียนขุนควรวิทยาคมและสถานศึกษาที่ใกล้เคียงเป็นบางส่วน สำหรับการศึกษาขั้นอุดมศึกษา ก็จะกระจายไปตามสถานศึกษาทั้งต่างจังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียงตามกำลังความสามารถของเด็กและผู้ปกครอง