นาคสะดุ้ง ประติมากรรมตามบันไดทางขึ้นโบสถ์ของวัดไทย. นาค หรือพญานาค
นาคหรือพญานาค(อังกฤษ:Nāga,สันสกฤต: नाग) เป็นความเชื่อในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเรียกชื่อต่าง ๆ กัน แต่มีลักษณะร่วมกัน คือ เป็นงูขนาดใหญ่มีหงอน เป็นสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ ความอุดมสมบูรณ์ ความมีวาสนา อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของบันไดสู่จักรวาลอีกด้วย
ต้นกำเนิดความเชื่อเรื่องพญานาคน่าจะมาจากอินเดียด้วยมีปกรณัมหลายเรื่องเล่าถึงพญานาค โดยเฉพาะในมหากาพย์มหาภารตะนาคถือเป็นปรปักษ์ของครุฑส่วนในตำนานพุทธประวัติก็เล่าถึงพญานาคไว้หลายครั้งด้วยกัน
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีตำนานเรื่องพญานาคอย่างแพร่หลาย ชาวบ้านในภูมิภาคนี้มักเชื่อกันว่าพญานาคอาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงหรือเมืองบาดาล และเชื่อกันว่าเคยมีคนเคยพบรอยพญานาคขึ้นมาในวันออกพรรษาโดยจะมีลักษณะคล้ายรอยของงูขนาดใหญ่
ลักษณะของพญานาคตามความเชื่อในแต่ละภูมิภาคจะแตกต่างกันไป แต่พื้นฐานคือพญานาคนั้นมีลักษณะตัวเป็นงูตัวใหญ่มีหงอนสีทองและตาสีแดงเกล็ดเหมือนปลามีหลายสีแตกต่างกันไปตามบารมี บ้างก็มีสีเขียวบ้างก็มีสีดำหรือบ้างก็มี 7 สี เหมือนสีของรุ้งและที่สำคัญคือนาคตระกูลธรรมดาจะมีเศียรเดียว แต่ตระกูลที่สูงขึ้นไปนั้นจะมีสามเศียร ห้าเศียร เจ็ดเศียรและเก้าเศียร นาคจำพวกนี้จะสืบเชื้อสายมาจากพญาเศษนาคราช(อนันตนาคราช) ผู้เป็นบัลลังก์ของพระวิษณุนารายณ์ปรมนาท ณเกษียรสมุทรอนันตนาคราชนั้นเล่ากันว่ามีกายใหญ่โตมหึมามีความยาวไม่สิ้นสุด มีพันศีรษะ พญานาคนั้นมีทั้งเกิดในนำและบนบก เกิดจากครรภ์และจากไข่ มีอิทฤทธิ์สามารถบันดาลให้เกิดคุณและโทษได้ นาคนั้นมักจะแปลงร่างเป็นมนุษย์รูปร่างสวยงาม
ในประติมากรรมไทย
ในประติมากรรมไทย มักจะเห็นสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับนาคได้เสมอ ในงานจิตรกรรมประติมากรรมและหัตถกรรมนาคเป็นส่วนประกอบที่สำคัญทางสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะตามอาคารวัดต่างๆ หลังคาอาคารที่สร้างขึ้นสำหรับสถาบันพระมหากษัตริย์ และสถานบันศาสนสถาน ตามคตินิยมที่ว่า นาคยิ่งใหญ่คู่ควรกับสถาบันอันสูงส่ง เช่นนาคสะดุ้งที่ทอดลำตัวยาวตามบันไดนาคลำยองซึ่งเป็นป้านลมหลังคาโบสถ์ ที่ต่อเชื่อมกับนาคสะดุ้ง นาคเบือน นาคจำลอง และนาคทันต์คันทวยรูปพญานาค
อีกทั้งยังเป็นโขนเรือ (หัวเรือ) ในขบวนเรือกระบวนพยุหยาตราชลมารคในพระราชพิธีอีกด้วย อันได้แก่เรือพระที่นั่งอนันตนาคราชและเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์เมื่อ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้ธรรมพิเศษแล้ว ได้เสด็จไปตามเมืองต่างๆ เพื่อแสดงธรรมเทศนา มีครั้งหนึ่งได้เสด็จออกจากร่มไม้อธุปปาลนิโครธไปยังร่มไม้จิกชื่อ "มุจลินท์" ทรงนั่งเสวยวิมุตติสุข อยู่ 7 วัน คราวเดียวกันนั้นมีฝนตกพรำๆ ประกอบไปด้วยลมหนาวตลอด 7 วัน ได้มีพญานาคชื่อมุจลินทร์เข้ามาวงด้วยขด 7 รอบพร้อมกับแผ่พังพานปกพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อจะป้องกันฝนตกและลมมิให้ถูกพระวรกาย หลังจากฝนหายแล้ว คลายขนดออก แปลงเพศเป็นชายหนุ่มยืนเฝ้าที่เบื้องพระพักตร์ ด้วยความศรัทธาอย่างแรงกล้าพญานาคกับตำนานในพระพุทธศาสนา
ความเชื่อดังกล่าวทำให้เป็นที่มาของการสร้างพระพุทธรูปปางนาคปรกแต่มักจะสร้างแบบพระนั่งบนตัวพญานาค ซึ่งดูเหมือนว่าเอาพญานาคเป็นบัลลังก์ เพื่อให้เกิดความสง่างาม และทำให้คิดว่า พญานาค คือผู้คุ้มครองพระศาสดา
พญานาค เป็นสะพาน (สายรุ้ง) ที่เชื่อมโลกมนุษย์กับสวรรค์ หรืออีกชื่อหนึ่งก็คือ โลกศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อที่ว่า พญานาค กับ รุ้ง เป็นอันเดียวกัน ก็คือสะพานเชื่อมโลกมนุษย์กับสวรรค์นั่นเอง
นาคสะดุ้ง ซึ่งเป็นประติมากรรมที่ราวบันไดโบสถ์นั้นได้สร้างขึ้นตามความเชื่อถือ "บันไดนาค" ก็ด้วยความเชื่อดังกล่าว แม้ตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากดาวดึงส์ ก็โดยบันไดแก้วมณีสีรุ้ง ที่เทวดาเนรมิตขึ้นและมีพญานาคจำนวน 2 ตน เอาหลังหนุนบันไดไว้
ตุงในวัฒนธรรมของล้านนาและพม่าก็เชื่อกันว่าคลี่คลายมาจากพญานาค และหมายถึงบันไดสู่สวรรค์
ความเชื่อของชาวฮินดู ก็ถือว่า นาคเป็นสะพานเชื่อมภาวะปกติ กับที่สถิตของเทพ ทางเดินสู่วิษณุโลก เช่น ปราสาทนครวัดจึงทำเป็น พญานาคราช ที่ทอดยาวรับมนุษย์ตัวเล็ก ๆ สู่โลกแห่งความศักดิ์สิทธิ์ หรือบั้งไฟของชาวอีสานที่ทำกันในงานประเพณีเดือนหก ก็ยังทำเป็นลวดลาย และเป็นรูปพญานาค พญานาคนั้นจะถูกส่งไปบอกแถนบนฟ้าให้ปล่อยฝนลงมา
ในสมัยพระพุทธเจ้า มีพญานาคตนหนึ่งนั่งฟังธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าแล้วได้เกิดศรัทธา จึงได้แปลงกายเป็นมนุษย์ขอบวชเป็นพระภิกษุ แต่อยู่มาวันหนึ่งเข้านอนในตอนกลางวัน หลังจากหลับแล้วมนต์ได้เสื่อมกลายเป็นงูใหญ่ จนพระภิกษุรูปอื่นไปเห็นเข้า ต่อมาพระพุทธเจ้าทรงทราบจึงให้พระภิกษุนาคนั้นสึกออกไป เพราะเป็นสัตว์เดรัจฉาน นาคตนนั้นผิดหวังมาก จึงขอถวายคำว่า นาค ไว้ใช้เรียกผู้ที่เข้ามาขอบวชในพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นอนุสรณ์ในความศรัทธาของตน
ต่อจากนั้นมาพระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติไม่ให้สัตว์เดรัจฉาน ไม่ว่าจะเป็นนาคครุฑหรือสัตว์อื่นๆ บวชอีกเป็นอันขาด และก่อนที่อุปัชฌาย์จะอุปสมบทให้แก่ผู้ขอบวชจะต้องถามอันตรายิกธรรมหรือข้อขัดข้องที่จะทำให้ผู้นั้นบวชเป็นพระภิกษุไม่ได้ รวม 8 ข้อเสียก่อน ในจำนวน 8 ข้อนั้น มีข้อหนึ่งถามว่า "ท่านเป็นมนุษย์หรือเปล่า" และจึงเรียกการบวชนี้ว่า "บวชนาค"ตามความเชื่อของคนอีสานเกี่ยวกับพยานาค ผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงเชื่อว่าแม่น้ำโขงเกิดจากการแถตัวของพญานาค 2 ตน จึงเกิดเป็นแม่น้ำโขงและแม่น้ำน่านนอกจากนี้ยังรวมถึงบั้งไฟพญานาคโดยมีตำนานว่าในวันออกพรรษาหรือเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์พญานาคแห่งแม่น้ำโขงต่างชื่นชมยินดี จึงเฮ็ด (จุด)บั้งไฟถวายการเสด็จกลับของพระพุทธเจ้าจนกลายเป็นประเพณีทุกปี
สนใจประติมากรรมพญานาค ชมได้ที่วัดธาตุฝุ่น บ้านคำเจริญ หมู่ที่ 6 ตำบลค้อใต้ อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร