“ซอ” คือเครื่องดนตรีพื้นเมืองอีสานกลุ่มเครื่องสายประเภทเครื่องสี จัดได้ว่าเป็นหนึ่งในเครื่องดนตรีหลักอย่างหนึ่งของวงหมอลำอีสาน นอกจากแคนและพิณ แต่หากเทียบด้านความนิยมแล้ว “ซอ” จะนับว่าได้รับความนิยมน้อยกว่าเครื่องดนตรีอีสานประเภทอื่น โดยบางครั้งอาจจะมีซอหรือไม่มีก็ได้ในการแสดงหมอลำ
คนไทยอีสานใช้ซอเพื่อความบันเทิงมานานแล้ว แต่ไม่มีบันทึกไว้ว่าเริ่มเล่นกันตั้งแต่เมื่อใด วัสดุที่ใช้ทำซอมักเป็นวัสดุที่หาได้ง่าย เช่น ตัวเต้าจะใช้กระบอกไม้ไผ่ กะลามะพร้าว หรืออาจเป็นแก่นไม้เนื้อแข็งที่นำมาเจาะให้เป็นโพรงที่เหมาะแก่การกำเนิดเสียง ส่วนหนังที่ใช้หุ้มเต้าซอ จะใช้ หนังกบ หนังงู หรือหนังวัว สำหรับสายคันชักจะทำจากขนหางม้าหรือ เชือกไนลอนเส้นเล็ก แต่ปัจจุบันมีการดัดแปลงใช้สายกีต้าร์มาทำ
ซอพื้นบ้านอีสานจะมีสายซออยู่ 2 เส้น สายเสียงต่ำและสายเสียงสูง เรียกว่า สายทุ้มและสายเอก ตามลำดับ ซึ่งในการเล่นวง จะมีการปรับให้สายทุ้มของซอมีเสียงตรงกับสายทุ้มของ “พิณ” และสายเอกของซอก็จะมีเสียงตรงกับสายเอกของ “พิณ” เช่นกัน
วิธีการสีซอจะใช้นิ้วทั้งสี่ของมือซ้าย คือ นิ้วชี้ นิ้วนาง นิ้วกลาง และนิ้วก้อย กดลงบนสายซอเพื่อเปลี่ยนระดับเสียงของสายทุ้มและสายเอก แล้วใช้อีกมือหนึ่งดึงคันชักให้เกิดทำนอง
ซออีสานในภาพอยู่ในความครอบครองของ นายสมชัย ขยันการ คณะหมอลำหนึ่งอีสาน