“ปลาร้า” คือภูมิปัญญาด้านการถนอมอาหารด้วยการหมัก ซึ่งพบในทุกภาคของประเทศไทย มีกรรมวิธีที่ใกล้เคียงกันคือหมักปลาด้วยเกลือ แต่จะมีชื่อเรียกแตกต่างกัน ภาคเหนือจะเรียกว่า “ปลาฮ้า” ภาคใต้เรียก “ร่า” ภาคกลางเรียก “ปลาร้า” ส่วนภาคอีสานเรียก “ปลาแดก”
ปลาร้า หรือ ปลาแดก ในภาคอีสาน ถือว่าเป็นอาหารหลักประจำบ้าน ในอดีตเกือบทุกครัวเรือนจะทำปลาร้าไว้รับประทานเอง ในช่วงหน้าฝน น้ำเต็มแม่น้ำลำคลอง ปลาจากแม่น้ำโขงหรือแม่น้ำสาขาต่าง ๆ จะมีมาก ชาวอีสานจะจับปลามารับประทานส่วนหนึ่ง และนำอีกส่วนหนึ่งมาทำปลาร้า เพื่อเก็บไว้กินในช่วงหน้าแล้ง โดยอาจจะรับประทานปลาร้าโดยตรง หรือนำมาปรุงรสกับอาหารประเภทอื่น เช่น ก้อย ลาบ แกงหน่อไม้ ส้มตำ เป็นต้น
ส่วนประกอบในการทำปลาร้าที่สำคัญ คือ (1) ปลา เช่น ปลาขาว ปลาหมอ ปลาจิเลิด ปลากระดี่ หรือปลาอื่น ๆ ในท้องถิ่น (2) เกลือ (3) ข้าวคั่ว เมื่อได้ปลาที่จะทำปลาร้ามาแล้ว จะนำมาล้างน้ำเปล่า ถ้าปลาตัวไม่ใหญ่ก็ไม่ต้องเอาไส้ออก แต่ถ้าตัวใหญ่ให้ควักเอาไส้ออกให้สะอาด โดยล้างน้ำเกลือรอบหนึ่งเพื่อลดความคาว จากนั้นให้นำมาหมักเกลือ ซึ่งปลาที่ได้ควรหมักเกลือทันทีไม่อย่างนั้นจะเน่า หมักทิ้งไว้ 2 คืน คลุมด้วยผ้าขาวบางให้มิดชิด เพื่อกันแมลงวันมาวางไข่
พอคร 2 คืน ก็ให้นำใส่ภาชนะ เช่น โอ่งหรือไห ในขั้นตอนนี้จะใส่ข้าวคั่วลงไปคลุกให้เข้ากัน ซึ่งจะช่วยให้ปลาร้ามีสีแดงและมีกลิ่นหอม จากนั้นก็เติมน้ำ 1 ใน 4 ของปริมาณภาชนะ ปิดฝา เก็บไว้ประมาณ 8 เดือน ถึง 1 ปี แต่ถ้าเป็นกรณีที่ทำปลาร้าสำหรับทำส้มตำ ให้เก็บไว้แค่ 6 เดือนก็ได้ และไม่ต้องใส่ข้าวคั่ว
ปัจจุบันการทำปลาร้าเพื่อเป็นอาหารประจำครัวเรือน เริ่มมีรูปแบบเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในเมือง ที่หลายบ้านเริ่มไปซื้อปลาร้ามาจากตลาด การถ่ายทอดจึงมีเฉพาะครอบครัวที่ทำเป็นอาชีพ และสำหรับผู้ที่สนใจจะทำเป็นอาชีพเท่านั้น ส่วนวัฒนธรรมการรับประทานปลาร้านั้นยังไม่เปลี่ยนแปลงแต่ประการใด “ปลาร้า” ก็ยังคงเป็นอาหารหลักในรายการอาหารของคนท้องถิ่นอีสานเหมือนในอดีตที่ผ่านมา