ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 17° 9' 8.4267"
17.152340759854123
ลองจิจูด (แวง) : E 104° 8' 10.6462"
104.1362906051819
เลขที่ : 170248
กลองเส็งจังหวัดสกลนคร
เสนอโดย สถาป วงศ์สีดา คนญ้อแท้ๆๆ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2555
อนุมัติโดย สกลนคร วันที่ 1 พฤษภาคม 2564
จังหวัด : สกลนคร
0 590
รายละเอียด

กลองกิ่ง-กลองเส็งคือกลองที่แข่งขันประชันกัน ชาว อีสานเรียกว่า เส็ง ที่เรียกว่ากลองกิ่งนั้นเรียกตามเสียงดังกิ่งๆ ทั้ง ๒ ชื่อ เป็นชื่อของกลองอันเดียวกับกลองชนิดนี้มี ๑ คู่ ด้านท้ายเรียวลงไป ด้านหน้าใหญ่ วัดเส้นผ่าศูนย์กลางหน้าได้ประมาณ ๗๐ – ๘๐ ซม. ทางท้ายเรียวนั้นวัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ประมาณ ๓๐ ซม. มีลักษณะเหมือนถ้วยแก้วกาแฟ นิยมใช้ แข่งประชันประเภทกีฬาเป็นครั้งเป็นคราว สมัยก่อนมีงานบุญบั้งไฟ นิยมตีออกนำหน้าขบวนบั้งไฟภายในวัด พวกนักกีฬาได้ยินเสียงก็รู้สึกใจขึ้นทันทีมันต้องชกต่อยกันหัวล้านคางแตก พอเสร็จจากพิธีกรรมบั้งไฟ แล้วจะหามกลองไปตีแข่งประชันสนุกสนานนานร่าเริง เจ้าภาพให้คะแนนกรรมการการตัดสิน แพ้ ชนะ ให้รางวัลเป็นสินน้ำใจ ขณะนี้จะมีอยู่ตามหมู่บ้านและตำบลเท่านั้น

การเส็งกลอง

คำว่า“เส็ง”แปลว่าการแข่งขัน การเส็งกลองคือการแข่งขันหรือประกวดตีกลองนั่นเอง กีฬาเส็งกลองในปัจจุบันจัดขึ้นในเทศกาลงานบุญไม่มากนัก หากไม่สนับสนุนฟื้นฟูขึ้นมาแล้ว กีฬากลองเส็งก็อาจหมดไปเช่นเดียวกับกีฬาพื้นบ้านหลายสิบชนิดที่มีเขียนไว้ในหนังสือเก่า

โดยข้อเท็จจริงการเส็งกลองช่วยสร้างความสามัคคีในหมู่ชาวบ้านเป็นอย่างดี เพราะต้องมีการฝึกซ้อมและเข้าแข่งคณะหรือทีละหลายคน ในด้านสุขภาพร่างกาย ผู้ตีกลองเส็งต้องมีกำลังแขน ข้อมือและความทรหดอดทนเป็นเลิศจึงสามารถเอาชนะคูต่อสู้ในแต่ละรอบได้ นอกจากนี้การเส็งกลองยังช่วยให้มีน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ และมีเพื่อนฝูงต่างหมู่บ้านอีกด้วย

สนามเส็งกลอง มักจะจัดในบริเวณที่กว้างขวาง เช่น ลานวัดหรือสนามกีฬา ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ชมการแข่งขันได้สนุกสนานและเชียร์ฝ่ายที่ตนสนับสนุน ผู้จัดการแข่งขันจะทำไม้ขาหยั่งสามขา ที่เรียกว่า“ขาดุ่ง”ตั้งไว้สำหรับกลองเส็ง ๒ คู่ ที่ทำการแข่งขัน ความสูงของขาหยั่งนี้สูงพ้นศีรษะพอที่จะให้ยืนตีกลองได้ถนัดมือ

การแต่งกายของผู้เส็งในสมัยโบราณแต่งตัวรัดกุม นุ่งผ้าเตี่ยวเหน็บชายผ้า ปล่อยให้เห็นลายสักที่ขาเป็นรูปสัตว์หรือลวดลายพฤกษา ไม่สวมเสื้อเพื่ออวดกล้ามเนื้อที่แผ่นอกและลำแขน บางคนโพกผ้ายันต์หรือผ้าขาวม้า แต่ในปัจจุบันผู้เส็งกลองเพียงแต่งตัวให้รัดกุมเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เข้าเส็งกลองมักจะเป็นผู้ที่ได้ฝึกซ้อมมาเป็นอย่างดี มีกำลังแขนและกำลังข้อมือเพราะการสปริงข้อมือเป็นสิ่งสำคัญ

ไม้ตีกลองเส็ง

ใช้ไม้เหนียวไม่แตกง่ายหักง่าย ไม้ที่มีคุณภาพเช่นนี้ เช่น ไม้มะขาม ไม้เหมือดแอ่ ไม้เค็ง ไม้เหล่านี้นามาเหลาให้กลมขนาดปลายนิ้วก้อย ยาวประมาณ ๑ ศอก ทุกคณะต้องเตรียมไม้สำรองไว้หลายคู่ ปลายที่ใช้มือจับต้องพับผ้าให้แน่นเพื่อมิให้เจ็บมือ หรือหลุดมือในขณะตีกลอง ส่วนไม้ตีกลองกระแตบหรือกลองแต้นั้นนิยมหุ้มตะกั่วที่ปลายไม้เพื่อให้เกิดเสียงหวีดหวิวเล็กแหลม แต่ก็อาจเป็นอันตรายแก่ผู้ยืนชมรอบๆ ได้ถ้าไม้หัก

การเข้าน้ำกลอง

ก่อนที่จะนำกลองเส็งของตนเข้าแข่งขัน เจ้าของจะต้องนำกลอง ทั้ง ๒ ลูก ไปเข้าน้ำก่อน การเข้าน้ำ หรือการให้น้ำ คือการนำกลองมาวางที่รางไม้ไผ่ ๒-๓ ลำ เพื่อให้เกิดความสะดวกเมื่อกลิ้งกลอง

การเข้าน้ำกลองโดยทั่วๆ ไป คือการทำให้หนังหน้ากลองนุ่ม มีความยืดหยุ่นไม่ขาดง่ายและในขณะเดียวกันเมื่อหนังเริ่มแห้งหนังจะรัดตัวหน้ากลองจะตึงเสียงกลองจะดังแหลมสูงขึ้นอีก

อย่างไรก็ตาม การเข้าน้ำกลองก็มีเทคนิคมากมายไม่แพ้การทำตัวกลอง เช่น ถ้าเข้าน้ำมากเกินไปหนังกลองจะนุ่มเสียงกลองก็จะทุ้ม แต่ถ้าเข้าน้ำน้อยเสียงกลองก็จะแข็ง หนังกลองอาจฉีกขาดได้ เมื่อตีแรงๆ ในกลุ่มชาวข่าโซ่ ซึ่งนิยมกีฬากลองเส็งในเขตการแห่งานบุญตามเทศกาลทางศาสนา หรือ การตีเพื่อประกอบจังหวะฟ้อนต่างๆ เช่น ฟ้อนภูไทยสกลนคร ดังนั้นจังหวะกลองจึงช้าสง่างาม สอดคล้องกับการฟ้อนร่ายรำ และผู้ฟ้อนรำก็ยังสามารถนับจังหวะกลองได้ขณะที่นักดนตรีตีจังหวะพื้นฐานนั้น อาจตีจังหวะสอดแทรกได้หลายแบบทำให้เกิดเสียงกลองเป็นจังหวะย่อยๆ ขึ้น พร้อมกันนั้นก็อาจแสดงท่าทางที่เรียกว่า “ลายกลอง” ประกอบไปด้วย เช่น

๑.เสือลากหางผู้ตีกลองจะส่งแขนทั้งสองไปด้านหลังขณะที่เอี้ยวตัวพร้อมกับตีไปที่หน้ากลองพร้อมกัน

๒.ไม้ลอดขาในขณะที่ตีกลองอาจพลิกแพลงยกแข้งยกขาข้างหนึ่งขึ้นและส่งไม้ตีกระทบกันในจังหวะว่าง

๓.ไก่เลียบครกผู้แสดงจะหมุนตัวรอบกลองแต่ในขณะเดียวกันก็ต้องตีให้ถูกหน้ากลองลูกใดลูกหนึ่ง นับว่าเป็นท่าแสดงยากที่ต้องใช้ความชำนาญ

๔.กาเต้นก้อนเป็นท่าเลียนแบบการกระโดดจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ผู้แสดงลายกลองจะแยกกลองสองลูกออกจากกันขณะที่ข้ามกลองลูกหนึ่งในท่ากระโดดมือก็จะต้องตีกลองทั้งสองลูกพร้อมกัน

๕.กวางเหลียวเหล่าผู้แสดงจะยื่นไม้ลักษณะไขว้กันไปข้างหน้า พร้อมกับหันหน้าไปตามทิศทางของไม่ในท่ากวางระวังภัยเมื่อย่างออกจากป่าละเมาะที่อาศัย

๖.นกเขากระพือปีกผู้เล่นลายกลองจะย่อตัวในท่านั่งตีกลองในจังหวะแทรกให้มีเสียงดังแตกต่างจากตีหน้ากลอง

๗.เคาะหลังงูสิงผู้แสดงลายกลองจะใช้ไม้เคาะที่ตัวกลองในจังหวะแทรกให้มีเสียงดังแตกต่างจากตีหน้ากลอง

๘.ลิงไขว้หลังในท่านี้ผู้ตีกลองจะส่งไม้ไปข้างหลังตีกระทบกันให้มีเสียงดังในจังหวะที่ต่อจากจังหวะพื้นที่ลงหน้ากลอง

ลายกลองของชาวโส้ อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร ในปัจจุบันได้มีศิลปินชาวโส้ประดิษฐ์ท่าทางหรือลายกลองในขณะที่ตีกลองและแบ่งลายกลองออกเป็น 2 ชนิด คือ

ลายใหญ่ หรือ ลายหลัก มี 4 ลาย คือ ลายเสือลากหาง ไม้ลอดขา ไก่เลียบครก กาเต้นก้อน

ลายย่อย หรือ ลายสลับ มี 4 ลาย ได้แก่ กวางเหลียวเหล่า นกกระพือปีก เคาะหลังงูสิง ลิงไขว้หลัง

การเล่นลายกลอง“ไม่มีหลักเกณฑ์ว่าผู้ตีกลองจะเริ่มจากลายใดก่อน”และจะต้องแสดงด้วยลายใด“ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสวยงาม”การเล่นลายกลองนี้ผู้เล่นอาจแสดงลายกลองพร้อมกัน 2 คนก็ได้ แต่ อาจต้องละเว้นลางลาย เช่น ไก่เลียบครก กาเต้นก้อน เพราะการเล่น 2 คนไม่อาจหลีกเลี่ยงการชนได้ในขณะที่แสดง การแสดงของชาวโส้มิใช่แสดงโดยทั่วๆ ไป แต่จะมีเฉพาะในงานที่ชาวโส้จัดขึ้น เช่น งานเทศกาลโส้รำลึก ที่มีชาวโส้และหมอเหยามาร่วมชุมนุมจำนวนมากที่บริเวณหน้าอำเภอกุสุมาลย์ ประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ก่อนที่นักฟ้อนชาวโส้จะฟ้อนท่าต่างๆ เมื่อดนตรีบรรเลงขึ้นนักแสดงลายกลองก็จะแสดงลวดลายตีกลองให้ประชาชนในงานได้ชมความสามารถและลีลา

การแต่งกายของผู้แสดงลายกลอง แต่เดิมนุ่งผ้าเตี่ยวปล่อยชายเป็นหาง ที่เรียกว่านุ่งผ้าแบบเสือลากหาง ไม่สวมเสื้อแต่ในปัจจุบันแต่งกายแบบพื้นบ้านทั่วๆ ไป เมื่อดนตรีบรรเลงทำนองชาวโส้แล้ว ผู้แสดงลายกลองก็จะก้มกราบรำลึกครูบาอาจารย์แล้วถือไม้ที่ตีกลองกิ่ง 2 ลูก ตีหน้ากลองพร้อมกันเป็นสัญญาณเริ่มแสดงลายกลองตามแบบฉบับของตน

ประเพณี “เส็งกลอง” เป็นหนึ่งในหลากหลายประเพณีที่ชาวอีสานในบางท้องถิ่นยังคงปฏิบัติ ยึดมั่นเป็นเกมกีฬาสร้างความบันเทิง และความสามัคคีให้เกิดกับสังคมตัวเอง เช่นเดียวกับประเพณีแข่งเรือ การแข่งขันชักว่าว การแข่งขันวิ่งควาย ฯลฯ

คำว่า “เส็ง” เป็นภาษาท้องถิ่นของชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความหมายว่า ประลอง หรือ แข่งขัน ประเพณี “เส็งกลอง” มักจะนิยมเล่นหลังจากเก็บพืชแล้วในแต่ละปี ส่วนมากจะประมาณตั้งแต่ เดือนสามถึงเดือนหก โดยจัดให้มีการเส็งในงานบุญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบุญเดือนสาม ตรุษสงกรานต์ จนกระทั่งบุญบั้งไปไฟหรือบุญเดือนหก

กลองที่ใช้เส็งส่วนมากทำด้วยไม้ประดู่ หน้ากลองที่ห่อหุ้มด้วยหนังควายที่มีความเหนียวเฉลี่ยอายูควายประมาณ 10 ปีขึ้นไป ขนาดของกลองสูงประมาณ 40-50 เซนติเมตรไม้สำหรับตีนั้นค่อนข้างจะทำกันอย่างพิถีพิถัน ส่วนใหญ่จะทำจากไม้มะขาม หรือเชือก เพราะมีความเหนียวและคงทนใช้ผ้าพันรอบถักเป็นลวดลายด้วยเชือกรอบอีกชั้นหนึ่งเพื่อป้องกันการตีแล้วไม้หักจะได้ไม่ต้องกระเด็นไปถูกคนดูให้เกิดอันตรายและป้องกันไม่ให้เกิดเจ็บมือ ปลายของไม้จะหุ้มด้วยการหลอมตะกั่วให้เป็นก้อนกลมๆ ขนาดเท่าไข่ไก่ ความยาวและขนาดของไม้ส่วนมากจะทำให้เหมาะมือของผู้ใช้เอง

ตามความเชื่อก่อนที่จะนำขบวนเส็งกลองไปเส็ง ณ ที่ใดก็ตาม หัวหน้าพร้อมลูกทีมจะต้องยกครู บูชาครู นิยมใช้ธูป 5 คู่ เทียน 5 คู่ และดอกไม้ 5 คู่ คนไนท้องถิ่นเรียกว่า “ขันห้า” จากนั้นก็จะยกขบวนเซ่นไหว้ปู่บ้านเมื่อก่อนการคมนาคมไม่สะดวกก็มักเดินด้วยเท้ามีขบวนกลองยาว พิณ แคน แห่แหนไปอย่างสนุกสนาน แต่ทุกวันนี้บางท้องถิ่นใช้รถอีแต๋นซึ่งมีทุกหมู่บ้าน

การเส็งกลองจะมีการแข่งขันกันเป็นคู่ๆ จะเอาทีมที่ชนะในแต่ละคู่ไว้เพื่อแข่งขันในรอบต่อไป การวัดว่าทีมใดเสียงดังที่สุดก็โดยการใช้ชามอ่างขนาดใหญ่ใส่น้ำจนปริ่มแล้วใส่ขันน้ำขนาดใบเล็กๆ ใส่น้ำพอประมาณ เมื่อเริ่มเส็งจะวางขันน้ำไว้ตรงกลางระหว่างทีมเข้าแข่งขัน ด้วยแรงสียงดังจะทำให้เกิดการสั่นสะเทือนขันน้ำในชามอ่างจะลอยไปตามแรงกระเพื่อมของน้ำ ถ้าขันน้ำใบนั้นลอยไปชิดของอ่างด้านใด ถือว่าทีมนั้นแพ้ แต่ทุกวันนี้หลายท้องที่นิยมใช้เครื่องวัดความดังของเสียงมาวัดเพื่อเพิ่มความเที่ยงตรงมากขึ้น กลองที่ใช้ในการเส็งมี 2 ขนาด คือ ขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ ปัจจุบันนิยมใช้ขนาดใหญ่ในการตีแข่งขันกัน การแข่งขันแต่ละชุดจะมี 2 คู่ (4 ใบ) กลองเส็งทำจากท่อนไม้ขนาดใหญ่ โดยเจาะให้กลวงมี 2 หน้า ด้านหน้าของกลองทั้งสองด้านหุ้มด้วยหนังวัว ด้านที่ตั้งพื้นพื้นจะเล็กกว่าด้านที่ใช้ตีถึงสองเท่า กลองเส็งจะเสียงดังฟังไพเราะขึ้นอยู่กับการเจาะและการขึงหน้ากลองให้เหมาะพอดี ปัจจุบันเนื่องจากต้นไม้ขนาดใหญ่ที่พอเหมาะในการทำกลองเส็งเริ่มหมดไป การทำกลองเส็งขึ้นมาใหม่จะไม่มี เพียงแต่รักษากลองนี้ไว้ให้เป็นมรดกสืบทอดต่อกันมา

การทำกลองกิ่งหรือกลองเส็ง มักกระทำกันที่วัดประจำหมูบ้าน หรือบ้านของผู้ใหญ่บ้าน ในหมู่บ้านหนึ่งจะมีผู้ชำนาญทางการทำกลองกริ่ง ผู้ชำนาญหรือช่างนี้ มักจะได้เป็นหัวหน้าทีม สำหรับนำทีมไปแข่งขันในอำเภอหรือหมูบ้านที่จัดให้มีงานบุญบั้งไฟ การเตรียมงานผู้เตรียมพร้อมกับการ “ตอก” บ้องไฟ คือ ก่อนแข่งอย่างช้า 25 วัน บางหมู่บ้านที่มีกลองเก่าอยู่แล้วก็จะทำกันเพียงการเปลี่ยนหนังหน้ากลองบ้างเท่านั้น การคัดเลือกคนตี ก็ต้องหาคนแข็งแรงหรือข้อแข็งๆ จึงสามารถตีกลองกริ่งให้มีเสียงดังมากที่สุดได้และต้องมีการซ้อมด้วย เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น บางหมู่บ้านที่ทำกลองเสร็จก็มีการทำพิธีทางไสยศาสตร์ เพื่อเพิ่มใจให้แก่คณะมือกลองของตน

จากข้อมูลเบื้องต้น ผู้เก็บข้อมูล(นายสถาป วงศ์สีดา)นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ มีความเห็นว่ากลองเส็งที่เป็นกลองกำเนิดมาแต่โบราณ มูลเหตุจากความเชื่อในเรื่องของสิ่งที่เหนือธรรมชาติ การบวงสรวงเพื่อให้สิ่งที่เหนือธรรมชาติพอใจก็อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการละเล่นที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน กลองชนิดนี้ตีเพื่อไล่สิ่งที่ชั่วร้าย และน่าจะเป็นกลวิธีอย่างหนึ่งในการสร้างขวัญกำลังใจให้กับชาวบ้านเอง และเป็นเครื่องมือที่สมัยก่อนเรียกว่าเสียงดังพอที่จะเป็นสัญญาณ บอกกล่าวหรือเตือนให้ชาวบ้านที่ค่อนข้างห่างกันและเป็นป่าเขา การเรียกขานกันธรรมดาอาจไม่ได้ยินทั่วถึง จึงใช้เสียงกลองในการสื่อหรือส่งสัญญาณถึงกัน ชื่อที่เรียกกลองชนิดนี้ก็คงจะเรียกตามเสียงของมันที่เวลาเกิดเสียงว่า จิ่งๆ เมื่อประเพณีที่รื่นเริงกลองก็น่าจะเป็นเครื่องดนตรีที่ชาวบ้านนิยมเล่นเช่นกัน อุปกรณ์ที่ทำกลองก็น่าจะใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีในท้องถิ่นของตัวเอง

สถานที่ตั้ง
ตำบล ธาตุเชิงชุม อำเภอ เมืองสกลนคร จังหวัด สกลนคร
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัีดสกลนคร
บุคคลอ้างอิง นายสถาป วงศ์สีดา อีเมล์ sathap_w@hotmail.com
ชื่อที่ทำงาน สนง.วัฒนธรรมจังหวัดสกลนคร
จังหวัด สกลนคร รหัสไปรษณีย์ 47000
โทรศัพท์ 042716247 โทรสาร 042716214
เว็บไซต์ https://www.m-culture.go.th/sakonnakhon/main.php?filename=index
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
สกลนคร 28 พฤศจิกายน 2555 เวลา 07:06
ดีมาก ข้อมูลเจ๋ง ผอ.ยุทธฯ
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่