ชื่อสถานที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์สถานที่ตั้ง เลขที่ ๒๑๔ หมู่ที่ ๑๓ ถนนสุรินทร์ - ช่องจอม ตำบลเฉนียง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ประวัติความเป็นมา ตำนานที่เกี่ยวข้อง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗ จากความคิดริเริ่มของ นายสุธี โอบอ้อม ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ขณะนั้น โดยการชักชวนข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ให้นำศิลปวัตถุและโบราณวัตถุมาบริจาค ซึ่งได้จัดแสดงไว้ที่ศาลากลางจังหวัดสุรินทร์
ต่อมาภายหลังจึงได้ย้ายไปเก็บรักษาและจัดแสดงชั่วคราว ณ อาคารสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุรินทร์ เมื่อพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ ได้รับมอบโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากประชาชน และจากการดำเนินงานทางโบราณคดี ทำให้สถานที่จัดแสดงซึ่งอาศัยใช้พื้นที่ปีกด้านล่างของอาคารสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุรินทร์คับแคบ ไม่เหมาะสมต่อการให้บริการ ประกอบกับในปี พ.ศ.๒๕๓๕ กรมศิลปากรมีนโยบายที่จะปรับปรุงและจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำเมืองให้ครอบคลุมทั่วประเทศ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ จึงเป็นพิพิธภัณฑสถานอันดับต้นๆ ที่ได้รับการพิจารณาจัดตั้งขึ้นภายใต้นโยบายดังกล่าว
กรมศิลปากรได้ดำเนินการขอใช้ที่ดินราชพัสดุจากกรมธนารักษ์ บริเวณ กม.ที่ ๔ ริมถนนสุรินทร์ – ช่องจอม เพื่อใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ แห่งใหม่ และได้เริ่มดำเนินการปรับปรุงสถานที่พร้อมทั้งก่อสร้างอาคารตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๙ เป็นต้นมา
อาคารจัดแสดงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ เป็นอาคารที่ได้รับการออกแบบขึ้นใหม่ รูปทรงทันสมัย โดยประยุกต์มาจาก “ปราสาท” สถาปัตยกรรมในศิลปะเขมร มีลักษณะเป็นกลุ่มอาคารที่เชื่อมต่อถึงกัน แบ่งออกเป็น ๔ ส่วน คือ
ส่วนที่ ๑ เป็นโถงทางเข้าและทางเดิน
ส่วนที่ ๒ เป็นส่วนบริการการศึกษาและสำนักงาน
ส่วนที่ ๓ เป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวร
ส่วนที่ ๔ เป็นคลังพิพิธภัณฑ์
เมื่อก้าวเข้าสู่ตัวอาคาร ผู้มาเยี่ยมชมจะพบกับโถงทางเข้าขนาดใหญ่ มีระเบียงยาวยื่นออกไปทั้งสองข้าง มีผนังระเบียงด้านเดียวเจาะช่องหน้าต่าง ประดับด้วยลูกกรง ลักษณะคล้ายโคปุระและระเบียงคดของปราสาทเขมร ระเบียงด้านซ้ายเป็นทางเดินเข้าสู่ส่วนบริการการศึกษาและสำนักงาน ซึ่งประกอบด้วยห้องนิทรรศการชั่วคราว ห้องกิจกรรมสำหรับเด็ก ห้องรับรอง นอกจากนี้ยังมีห้องบรรยายขนาดค่อนข้างใหญ่ สามารถรองรับผู้เข้าชมหรือเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ได้ประมาณ ๑๐๐ คน ติดต่อกับห้องบรรยายนี้มีบันไดทางขึ้นไปสู่ส่วนสำนักงานและห้องสมุด ส่วนระเบียงด้านขวาเป็นทางออกจากห้องจัดแสดงนิทรรศการถาวร พื้นที่ส่วนหน้าระหว่างห้องโถงทางเข้าและอาคารจัดแสดงมีทางเดินเชื่อมต่อถึงกัน เป็นทางเดินที่นำผู้ชมเข้าสู่ห้องนิทรรศการห้องแรก ซึ่งจัดแสดงด้านธรรมชาติวิทยามีเนื้อหาเกี่ยวกับลักษณะทางกายภาพทั่วๆ ไปของจังหวัดสุรินทร์ ประกอบด้วยสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ลักษณะทางธรณีวิทยา ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ เช่น แร่ธาตุ ดิน น้ำ ป่าไม้ สัตว์ป่า เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีส่วนจัดแสดงเรื่องข้าว เนื่องจากพื้นที่ของจังหวัดสุรินทร์เป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพดีแห่งหนึ่ง ระหว่างห้องนิทรรศการห้องแรกกับห้องที่สอง มีการสร้างโบราณสถานจำลองคั่นเพื่อสร้างบรรยากาศนำเข้าสู่เนื้อหาการจัดแสดงหัวข้อถัดไป ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์โบราณคดีของจังหวัดสุรินทร์ มีเนื้อหาเกี่ยวกับพัฒนาการทางอารยธรรมของผู้คนตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งได้พบหลักฐานตั้งแต่ในยุคเหล็กเมื่อประมาณ ๒,๐๐๐ - ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว สมัยวัฒนธรรมทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๖) สมัยวัฒนธรรมเขมร (พุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๘) จนถึงสมัยอยุธยาราวพุทธ
ในการจัดแสดง มีการจำลองสภาพชีวิตและพิธีกรรมการฝังศพสมัยก่อนประวัติศาสตร์ จุดเด่นอยู่ที่การจำลองหลุมฝังศพแบบประเพณีการฝังศพครั้งที่สองที่พบในกลุ่มวัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้ รวมทั้งโบราณวัตถุสมัยวัฒนธรรมทวารวดี และวัฒนธรรมเขมรที่พบในจังหวัดสุรินทร์
ประตูทางเดินเข้าสู่ส่วนจัดแสดงห้องจัดแสดงศิลปะเขมร จำลองมาจากปราสาทศีขรภูมิ ซึ่งทำได้ค่อนข้างประณีตสวยงาม นอกจากนี้ยังมีหุ่นจำลองโบราณสถานปราสาทศีขรภูมิและปราสาทตาเมือนธม วีดิทัศน์เรื่องสุรินทร์ถิ่นอารยธรรมขอม ช่วยให้ผู้ชมได้เรียนรู้และเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะของจังหวัดสุรินทร์ได้ดียิ่งขึ้น
ถัดไปเป็นห้อง ประวัติศาสตร์เมืองสุรินทร์ เนื้อหาในส่วนนี้นำเสนอเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของจังหวัดสุรินทร์ โดยเริ่มจากกลุ่มชาวกูยซึ่งได้ช่วยจับช้างเผือกที่แตกโรงหนีมา ส่งกลับคืนสู่กรุงศรีอยุธยา ทำให้ได้รับพระราชทานความดีความชอบตั้งชุมชนชาวกูยเหล่านี้ขึ้นเป็นบ้านเมือง จนถึงระยะเวลาที่มีการปฏิรูปการปกครองมาเป็นระบบเทศาภิบาลและระบอบประชาธิปไตยตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ สังคม ประชากร และการศึกษา
ในการจัดแสดง มีฉากไดโอรามาจำลองภาพเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์เมืองสุรินทร์ เช่น การจับช้างเผือก การเดินรถไฟมาถึงจังหวัดสุรินทร์ สภาพตลาดการค้าในยุคแรกๆ สภาพการเรียนการสอนในอดีต ฯลฯ ไว้ให้ศึกษา จุดเด่นที่สุดในส่วนนี้น่าจะได้แก่หุ่นจำลองสำริดรูปพระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง (เชียงปุม) เจ้าเมืองสุรินทร์คนแรก
ต่อจากส่วนนี้ไปเป็นห้องจัดแสดง ชาติพันธุ์วิทยา ซึ่งอยู่ชั้นสองของอาคาร มีเนื้อหากล่าวถึงประชากรในจังหวัดสุรินทร์ อันประกอบด้วยชนพื้นเมือง ๓ กลุ่มใหญ่ คือชาวไทยกูย กลุ่มชนที่มีความสามารถในการจับและฝึกช้าง ชาวไทยเขมร กลุ่มชนดั้งเดิมที่ปรากฏหลักฐานการอยู่อาศัยในจังหวัดสุรินทร์มาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๓ เป็นอย่างช้า และชาวไทยลาว ที่อพยพเข้ามาระยะหลัง เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒
ในการจัดแสดง ได้จำลองวิถีชีวิตของคนกลุ่มต่างๆ ให้เห็นถึงสภาพบ้านเรือน พิธีกรรมของกลุ่มชนพื้นเมือง ได้แก่ หุ่นจำลองการประกอบพิธีแกลมอ ซึ่งเป็นพิธีกรรมการรักษาโรคตามความเชื่อของชาวไทยกูย พิธีแซนการ์หรือพิธีแต่งงานของชาวไทยเขมร รวมทั้งภาพถ่ายและภาพวาดเกี่ยวกับขนบประเพณีและสภาพความเป็นอยู่ของชาวไทยลาว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อถึงสภาพวิถีชีวิต ลักษณะเด่นทางวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มชนที่ผสมผสานประกอบกันขึ้นเป็นคนสุรินทร์ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดทำฐานข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องบรรจุอยู่ใน computer Touch Screen ไว้ให้ศึกษาค้นคว้าได้โดยละเอียด
ส่วนสุดท้ายของนิทรรศการ เป็นเรื่องของ มรดกภูมิปัญญาท้องถิ่น เนื้อหากล่าวถึงมรดกทางวัฒนธรรมของจังหวัดสุรินทร์ที่โดดเด่นและเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป คืองานศิลปหัตถกรรม ได้แก่ การทำเครื่องประดับเงินและการทอผ้าไหม ศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ได้แก่ การแสดงเรือม (การรำ) การละเล่นเจรียง รวมถึงดนตรีพื้นบ้าน เช่น วงกันตรึม วงมโหรี ตลอดจนวัฒนธรรมการเลี้ยงช้างซึ่งเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นเป็นที่รู้จักทั่วไป มีการนำโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ หุ่นจำลอง ภาพถ่าย วีดิทัศน์ และเครื่องเล่นแผ่นเสียงมาใช้เป็นสื่อในการจัดแสดง ที่น่าสนใจ ได้แก่หุ่นจำลองการแสดงเรือมอันเร (รำสาก) วีดิทัศน์ศิลปะการละเล่นและดนตรีพื้นบ้าน วีดิทัศน์ขั้นตอนการผลิตผ้าไหมและเครื่องประดับเงิน ฉากจำลองบรรยากาศหมู่บ้านเลี้ยงช้าง และวีดิทัศน์เกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนเลี้ยงช้าง ในส่วนนี้ ผู้เข้าชมจะได้รับทราบถึงมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นสุรินทร์ที่มีมาแต่อดีต และยังคงรับใช้ชุมชนอยู่จนกระทั่งปัจจุบัน
ความสำคัญ
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ ก่อตั้งขึ้นโดยกรมศิลปากรด้วยความมุ่งหมายให้พิพิธภัณฑสถานแห่งนี้เป็นสถานที่รวบรวม สงวนรักษาและจัดแสดงวัตถุทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า เพื่อประโยชน์ในการศึกษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและสันทนาการ ทั้งยังเป็นการเผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรมของจังหวัดสุรินทร์ในแขนงต่างๆ เพื่อช่วยผดุงรักษามรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น อันจะเป็นการสร้างความภาคภูมิใจแก่ผู้คนในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ก่อให้เกิดความตระหนักในคุณค่าแห่งมรดกวัฒนธรรมนั้น
เวลาทำการ วันพุธถึงวันอาทิตย์ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๖.๐๐ น.
หยุดวันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์