ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 14° 31' 0.7716"
14.51688098908052
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 7' 53.7305"
100.131591796875
เลขที่ : 192118
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี
เสนอโดย culture วันที่ 31 มกราคม 2557
อนุมัติโดย สุพรรณบุรี วันที่ 20 มีนาคม 2563
จังหวัด : สุพรรณบุรี
0 1291
รายละเอียด

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี จัดตั้งขึ้นตามโครงการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ประจำเมืองเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๘ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์มานุษยวิทยาศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นของจังหวัดสุพรรณบุรีและเพื่อสนองแนวพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่ได้พระราชทานให้กรมศิลปากรเพิ่มสาขาวิชาการ อื่น ๆ ในการจัดแสดงของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
ลักษณะอาคาร
เป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ ๒ ชั้น มีพื้นที่ภายในประมาณ ๓,๒๐๐ ตารางเมตร ประกอบด้วย ส่วนสำนักงาน ห้องจัดแสดงนิทรรศการถาวร ห้องนิทรรศการชั่วคราว ห้องประชุม – สัมมนา ห้องคลังเก็บโบราณวัตถุ ห้องศูนย์ข้อมูลเพื่อการค้นคว้า และส่วนให้บริการ – ประชาสัมพันธ์
การจัดแสดงนิทรรศการ
การจัดแสดงนิทรรศการถาวรของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี มีลักษณะของการผสมผสานระหว่างการจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ กับสื่อจัดแสดงประเภทต่าง ๆ เช่นหุ่นจำลอง ระบบโสตทัศนูปกรณ์ ฯลฯ เพื่อให้ผู้เข้าชมได้รับทั้งความรู้และความเพลิดเพลินใน เวลาเดียวกัน โดยแบ่งหัวข้อการจัดแสดงเป็นห้องต่าง ๆ ดังนี้

การจัดแสดง

ห้องบทนำ

จัดแสดงหลักฐานทางประวัติศาสตร์สำคัญเกี่ยวกับเมืองสุพรรณบุรีในอดีต ได้แก่ ข้อความในจารึกหลักต่าง ๆ ที่กล่าวถึงชื่อเมืองสุพรรณบุรี อาทิ ศิลาจารึกหลักที่ ๑ สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช จารึกลานทองสมัยอยุธยา พบที่วัดส่องคบ จังหวัดชัยนาท และหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ เป็นต้น
จัดแสดงพัฒนาการของเมืองสุพรรณบุรี ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ กระทั่งเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ สมัยทวารวดี สมัยลพบุรี สมัยอยุธยา ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ตามลำดับ โดยจัดแสดงโบราณวัตถุที่พบจากแหล่งโบราณคดีและโบราณสถานสำคัญต่าง ๆ ในจังหวัดสุพรรณบุรี ประกอบป้ายคำบรรยายและสื่อระบบโสตทัศนูปกรณ์

ห้องยุทธหัตถี

จัดแสดงเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดสุพรรณบุรี คือ การกระทำสงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพระมหาอุปราชา เมื่อ พ.ศ.๒๑๓๕ที่เกิดขึ้น ณตำบลหนองสาหร่ายปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอดอนเจดีย์ อันเป็นที่ตั้งของพระบรมราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและเจดีย์ยุทธหัตถีจัดแสดงโดยใช้สื่อระบบโสตทัศนูปกรณ์ ประกอบกับหุ่นจำลองและป้ายคำบรรยาย

ห้องคนสุพรรณ
จัดแสดงประวัติความเป็นมาและศิลปวัฒนธรรมของกลุ่มชนต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งแต่ชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยมีกลุ่มชนสำคัญ ๆ ได้แก่ ชาวไทยพื้นบ้าน ชาวไทยเชื้อสายจีน ชาวไทยเชื้อสายละว้า ชาวไทยเชื้อสายลาวครั่ง ชาวไทยเชื้อสายลาวโซ่งหรือไทยทรงดำ โดยใช้สื่อเป็นหุ่นรูปบุคคลเชื้อสายต่าง ๆ ขนาดเท่าจริงประกอบฉากบ้านเรือน และเสียงบรรยายร่วมกับสื่อระบบโสตทัศนูปกรณ์ห้องบุคคลสำคัญ

จัดแสดงประวัติบุคคลสำคัญของจังหวัดสุพรรณบุรีในอดีตที่ได้ทำคุณประโยชน์นานัปการแก่จังหวัดสุพรรณบุรี และประเทศชาติ ประกอบด้วย
• สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ( ขุนหลวงพระงั่ว )
• สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ ๑๗ ( ปุ่น ปุณณสิริ )
• พระมงคลเทพมุนี ( หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ )
• เจ้าพระยายมราช ( ปั้น สุขุม )
• พลโทพระยาเฉลิมอากาศ ( สุณี สุวรรณประทีป )
• นายมนตรี ตราโมท

วัตถุโบราณสำคัญประกอบด้วย

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร: ประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร สลักจากหินทรายสีเขียว สูงประมาณ ๑๔๘.๕ ซม. พบที่โบราณสถานเนินทางพระในเขตอำเภอสามชุกซึ่งเป็นโบราณ สถานในศาสนาพุทธนิกายมหายาน สมัยลพบุรีเดิมจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง ลักษณะทางประติมาณวิทยาที่สำคัญ คือ เป็นประติมากรรมรูปบุรุษ เกล้ามวยผมสูงถักผม ลักษณะที่เรียกว่า "ชฎามกุฎ" มวยผมผายออกตอนบน ส่วนโคนมวยคอด ต่างไปจากรูปพระอวโลกิเตศวรศิลปะขอมทั่วไปที่มีมวยทรงกระบอก ปรากฏรูปภาพพระพุทธปางสมาธิ หรือพระอติมาภะอยู่ด้านหน้ามวยผม มีกรอบไรพระศกทำลายเป็นรูปเม็ดไข่ปลา พระโพธิสัตว์มีพระพักตร์ค่อนข้างเหลี่ยมพระเนตยาวรี ลืมพระเนตร ต่างกับรูปพระโพธิสัตว์ทั่วไปที่มีพระเนตรปิดสนิทอันเป็นลักษณะของศิลปะขอมแบบบายน สวมกุณฑลรูปตุ้ม สวมกรองศอสั้น รูปสามเหลี่ยมและพาหุรัด ม ๔ กร หัตถ์ซ้ายบนถือคัมภีร์ หัตถ์ซ้ายล่างถือหม้อน้ำมนต์ หัตถ์ขวาบนถือพวงลูกประคำหัตถ์ขวาล่างถือดอกบัว นุ่งผ้าสั้น มีชายผ้าเป็นรูปหางปลา คาดเข็มขัดมี หัวรูปสี่เหลี่ยมประดับลายดอกไม้ จากลักษณะทางประติมาณวิทยาของพระโพธิสัตว์ที่กล่าวไป แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปะพื้นเมืองบางประการที่ผสม ผสานอยู่กับศิลปะขอมแบบบายนอายุราวพุทธศตวรรษที่๑๘ อันเป็นศิลปะที่ให้อิทธิพลโดยตรงกับรูปพระโพธิสัตว์องค์นี้

พระพุทธรูปนาคปรก: พระพุทธรูปนาคปรกองค์นี้ สลักจากหินทรายสีเขียว พบที่วัดปู่บัว เดิมจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาต ิ อู่ทอง มีลักษณะทางประติมาณวิทยาที่สำคัญคือ พระพุทธรูปมีรัศมีเป็นรูปกลีบบัวซ้อนกัน ๓ ชั้นเม็ดพระศกทำเป็นลายรูปสี่เหลี่ยมขนาดเล็กปรากฏกรอบไรพระศกพระพักตร์มีลักษณะค่อนข้างเหลี่ยมพระขนงต่อกันเป็นรูปปีกกาพระเนตรยาวรีลืมพระเนตรพระนาสิกโด่งงุ้มพระโอษฐ์หนาอยู่ในอาการแย้มพระสรวลเล็กน้อยพระกรรณยาวพระพุทธรูปครองจีวรห่มเฉียง ปรากฏสังฆาฎิบนพระอังสา พระหัตถ์ทั้งสองประสานกันอยู่บนพระเพลาในลักษณะสมาธิ ปรากฏรูปธรรมจักรอันเป็นลักษณะของมหาบุรุษอยู่บนฝ่าพระหัตถ์ ประทับนั่งขัดสมาธิอยู่บนขนดนาคสามชั้น ขนดนาคมีลักษณะสอบลงสู่ชั้นล่าง เบื้องหลังพระพุทธรูปทำรูปนาค ๗ เศียร นาคมีลักษณะใบหน้ายาว นาคเศียรข้างทุกเศียรชำเลืองไปยังนาคเศียรกลางปรากฏลายดอกจันทร์ที่ลำคอนาค ลักษณะของพระพุทธรูปนาคปรกองค์นี้ อยู่ในศิลปะลพบุรี ซึ่งรับอิทธิพลจากศิลปะขอมแบบบายน ผสมผสานกับฝีมือช่างท้องถิ่น กำหนดอายุได้อยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘

คำสำคัญ
สุพรรณบุรี
หมวดหมู่
พิพิธภัณฑ์
สถานที่ตั้ง
บริเวณศูนย์ราชการกรมศิลปากร
ถนน ถนนสุพรรณบุรี-ชัยนาท
อำเภอ เมืองสุพรรณบุรี จังหวัด สุพรรณบุรี
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
http://www.nationalmuseums.finearts.go.th/
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่