ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 8° 54' 12.2584"
8.9034051
ลองจิจูด (แวง) : E 99° 0' 46.4134"
99.0128926
เลขที่ : 192140
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา
เสนอโดย culture วันที่ 31 มกราคม 2557
อนุมัติโดย สุราษฎร์ธานี วันที่ 21 มีนาคม 2563
จังหวัด : สุราษฎร์ธานี
0 2119
รายละเอียด

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา ตั้งอยู่ในพื้นที่ทางทิศตะวันออกของวัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร ตำบลเวียง อำเภอไชยา จัดเป็นพิพิธภัณฑสถานประเภทประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดี มีหน้าที่สำคัญตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 คือ มีหน้าที่ในการเก็บรักษาโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ อันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินการก่อตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา ในระยะแรก จากการรวบรวมศิลปวัตถุที่พบในเขตพื้นที่อำเภอไชยา โดยท่านพระครูโสภณเจตสิการาม (เอี่ยม) อดีตเจ้าคณะอำเภอไชยา เป็นผู้ก่อตั้ง และกรมศิลปากรได้รับไว้เป็นสาขาของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ. 2478 ต่อมาในปี พ.ศ. 2493 ท่านพระครูอินทปัญญาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุฯ และเงินจากการจำหน่ายหนังสือเรื่อง "แนวสังเขปโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอน" อาคารหลังนี้สร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2495 ต่อมาในปี พ.ศ. 2499 กรมศิลปากรได้จัดสรรงบประมาณเพื่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์หลังที่ 2 ขึ้น โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจาก พ.ต.อ. พัฒน์ นิลวัฒนานนท์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดสุราษฎร์ธานี จนอาคารเสร็จสมบูรณ์เมื่อ พ.ศ. 2500 และได้ทำการขนย้ายโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ในวัดพระบรมธาตุไชยาทั้งหมดไปจัดเก็บและจัดแสดงในอาคารพิพิธภัณฑ์หลังใหม่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2521 ได้รับเงินงบประมาณปรับปรุงขยายต่อเติมอาคารหลังแรก และปรับปรุงการจัดแสดงใหม่ให้ได้มาตรฐานสากล การดำเนินงานแล้วเสร็จและได้รับพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ โดยได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารพิพิธภัณฑแห่งชาติ ไชยา และทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2525

การจัดแสดง

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา มีลักษณะเป็นพิพิธภัณฑสถานประเภทประวัติศาสตร์และโบราณคดี มีอาคารที่ใช้ในการจัดแสดง 2 อาคาร ซึ่งทั้ง 2 อาคารนี้ เป็นห้องจัดแสดงแบบห้องโถงโล่ง โดยมีการแบ่งสัดส่วนในการจัดแสดงดังต่อไปนี้อาคารหลังที่ 1 แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่ 1จัดแสดงรูปจำลองประติมากรรมรูปเคารพที่พบในอำเภอไชยา ที่สำคัญได้แก่ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระพุทธรูปนาคปรก และหน้าบันไม้จำหลักวิหารเก่าของวัดพระบรมธาตุไชยาส่วนที่ 2เป็นการจัดแสดงนิทรรศการพิเศษชั่วคราวในโอกาสสำคัญๆอาคารหลังที่ 2 แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 5 ส่วน คือส่วนที่ 1เป็นการจัดแสดงตามหลักวิชาการ คือ จัดแสดงเกี่ยวกับศิลปวัตถุตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงจุดประวัติศาสตร์ ตั้งแต่สมัยทวารวดีถึงรัตนโกสินทร์ส่วนที่ 2จัดแสดงศิลปโบราณวัตถุเนื่องในศาสนาพุทธและพราหมณ์ รวมทั้งเครื่องถ้วย เครื่องประดับ เครื่องใช้สอยที่พบจากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีวัดแก้ว วัดหลง และแหลมโพธิ์ อำเภอไชยาส่วนที่ 3จัดแสดงศิลปโบราณวัตถุประเภทพระพุทธรูป และสิ่งของทำด้วยเงินและทองคำที่ประชาชนนำมาถวายแด่องค์พระบรมธาตุ และยังมีหนังใหญ่จัดแสดงด้วยส่วนที่ 4จัดแสดงศิลปวัตถุงานประณีตศิลป์พื้นบ้าน เช่น งานไม้แกะสลัก ผ้าทอพื้นบ้านของชุมชนพุมเรียง อำเภอไชยาส่วนที่ 5จัดแสดงเครื่องอัฐบริขารของพระไชยาภิวัฒน์สุภัทรสังฆปาโมกข์ ผู้บูรณะวัดพระบรมธาตุไชยา และสมเด็จพระพุฒาจารย์ ชาวพุมเรียง เจ้าอาวาสวัดสุทัศน์เทพวราราม ที่สำคัญได้แก่ ชุดเครื่องลายคราม จปร. ชุดเครื่องมุก เครื่องถมปัด และเครื่องทองเหลือง

โบราณวัตถุสำคัญ ประกอบด้วย

1. กลองมโหระทึก
ขนาด ความสูง 39 เซนติเมตร ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของหน้ากลอง 39 เซนติเมตร หน้ากลองเป็นลวดลายดวงดาว 12 แฉก ล้อมรอบด้วยลายวงกลมเชื่อมต่อกันด้วยเส้นโค้งสลับกับลายขีดเป็นช่องๆ และลายวงกลมสลับกันไปใกล้ลำตัวกลอง มีหูจำนวน 4 หู

2. พระพิมพ์ดินดิบ
ขนาด ความสูง 8 เซนติเมตร กว้าง 6 เซนติเมตร
อายุสมัย ศรีวิชัย พุทธศตวรรษที่ 14
วัสดุที่ทำ ดินดิบ (ดินเหนียว)
ประวัติวัตถุ พระพิมพ์ดินดิบรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 4 กร ลักษณะพระพิมพ์เป็นรูปไข่ การสร้างพระพิมพ์ใช้วิธีกดประทับแม่พิมพ์ลงไปบนดินเหนียว แล้วทิ้งไว้ให้แห้งโดยมิได้นำไปเผา รูปพระโพธิสัตว์องค์นี้ประทับนั่งขัดสมาธิเพชรบนฐานปัทมาสน์ พระหัตถ์ขวาบนทรงถืออักษมาลา (ลูกประคำ) พระหัตถ์ขวาล่างทำปางประทานพร พระหัตถ์ซ้ายบนทรงถือดอกบัวบาน พระหัตถ์ซ้ายล่างวางบนพระเพลา ด้านหน้ามวยผมมีรูปพระพุทธเจ้าอมิตาภะ โดยรอบพระองค์มีจารึกคาถาเย ธมมา อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต กำหนดอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 14

3. ธรรมจักร
ขนาด สูง 30 เซนติเมตร ยาว 37 เซนติเมตร
อายุสมัย พุทธศตวรรษที่ 12 - 13
วัสดุที่ทำ หิน
ประวัติวัตถุ ธรรมจักรศิลา พบที่ตำบลทุ่ง อำเภอไชยา อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 - 13 ที่กงล้อและซี่กงล้อมีลวดลายสลักโปร่งลอยตัวและนูนต่ำ ธรรมจักรศิลาที่พบในปรระเทศไทยส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลอินเดียสมัยคุปตะ ธรรมจักรที่ตำบลทุ่งชิ้นนี้น่าจะเป็นหลักฐานที่ดีที่แสดงให้เป็นว่า ในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 12 - 13 พุทธศาสนาหินยานได้เจริญรุ่งเรืองอยู่ในดินแดนแถบนี้ เช่นเดียวกับในพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทย ธรรมจักรชิ้นนี้ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา

4. พระพุทธรูปนาคปรก (จำลอง)
ขนาด สูง 155 เซนติเมตร กว้าง 65 เซนติเมตร
อายุสมัย ต้นพุทธศตวรรษที่ 18
วัสดุที่ทำ สำริด
ประวัติวัตถุ พระพุทธรูปนาคปรก พบที่วัดเวียง อำเภอไชยา ลักษณะทั่วไปของพระพุทธรูปคล้ายพระพุทธรูปนาคปรกของศิลปะเขมร แต่มีลักษณะศิลปะท้องถิ่นอยู่มาก พระพุทธรูปแสดงปางมารวิชัยต่างจากพระพุทธรูปนาคปรกศิลปะเขมร ที่มักแสดงปางสมาธิ ที่ฐานพระพุทธรูปมีจารึกกล่าวถึงกษัตริย์ผู้ทรงพระนามว่า กมรเตงอัญ มหาราช ศรีมาตไตร โลกยราชา เมาลิ ภูษนวรมเทวะ มีพระบรมราชโองการให้มหาเสนาบดี ตลาไน เจ้าเมืองครหิ สร้างพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้นมา เพื่อให้มหาชนผู้มีศรัทธาได้บูชา และจารึกปีที่สร้างตรงกับ พ.ศ. 1726 จารึกหลักนี้ทำให้เกิดการตีความว่า เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 18 เมืองไชยามีนามว่า ครหิ และคงจะอยู่ในอาณัติของพวกศรีวิชัยที่มลายูในเกาะสุมาตรา องค์จริงจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

5. รอยพระพุทธบาท (จำลอง)
ขนาด กว้าง 23.4 เซนติเมตร ยาว 47.9 เซนติเมตร
อายุสมัย รัตนโกสินทร์
วัสดุที่ทำ เงิน
ประวัติวัตถุ รอยพระพุทธบาทจำลองมีรูปจักรตรงกลาง พระบาททำด้วยทองหุ้มโลหะ อุ้งพระบาทเป็นลายมงคลร้อยแปด ด้านหลังประดับด้วยไม้ เป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์

6. พระพุทธรูปปางสมาธิ
ขนาด สูง 107 เซนติเมตร กว้าง 74 เซนติเมตร
อายุสมัย ทวารวดีหรือมอญโบราณ พุทธศตวรรษที่ 11 - 12
วัสดุที่ทำ หิน
ประวัติวัตถุ พระพุทธรูปปางสมาธิ เป็นประติมากรรมเนื่องในพุทธศาสนาที่เก่าที่สุดที่พบในสุราษฏร์ธานี รูปแบบศิลปกรรมแสดงถึงฝีมือช่างชั้นสูงที่สร้างขึ้นในเมืองไชยา ในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 11 - 12 สลักจากศิลา ลักษณะประณีตงดงาม แสดงถึงศรัทธาของประชาชนที่มีต่อพุทธศาสนา รูปแบบศิลปกรรมเป็นรูปแบบของพระพุทธรูปอินเดียสกุลช่างต่างๆ ผสมผสานกัน พระพุทธรูปองค์นี้พบที่วัดพระบรมธาตุไชยา ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา

7. ท่อนองค์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (ปัทมปาณิ) (จำลอง)
ขนาด สูง 64 เซนติเมตร
อายุสมัย ศรีวิชัย พุทธศตวรรษที่ 14
วัสดุที่ทำ สำริด
ประวัติวัตถุ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสำริด มี 2 กร พบที่วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร เป็นประติมากรรมชิ้นเอกในศิลปะศรีวิชัย สภาพเดิมแรกพบถูกทิ้งอยู่บริเวณสนามหญ้าหน้าวัด เนื่องจากคนรุ่นหลังไม่ทราบว่าเป็นประติมากรรมในพุทธศาสนา เมื่อเห็นว่ามิใช่พระพุทธรูป และอยู่ในสภาพชำรุดหักเพียงครึ่งองค์ จึงไม่มีผู้ใดสนใจ จนกระทั่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จวัดพระบรมธาตุไชยาเมื่อปี พ.ศ. 2448 จึงสั่งให้อัญเชิญไปไว้ที่กรุงเทพมหานคร พระโพธิสัตว์มีขนาดเท่าบุคคลจริง ทรงยืนอยู่ในท่าตริภังค์ (เอียงสะโพก) พระพักตร์กลม มีอุณาโลมที่พระนลาฏ พระเนตรฝังเงินเหลือบมองลงต่ำ พระโอษฐ์เต็มฝังทองคำไว้ที่ริมพระโอษฐ์ล่าง ทรงสวมกระบังหน้า กุณฑล พาหุรัด และกรองศอที่มีทับทรวง ทรงสะพายผ้าแพรเฉียงพระวรกาย ทรงสะพายสายยัชโญปวีตลูกประคำ ซึ่งมีเครื่องประดับรูปหัวกวางอยู่พระอังสาซ้าย เครื่องประดับตกแต่งพระวรกายมีลวดลายคล้ายกับศิลปะในราชวงศ์ไศเลนทร์ ชวาภาคกลางประเทศอินโดนีเซีย กำหนดอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 14 องค์จริงจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พระโพธิสัตว์องค์นี้เป็นประติมากรรมศิลปะศรีวิชัยที่มีชื่อเสียงที่สุด และจัดได้ว่างดงามที่สุด เป็นหลักฐานที่โดดเด่นชิ้นหนึ่งที่ สนับสนุนความสำคัญในด้านศิลปวัฒนธรรมของเมืองไชยาโบราณสมัยศรีวิชัย

8. พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 8 กร
ขนาด สูง 70 เซนติเมตร กว้าง 33 เซนติเมตร
อายุสมัย ศรีวิชัย
วัสดุที่ทำ สำริด
ประวัติวัตถุ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 8 กร เป็นศิลปะสมัยศรีวิชัย พระพักตร์กลม พระขนงต่อกันเป็นรูปปีกกา พระกรทั้งแปดหักหายหมด ทรงเกล้าพระเกศาเป็นรูปชฎามุกุฎ มีพระพุทธเจ้าอมิตาภะประทับอยู่ในกรอบหน้าของชฏามุกุฎ ตกแต่งด้วยศิลาภรณ์กับกระบังหน้า สวมกรองศอ กุณฑล พาหุรัด ทรงสะพายแพรซึ่งมีสายยัชโญปวีตลูกประคำทับ อันเป็นเครื่องหมายของบุคคลในวรรณะพราหมณ์หรือวรรณะกษัตริย์ ซึ่งประดับด้วยหัวกวางอันเป็นลักษณะเฉพาะขององค์บนสายแพร ทรงพระภูษายาวคาดคล้ายคลึงกับเครื่องประดับของประติมากรรมในชวาภาคกลาง รูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 8 กรนี้ แสดงฐานะความเป็นเจ้าแห่งจักรวาล จึงมีพระนามว่า "โลเกศวร" ประติมากรรมมักมีเกินกว่า 2 กร ในคัมภีร์การัณฑพยุหสูตร ซึ่งเขียนระหว่าง พ.ศ. 1050 - 1450 กล่าวว่า พระองค์มีแสนกร โกฏิพระเนตร สิบเอ็ดเศียร โลมา (เส้นขน) แต่ละเส้นคือจักรวาล พระเนตรคือพระจันทร์และพระอาทิตย์ แผ่นดินคือพระบาท อำนาจของพระองค์ยิ่งใหญ่เหนือพระตถาคตทั้งปวง ทรงเป็นผู้ประทานมนตร์หกพยางค์อันยิ่งใหญ่ที่มีชื่อว่า สรรพาราเชนทร หรือเจ้าแห่งราชาทุกพระองค์ คือ "โอม มณี ปัทเม ฮูม" แปลว่า ดวงมณีเกิดอยู่ในดอกบัว คาถาบทนี้ทำให้เห็นว่า พระองค์ทรงเป็นเจ้าแห่งจักรวาลทั้งมวล ประติมากรรมชิ้นนี้กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 14 องค์จริงจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร องค์จำลองจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา

คำสำคัญ
ไชยา
หมวดหมู่
พิพิธภัณฑ์
สถานที่ตั้ง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา
จังหวัด สุราษฎร์ธานี
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
http://www.nationalmuseums.finearts.go.th/
จังหวัด สุราษฎร์ธานี
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่