ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 13° 48' 9.9169"
13.8027547
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 22' 34.4122"
100.3762256
เลขที่ : 192159
หัวโขน
เสนอโดย Songsit วันที่ 29 เมษายน 2557
อนุมัติโดย นนทบุรี วันที่ 14 มิถุนายน 2564
จังหวัด : นนทบุรี
0 1066
รายละเอียด

เนื้อหาภูมิหลัง

ประวัติของหัตถกรรมการทำหัวโขนในจังหวัดนนทบุรีมีอยู่ ๓ ครอบครัว ได้แก่ คุณตาบทิพย์ แก้วดวงใหญ่ตำบลบางกร่าง อำเภอเมืองนนทบุรี ครอบครัวของนายวีระ มีเหมือน ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี และครอบครัวนายสาคร ยังเขียวสด ตำบลบางเขน อำเภอเมืองนนทบุรี

ครูตาบทิพย์ แก้วดวงใหญ่ ซึ่งอยู่ที่หมู่บ้านเยาวพรรณ ถนนบางกรวย-ไทรน้อย ตำบลบางกร่าง อำเภอเมืองนนทบุรี เป็นบุตรสาวของครูชิด แก้วดวงใหญ่ ปรมาจารย์ด้านหัวโขน ผู้รับการสืบทอดงานช่างหัวโขนจากคุณพระเทพยนต์ (จำรัส ยันตรปกรณ์)ซึ่งเป็นช่างหัวโขนที่มีความสามารถและมีชื่อเสียงในการทำหัวโขนในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) และต้นรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งมีการประกวดการทำหัวโขนกรรมการตัดสินให้หัวโขนของนายจำรัสได้รางวัลเป็นอันดับหนึ่ง ได้เลื่อนยศเป็นพระเทพยนต์ มีตำแหน่งเป็นเจ้ากรมช่างสิบหมู่ และได้รับพระราชทานชื่อสกุลว่ายันตรปกรณ์ คุณพระเทพยนต์มีบุตรสาวชื่อ ปลิก ได้สมรสกับนายโพธิ แก้วดวงใหญ่ มีบุตรชายชื่อนายชิดมีบุตร ๘ คน คุณตาบทิพย์ แก้วดวงใหญ่ เป็นบุตรหนึ่งในแปดที่ได้รับการสืบทอดวิชาทำหัวโขน ตั้งแต่อายุ ๑๘ ปีมาจนถึงปัจจุบัน ครูตาบทิพย์ แก้วดวงใหญ่ ได้ทำศีรษะครูทั้ง ๙ เศียร ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทูลเกล้าถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันพระราชสมภพ ๔ ปีซ้อน การทำของที่ระลึกให้แก่ประเทศไทยในการประชุมอาเซียน การทำของที่ระลึกในงานเอเชียนเกมครั้งแรก และการทำของที่ระลึกงานนิทรรศการของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในปีการศึกษา ๒๕๔๓ โรงเรียนช่างฝีมือในวัง(ชาย) เริ่มหลักสูตรการเรียนการสอนแผนกช่างหัวโขนโดยมีครูตาบทิพย์ แก้วดวงใหญ่ช่วยราชการเป็นครูผู้สอนการทำหัวโขน เป็นระยะเวลา ๒ ปี มีนักเรียนช่างหัวโขนรุ่นแรกจำนวน ๑๔ คน และปัจจุบัน โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (ชาย)ยังคงอนุรักษ์วิชาช่างหัวโขนตามแบบโบราณของราชสำนัก

การทำหัวโขนของนายวีระ มีเหมือน ได้เรียนวิธีการทำจากนายชิด แก้วดวงใหญ่ บิดาของครูตาบทิพย์ แก้วดวงใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ได้เริ่มทำหน้าโขนประจำตัว เป็นหน้าเทพในพิธีไหว้ครูที่บ้านของนายชิด แก้วดวงใหญ่ และได้ทำหัวโขนมาโดยตลอด

การทำหัวโขนของนายสาคร ยังเขียวสด เป็นรุ่นหลังครอบครัวตระกูลแก้วดวงใหญ่ สืบเนื่องจากพ่อ แม่ ปู่ ย่า ของนายสาคร ยังเขียวสด หรือโจหลุยส์ เป็นคนในคณะละครเล็กของครูแกร ศัพทวนิช คณะละครโขน ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทำให้นายสาครมีความสามารถในการแสดงละคร โขน ลิเก และมีใจรักในการทำหัวโขน จดจำและศึกษาด้วยตนเองจนเกิดความชำนาญ สามารถทำได้ทั้งหัวโขนและปั้นหน้าโขน จนสามารถยึดเป็นอาชีพหลักทำออกจำหน่าย และได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับลูกๆ ทุกคน โดยคนที่มีฝีมือดีมากที่สุด คือ นายสุนทร ยังเขียวสด หรือ เหน่ง โจหลุยส์ ลูกคนที่ ๖ และได้สืบทอดการทำหัวโขนเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน

ปัจจุบัน การทำหัวโขนในจังหวัดนนทบุรี ยังมีการทำอยู่ที่ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดใหม่ผดุงเขต ตำบลศาลากลาง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี โดย พระมหาพรนรายสุวรรณรังสี หรือ พระมหาตุ้ยรองเจ้าอาวาสวัดใหม่ผดุงเขต ได้เปิดสอนศิลปะการทำหัวโขนให้นักเรียนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้วัด รวมทั้งผู้ที่สนใจเรียนฟรี โดยผู้ที่เรียนจบไปแล้วสามารถนำความรู้ไปต่อยอดประกอบเป็นอาชีพได้

ส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรมมีความโดดเด่นมีเอกลักษณ์ความเป็นไทย

หัวโขนเป็นงานศิลปะที่ได้รับการสร้างขึ้นอย่างวิจิตร ประณีต ด้วยกระบวนการช่างแบบไทย ประเพณีที่แสดงออกให้ประจักษ์ในภูมิปัญญาและเอกลักษณ์ในงานศิลปะแบบไทย ประเพณีประเภทหนึ่ง หัวโขนจึงเป็นศิลปวัตถุ ที่มีรูปลักษณะควรแก่การดูชม และเก็บรักษาไว้เพื่อการชื่นชมในรูปสมบัติและคุณสมบัติในฐานะศิลปกรรมไทยประเพณี

ขั้นตอนการผลิต

. การเตรียมวัสดุ

โดยเฉพาะสำหรับตัวลวดลายต่าง ๆ ประดับตกแต่งหัวโขนแต่ละแบบคือ "รักตีลาย" ประกอบด้วยรักน้ำเกลี้ยงชัน นิ้วมันบางผสมเข้าด้วยกันเอาขึ้นตั้งไฟอ่อนๆ เคี่ยวจนงวด พอที่จะกดลงในแม่พิมพ์ทำเป็นลวดลาย

. การเตรียมหุ่น

หุ่นต้นแบบเป็นหุ่นที่จะใช้กระดาษปิดทับให้ทั่วแล้วถอดเป็นหัวโขน แต่เดิมทำด้วยดินปั้นเผาไฟกับทำด้วยไม้กลึง ปัจจุบันทำด้วยปูนซิเมนต์หรือปูนปลาสเตอร์หุ่นหัวโขนชนิดครอบศีรษะและปิดหน้า มักทำเป็นหุ่นอย่าง “รูปโกลน” มีเทารอยตา จมูก ปาก หมวดผม เป็นต้นหุ่นหัวชฎา - มงกุฎ ทำเป็นรูปทรงกระบอก ส่วนบนกลึงรัดเป็นชิ้นๆ ขึ้นไปเป็นจอม ซึ่งเป็นที่สวมยอดแบบต่าง ๆ

. การปิดหุ่น

การเปิดหุ่นเป็นการปิดกระดาษทับลงบนหุ่นเรียกว่าการพอกหุ่น หรือปิดหุ่นโดยจะปิดกระดาษทับหลาย ๆ ชิ้นให้หนาพออยู่ได้ หลังจากถอดศีรษะออกจากหุ่น

. การถอดหุ่น

การถอดหุ่น คือ การเอาศีรษะกระดาษออกจากหุ่น โดยใช้มีดปลายแหลมกรีดศีรษะกระดาษให้ขาดแล้วจึงถอดออกจากต้นแบบ หลังจากนั้นต้องเย็บประสานให้สนิทแล้วปิดกระดาษทับ ให้เรียบร้อย ศีรษะกระดาษนี้จะเรียกว่า “กะโหลก”

. การปั้นหน้าหรือกระแหนะ

การปั้นหน้า คือ การใช้รักตีลายมาปั้นเพิ่มเติม ลงบนกะโหลกที่ส่วน คิ้ว ตา จมูก ปาก ฯลฯ ให้ได้รูปชัดเจนและแสดงอารมณ์ของใบหน้ากับการประดับลวดลาย ตกแต่งบนตำแหน่งที่เป็นเครื่องศิราภรณ์ เช่น ประดับส่วนเกี้ยวรักร้อย ฯลฯ และ จัดทำส่วนหู สำหรับเศียรยักษ์ ลิง พระและนางที่ปิดหน้า

. การปั้นรักตีลาย

ใช้รักตีลายพิมพ์เป็นลวดลายละเอียดประดับตามตำแหน่งบนกะโหลกที่ได้ปั้นหน้า ติดลวดลายประดับไว้พร้อมแล้ว

. การลงรักปิดทอง

การลงรักปิดทอง คือ การใช้รักน้ำเกลี้ยงทาทับส่วนที่ทำเป็นลวดลายต่าง ๆ ซึ่งต้องการจะทำเป็น สีทองคำโดยทารักทิ้งไว้ให้แห้งสนิทแล้ว จึงนำทองคำเปลวมาปิดทับให้ทั่ว

. การประดับกระจก

การประดับกระจก หรือพลอยกระจก เป็นการตกแต่งส่วนละเอียดโดยเฉพาะลวดลายที่ไส้ ตัวกระจิง ไส้กระหนก ไส้ใบเทศ เป็นต้น เพื่อให้เกิดประกายแวววามกระจกที่ใช้เรียกว่า กระจกเกรียง ปัจจุบันหาไม่ง่ายนัก ช่างทำหัวโขนจึงใช้พลอยกระจกประดับแทน

. การระบายสีและเขียนส่วนละเอียด

การระบายสีและเขียนส่วนละเอียดเป็นกระบวนการขั้นสุดท้ายของการทำหัวโขนสีที่ใช้มักใช้ สีฝุ่นผสมกาวกระถินหรือยางมะขวิด สีชนิดนี้มีคุณลักษณะสดใส และนุ่มนวล การระบายสีและเขียนรูปลักษณ์ บนใบหน้าของหัวโขน

การสืบทอด

การสืบทอดงานศิลปหัตถกรรมการทำหัวโขนในจังหวัดนนทบุรี ปัจจุบันเป็นลักษณะการสืบทอดแนวราบหมายถึงการเล่าเรียนและฝึกหัดนอกบ้าน เช่น ที่โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาตามหลักสูตรอาชีวศึกษาซึ่งมีการส่งเสริมกันอยู่ตลอดมา นอกจากนี้ก็ เป็นการถ่ายทอดซึ่งกันและกันในระหว่างบุคคลร่วมสมัยซึ่งมีทั้งชนกลุ่มเดียวกันและชนกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งจังหวัดนนทบุรี มีศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดใหม่ผดุงเขตโดยพระมหาพรนรายสุวรรณรังสี รองเจ้าอาวาส เปิดการเรียนการสอนศิลปะการทำหัวโขนให้กับเด็ก เยาวชน และผู้สนใจทั่วไป

หมวดหมู่
ศิลปวัตถุ
สถานที่ตั้ง
ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดใหม่ผดุงเขต
ตำบล ศาลากลาง อำเภอ บางกรวย จังหวัด นนทบุรี
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนนทบุรี
บุคคลอ้างอิง songsit kamhangpol อีเมล์ k_songsit@hotmail.com
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนนทบุรี อีเมล์ nonculture@hotmail.com
ตำบล บางกระสอ อำเภอ เมืองนนทบุรี จังหวัด นนทบุรี รหัสไปรษณีย์ 11000
โทรศัพท์ 025801348 โทรสาร 025802764
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่