ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 19° 52' 5.0642"
19.8680734
ลองจิจูด (แวง) : E 99° 38' 48.1787"
99.6467163
เลขที่ : 192523
ชนเผ่าอาข่า บ้านปางขอน
เสนอโดย เชียงราย วันที่ 23 มีนาคม 2563
อนุมัติโดย เชียงราย วันที่ 23 มีนาคม 2563
จังหวัด : เชียงราย
0 976
รายละเอียด

ชนเผ่าอาข่าเป็นชนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีบรรพบุรุษพื้นเพเดิม อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีน ในประเทศจีนเรียกว่า “ฮานี หรือ โวน” โดยมีเส้นทาง 2 เส้นทาง คือ เส้นทางแรก อพยพจากประเทศพม่าแคว้นเชียงตุง เข้าสู่ประเทศไทยเนื่องจากเกิดปัญหาทางการเมือง ด้านฝั่งเขตอำเภอแม่จัน ทางหมู่บ้านพญาไพร (ปัจจุบันเป็นอำเภอแม่ฟ้าหลวง) และเส้นทางที่สอง อพยพโดยตรงจากประเทศจีนโดยเดินทางผ่านบริเวณตะเข็บชายแดนพม่า และแม่น้ำโขงประเทศลาว และเข้าสู่ประเทศไทยโดยตรงที่อำเภอ แม่สาย

อาข่า(หรือ อีก้อ) เป็นกลุ่มชนเผ่าที่อาศัยอยู่กระจัดกระจายในแถบภาคเหนือของประเทศไทย เช่น เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ น่าน เป็นต้น ชนเผ่าอาข่าที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย อาจแบ่งออกได้ เป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มอุโล กลุ่มโลมีซาและกลุ่มลอบือ บุคลิกของชาวอาข่าเป็นคนร่าเริง รักอิสระ

ภาษา

ภาษาของเผ่าอาข่าจัดอยู่ในสาจา ยิ (โลโล) ของตระกูลพม่า-ธิเบต มีภาษาพูดแต่ไม่มีภาษาเขียน ไม่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาของภาษา และต้นกำเนิดที่แน่ชัด แต่จะเป็นในลักษณะสืบทอดต่อๆ กันมามากกว่า อย่างไรก็ตาม การใช้ภาษาของชนเผ่าอาข่า มีลักษณะการสื่อเพื่อให้เกิดความเข้าใจต่างกัน โดยใช้ลักษณะ วัย และลักษณะ งาน เป็นตัวแยกแยะการพูดสื่อสาร กล่าวคือหากพูดกับเด็กเล็กที่กำลังฝึกพูดจะมีการใช้ภาษาอีกแบบหนึ่ง เช่น น้ำ ก็จะเรียกว่า “อ่าอ่า” ในขณะที่ถ้าสื่อสารกัน ได้ก็จะเรียกว่า “อี๊จุ” และหากมีการใช้ภาษาในพิธีกรรม เช่น งานศพ ก็จะใช้ศัพท์ ค่อนข้างยาก อาทิเช่น เรียกพระอาทิตย์ คำเต็ม เรียกว่า “น๊องมา” แต่ถ้ามาใช้ในการสวดพิธีก็จะใช้แทนพระอาทิตย์ว่า “น๊อง” โดยไม่ใช้คำเต็ม เป็นต้น สำเนียงภาษาพูดของชนเผ่าอาข่ามีลักษณะเสียงสั้นสูง นิยมตะโกนออกเสียงดัง และมีเสียงแหลมอาจเป็นเพราะว่าอาข่าอาศัยอยู่บนพื้นที่สูง และอากาศหนาวเย็น จึงมีการใช้เสียงดัง เพื่อจะได้ยินในระยะไกล

การละเล่นในพิธีกรรมได้แก่
ลูกข่าง (ฉ่อง)เป็นการละเล่นของอาข่าที่เล่นในช่วงที่มีพิธีกรรม หรือประเพณีเท่านั้น มีปีละครั้ง เป็นการละเล่นของผู้ชาย ให้ความสนุกสนานเพลิดเพลิน โดยเมื่อถึงวันที่มีพิธีกรรมผู้ชายจะออกจากบ้านตั้งแต่เช้า เพื่อจะไปตัดไม้เนื้อแข็งมาทำเป็นลูกข่าง เมื่อกลับมาถึงบ้านก็จะเริ่มทำลูกข่างโดยเหลาปลายไม้ให้ปลายแหลมๆ บางคนจะใส่เหล็กตรงปลาย เพื่อให้ลูกข่างหมุนได้นาน จากนั้นก็จะมาเล่นแข่งกันโดยแบ่งเป็นสองฝ่ายๆ ละกี่คนก็ได้

โล้ชิงช้า (หล่าเฉ่อบี่เออ)เป็นประเพณีที่จัดขึ้นช่วงประมาณปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายนของทุกปี หลังจากที่ทำการเพาะปลูกข้าว หรือข้าวโพดเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยชิงช้าที่ทำจะมี 3 ลักษณะ คือ ชิงช้าใหญ่ที่ชาวบ้านร่วมกันสร้างขึ้น (หล่าเฉ่อ), ชิงช้าหมุน (ก่าลาหล่าเฉ่อ), และชิงช้าขนาดเล็กที่สร้างไว้หน้าบ้านของแต่ละครอบครัว (เออเลอ) นอกจากให้ความเพลิดเพลินแล้ว ยังเป็นการโล้เพื่อเร่งผลผลิตต่างๆ ที่เพาะปลูกให้เจริญงอกงามอีกด้วย

การเต้นรำ (บ่อฉ่องตูเออ)เป็นการละเล่นในช่วงที่มีพิธีกรรม หรือประเพณีเท่านั้น โดยทั้งชายและหญิงจะแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่าที่งดงาม แล้วมารวมตัวกันที่ลานหมู่บ้านหรือที่ที่มีพื้นที่กว้างขวาง โดยจะมีอุปกรณ์ที่ใช้ในการเต้นรำ ดังนี้ กลองที่ทำมาจากไม้ หนังวัว-กวาง (ถ่อง), ฆ้อง (โบวโล), ฉิ่ง (แจและ), และกระบอกไม้ (บ่อฉ่อง) สำหรับลักษณะการเต้นก็มีหลายแบบด้วยกัน ดังนี้
- เต้นเป็นวงกลม โดยทุกคนจะเต้นเป็นจังหวะตามเสียงกลอง โดยจะเต้นจากด้านซ้ายไปยังด้านขวาอย่างพร้อมเพรียงกัน
- เต้นแบบราวกระทบไม้ เป็นการเต้นที่เน้นในเนื่องของจังหวะ โดยผู้หญิงจะมีกระบอกไม้ไผ่สำหรับกระทบไม้แล้วให้ เกิดเสียงดัง และผู้ชายก็อาจเต้นเป็นวงกลมล้อมรอบผู้หญิงก็ได้

-สะบ้า(อ๊ะเบอฉ่อเออ)เป็นการละเล่นของผู้หญิง นิยมเล่นกันในช่วงที่มีงานประเพณี หรืออยู่กรรม เพราะชาวบ้านจะมีเวลาว่าง โดยจะเก็บผลสะบ้าจากป่ามาแล้วเล่นกันเป็นทีม

การละเล่นทั่วไปเช่น

สามล้อ (ลาหล่อ)เป็นการละเล่นที่เด็กชนเผ่าอาข่านิยมเล่นกันมาก ค่อนข้างอันตราย เพราะถ้าเด็กทำหรือประดิษฐ์สิ่งของไม่แน่น อาจทำให้เกิดอันตรายได้ในการทำจะไปหาตัดท่อนไม้ที่มีขนาดใหญ่พอสมควรมา จากนั้นก็ตัดไม้มามัดหรือตอกให้แน่น โดยข้างหน้าจะมีเพียงล้อเดียว และข้างหลังมี 2 ล้อ ในเรื่องของความเร็ว เด็กๆ จะใช้เปลือกไม้ชนิดหนึ่ง นำเปลือกไม้มาแล้วทุบ หรือตำให้ละเอียดแล้วทาบริเวณล้อ เพราะเปลือกไม้ชนิดนี้จะเหนียว และลื่น ซึ่งจะทำให้สามล้อวิ่งได้เร็ว อีกทั้งยังเอาเปลือกไม้เหล่านี้มาดองเก็บไว้ในขวดพลาสติก เพื่อเอาไว้ใช้ในคราวต่อๆ ไป อีกทั้งเด็กอาข่าชอบไปกัดเปลือกไม้แล้วเคี้ยวๆ ให้ละเอียด จากนั้นเอามาแปะที่ล้อ

การตั้งชุมชน

การตั้งชุมชนของอาข่ามักนิยมตั้งในพื้นที่ลาดเท หรือตามสันเขา ปากทางเข้าหมู่บ้านจะมีการสร้างประตูหมู่บ้านไว้ เรียกว่า “ล้อข่อง” เพื่อไว้ป้องกันสิ่งเลวร้ายต่างๆ ไม่ให้ เข้ามาในชุมชน นอกจากนี้ยังมีศาสนสถานที่สำคัญ เพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรม อาทิเช่น ศาลพระภูมิชุมชน บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ลานวัฒนธรรม เป็นต้น

ลักษณะบ้าน

ลักษณะบ้านของชนเผ่าอาข่า จะยกพื้นสูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร มีบันได 3 – 5 ขั้น บ้านสร้างด้วยไม้ไผ่มีเสาเป็นไม้เนื้อแข็ง ฝาบ้านทำด้วยฟากไม้ไผ่ หลังคามุงด้วยหญ้าคาที่คลุมยาวลงมาจนเกือบถึงพื้นดิน ไม่มีหน้าต่าง มีเตาไฟ 2 เตา สำหรับปรุงอาหาร และสำหรับต้มน้ำชาไว้เลี้ยงแขก

ประเพณีและความเชื่อ เช่น

ประเพณีไข่แดง (ขึ่มสึ ขึ่มมี๊อ่าเผ่ว)

มีขึ้นภายหลังจากที่มีการอยู่กรรมจากการเผาไฟในไร่ช่วงกลางเดือนเมษายน ตรงกับเดือนอาข่า "ขึ่มสึ บาลา"อาข่าจะประกอบพิธี "ขึ่มสึ ขึ่มมี้ อาเผ่ว" เป็นประเพณีการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ หรือเรียกอีกอย่างว่า ประเพณีปีใหม่ชนไข่ เนื่องจากประเพณีนี้มีการนำไข่มาใช้ประกอบพิธี เด็กๆ จะมีการเล่นชนไข่ โดยการย้อมเปลือกไข่ให้เป็นสีแดง และใส่ตะกร้าห้อยไปมา เป็นประเพณีที่มีมาช้านาน

ประเพณีโล้ชิงช้า (แย้ขู่อ่าเผ่ว)

จะมีการจัดขึ้นทุกๆ ปี ประมาณปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายน ซึ่งจะตรงกับช่วงที่ผลผลิตกำลังงอกงาม และพร้อมที่จะเก็บเกี่ยวในอีกไม่กี่วัน ในระหว่างนี้อาข่าจะดายหญ้าในไร่ข้าวเป็นครั้งสุดท้าย หลังจากดายหญ้าแล้วก็รอการเก็บเกี่ยว ตรงกับเดือนของอาข่าคือ “ฉ่อลาบาลา” ชนเผ่าอาข่าถือว่าประเพณีนี้เป็นพิธีกรรมที่มีคุณค่ามากด้วยภูมิปัญญาที่ใช้ในการส่งเสริมความรู้แล้ว ยังเกี่ยวพันกับการดำรงชีวิตประจำวันของชนเผ่าอาข่าอีกมากมาย ทั้งยังเป็นประเพณีทีให้ความสำคัญกับผู้หญิง ผู้หญิงอาข่าจะพร้อมใจกันแต่งกายด้วยเครื่องทรงต่างๆ อย่างสวยงามเป็นกรณีพิเศษในเทศกาลนี้ เพื่อยกระดับชั้นวัยสาวตามขั้นตอน แสดงให้คนในชุมชนได้เห็น พร้อมทั้งขึ้นโล้ชิงช้า และร้องเพลงทั้งลักษณะเดี่ยวและคู่ ในการจัดประเพณีโล้ชิงช้าแต่ละปีของอาข่า จะต้องมีฝนตกลงมา ถ้าปีไหนเกิดฝนไม่ตก อาข่าถือว่าไม่ดี ผลผลิตที่ออกมาจะไม่งอกงาม

สำหรับบ้านปางขอนอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงรายราว 20-30 กิโลเมตร ผู้คนในหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นชาวเขาที่ดำรงชีวิตโดยการปลูกบ้านเรือนตามไหล่เขา มีอาชีพหลักคือทำการเกษตร จุดเด่นที่เรียกว่าเป็นอัตลักษณ์ของบ้านปางขอนคือ เสน่ห์ของการผสมผสานของดอกพญาเสือโคร่ง หรือซากุระเมืองไทย และกาแฟ ซึ่ง กาแฟปางขอน มีชื่อเสียงมาก เมื่อไปถึงแล้วถ้าไม่ชิมกาแฟปางขอนถือว่าพลาด

คำสำคัญ
อาข่า
หมวดหมู่
ชาติพันธุ์
สถานที่ตั้ง
บ้านปางขอน
หมู่ที่/หมู่บ้าน บ้านปางขอน
ตำบล ห้วยชมภู อำเภอ เมืองเชียงราย จังหวัด เชียงราย
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
บุคคลอ้างอิง สิริรัตน์ โอภาพ อีเมล์ sirirat_kn@hotmail.com
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่