ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 15° 17' 33.2653"
15.2925737
ลองจิจูด (แวง) : E 104° 5' 24.5778"
104.0901605
เลขที่ : 192551
บุญผะเวสบ้านโนนลาน ตำบลเป๊าะ อำเภอบึงบูรพ์
เสนอโดย ศรีสะเกษ วันที่ 25 มีนาคม 2563
อนุมัติโดย ศรีสะเกษ วันที่ 25 มีนาคม 2563
จังหวัด : ศรีสะเกษ
0 359
รายละเอียด

ประเพณีบุญผะเวสบ้านโนนลาน

บ้านโนนลาน ตำบลเป๊าะ อำเภอบึงบูรพ์ จังหวัดศรีสะเกษ ชาวบ้านเป็นคนไทยอีสาน ประชาชนในหมู่บ้านโดยส่วนมากจะเดินทางไปขายแรงงานในต่างประเทศ ถือเป็นหมู่บ้านที่มีเศรษฐกิจดีหมู่บ้านหนึ่งของอำเภอบึงบูรพ์ แต่จุดเด่นของหมู่บ้านอีกประการหนึ่ง คือ ยังคงมีการอนุรักษ์ประเพณีของท้องถิ่นไว้ได้เป็นอย่างดี โดยมีวัดบ้านโนนลานเป็นศูนย์ในการดำเนินกิจกรรมด้านวัฒนธรรมของท้องถิ่น ประเพณีที่ชาวบ้านโนนลานปฏิบัติสืบต่อกันมา คือ งานประเพณีบุญผะเวส ซึ่งจะทำก่อนการทำนาของทุกปี ทั้งนี้ เนื่องจากมีความเชื่อเกี่ยวเนื่องกับการประกอบอาชีพของชาวบ้านโนนลาน

ช่วงเวลาที่จัด (ระบุวันเดือนและเวลาให้ชัดเจน)

นิยมทำกันในวันหนึ่งวันใดของเดือนสี่ จึงบุญผเวส หรือบุญเดือนสี่

ประวัติความเป็นมา

ประเพณีบุญพระเวส หรือเทศน์มหาชาติ มีมูลเหตุมาจากพระคัมภีร์มาลัยหมื่นและพระคัมภีร์มาลัยแสน เชื่อว่าถ้าผู้ใดปรารถนาที่จะพบพระศรีอาริยเมตไตรย หรือเข้าถึงศาสนาของพระพุทธเจ้าแล้วจงอย่าได้ทำบาปหนัก ได้แก่ ฆ่าและข่มเหงบิดามารดา สมณพราหรณาจารย์ ทำร้ายพระพุทธเจ้าและยุยงให้สงฆ์แตกกัน รวมทั้งให้ตั้งใจฟังธรรมเทศนา เรื่องมหาเวสสันดรชาดกให้จบสิ้นภายในวันเดียว คำว่า มหาชาติ หมายถึง ชาติใหญ่หรือชาติสุดท้ายขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้สร้างบารมี พระชาติที่เป็นพระเวสสันดร หรือจะเรียกว่ามหาเวสสันดรชาดกก็ได้ งานบุญผเวสหรือบุญเทศน์มหาชาติ จัดเป็นใหญ่ จะมีการจัดงานติดต่อกันสามวันเป็นอย่างน้อย

ความมุ่งหมายของประเพณี

เชื่อกันว่า การฟังเรื่องราวมหาเวสสันดกให้จบในวันเดียว แล้วนำไปปรับใช้ จะได้พบพระศาสดา เมื่อถึงเดือนสี่จะต้องทำบุญผะเวส หากไม่ทำก็จะทำให้เกิดภัยพิบัติ บ้านเมืองจะเกิดเหตุร้ายแรง ดังนั้น ชาวบ้านโนนลานจึงกำหนดทำบุญผะเวสเป็นประจำทุกปี

ขั้นตอนการปฏิบัติงานหรือพิธีกรรม

ก่อนจัดงานชาวบ้านและวัดจะมีการปรึกษาหารือกัน ตกลงให้เรียบร้อยก่อนเกี่ยวกับวันในการจัดงาน ทั้งนี้ เพื่อให้ชาวบ้านรับทราบ ชาวบ้านก็จะได้จัดเตรียมอาหารการกิน เช่น ขนม ข้าวต้ม และอาหารคาวต่าง ๆ สำหรับถวายพระภิกษุสามเณร และเลี้ยงแขกที่มาร่วมงาน เตรียมหาปัจจัยไทยทานสำหรับใสกัณฑ์เทศน์ ส่วนทางวัดก็แบ่งหนังสือออกเป็นกัณฑ์ ๆ หนังสือผูกหนึ่งอาจแบ่งเป็นหลายกัณฑ์ก็ได้ เพื่อให้ชาวบ้านได้รับกัณฑ์โดย ทั่วถึงกัน มอบหนังสือให้พระภิกษุสามเณรวัดนั้นเตรียมไว้เทศน์ นอกจากนั้นยังมีการนิมนต์พระวัดอื่น ๆ มาเทศด้วยโดยมีฏีกาไปนิมนต์ พร้อมบอกชื่อกัณฑ์และบอกเชิญชวนชาวบ้านมาร่วมทำบุญด้วย

ก่อนมีงานบุญผะเวสหลายวันชาวบ้านโนนลานทั้ง ๓ หมู่ จะพากันไปรวมกันที่วัดช่วยกันจัดทำที่พักสำหรับผู้มาร่วมงานและช่วยกันจัดทำดอกไม้จัดตกแต่งประดับประดาศาลาโรงธรรมด้วยดอกไม้ พวงมาลัยและธงทิว พวกผู้ใหญ่จะจัดทำหมากพันคำเมี่ยงพันคำ เทียนธูป มีดดาบ อย่างละพันและข้าวตอกดอกไม้ไว้บูชาคาถาพัน

ดอกไม้ที่จัดมีดอกบัว ดอกกางของ ดอกผักตบชวา อย่างละพันดอก ธงพันผืนทำด้วยเศษผ้า กระดาษสี ขึงด้วยสายสิญจน์ ดั้งหม้อน้ำมนต์ มีขันหมากเบ็ง (ขันบายศรี) แปดอัน โอ่งน้ำ ๔ โอ่ง ตั้งไว้สี่มุมของธรรมาสน์ ในโอ่งน้ำมีจอก แหน (สาหร่าย) ดอกไม้ชนิดต่าง ๆ เช่น ดอกจิกดอกรัง (ดอกเต็งรัง) ดอกบัว ดอกบานไม่รู้โรย ดอกรัก ฯลฯ และใบบัวปั้นรูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น รูปนก วัว ควาย ช้างม้า ฯลฯ เอาไว้ที่ใต้ธรรมาสน์ ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านมีการปรับเปลี่ยนบางส่วนเพื่อให้เหมาะสมกับยุคสมัย และคนที่ทำเป็นก็มีน้อย นอจากนี้แล้วยังเอาธงใหญ่แปดธงปักรอบโรงธรรมนอกศาลาในทิศทั้งแปด เพื่อหมายว่าเป็นเขตปลอดภัยป้องกันพญามารไม่ให้ล้ำเข้ามา ตามเสาธงมีใส่ข้าวพันก้อน ซึ่งปกติสานเป็นพานด้วยไม้ไผ่ บางแห่งสานเป็นตาด้วยไม้ตอกเป็นคีรีวงกตไว้รอบศาลา และทำเป็นทางเข้าศาลาโรงธรรม คดเคี้ยวไปมาบนศาลาด้านตะวันออกของศาลาโรงธรรม ปลูกหอพระอุปคุตขึ้นไว้พร้อมมีสิ่งเหล่านี้อยู่บนหอด้วย คือ มีบาตร ๑ ใบ กระโถน ๑ ใบ กาน้ำ ๑ ใบ ร่ม ๑ คัน และสบงจีวร ๑ ชุด สำหรับถวายพระอุปคุต การจัดตกแต่งดังกล่าวจะจัดให้เสร็จเรียบร้อยก่อนวันงาน

งานบุญพระเวสหรือบุญเทศน์มหาชาติ ถือเป็นงานใหญ่ของหมู่บ้าน จะมีการจัดงานติดต่อกันสามวันเป็นอย่างน้อย

วันแรกเป็นวันเตรียมงาน เรียกว่า “วันรวมหรือวันโฮม” วันนี้นอกจากจะมีประชาชนในหมู่บ้านมาร่วมงานแล้วจะมีพิธีแห่พระอุปคุต

การนิมนต์พระอุปคุต ในตอนเช้ามือของวันรวมประมาณสี่หรือห้านาฬิกาจะมีพิธีนิมนต์ พระอุปคุต โดยก่อนเริ่มพิธีการมีการนำก้อนหินขนาดพอสมควรไปวางไว้ในหวังน้ำหรือที่ใดที่หนึ่งก็ได้ ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากวัดเท่าใดนัก พอถึงเวลาก็มีการแห่พานดอกไม้ธูปเทียน ขันห้าขันแปดไปยัง ณ สถานที่ก้อนกินวางอยู่ซึ่งสมมุติว่าเป็นพระอุปคุต พอไปถึงทีดังกล่าวจะมีผู้ไปหยิบก้อนหินชูขึ้นและถามว่าเป็นพระอุปคุตหรือไม่ สองก้อนแรกจะได้รับคำตอบว่าไม่ใช่ จึงมีการกล่าวคำอาราธนาพระอุปคุตใส่พานหรือถาดและจะมีการจุดประทัดหรือยิงปืนกันตูมตาม แล้วก็มีการแห่แหนพระอุปคุตพร้อมตีฆ้องตีกลองอย่างครึกครื้นเข้ามายังวัด แล้วจึงนำมาประดิษฐานไว้ที่หอพระอุปคุตด้านข้างศาลาโรงธรรมซึ่งจัดเตรียมไว้แล้ว ปัจจุบันการแห่พระอุปคุตคนเข้าร่วมน้อยเนื่องจากทำแต่เวลาเช้า ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่เกี่ยวข้องจริงที่มาร่วมพิธี เด็กรุ่นใหม่ในหมู่บ้านไม่ค่อยจะรู้ว่างานบุญผะเวสมีการแห่พระอุปคุตด้วย

การนิมนต์พระอุปคุตมาเมื่อมีบุญผะเวส ก็เพื่อให้มีความสวัสดีมีชัยและเพื่อให้การจัดงาน

สำเร็จราบรื่นไปด้วยดี

วันที่สองก็มีจะพิธีแห่งพระเวสสันดร นางมัทรี กัณหา ชาลี เข้าเมืองเป็นการแห่มาจากทุ่งนา ป่าเขา เข้ามายังศาลาที่ตกแต่งไว้ ขบวนแห่นี้จะมีดนตรีพื้นเมือง เช่น แคน ซุง (ซึง-พิณ) กลอง และฟ้อนรำ ปัจจุบันมีคณะกลองยาวเข้ามาร่วมด้วยเพื่อเพิ่มความสนุกสนาน

การแห่ผะเวส พอตอนบ่ายสามหรือสี่โมงในวันรวม ชาวบ้านมาร่วมกันที่วัดเตรียมตัว (ทุกคนเตรียมดอกไม้ไปด้วย) จัดขบวนแห่ไปอัญเชิญพระเวสสันดรและพระนางมัทรีเข้าเมือง โดยสมมุติให้พระเวสสันดรและพระนางมัทรีไปอยู่ป่าแห่งใดแห่งหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นป่าจริงหรือทุ่งนาหรือลานหญ้าก็ได้แล้วแต่เหมาะสม พิธีนี้มีการอัญเชิญพระพุทธรูป ๑ องค์ และพระภิกษุ ๔ รูป ขึ้นเสลี่ยงหามไปยัง ณ ที่สมมุติว่าพระเวสสันดรและนางมัทรีประทับอยู่ (ไม่ห่างจากวัดเท่าใดนัก) พอไปถึงที่ดังกล่าว ซึ่งเป็นที่เริ่มต้นแห่ผเวสก่อนเริ่มต้นแห่มีการอาราธนาศีลและรับศีลห้าก่อน แล้วทำพิธีบายศรีสู่ขวัญพระเวสสันดรกับนางมัทรีและนิมนต์พระเทศน์กัณฑ์กษัตริย์เสร็จแล้วกล่าวอัญเชิญพระเวสสันดรและนางมัทรีเข้าเมืองโดยหามเสลี่ยงพระพุทธรูปและพระภิกษุออกนำหน้าก่อน ปัจจุบันจะกำหนดจุดที่รถสามารถเข้าถึง ทั้งนี้เพื่อแห่พระพุทธรูปและพระสงฆ์ หรือหากไม่ใช้รถก็จะเดินด้วยเท้าเอา ไม่มีการแห่ด้วยเสลี่ยงเหมือนในอดีต พอขบวนแห่มาถึงวัด จะทำการแห่งรอบโบสถ์หรือรอบศาลาโรงธรรมโดยเวียนขวา ๓ รอบ แล้วนำพระพุทธรูปไปประดิษฐานไว้ ณ ที่เดิม นิมนต์พระสงฆ์ลงจากรถ ชาวบ้านนำธูปเทียนไปวางไว้ ณ ที่จัดไว้จากนั้นก็แยกย้ายกันกลับบ้าน

พอถึงตอนค่ำก็จะรวมกันอีกครั้งหนึ่ง จึงอาราธนาพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ เมื่อพระสวดพระพุทธมนต์จบ ก็จะขึ้นสวดบนธรรมาสน์อีก ๔ ครั้ง ครั้งละ ๒ รูป รวม ๘ รูป คือ สวดอิติปิโส โพธิสัตว์บั้นต้น-บั้นปลาย และสวดชัยตามลำดับ ต่อไปนิมนต์พระขึ้นเทศน์ พระมาลัยหมื่น พระมาลัยแสน ก่อนพระเทศน์เอาคาถาพระอุปคุตทั้ง ๔ บท ปักไว้ที่ข้างธรรมมาสน์ เมื่อพระเทศน์จบแล้วชาวบ้านจะแยกย้ายกันไปพักผ่อนวันที่สามคือ พอจวนสว่าง ประมาณตีสาม ตีสี่ ชาวบ้านจึงแห่ข้าวพันก้อนไปถวายพระอุปคุตที่วัดแล้ววางข้าวพันก้อนไว้ตามธงหรือตามภาชนะที่จัดไว้ เมื่อแห่ข้าวพันก้อนเสร็จ ก็ประกาศป่าวเทวดาและอาราธนานิมนต์พระเทศน์สังกาสเสร็จแล้วก็อาราธนาเทศน์มหาชาติ พระจะเทศน์มหาชาติตลอดวัน ขึ้นต้นจากกัณฑ์ทศพรจนถึงนครกัณฑ์ เมื่อจบแล้วมีการเทศน์ฉลองพระเวสสันดรอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งกว่าจะเทศน์จบทุกกัณฑ์ก็ต้องค่ำพอดี เมื่อเทศน์มหาชาติจบจัดขันดอกไม้ ธูปเทียน กล่าวคำคารวะพระรัตนตรัยจบเป็นเสร็จพิธีบุญผเวส

การฟังเทศน์มหาชาติให้จบภายในวันเดียวซึ่งเป็นอานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่ในระหว่างที่พระเทศน์อยู่นั้น ชาวบ้านจะนำกัณฑ์เทศน์มาถวายพระผู้เทศน์อยู่ตลอดเวลา เรียกว่า “กัณฑ์หลอน” โดยเรี่ยรายเงินบูชากัณฑ์เทศน์ในละแวกบ้าน แห่กัณฑ์เทศน์เข้ามาตอนเทศน์ก็จะถวายพระรูปนั้น โดยไม่ได้เจาจงว่าจะถวายพระนักเทศน์รูปใด ถ้าไปแอบดูให้แน่เสียก่อนว่าพระที่ตนนิมนต์มาเทศน์จึงแห่เข้าไปถวาย เรียกว่า “กันจอบ” (จอบ ภาษาอีสาน หมายถึง แอบดู)

สถานที่ตั้ง
บ้านโนนลาน
เลขที่ 19 หมู่ที่/หมู่บ้าน 1
ตำบล เป๊าะ อำเภอ บึงบูรพ์ จังหวัด ศรีสะเกษ
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
บุคคลอ้างอิง นายเฉลียว พิมพ์ประจบ
เลขที่ 19 หมู่ที่/หมู่บ้าน 1
ตำบล เป๊าะ อำเภอ บึงบูรพ์ จังหวัด ศรีสะเกษ
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่