ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 15° 28' 23.9999"
15.4733333
ลองจิจูด (แวง) : E 104° 4' 18.0001"
104.0716667
เลขที่ : 192555
เลี้ยงยะจัวะ บ้านกุง ตำบลกุง อำเภอศิลาลาด จังหวัดศรีสะเกษ
เสนอโดย ศรีสะเกษ วันที่ 25 มีนาคม 2563
อนุมัติโดย ศรีสะเกษ วันที่ 25 มีนาคม 2563
จังหวัด : ศรีสะเกษ
0 476
รายละเอียด

การเลี้ยงยะจัวะ บ้านกุง

ช่วงเวลาที่จัด (ระบุวันเดือนและเวลาให้ชัดเจน)

วันพุธเดือนหก-เดือนเจ็ด (เดือนอีสาน) จะข้างขึ้น หรือข้างแรมก็ได้แต่ส่วนมากนิยมเลี้ยงข้างขึ้นวันพุธแรกของเดือนหก

ประวัติความเป็นมา

ยะจัวะ หรือ ผีปู่ตา หรือ ผีเจ้าที่ ที่เชื่อกันว่าเป็นผู้ทำหน้าที่คุ้มครองหมู่บ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข การเลี้ยงยะจัวะ ก็คือการเลี้ยงสังเวยผีเจ้าที่ประจำหมู่บ้านนั้นเอง ความเชื่ออย่างนี้สืบต่อกันตั้งบรรพบุรุษและยึดถือปฏิบัติจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้จะเปลี่ยนไปบ้างตามยุคตามสมัย สังเกตได้ว่าเมื่อมีการตั้งบ้านเรือนกันแล้วจะต้องหาที่เหมาะ ๆ สร้างศาลเจ้าปู่ตาไว้ทิศเหนือบ้านบ้างทิศใต้บ้านบ้าง หรือแล้ว แต่ความเหมาะสม แต่ส่วนมากจะเลือกสถานที่เป็นป่ามีต้นไม้ใหญ่ ๆ เป็นที่เกรงขาม ยิ่งถ้าปลุกผีปู่ตาขึ้นมารักษาป่าแล้วคนจะไม่รุกล้ำเข้าไปแพ้วถางป่า หรือถ้ามีคนเข้าไปบุกรุกก็จะมีอันเป็นไปต่าง ๆ นานา คนยิ่งเชื่อว่าเป็นอิทธิฤทธิ์ของเจ้าพ่อปู่ตาผู้รักษาภูมิสถานที่นั้นทำให้เกิดเหตุการณ์ขึ้น ชาวบ้านมักเรียกป่านั้นว่า“ ดอนปู่ตา” หรือ “ ดงปู่ตา ” “ เฒ่าจ้ำ” “เข้าจ้ำ” “ตาจ้ำ” “ขะจ้ำ” เป็นสรรพนามเรียกผู้เลี้ยง ปู่ตา พอถึงวันพุธเดือนหก (๖) จะข้างขึ้น หรือข้างแรมก็ได้แต่ส่วนมากนิยมเลี้ยงข้างขึ้นวันพุธแรกของเดือนหก เฒ่าจ้ำจะป่าวประกาศให้ชาวบ้านในท้องถิ่นทราบและมีลูกน้องเฒ่าจ้ำออกรับบริจาคตามบ้านเรือนมาซื้อหาอาหารเครื่องสังเวยไปเลี้ยงผีปู่ตา ชาวบ้านเชื่อว่าเฒ่าจ้ำสามารถสื่อสารกับผีปู่ตาได้ ถ้าทำผิดผีปู่ตา คนนั้นก็จะให้เฒ่าจ้ำพาไปขอขมาลาโทษที่ได้ล่วงเกินขออ่อนยอมถ้าหายจะเลี้ยงปู่ตาด้วย “เหล้าไหไก่ตัว”

ประเภทของผีที่ชาวเยอนับถือและต้องมีการบูชาเป็นประจำคือ

๑) การบูชาผีบรรพบุรุษ“ขึ้นของรักษา”

จากการสอบถามและสัมภาษณ์ นางสุข วรรณวงษ์ ทราบว่า การขึ้นของรักษา

เป็นการเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษของชาวเยอ วัตถุประสงค์เพื่อบูชาบรรพบุรุษให้ช่วยดูแลปกปักรักษาลูกหลานให้อยู่เย็นเป็นสุข โดยแต่ละบ้านจะมีผีบรรพบุรุษของตนเอง ส่วนใหญ่จะเป็น บ้านญาติผู้ใหญ่ที่สืบเชื้อสายบรรพบุรุษเดียวกัน หรือถ้าไม่ไปขึ้นของรักษาที่อื่น ก็จะกราบไหว้ผีบรรพบุรุษที่บ้านของตน โดยทั่วในบ้านของชนเผ่าเยอจะมีหิ้งบูชาผีบรรพบุรุษ การบูชาผีบรรพบุรุษ จะใช้ดอกไม้ในการบูชา เรียกว่า ขัน ๕ (ดอกไม้ ๕ คู่) ขันแปด (ดอกไม้ ๘ คู่) การขึ้นของรักษา จะทำในวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ หรือแรม ๘ ค่ำของทุกเดือน โดยในช่วงเย็นของวันดังกล่าวชาวเยอจะนำดอกไม้ไปยังบ้านที่ ที่เป็นที่ตั้งศาลผีบรรพบุรุษ จะจุดธูปเทียนบูชา และกล่าวนโม ๓ จบ บูชาพระรัตนตรัย และกล่าวคำขอบูชาบรรพบุรุษ ใจความคร่าว ๆ คือ ขอให้บรรพบุรุษโปรดดูแลลูกหลานในครอบครัวให้มีสุขภาพแข็งแรง เดินทางไปมาปลอดภัย ทำมาค้าขึ้น

๒) การบูชาแม่พระธรณี

จากการสอบถามและสัมภาษณ์ นางสุข วรรณวงษ์ ทราบว่า การบูชาแม่พระ

ธรณีเป็นการเซ่นไหว้ที่เจ้าที่ ผู้ปกปักรักษาคนในครอบครัว (บ้าน) ให้อยู่เย็นเป็นสุข ในช่วงเช้าของการขึ้นเดือนใหม่ ชาวเยอจะนำของไหว้บูชาแม่พระธรณี ไปวางไว้บริเวณเสาเอกของบ้าน ซึ่งชื่อว่าแม่พระธรณีสิงสถิตอยู่ในนั้น ของไหว้ประกอบด้วย ดอกไม้ ๕ คู่ หมากพลู ๔ คู่ ยาสูบ ๔ คู่ ธูปเทียน ๙ อัน ข้าวโรยด้วยน้ำตาล และน้ำเปล่า ในตอนเช้าของวันขึ้นเดือนใหม่ชาวเยอจะนำของไหว้ไปวางหน้าเสาเอกของบ้าน จุดเทียน ๒ เล่ม และบอกกล่าวพระแม่ธรณี ใจความคร่าว ๆ คือ วันนี้ขึ้นเดือนใหม่แล้ว ขอแม่พระธรณีผู้เป็นเจ้าของบ้านหลังนี้ ขอจงปกปักรักษาคนในบ้านหลังนี้ให้อยู่เย็นเป็นสุข อย่าได้มีเหตุการณ์หรือเรื่องร้ายใดเกิดขึ้นแก่คนในครอบครัวนี้ จากนั้นจะวางของไหว้วางตรงเสาเอกไว้จนถึงค่ำจึงจะมาเก็บไปขุดหลุมฝัง

๓) การบูชาผีตาแฮก“เลี้ยงนา”

จากการสอบถามและสัมภาษณ์ นางสุข วรรณวงษ์ ทราบว่า การบูชาผีตาแฮก

“เลี้ยงนา” เป็นการเซ่นไหว้ผีที่เฝ้าดูแลรักษาที่นา ซึ่งถือเป็นที่ทำมาหากิน เป็นน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตของชนเผ่าเยอ การบูชาผีตาแฮกจะทำ ๒ ครั้ง คือ ก่อนทำนา และก่อนเก็บเกี่ยว โดยของที่นำมาบูชาผีตาแฮก ประกอบด้วย ไก่ต้ม พาคาว พาหวาน ในการบูชาก็จะจุดธูปเทียนบอกกล่าวเจ้าที่ มีใจความคร่าว คือ ขอบูชาท่านเจ้าที่ผู้ดูแลที่นาแห่งนี้ โปรดได้ดลบันดาลให้ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ดี เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วจะแบ่งข้าวจากนาให้กับผีตาแฮก จำนวน ๑ ตัน (แล้วแต่จะพูด)

๓.๓ ความมุ่งหมายของประเพณี

ตั้งแต่สมัยโบราณกาลมนุษย์เราเกิดมาในโลกและรวมกันเป็นหมู่คณะ เช่นครอบครัว หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด ซึ่งเป็นหมู่น้อยไปหาหมู่ที่ใหญ่ย่อมมีสิ่งยึดถือรวมกัน ด้านจิตใจนั้นเพื่อให้หมู่คณะมีความสุขไม่แตกแยกความสามัคคีกันปราศจากภัยอันตรายทั้งหลาย มาบังเบียดก็ต้องมีสิ่งนับถือและศักดิ์สิทธิ์ แล้วยึดถือและปฏิบัติร่วมกัน ทำให้จิตใจเป็นสุข และก็อยู่กันอย่างผาสุก

“ยะจัวะ” หรือ ผีปู่ตา เป็นผีประจำบ้าน ซึ่งชาวบ้านกุง มีความเชื่อว่า ยะจั่วะ จะเป็นผีที่ให้ความคุ้มครอง ชาวบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข ทั้งชาวบ้านที่อยู่ในหมู่บ้าน และชาวบ้านที่จากไปทำงานนอกบ้าน


๓.๔ ขั้นตอนปฏิบัติงานหรือพิธีกรรม

ชาวบ้านกุงที่อยู่ในหมู่บ้าน และชาวบ้านที่จากไปทำงานนอกบ้านเป็นเวลานานๆ ก็จะมีการบนบาน เพื่อให้ผีปู่ตาคุ้มครองในกรณีที่จะไปทำงานต่างถิ่นจะต้องนำดอกไม้ ธูป เทียน ไปหาเจ้าจ้ำ (ตัวแทนยะจัวะ) เพื่อให้เจ้าจ้ำเป็นผู้บอกกล่าวกับยะจัวะ เมื่อกลับมาจากการทำงานก็จะต้องไปแก้บน โดยนำเหล้า น้ำส้ม ผลไม้ ไก่ต้มสุก 1 ตัว ดอกไม้ ขันห้า เงินตามกำลังศรัทธา ขวดน้ำ นำไปให้เจ้าจ้ำเพื่อนำไปเลี้ยงยะจัวะการบนบานเพื่อให้ผีปู่ตาคุ้มครอง เช่น ให้พ้นจากโรคภัยไขเจ็บบนบานเพื่อไม่ให้ติดทหาร เป็นต้น

การเลี้ยงยะจัวะ เป็นการเลี้ยงเพื่อให้ชาวบ้านในหมู่บ้านอยู่เย็นเป็นสุข พิธีจะจัดขึ้นในเดือน 6 ขึ้น วันพุธ (ประมาณ เดือนพฤษภาคมจะเป็นวันพุธสัปดาห์ไหนก็ได)ก่อนจะถึงฤดูทำนาโดยเจ้าจ้ำ จะเป็นประธานในการจัดเลี้ยงในครั้งนี้ เจ้าจ้ำจะแต่งตั้งคณะกรรมการในหมู่บ้านทุกครัวเรือน เพื่อนำมาจัดเตรียมข้าวปลาอาหารและเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ อันได้แก่ เหล้า น้ำส้ม ไก่ ผลไม้ เทียน ดอกไม้ ธูป ขันห้า มหรสพต่างๆ พอถึงวันที่กำหนดชาวบ้านจะมาพร้อมกันในบริเวณหน้าหอยะจัวะ ซึ่งบริเวณนั้นจะจัดเตรียม ให้สะอาดเรียบร้อย เจ้าจ้ำจะนำข้าวปลา อาหารพร้อมเครื่องเซ่นไหว้มาเลี้ยงลูกบ้านที่ร่วมกัน ณ บริเวณนั้น และคบงันกันจนได้เวลาพอสมควรจึงได้เลิกลาไป ถ้าหากการเลี้ยงยะจัวะเป็นที่พอใจของผีปู่ตา คนในหมู่บ้านจะอยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีอุปสรรคในการดำเนินชีวิตประจำวัน โรคภัยไข้เจ็บไม่คุกคามตอนเช้า พิธีนี้มี "จ้ำ" เป็นผู้ดำเนินการ โดยป่าวประกาศให้ลูกบ้านทราบว่าจะทำพิธีวันไหน และให้ ลูกบ้านบริจาคเงิน ข้าวของตามศรัทธาให้แก่จ้ำ เพื่อจะได้นำไปซื้อเครื่องเซ่นมาทำพิธี ซึ่งมีไก่ ๓ ตัว เหล้า ๑ ขวด บุหรี่ ยาสูบ หมาก ผ้าซิ่น ดอกไม้ และธูปเทียน
เมื่อถึงวันพิธี ชาวบ้านทุกครอบครัวไปร่วมงาน ซึ่งจัดขึ้นเวลาเช้า ณ ศาลปู่ตาประจำ หมู่บ้าน ในพิธีมีการเสี่ยงทายโดยใช้ไก่ ๓ ตัว เป็นเครื่องเสี่ยงทาย ๓ กรณี คือ

- ไก่ตัวที่ ๑ เสี่ยงทายเรื่องเกี่ยวกับมนุษย์

- ไก่ตัวที่ ๒ เสี่ยงทายเกี่ยวกับฝนฟ้าอากาศ

- ไก่ตัวที่ ๓ เสี่ยงทายเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงและพืชพันธุ์

โดยดูจากลักษณะปลายขากรรไกรล่างทั้งสองข้างของไก่ ว่ามีลักษณะเป็นอย่างไรบ้าง ทำนายตามผลที่ปรากฏส่วนการทำนายตามลักษณะไก่ คือ ดึงเอาขากรรไกร (ปากล่าง) ของไก่ที่บูชาตาแล้ว ออกมา แล้วดูว่าปลายขากรรไกรทั้งสองข้าง(ซึ่งมีลักษณะเป็นสองง่าม) เป็นอย่างไร

๑. ถ้าปลายง่ามห้อยตกลงหรือไม่เสมอกัน หมายถึงในปีนั้นสัตว์เลี้ยงจะไม่สบาย เกิดโรค ถ้าเกี่ยวกับคนทายว่าจะแตกความสามัคคี เจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าเกี่ยวกับพืชพันธุ์ธัญญาหาร ก็จะไม่สมบูรณ์

๒. ถ้าง่ามขากรรไกรทั้งสองข้างยาวเท่ากัน จะหมายถึงมีความอุดมสมบูรณ์ทั้งสัตว์เลี้ยง ผู้คน และพืชพันธุ์

๓. ถ้าขากรรไกรมีสีขาว แสดงว่า ฝนแล้ง

๔. ถ้าขากรรไกรมีสีดำ แสดงว่า ฝนฟ้าดี

สำหรับชาวเยอบ้านกุงแล้วจะให้ความสำคัญในเรื่องการบูชายะจั่วะ เป็นอย่างมาก กล่าวคือ ใครที่เป็นลูกหลานชาวเยอบ้านกุง จะมียะจั่วฮ คอยดูแลให้อยู่เย็นเป็นสุขปลอดภัย นอกจากการเซ่นประจำปีแล้ว (วันพุธของเดือนหก-เดือนเจ็ด) ชาวเยอจะมีการเซ่นไหว้บูชายะจั่วะฮ ในหลายโอกาส

สำหรับศาลยะจั่วะ ของบ้านกุง จะมี ๒ ศาล คือ

-ศาลเจ้าพ่อใหญ่จะบูชาเซ่นไหว้ด้วย กล้วยสุด ๒ หวี น้ำส้ม ๑ ขวด เหล้าขาวขวดเล็ก ๑ ขวด

-ศาลเจ้าปู่ (เฒ่านำ)จะบูชาเซ่นไหว้ด้วย ไก่ ๑ ตัว เหล้า ๑ ขวด น้ำส้ม ๑ ขวด

จากการสัมภาษณ์และสอบถาม นางสุข วรรณวงษ์ ซึ่งเป็นจ้ำ (ผู้บอกกล่าว/ผู้ติดต่อกับยะจั่วะฮ) ซึ่งสืบทอดมาจากพ่อซึ่งเป็นจ้ำ ทราบว่า ชาวเยอจะเข้าไปเซ่นไหว้บูชายะจั่วะฮ ได้ทุกวัน สามารถแบ่งลักษณะการเข้าไปบูชาได้พอสังเขปดังนี้

-การบูชาทั่วไปเพื่อขอพรให้ยะจั่วะฮ คุ้มครองดูแลให้โชคดี เช่น ลูกหลานจะไปสอบเรียนต่อ สอบเข้าทำงาน ก็จะนำดอกไม้ ๒ คู่มาบูชาเซ่นไหว้ พร้อมจุดธูปเทียนบอกกล่าวยะจั่วะเป็นภาษาเยอ มีใจความว่าให้ยะจั่วะฮ ดูแลลูกหลาเชื่อนี้ เป็นลูกของใคร ชื่อจริงว่าอย่างไร จะไปทำอะไร ที่ไหน วันไหนก็จะบอกกล่าวให้ยะจั่วะฮค่อยดูแลให้ลูกหลานประสบผลสำเร็จตามที่ตั้งอธิษฐาน การบูชาเพื่อขอพรสามารถบอกกล่าวด้วยตนเองได้ ไม่ต้องมีจ้ำมาด้วย สามารถมาบูชาเซ่นไหว้ได้ทุกวัน

-การบูชาเซ่นไหว้เพื่อบูชามอบสิ่งของให้ยะจั่วะฮ ดูแล เช่น มอบรถ มอบโรงงาน ส่วนใหญ่จะมอบในวันพุธ โดยจะมีจ้ำมาทำพิธีบอกกล่าวยะจั่วะฮ โดยมีการบูชาจ้ำ ๑๒ บาท เรียกว่า ค่าคาย ลักษณะการบอกกล่าวจะคล้ายกับการบูชาทั่วไป ถ้าไม่ได้นำสิ่งของนั้นมา ก็จะบอกยะจั่วะว่าสิ่งของเป็นอะไร ตอนนี้อยู่ที่ไหน จะใช้ทำอะไรชาวเยอที่ใช้รถยนต์เวลาเดินทางออกจากบ้านขับผ่านบริเวณปู่ตา จะบีบแตร ๓ ครั้ง พร้อมกับยกมือไหว้ อธิษฐานขอให้ยะจั่วะฮ ดูแลให้เดินทางโดยปลอดภัย

-การบูชาเซ่นไหว้เพื่อบูชามอบคน ชาวเยอบ้านกุง เชื่อว่าลูกหลานที่แต่งงานกับคนบ้านอื่น เมื่อแต่งงานแล้วจะต้องนำสามี หรือภรรยา ที่เป็นคนบ้านอื่นมามอบให้ยะจั่วะฮ ดูแล เรียกว่า “มอบเขย”“มอบสะใภ้” การมอบก็จะทำในวันพุธเช่นเดียวกัน โดยจะมามอบที่ศาลยะจั่วะฮ หรือที่บ้านจ้ำได้ โดยจะมีจ้ำเป็นคนบอก มีค่าบูชาจ้ำ (ค่าคาย) ๔๐ บาท การบอกกล่าวจะเป็นภาษาเยอ มีเนื้อความว่านางหรือนายนี้ เป็นลูกของคนนี้ เป็นลูกหลานบ้านกุง ได้แต่งงานกับนาง/นาย คนนี้ ขอมอบให้ยะจั่วะฮ ดูแลเป็นลูกหลานบ้านกุงถ้าสะใภ้หรือเขย มีสิ่งของ เช่น รถยนต์ ก็จะจะมอบรถยนต์ด้วยพร้อมกัน

คุณค่าของพิธีเลี้ยงยะจัวะของชาวเยอบ้านกุงมีดังนี้

๑. เพื่อเป็นที่เคารพบูชาของคนทั่วไป จะได้เป็นม่งขวัญคู่บ้านคู่เมือง
๒. เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามมาแต่โบราณกาล ซึ่งนับถือกันเป็นทอด ๆ มาจนกระทั่งบัดนี้ และเป็นการเชื่อฟังบรรพบุรุษของชาวบ้านกุง ซึ่งได้บุกเบิกมาเป็นบ้านเป็นเมืองที่ร่มเย็น
๓. ทำให้จิตใจดีขึ้น หมายความว่าเมื่อทุกคนภายในหมู่บ้านหรือเขตแดนที่ใกล้เคียงกับศาลยะจัวะ เมื่อได้ทำพิธีบวงสรวงท่านแล้วจะทำให้จิตใจผ่องใสเบิกบานไม่เศร้าหมอง อารมณ์ร้ายจะกลายเป็นอารมณ์ดีในที่สุด
๔. ทำให้จิตใจเข้มแข็ง สิ่งใดก็ตามถ้าหากว่าเรายึดมั่นและจะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์น่าเคารพบูชา ผลที่ได้จะมีจิตใจเข้มแข็ง ไม่อ่อนแอ ทั้งจะทำให้บรรลุผลสำเร็จในกิจการที่ตนทำ
๕. เพื่อการเสี่ยงทาย เมื่อได้รับความทุกข์ เรามักจะไปเสี่ยงทายโดยให้ผู้ใหญ่ที่นบถือกันทั่วบ้านทั่วเมืองไปกล่าวอธิษฐาน เสี่ยงทายหาโชคชะตาราศรีต่อหน้าศาละจัวะ เช่น จะมานิมิตทางการฝัน หรือการเอาไปแสดงหาโชค และเมื่อลูกบ้านจะไปไหนมักจะไปบอกกล่าวเจ้าปู่เสียก่อน เพื่อขอพรจากท่าน โดยการอธิษฐานแล้วสำนึกในใจ สงบนิ่งสำรวมกาย ซึ่งใช้เวลาพอประมาณ ก็เป็นการรับพรจากท่านแล้ว ต่อไปจึงทำอะไร หรือว่าจะไปไหนมาไหนได้สบายใจ

๖. ทำให้เกิดความสามัคคี เมื่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้นเป็นสิ่งยึดมั่น เช่น ศาสนาหรือการบวงสรวงยะจัวะนั้นต่างก็มีการยึดถือความศักดิ์สิทธิ์ร่วมกันแล้วย่อมจะบังเกิดความสามัคคีขึ้นในหมู่คณะ จะทำอะไรก็ตกลงกันง่าย ไม่ขัดขืนคำสั่งของนายบ้าน เช่น ผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น ถ้าคิดว่าจะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ก็จะร่วมกันทำอย่างไม่ท้อถอย เมื่องานทุกสิ่งทุกอย่างเสร็จได้โดยการร่วมมือกันก็จะทำให้มีความสุขตลอดไป
๗. เพื่อเกิดความสามัคคี การปรับปรุงบำรุงบ้านเมืองให้เจริญจะทำได้ง่ายมากและก็สำเร็จลงด้วยดี

๘.เป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำนาปลูกข้าวอย่างใกล้ชิด ผลคำ ทำนายเป็นเช่นไร

ชาวบ้านมักจะนำไปเป็นข้อมูลในการเตรียมตัวทำนาในปีนั้น ๆ นอกจากนั้นปู่ตา ยังมีความสำคัญกับหมู่บ้านเพราะเป็นที่พึ่งทางใจ เป็นผู้อนุรักษ์ป่าไม้ชุมชนของหมู่บ้านนั้น ๆ ให้ ยังคงอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งอาหารเลี้ยงชุมชนตราบเท่าลูกหลาน

สถานที่ตั้ง
บ้านกุง
ตำบล กุง อำเภอ ศิลาลาด จังหวัด ศรีสะเกษ
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
นางสุข วรรณวงษ์
บุคคลอ้างอิง นางสุข วรรณวงษ์
เลขที่ 62 หมู่ที่/หมู่บ้าน 2
ตำบล กุง อำเภอ ศิลาลาด จังหวัด ศรีสะเกษ รหัสไปรษณีย์ 33160
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่