ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 17° 34' 48.221"
17.5800614
ลองจิจูด (แวง) : E 104° 35' 40.8617"
104.5946838
เลขที่ : 192559
ประเพณีแห่ต้นดอกไม้ไหว้พระธาตุท่าอุเทน
เสนอโดย นครพนม วันที่ 26 มีนาคม 2563
อนุมัติโดย นครพนม วันที่ 30 มีนาคม 2563
จังหวัด : นครพนม
0 1115
รายละเอียด

ความเป็นมา (ภูมิหลัง/ความเชื่อ)
เดือนห้าเป็นห้วงเวลาการเฉลิมฉลองงานสงกรานต์ ซึ่งถือเป็นประเพณีสำคัญของชาวไทยที่สื่อถึงวัฒนธรรมอันดีงามที่ปฏิบัติกันมาช้านานของชาวไทยทุกหมู่เหล่า อาจจะแตกต่างกันไปบ้างในแต่ละท้องถิ่น ดังเช่นชาวตำบลท่าอุเทน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม (ส่วนใหญ่เป็นชาวไทญ้อ ซึ่งเป็นกลุมชาติพันธุ์หนึ่งในจังหวัดนครพนม) ในห้วงเวลาดังกล่าวก็มีการจัด ประเพณีแห่ต้นดอกไม้ เป็นการเฉลิมฉลองที่ถือปฏิบัติกันมาเป็นเวลาช้านานสืบต่อกันมา ประเพณีแห่ต้นดอกไม้ของอำเภอท่าอุเทน มีการปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นประเพณีตั้งแต่โบราณตามหลักความเชื่อทางพระพุทธศาสนาเพื่อน้อมบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก่อให้เกิดสิริมงคลและนำความสุขมาสู่ผู้คนในชุมชน เริ่มจากท่านเจ้าเมืองในสมัยก่อน เมื่อถึงวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๕ ท่านก็จะนำพระพุทธรูปประจำตัวของท่านนำลงมาสรงน้ำตามประเพณีในช่วงวันสงกานต์ และไปสรงน้ำพระที่วัดต่างๆในเมืองท่าอุเทน พร้อมนำต้นดอกไม้ไปถวายโดยมีขบวนแห่ของชาวบ้านแต่ละคุ้มในช่วงเวลาเย็นของทุกวัน หมุนเวียนกันไปจนครบทุกวัดและจะไปสิ้นสุดในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ เป็นวันสุดท้าย โดยการแห่ต้นดอกไม้จะเริ่มในช่วงเวลาเย็นไปถึงวัดประมาณหนึ่งทุ่มของทุกวันเมื่อขบวนแห่ไปถึงก็จะแห่ต้นดอกไม้ไปรอบๆอุโบสถ หรือองค์พระธาตุ จำนวน ๓ รอบ ความหมายคือ รอบที่ ๑ บูชาพระพุทธ รอบที่ ๒ บูชาพระธรรม รอบที่ ๓ บูชาพระสงฆ์ เมื่อครบ ๓ รอบแล้วชาวบ้านก็จะวางต้นดอกไม้ไว้รอบอุโบสถหรือรอบองค์พระธาตุในที่ทางวัดจัดไว้ให้เป็นการถวายเพื่อบูชาพระรัตนตรัย ต้นดอกไม้จะใช้ไม้ไผ่ ขนาดลำพอเหมาะสำหรับหนึ่งคนถือความสูงพอประมาณ (๓ – ๕ เมตร) ประดับด้วยดอกจำปาหรือดอกไม้อื่นที่พอหาได้ เสียบด้วยทางมะพร้าว แล้วนำไปเสียบบนไม้ไผ่เป็นชั้นๆ ประดับประดาอย่างสวยงาม ถือแห่เป็นคู่ๆชายหญิง ในขบวนแห่จะมีการร้องรำทำเพลงหยอกล้อกันสนุกสนานโดยมีเครื่องดนตรีให้จังหวะ เช่น กลองหาง กลองตุ้ม แคน พิณ พางฮาด (มีลักษณะคล้ายฆ้องแต่หน้าเรียบ) ฉิ่ง ฉาบ เป็นต้น

อัตลักษณ์ที่โดดเด่น
ประเพณีแห่ต้นดอกไม้ไหว้พระธาตุท่าอุเทน เป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของชาวชุมชนเก่าท่าอุเทน ซึ่งถือปฏิบัติมาอย่างยาวนานโดยจะเริ่มตั้งแต่วันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๕ จนถึงวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ เป็นการเฉลิมฉลองในการเถลิงศกในช่วงสงกานต์ รดน้ำดำหัวขอพรจากญาติผู้ใหญ่ สรงน้ำพระ มีการประดับประดาต้นดอกไม้เพื่อไปถวายบูชาพระและองค์พระธาตุตามวัดต่างๆของชาวคุ้มวัดพลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป ในแต่ละวันในเวลาพลบค่ำหลังเสร็จภารกิจการงานแล้วจนเสร็จสิ้นฤดูการ งานประเพณีแห่ต้นดอกไม้ถือปฏิบัติตั้งแต่โบราณตามหลักความเชื่อทางพระพุทธศาสนาเพื่อน้อมบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก่อให้เกิดสิริมงคลและนำความสุขมาสู่ผู้คนในชุมชน เป็นการหล่อหลอมจิตใจและความร่วมไม้ร่วมมือชองชาวชุมชนของแต่ละคุ้มวัด ในการทำงานและการรักษาประเพณีได้สร้างสรรค์ไว้ เป็นเอกลักษณ์ของชาวย่านชุมชนเก่าท่าอุเทน

ความสำคัญและคุณค่าทางสังคมและทางจิตใจที่มีในวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชน นั้นๆ
๑.คุณค่าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สำคัญ
มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม หมายถึง การปฏิบัติ การแสดงออก ความรู้ ทักษะ ตลอดจนเครื่องมือ วัตถุ สิ่งประดิษฐ์ และพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งเหล่านั้น ซึ่งชุมชน กลุ่มชน หรือในบางกรณีปัจเจกบุคคลยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่ง ของมรดกทางวัฒนธรรมของตน มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ซึ่งถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่งนี้ เป็นสิ่งที่ชุมชนและกลุ่มชนสร้างขึ้นมาอย่างสมํ่าเสมอ เพื่อตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมของตน เป็นปฏิสัมพันธ์ของพวกเขาที่มีต่อธรรมชาติและประวัติศาสตร์ทำให้คนเหล่านั้นเกิดความภูมิใจในตัวตน จำแนกออกได้เป็น ๗ สาขาดังนี้คือ สาขาศิลปะการแสดง สาขา งานช่างฝีมือดั้งเดิม สาขาวรรณกรรมพื้นบ้าน สาขากีฬาภูมิปัญญาไทย สาขาแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรมและงานเทศกาล สาขาความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล สาขาภาษา ยกตัวอย่างเช่น ประเพณีแห่ต้นดอกไม้ไหว้พระธาตุ ของชาวชุมชนท่าอุเทนที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานจากคนรุ่นหนึ่งไป สู่คนอีกรุ่นหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงขนบธรรมเนียม ประเพณี วิถีชีวิตอันดีงามดั้งเดิมและความเป็น อัตลักษณ์ ของชุมชนในท้องถิ่นนั้น
เนื่องจากมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเป็นสมบัติล้ำค่าที่ได้มีการสร้างสรรค์ สั่งสม ปลูกฝัง และสืบทอดในชุมชนจากคนรุ่นหนึ่งมายังคนอีกรุ่นหนึ่ง แต่ในปัจจุบันมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมดังกล่าวได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของสังคมทั้งภายในประเทศและจากต่างประเทศ บางครั้งจึงมีการนำมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมไปใช้ในทางที่บิดเบือนหรือไม่เหมาะสม สร้างความเสื่อมเสียและอาจเป็นเหตุให้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเหล่านั้นต้องเสื่อมสูญไปอย่างน่าเสียดาย แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการตราพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. ๒๕๕๙ ขึ้นมาบังคับใช้เพื่อคุ้มครอง ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติก็ตาม แต่พระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว ก็ยังไม่มีบทกำหนดโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนหรือกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. ๒๕๕๙ แต่อย่างใด ดังนั้นเราจึงเห็นผู้ที่นำมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า เช่น เครื่องดนตรีไทย นาฏศิลป์การละครต่างๆ ไปจัดแสดงโดยมีเจตนาที่ไม่สมควรและจัดแสดงหรือนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม อันเป็นการกระทำที่ส่งผลกระทบก่อให้เกิดความเสียหายต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ขึ้นบัญชีไว้ ซึ่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. ๒๕๕๙ มาตรา ๒๔ บัญญัติว่า "เมื่อปรากฏว่ามีการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ขึ้นบัญชีไว้ ให้คณะกรรมการเสนอต่อรัฐมนตรีเพื่อมีคำสั่งให้ระงับการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าวได้ เว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนหรือเป็นกรณีที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกคำสั่งระงับการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายนั้นได้”
ดังนั้นเพื่อเป็นการรักษาวัฒนธรรมประเพณีและภาพลักษณ์ที่ดีงามของท้องถิ่นประชาชน ทุกคนและชุมชนในท้องถิ่นที่เป็นเจ้าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม “แห่ต้นดอกไม้ไหว้พระธาตุท่าอุเทน” จึงควรร่วมมือกันสอดส่อง ดูแล คุ้มครอง ป้องกันไม่ให้มีการกระทำอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ขึ้นบัญชีไว้ ตลอดจนให้ข้อมูล ความรู้ คำแนะนำแก่ผู้ที่จะนำไปใช้ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้รู้คุณค่าและเป็นการอนุรักษ์ สืบทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด
๒.บทบาทของชุมชนที่มีต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
การทำงานวัฒนธรรมของชุมชนจึงจำเป็นต้องสร้าง ความร่วมมือของสถาบันหลักในชุมชน ได้แก่ วัด บ้านโรงเรียน และสมาชิกในชุมชน เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนางานศิลป- วัฒนธรรมในชุมชนร่วมกัน ซึ่งการนำสถาบันสำคัญในชุมชน มาเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาขั้นต่างๆ นั้น ก่อให้เกิดความ สัมพันธ์ทางสังคมแบบ “มนตรี บวร” ได้แก่ สถาบันการ ปกครอง (บ = บ้าน) สถาบันศาสนา (ว = วัด) สถาบันการศึกษา (ร = โรงเรียน) ที่ต่างให้ความสำคัญต่อกัน ในการตัดสินใจและ แก้ปัญหาของชุมชน อีกทั้งเป็นแกนกลางในการบริหารชุมชน ในทุกด้านจากความสำคัญของศิลปวัฒนธรรมที่แสดงถึงความ เจริญงอกงามเป็นมรดกที่ล้ำค่าของชุมชนท่าอุเทน กอรปกับแนวทางการดำเนินงานของสภาวัฒนธรรมอำเภอท่าอุเทน ที่ได้มีการ ผลักดัน เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองมรดกทาง วัฒนธรรม รวมทั้งคุ้มครองการใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรม เพื่อรักษาวัฒนธรรมของแต่ละชุมชน ทำให้ชุมชนหัน กลับมามองถึงกระบวนการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมของ ตนเองอย่างจริงจัง เกิดการศึกษา ค้นคว้า และพัฒนางาน ศิลปวัฒนธรรมของชุมชนอย่างเห็นได้ชัด เป็นจุดเริ่มต้นของ ชุมชนในการมีส่วนร่วมจัดการความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม ของตนเอง ซึ่งการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในชุมชนจะส่ง ผลอย่างยั้งยืนในการดำรงไว้ซึ่งสิ่งดีงาม โดยมีชุมชนเป็นผู้รับ ผลประโยชน์ร่วมกัน

สถานที่ตั้ง
ย่านชุมชนเก่าท่าอุเทน
ตำบล ท่าอุเทน อำเภอ ท่าอุเทน จังหวัด นครพนม
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
ตำบลท่าอุเทน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม
บุคคลอ้างอิง นายวรสันต์ กิติศรีวรพันธุ์ อีเมล์ dangwoster@gmail.com
ชื่อที่ทำงาน สภาวัฒนธรรมอำเภอท่าอุเทน
เลขที่ ๔๑/๑ หมู่ที่/หมู่บ้าน
ตำบล ท่าอุเทน อำเภอ ท่าอุเทน จังหวัด นครพนม รหัสไปรษณีย์ 48120
โทรศัพท์ ๐๘๗๒๓๓๐๗๑๗
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่