ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 14° 19' 51.4816"
14.3309671
ลองจิจูด (แวง) : E 99° 39' 11.6075"
99.6532243
เลขที่ : 192846
ประเพณีร่อยพรรษา อำเภอห้วยกระเจา
เสนอโดย กาญจนบุรี วันที่ 7 พฤษภาคม 2563
อนุมัติโดย กาญจนบุรี วันที่ 29 มิถุนายน 2564
จังหวัด : กาญจนบุรี
0 597
รายละเอียด

ประเพณีร่อยพรรษา อำเภอห้วยกระเจา

ความเป็นมาและความเชื่อ

ประเพณีร่อยพรรษา เป็นประเพณีดั้งเดิมหลายยุคสมัย ก่อนจะออกพรรษาของทุกปีจะมีผู้สูงอายุรวมกลุ่มกัน กลุ่มละประมาณ ๕-๖ คน แล้วเดินร้องเพลงด้นสดไปตามบ้านต่าง ๆ ทั้งในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียง จากการสัมภาษณ์พ่อเพลงแม่เพลง เล่าว่า เพลงร่อยพรรษามีประวัติความเป็นมาอย่างไรและมีมาตั้งแต่เมื่อใดไม่แน่ชัด หากแต่กล่าวเป็นทำนองเดียวกันว่า มีมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นปู่แล้ว หากคำนวณอายุจะเห็นว่าร้องเล่นกันมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๑๕๐-๒๐๐ ปี และคำว่า “ร่อยพรรษา” ไม่พบว่ามีผู้ใดให้ความหมายแน่ชัดนัก พ่อเพลงแม่เพลงได้สันนิษฐานไว้ สรุปได้ว่า “ร่อย” น่าจะมาจากคำว่า “ร่อยหรอ” กล่าวคือ ข้าวของที่ญาติโยมได้นำไปถวายพระในช่วงเข้าพรรษา เมื่อพระสงฆ์ใช้ไปในระหว่างพรรษา และใกล้ออกพรรษาสิ่งของเหล่านั้นจึงเริ่มจะร่อยหรอหมดไป ชาวบ้านจึงร่วมใจกันออกไปร้องเพลง เพื่อนำสิ่งของมาทำบุญเพิ่มเติม และเพราะความเชื่อที่ว่า ไม่ต้องการพูดสิ่งที่ไม่ดี “ร่อยหรอ” จึงเหลือเพียง “ร่อย”

เพลงร่อยพรรษามีลักษณะเป็นคำกลอนง่ายๆ ซึ่งอาจจะตรงกับชื่อเพลง คือไปเรื่อยๆ ร่อยๆ ดังกล่าวนี้น่าจะหมายความว่า ร่อยพรรษา มาจากคำว่าไปเรื่อยๆ ร่อยๆ แต่สำนวนภาษา “ไปเรื่อยๆ ร่อยๆ” จากการสอบถามพ่อเพลงแม่เพลงไม่พบว่าคนอำเภอห้วยกระเจาเคยใช้สำนวนนี้ ดังนั้น เพลงร่อยพรรษาจึงเป็นเพลงที่เกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจพลังศรัทธาในพระพุทธศาสนาของพ่อเพลงแม่เพลง ที่จะอุปถัมภ์พระสงฆ์ไม่ให้อยู่ในสภาพที่ขาดแคลน การรวมตัวกันของชาวบ้านที่ออกไปร้องเพลงร่อยพรรษา จึงเป็นวิธีการบอกบุญเพื่อรวบรวมจตุปัจจัยไปถวายพระสงฆ์ไว้ เพื่อจะได้สามารถอยู่วัดปฏิบัติธรรม และเป็น ที่พึ่งพาทางจิตใจของพุทธศาสนิกชนทั่วไปได้ ประเพณีร่อยพรรษามีความสำคัญและคุณค่าทางสังคม ๓ ประการ คือ เป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เป็นการช่วยบอกบุญมาสร้างศาสนสถาน ถาวรวัตถุในวัดประการหนึ่ง และเป็นการบริจาคทรัพย์เพื่อถวายพระสงฆ์ ผู้เป็นเนื้อนาบุญอันยิ่งใหญ่ของพุทธศาสนิกชน

กระบวนการและพิธีกรรม

การเล่นเพลงร่อยพรรษาแต่ละคณะจะประกอบด้วยสมาชิกจำนวน ๕-๑๐ คน บางครั้งอาจจะถึง ๑๕ คน ในคณะจะมีพ่อเพลงหรือแม่เพลงมากกว่า ๑ คน บางคณะอาจมี ๓ - ๔ คน พ่อเพลงแม่เพลงจะผลัดกันเป็นต้นเสียงและเป็นลูกคู่ร้องรับสลับกันไป การเป็นคอหนึ่ง คอสอง หรือคอสาม ไม่มีการแบ่งไว้อย่างชัดเจนว่าใครจะเป็นต้นเสียงเมื่อใด เมื่อเห็นว่าคนแรกร้องจบท่อนหนึ่ง คนต่อไปก็จะต่อไปอีกท่อนหนึ่งหรือสองท่อน บางครั้งก็ต่อเพลงในท่อนเดียวกันก็มี นอกจากพ่อเพลงแม่เพลงแล้วในคณะยังประกอบด้วยลูกคู่ คนที่ยังไม่เก่งเพลงนักจึงมักเริ่มจากการเป็นลูกคู่นี้ พ่อเพลงแม่เพลงทุกคนจะเริ่มต้นฝึกหัดเพลง ด้วยการเข้ามาเป็นลูกคู่ก่อน จากนั้นจึงค่อย ๆ พัฒนามาเป็นพ่อเพลงแม่เพลงในโอกาสต่อมา

นอกจากนี้ยังมีผู้ทำหน้าที่อื่นๆ ในคณะด้วย ได้แก่ คนถือพานรับเงินบริจาค ซึ่งพานดังกล่าวจะใส่ช่อดอกไม้ประดับไว้พองาม และคนหาบกระบุง ตะกร้า รับข้าวสาร อาหารแห้ง ผลไม้ และอื่น ๆ ที่มีผู้ร่วมทำบุญ สำหรับการแต่งตัวของคณะพ่อเพลงแม่เพลงมักจะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าธรรมดา เหมือนชุดที่ใส่อยู่กับบ้านหรือชุดที่ใส่ไปทำไร่ทำนา ผู้ชายนุ่งกางเกงและใส่เสื้อแขนยาว ส่วนผู้หญิงนุ่งผ้าโจงกระเบนหรือผ้าถุง สวมเสื้อแขนยาว สิ่งของอื่นที่มีติดตัวไปด้วยเสมอคือ ไม้เท้า หมวก หรืองอบ ที่มักจะประดับดอกไม้พื้นบ้าน เช่น ดอกชบา ดอกเข็ม เป็นต้น เมื่อรวมตัวกันพร้อมแล้ว คณะเพลงร่อยพรรษาก็จะออกเดินทางไปร้องเพลงร่อยพรรษาตามบ้านเรือนในหมู่บ้าน วันแรก ของการออกไปร้องเพลงร่อยพรรษา มักเลือกจะเดินทางไปตามหมู่บ้านไกล ๆ ก่อน วันสุดท้ายจึงมาร่อยที่หมู่บ้านของตนเอง

ลักษณะการร้องเพลงร่อยพรรษาจะใช้แต่เสียงของพ่อเพลง แม่เพลงและลูกคู่เท่านั้น ไม่มีเครื่องดนตรีหรือการปรบมือประกอบการร้อง ท่วงทำนองการร้องจะใช้การเอื้อนเสียงมาก และทอดเสียงยาวและเนิบ คล้ายทำนองสวด มีลูกคู่ร้องรับข้อความบางท่อน บรรยากาศของเพลงจึงดูขรึมขลัง ให้ความรู้สึกวังเวงน่าศรัทธา ชวนฟัง เพลงร่อยพรรษานิยมออกไปร้องในเวลากลางคืน ตั้งแต่หัวค่ำไปจนดึก บางครั้งเล่นกันถึงสว่าง พ่อเพลงแม่เพลงมักจะบอกตรงกันว่า ยิ่งดึกเสียงก็จะยิ่งดี รูปแบบการยืนร้องเพลงร่อยพรรษาของคณะพ่อเพลงแม่เพลงไม่มีรูปแบบตายตัว แต่ที่สังเกตได้ประการหนึ่ง คือ คนหาบกระบุงหรือตะกร้ากับคนถือพาน จะยืนในตำแหน่งตรงกลางแถวหน้า ทั้งนี้คงเพื่อสะดวกในการรับสิ่งของหรือเงินที่เจ้าของบ้านนำมาร่วมทำบุญนั่นเอง ส่วนเจ้าของบ้านก็จะออกมาต้อนรับด้วยการหาน้ำใส่ขันมาให้ดื่ม บางบ้านจะนำเสื่อมาปูไว้ข้างหน้าของที่คณะพ่อเพลงแม่เพลงที่ยืนร้องเพลงอยู่ เป็นการเชื้อเชิญให้นั่งพักก่อน สิ่งของที่ร่วมทำบุญมักเป็นข้าวสารกับเงินเป็นหลัก สิ่งของอื่น ๆ เช่น ขนมแห้ง พริกแห้ง กระเทียม หอม ฯลฯ แล้วรวบรวมนำจตุปัจจัยและไทยทานเหล่านั้นไปถวายพระสงฆ์ในวันออกพรรษา

องค์กรอ้างอิง

สภาวัฒนธรรมตำบลห้วยกระเจา

สภาวัฒนธรรมตำบลวังไผ่

สภาวัฒนธรรมตำบลดอนแสลบ

สภาวัฒนธรรมตำบลสระลงเรือ

สถานที่ตั้ง
ตำบล ห้วยกระเจา อำเภอ ห้วยกระเจา จังหวัด กาญจนบุรี
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
อำเภอ ห้วยกระเจา จังหวัด กาญจนบุรี
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่