ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 15° 59' 53.574"
15.9982150
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 28' 18.6272"
100.4718409
เลขที่ : 193519
ประเพณีก่อพระเจดีย์ทราย
เสนอโดย พิจิตร วันที่ 28 มีนาคม 2564
อนุมัติโดย พิจิตร วันที่ 28 มีนาคม 2564
จังหวัด : พิจิตร
0 760
รายละเอียด

ครั้งเมื่อพระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ในเวฬุวนอารามแห่งเมืองราชคฤห์พร้อมด้วยหมู่ภิกษุ ๕๐๐ รูป พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปสู่แม่น้ำพร้อมด้วยข้าราชบริพาร นำเอาทรายที่ได้จากแม่น้ำก่อเป็นเจดีย์ทราย ประดับด้วยธงแล้วถวายพร้อมกับจีวร ภัตตาหารแด่พระภิกษุ พระเจ้าปเสนทิโกศลแลหมู่คนที่ร่วมกันทำบุญต้องการที่รู้ถึงผลแห่งบุญที่ได้ทำแล้วนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสตอบเป็นคาถาความว่า บุคคลใดได้ก่อเจดีย์ทรายถวายเป็นทาน ก็มีอานิสงส์มาก ย่อมได้รับสุข ๓ ประการ สุดท้ายก็จะได้พบพระนิพพานฯ บุคคลใดได้ก่อเจดีย์ทรายถวาย ตายไปแล้วย่อมไปเกิดในตระกูลพราหมณ์ และตระกูลกษัตริย์ ประกอบด้วยทรัพย์สมบัติมาก ย่อมได้ไปเกิดในชมพูทวีป บุคคลทั้งหลายนั้นย่อมมีรูปอันงดงาม เมื่อไปเกิดในที่ใด ก็ย่อมเป็นที่รักใคร่ยินดีแก่คน และเทวดาทั้งหลาย ย่อมไม่ไปเกิดในที่ร้าย คือนรกเป็นต้น บุคคลใดได้ประดับช่อธง ฉัตรบูชาเจดีย์ทราย ก็จะได้ไปเกิดเป็นท้าวพญา ประกอบด้วยแก้วทั้ง ๗ ก็ด้วยการสักการบูชาเจดีย์ทราย

บุคคลใดได้ก่อเจดีย์ทรายย่อมมีข้าหญิงชายมาแวดล้อมเป็นบริวาร พ้นจากทุกข์ทุกประการ ได้อยู่ในปราสาทอันงามมีจาตุรงคเสนามาก ก็ด้วยอานิสงส์ก่อเจดีย์ทรายบุคคลทั้งหลายทั้งชายหญิงย่อมมีวัวควาย ผ้าผ่อน ผ้าแพร เครื่องบริโภคต่าง ๆไปในที่ใดคนและเทวดาก็เคารพบูชา บุคคลทั้งหลายนั้นย่อมไปเกิดในสวรรค์ดาวดึงส์เป็นจอมเทพได้ ๓๔ ครั้ง เป็นพระเจ้าจักรพรรดิได้ ๓๔ ครั้งได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิในทวีปทั้ง ๔มีเมืองใหญ่เมืองน้อยเป็นบริวารอันประมาณไม่ได้ เสวยราชสมบัติมาก ก็ด้วยอานิสงส์ก่อเจดีย์ทรายถวายแท้แน่นอน

ประเพณีก่อเจดีย์ทราย เป็นประเพณีที่สำคัญประเพณีหนึ่งที่จัดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ของชาวไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาโดยตรง โดยคนไทยผูกโยงกับคติความเชื่อเรื่องเวรกรรมในพระพุทธศาสนา มีการก่อเจดีย์ทรายถวายวัดเพื่อนำเศษดินทรายที่ติดเท้าออกจากวัดไปมาคืนวัดในรูปของเจดีย์ทรายและเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาให้เป็นกุศลอานิสงส์ และยังเป็นกุศลโลบายของคนไทยในอดีตให้มีการรวมตัว ของคนในชุมชน เพื่อร่วมกันจัดประเพณีรื่นเริงเป็นการสรรค์สร้างความสามัคคีของคนในชุมชนด้วย ประเพณีก่อเจดีย์ทรายเนื่องในวันสงกรานต์ ของบ้านห้วยเรียงกลาง ตำบลวังกรด อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบลวังกรด ร่วมกับวัดห้วยเรียงกลาง สนับสนุนงบประมาณในการจัดกิจกรรมประกวดก่อเจดีย์ทรายขึ้นทุกปี เพื่อสืบสานวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามของไทย สร้างความรัก ความสามัคคีของคนในครอบครัว ชุมชน และในสมัยก่อนเมื่อเราเข้าวัด เดินเข้าออกจากวัด อาจมีเม็ดทรายที่ติดไปกับรองเท้า การก่อเจดีย์ทรายส่วนหนึ่งเพื่อให้เราได้ทำบุญด้วยการขนทรายเข้าวัด เพื่อประโยชน์เกื้อกูลต่อพระพุทธศาสนา แล้วยังเพิ่มความรัก ความอบอุ่นในครอบครัวที่ได้ร่วมใจกันประกอบกิจอันเป็นกุศล จึงจัดให้มีการประกวดเจดีย์ทรายกันทุกปี

วัตถุประสงค

๑) เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาให้เป็นกุศลอานิสงส์

๒) เพื่อเป็นการรื่นเริง สังสรรค์ สร้างความสามัคคีของคนในชุมชน

๓) เพื่อเป็นการสร้างความรัก ความอบอุ่นในครอบครัวที่ได้ร่วมใจกันประกิจอันเป็นกุศล

๔) เพื่อนำเศษดินทรายที่ติดเท้าออกไปมาคืนวัดในรูปของเจดีย์ทราย

๕) เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองการเปลี่ยนศักราชใหม่ เช่นในวันตรุษ และวันสงกรานต์

วัสดุ/อุปกรณ์

๑) ทราย

๒) ธงติดขันเทศน์

๓) ดอกไม้ชนิดต่าง ๆ หลากหลายสี

กระบวนการ/ขั้นตอน (ทำอย่างไร)

๑) ดำเนินการประชาสัมพันธ์การจัดงานก่อพระเจดีย์ทราย ให้กับประชาชนในชุมชน และตำบลใกล้เคียงเข้าร่วมกิจกรรม

๒) ประชุมปรึกษาหารือคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง วางแผนการดำเนินงาน กำหนดวันจัดกิจกรรม

๓) จัดหาทรายที่ใช้ในการจัดกิจกรรม จำนวน ๑๐ ลูกบาศก์เมตร

๔) จัดขบวนแห่ก่อพระเจดีย์ทราย

๕) จัดกิจกรรมการแสดงของเด็กนักเรียนจากโรงเรียนต่าง ๆ ทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่

๖) ดำเนินการจัดประกวดแข่งขันการก่อพระเจดีย์ทราย

๗) ประกาศผล/มอบเงินรางวัล การแข่งขันการก่อพระเจดีย์ทราย ให้กับผู้ชนะเลิศ

คุณค่าขององค์ความรู้ทางวัฒนธรรม

ประเพณีก่อเจดีย์ทราย เป็นคติความเชื่อเรื่องของเวรกรรมในพระพุทธศาสนา การก่อเจดีย์ทรายเพื่อนำเศษดินทรายที่ติดเท้าเราออกจากวัด คืนวัดในรูปเจดีย์ทราย เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาให้เป็นกุศลอานิสงส์แก่ตนเองและครอบครัว คือจะได้อานิสงส์มาก คือจะไม่ตกนรกหลายร้อยชาติ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็จะเพียบพร้อมด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ มีบริวารและเกียรติยศชื่อเสียง หากตายไปจะได้ขึ้นสวรรค์ พรั่งพร้อมด้วยสมบัติและมีนางฟ้าเป็นบริวาร จึงทำให้คนโบราณนิยมก่อเจดีย์ทรายเป็นประเพณีมาจนถึงทุกวันนี้

บทบาทของชุมชนในการสืบสาน รักษา ต่อยอด ขององค์ความรู้ทางวัฒนธรรม

๑. เป็นการสอนไม่ให้ทำผิดศีลข้อ 2(ลักทรัพย์) เพราะการที่เศษดิน เศษทรายจากวัดติดรองเท้าเราออกไปทั้งๆที่เราอาจไม่มีเจตนาแต่ก็ถือว่าเป็นการทำให้ศีลข้อที่ ๒ ของเราด่างพร้อยไปด้วย

๒. สอนไม่ให้เป็นคนดูเบาว่าผิดศีลเพียงเล็กน้อยคงไม่เป็นไร เพราะเมื่อเราทำผิดบ่อยๆ เข้ามัน จะกลายเป็นความเคยชินเมื่อทำมากขึ้นเรื่อยๆ จะเริ่มรู้สึกว่าสิ่งที่ทำเป็นเรื่องธรรมดา การเกรงกลัวต่อบาปกรรมจะลดน้อยถอยลง

๓. เป็นการสอนให้เห็นคุณค่าของบุญ คือสิ่งของทุกอย่างภายในวัดได้มาจากญาติโยมถวายด้วยความศรัทธา เมื่อถวายให้แก่วัดแล้วจึงถือว่าเป็นสมบัติของพระศาสนา เมื่อไหร่ที่วัดนำสิ่งของนั้นมาจัดกิจกรรมงานบุญผู้ถวายก็ย่อมะได้อานิสงส์ผลบุญนั้นอย่างต่อเนื่อง

๔. เป็นการสร้างความคุ้นเคย และสามัคคีให้เกิดแก่หมู่ญาติพี่น้องคนในชุมชน และพระภิกษุสงฆ์ด้วยการทำกิจกรรมร่วมกัน

๕. ทำให้ใจผูกพันอยู่กับพระพุทธเจ้าด้วยการก่อพระเจดีย์ทรายน้อมถวายเป็นพุทธบูชา

การส่งเสริม สนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ หรือภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม (ถ้ามี)

๑. องค์การบริหารส่วนตำบลวังกรด อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร

๒. เงินบริจาคจากประชาชนในพื้นที่

สถานภาพปัจจุบันของการถ่ายทอดความรู้และปัจจัยคุกคาม

เนื่องจากขณะนี้ สถานการณ์ในปัจจุบันเกิดการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ทำให้หน่วยงานในพื้นที่ ที่รับผิดชอบในการจัดกิจกรรมประเพณีก่อพระเจดีย์ทราย ต้องงดการจัดกิจกรรมลงชั่วคราว

ข้อเสนอแนะ

๑. ประเพณีก่อพระเจดีย์ ได้มีการจัดกิจกรรมอยู่ที่วัดห้วยเรียงกลาง ตำบลวังกรด อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ที่เดียว เสี่ยงต่อการสูญหาย สมควรได้รับอนุรักษ์ ฟื้นฟู ส่งเสริม สนับสนุน ให้มีการถ่ายทอดต่ออนุชนรุ่นหลังต่อไป

๒. ขอรับการจัดสรรงบประมาณในการดำเนินการจัดงานประเพณีก่อพระเจดีย์ ทุกปี

สถานที่ตั้ง
บ้านวังกรด
หมู่ที่/หมู่บ้าน 5
ตำบล วังกรด อำเภอ บางมูลนาก จังหวัด พิจิตร
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
บ้านวังกรด
บุคคลอ้างอิง นายสระ ประทุมมาตร์
ชื่อที่ทำงาน ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ ๕
หมู่ที่/หมู่บ้าน 5
ตำบล วังกรด อำเภอ บางมูลนาก จังหวัด พิจิตร รหัสไปรษณีย์ 66120
โทรศัพท์ ๐๘๖ – ๒๑๗๔๒๓๕
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่