หลักการประสานงานในการดำเนินงานพิธีการพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ ตามโบราณราชประเพณี ในแนวทางของกระทรวงวัฒนธรรม
ประวัติความเป็นมา:
กระทรวงวัฒนธรรมมีพันธกิจในการเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ทำนุบำรุง ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีให้คงอยู่คู่กับประเทศไทยตลอดไป ให้มีการรักษา สืบทอดและพัฒนาอย่างยั่งยืนกอร์ปกับพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราโชบายเกี่ยวกับพิธีการศพที่พระราชทานเกียรติยศให้แก่ผู้วายชนม์ ซึ่งประกอบคุณงามความดีต่อประเทศชาติ ที่มีสิทธิตามหลักเกณฑ์ของสำนักพระราชวัง ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ไปให้รัฐบาลดำเนินการโดยกระทรวงวัฒนธรรม ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๒ เป็นต้นไป ต่อมา คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ มีมติเห็นชอบในหลักการ
ของแผนปฏิบัติงานตามภารกิจพิธีการศพทั่วประเทศ ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอและให้เป็นหน่วยงานหลัก
ในการปฏิบัติภารกิจนี้ โดยให้พร้อมดำเนินการเต็มรูปแบบได้ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๒ เป็นต้นไป
กระทรวงวัฒนธรรม มีพันธกิจสนองงานสถาบันพระมหากษัตริย์ และนำมิติทางวัฒนธรรมมาใช้ในการสร้างความสุขและความมั่นคงในสังคม สอดคล้องกับภารกิจพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน จึงน้อมรับสนองงาน ให้เป็นไปตามพระบรมราโชบายอย่างสมพระเกียรติ และเป็นการสืบทอดขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีของสำนักพระราชวังเกี่ยวกับพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน โดยที่พิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน เป็นภารกิจใหม่ และเป็นภารกิจที่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามโบราณราชประเพณีของสำนักพระราชวัง ในแนวทางของกระทรวงวัฒนธรรม
พิธีการพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน มีเจ้าหน้าที่ของกลุ่มพิธีการศพที่ได้รับพระราชทานสนับสนุนเจ้าภาพในการปฏิบัติ ซึ่งต้องมีการประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ขอรับพระราชทานฯ ในทางปฏิบัติอาจมีข้อจำกัดหรือข้อแตกต่างตามบริบทของพื้นที่การปฏิบัตินั้นๆ ทั้งในด้านธรรมเนียมประเพณี หรือข้อจำกัดทางด้านบุคลากรตามสถานที่ปฏิบัติ เพื่อให้พิธีการสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างสมพระเกียรติ ถูกต้องตามโบราณราชประเพณี ในขณะเดียวกันก็ให้เจ้าภาพผู้ขอพระราชทาน ฯ มีความสบายกาย สบายใจ และไม่มีค่าใช้จ่ายที่เกินความจำเป็น รวมถึงความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างผู้ขอรับพระราชทานฯ ผู้ประสานงาน และผู้ปฏิบัติ จึงได้จัดทำองค์ความรู้เรื่องหลักการประสานงานในการดำเนินงานพิธีการพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ ตามโบราณราชประเพณี ในแนวทางของกระทรวงวัฒนธรรมนี้ขึ้น
วัตถุประสงค์:
๑. เพื่อให้หัวหน้าชุดปฏิบัติ และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติพิธี ตลอดจนผู้ขอรับพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ รับทราบขั้นตอน การเตรียมการ และการปฏิบัติงานพิธีการพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ
๒. เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ เป็นไปตามหลักพิธีการฯ แม้จะมีข้อจำกัดหรือข้อแตกต่างตามบริบทของพื้นที่การปฏิบัตินั้นๆ ทั้งในด้านธรรมเนียมประเพณี หรือข้อจำกัดทางด้านบุคลากรตามสถานที่ปฏิบัติให้พิธีการสามารถดำเนินไปได้อย่างสมพระเกียรติ ถูกต้องตามโบราณราชประเพณี ในขณะเดียวกันก็ให้เจ้าภาพผู้ขอพระราชทาน ฯ มีความสบายกาย สบายใจ และไม่มีค่าใช้จ่ายที่เกินความจำเป็น
๓. เพื่อให้ผู้ขอรับพระราชทานฯ ผู้ประสานงาน และผู้ปฏิบัติ มองเห็นภาพรวมของพิธีการที่ตรงกัน และทำให้พิธีการพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ ดำเนินงานได้อย่างราบรื่น
วัสดุ / อุปกรณ์:
๑. อุปกรณ์สำหรับการปฏิบัติ
๑) พานเชิญกล่องเพลิงพระราชทาน (พานลาวขนาด ๗ นิ้ว พร้อมแผ่นอะคริลิคด้านบน)
๒) พานเชิญดอกไม้จันทน์พระราชทาน (พานลาวขนาด ๗ นิ้ว พร้อมแผ่นอะคริลิคด้านบน)
๓) โคมไฟเชิญเพลิงพระราชทาน
๒. อุปกรณ์สำหรับการเตรียมความพร้อม
๑) มีดคัทเตอร์ สำหรับการตัดแต่งเทียน
๒) เทปกาวใส หรือเทปโฟม (เทปกาวสองหน้า) สำหรับการยึดติดไม่ให้กล่องเพลิงพระราชทานเคลื่อนหลุดจากพานเชิญ
๓) ผ้าภูษาโยง ในกรณีที่ประสานงานแล้วพบว่าของที่เคยใช้งานอยู่มีสภาพเก่า ขาด หรือชำรุด
ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้สำหรับพื้นที่ต่างจังหวัด หรือเป็นวัดในพื้นที่ห่างไกล
๔) หมุด หรือเข็มหมุด สำหรับยึดผ้าภูษาโยง หรืองานตกแต่งผ้าขาวสำหรับปูโต๊ะ หากทางวัดไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำเมรุ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้สำหรับพื้นที่ต่างจังหวัด หรือเป็นวัดในพื้นที่ห่างไกล
กระบวนการ / ขั้นตอน:
๑. ขั้นตอนการประสานงานกับเจ้าภาพผู้ขอรับพระราชทาน
๑) ข้อมูลการประสานงานจะได้รับจากห้องงานประสานขอพระราชทานเพลิง โดยผู้รับผิดชอบในการประสานงานควรเป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติงานนั้นๆ และควรประสานงานล่วงหน้า ๑ - ๒ ก่อนวันปฏิบัติ
๒) เจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานแนะนำตัวกับเจ้าภาพ และให้ข้อแนะนำการประสานงานกับทางวัดจัดเตรียมสถานที่และอุปกรณ์ดังนี้
๒.๑) จัดเตรียมโต๊ะปูผ้าขาว ๑ ตัว (สามารถใช้โต๊ะหมู่ตัวสูงเท่ากันนำมาต่อกันและ
ใช้ผ้าขาวคลุมได้) สำหรับวางกล่องเพลิงพระราชทาน โคมเพลิง และพานเชิญดอกไม้จันทน์พระราชทาน ตั้งไว้ทางทิศศีรษะของผู้วายชนม์ ตามความเหมาะสมของสถานที่
๒.๒) เตรียมพานทรายประดับดอกไม้สำหรับรับเพลิงพระราชทาน
๒.๓) ตะเกียงหรือโคมไฟสำหรับต่อเลี้ยงเพลิงพระราชทาน เพื่อนำไปใช้ในเวลาเผาจริง
๒.๔) หากมีโพเดี้ยมพิธีกร ควรจัดให้อยู่ในที่ที่เหมาะสม และอยู่ในจุดที่มองเห็น
ได้โดยง่ายไม่ควรนำไปไว้ในระดับที่สูงกว่าประธานฝ่ายฆราวาส และประธานฝ่ายสงฆ์ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับข้อจำกัดของสถานที่ด้วย
๒.๕) การประดับผ้า ให้ใช้ผ้าสีขาวและสีดำ โดยหลักการประดับผ้าให้สีดำอยู่ด้านบน
สีขาวไม่ควรใช้ผ้าสีอื่นๆ เนื่องจากยังอยู่ในช่วงไว้อาลัย (ร่างของผู้วายชนม์ยังคงอยู่)
๒.๖) การผูกป้าย (หากมี)ไม่ควรนำไปไว้ด้านบนของบันไดด้านหน้าเมรุ เนื่องจาก
อาจมีภาพของผู้วายชนม์ เมื่อเจ้าหน้าที่เชิญกล่องเพลิงพระราชทานจะต้องลอดผ่านซึ่งไม่เหมาะสม ทั้งนี้ สามารถแนะนำให้ประดับไว้บริเวณอื่นๆ เช่น บริเวณโพเดี้ยมพิธีกร หรือมุมอื่นๆตามความเหมาะสมได้
๒.๗) ประสานในเรื่องเวลากับทางเจ้าภาพและพิธีกร หากจะมีพิธีการใดๆ เช่น การรำหน้าเมรุ, การมอบทุนให้สถานศึกษา, การทอดผ้าไตรบังสุกุล(ไตรรอง) เป็นต้น ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จเสียก่อน โดยให้เผื่อเวลาก่อนพระราชทานเพลิงตามหมายรับสั่งประมาณ ๓๐ นาทีเพื่อซักซ้อมขั้นตอนการรับกล่องเพลิงพระราชทาน ดำเนินการอ่านหมายรับสั่ง, สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ, และประวัติผู้วายชนม์ตามลำดับ
๒.๘) ประสานงานเรื่องสถานที่ประดิษฐานกล่องเพลิงพระราชทาน และระยะเวลาโดยประมาณในการเดินทางมายังบริเวณพิธีฯ เพื่อแจ้งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อไป
๒.๙) ประสานงานให้เจ้าภาพนิมนต์พระสงฆ์พิจารณาผ้าไตรบังสุกุล ตามจำนวนที่เจ้าภาพกำหนด รวมทั้งประธานฝ่ายสงฆ์ด้วย
๒.๑๐) ข้อแนะนำในการแต่งกายของผู้ร่วมงานและประธานฝ่ายฆราวาสที่เป็นข้าราชการ ให้เป็นไปตามระเบียบของหน่วยงานที่สังกัด
๒.๑๑) ผู้เชิญผ้าไตรบังสุกุลให้แก่แขกผู้ร่วมงาน รวมถึงผู้ถือพัดรองให้แด่พระสงฆ์ไม่ควรใช้ผู้แต่งกายชุดปกติขาวเนื่องจากผ้าไตรบังสุกุลนั้นไม่ใช่ของพระราชทาน
๒.๑๒) ตอบข้อซักถาม และนัดเวลาเจ้าภาพในวันปฏิบัติ ควรถึงสถานที่ก่อนเวลาตามหมายรับสั่ง ๑ - ๒ ชั่วโมง เพื่อประสานงานและเตรียมการซักซ้อมอื่นๆ
๒ ขั้นตอนการปฏิบัติในวันพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ
๑) ชุดปฏิบัติงานตามหมายรับสั่ง ใช้เจ้าหน้าที่ จำนวน ๔ นาย ประกอบด้วย
๑.๑) หัวหน้าชุดปฏิบัติ ๑ นาย แต่งกายเครื่องแบบสีกากี (สนว.๐๑) เผดียงสงฆ์ (ประธานฝ่ายสงฆ์)ประสานงานและซักซ้อมความเข้าใจกับเจ้าภาพ, ประธานฝ่ายฆราวาส, พิธีกร, เจ้าหน้าที่วัดหรือเจ้าหน้าที่ประจำเมรุ, ถ่ายภาพเพื่อการรายงาน
๑.๒) เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานพิธี ๒ นาย แต่งกายเครื่องแบบปกติขาวไว้ทุกข์ แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่เชิญกล่องเพลิงพระราชทาน และเจ้าหน้าที่ช่วยปฏิบัติในการเชิญดอกไม้จันทน์พระราชทานในห้วงเวลาพระราชทานเพลิงศพ
๑.๓) พนักงานขับรถยนต์ ๑ นาย แต่งกายเครื่องแบบสีกากี (สนว.๐๑) ประสานงานเส้นทางการเชิญกล่องเพลิงพระราชทานกับเจ้าหน้าที่ขับรถนำขบวน (ถ้ามี) และช่วยปฏิบัติในการเปิดประตูรถเชิญกล่องเพลิงพระราชทาน นอกจากนี้ สามารถจัดเครื่องแต่งกายของเจ้าหน้าที่ผู้เชิญกล่องเพลิงพระราชทานให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย หลังก้าวลงจากรถเชิญกล่องเพลิงพระราชทานได้
๒) การปฏิบัติเมื่อถึงเวลานัดหมายในการเชิญกล่องเพลิงพระราชทาน เจ้าหน้าที่ผู้เชิญกล่องเพลิงพระราชทาน และพนักงานขับรถยนต์ ควรจัดเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมสำหรับการปฏิบัติ (ตัดแต่งความยาวของเทียนพระราชทาน, จัดเตรียมพานเชิญโดยติดเทปกาวป้องกันกล่องเพลิงพระราชทานร่วงหล่นให้เรียบร้อย) ประสานงานเส้นทาง และระยะเวลาในการเดินทางโดยประมาณกับหัวหน้าชุดปฏิบัติให้เรียบร้อยก่อนเวลาปฏิบัติ
หลังจากหัวหน้าชุดปฏิบัติ ประสานงานนัดหมายกับเจ้าภาพ, ประธานฝ่ายฆราวาส, พิธีกร, เจ้าหน้าที่วัดหรือเจ้าหน้าที่ประจำเมรุเรียบร้อยแล้ว (ควรแจ้งกำหนดเวลากับทางเจ้าภาพ ให้พิธีของราษฎร์ เช่น การรำหน้าเมรุ, การมอบทุนให้สถานศึกษา, การทอดผ้าไตรบังสุกุล(ไตรรอง) เป็นต้น แล้วเสร็จก่อนเวลาพระราชทานเพลิงประมาณ ๓๐ นาที) มีข้อปฏิบัติตามลำดับพิธีการ ดังนี้
๒.๑) พิธีกรกล่าวเชิญทายาท หรือเจ้าภาพ ที่แต่งกายเครื่องแบบปกติขาว (สำหรับข้าราชการ) หรือแต่งกายไว้ทุกข์ตามประเพณีนิยม(สำหรับผู้ที่ไม่ได้รับราชการ) ตั้งแถวในการซ้อมรับกล่องเพลิงพระราชทาน
๒.๒) การจัดแถวรับกล่องเพลิงพระราชทาน ให้ตั้งแถวบริเวณหน้าเมรุ โดยให้ดู
ความเหมาะสมของสถานที่ และจำนวนผู้มาตั้งแถวรอรับ โดยไม่จำเป็นจะต้องมีผู้เดินตามผู้เชิญกล่องเพลิงพระราชทาน หรือของพระราชทานอื่นๆ (ถ้ามี) แต่อย่างใด และให้ปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้
๒.๒.๑) กรณีตั้งแถวรอรับในรูปแบบของแถวตอนลึก ๒ ฝั่งตามแนวบันไดเมรุ เมื่อผู้เชิญกล่องเพลิงพระราชทานเดินผ่านตามเส้นทางแล้ว ให้ผู้ที่อยู่ในแถว ซ้าย - ขวาหันไปยังทิศทางด้านบนเมรุที่ศพผู้วายชนม์ตั้งอยู่ และรอทำความเคารพศพผู้วายชนม์พร้อมเจ้าหน้าที่ผู้เชิญกล่องเพลิงพระราชทาน
๒.๒.๒) กรณีตั้งแถวรอรับในรูปแบบของแถวหน้ากระดานบริเวณด้านหน้าเมรุ (ใช้สำหรับกรณีสถานที่มีความคับแคบ หรือไม่สามารถตั้งแถวตอนลึกได้) ให้ยืนหันหน้าไปทิศทางด้านบนเมรุที่ศพผู้วายชนม์ตั้งอยู่ และรอทำความเคารพศพผู้วายชนม์พร้อมเจ้าหน้าที่ผู้เชิญกล่องเพลิงพระราชทาน
๒.๒.๓)ไม่ควรจัดแถวในรูปแบบอื่นๆ เช่น ตั้งแถวปิดหัวและท้ายแถว หรือ
มีแถวเสริมในด้านอื่นๆ หากมีผู้รอรับกล่องเพลิงพระราชทานจำนวนมาก ให้ใช้การซ้อนเป็น ๒ หรือ ๓ แถว โดยคงรูปแบบที่ถูกต้องไว้
๒.๒.๔)ทายาทหรือครอบครัวของผู้วายชนม์ให้ยืนอยู่บริเวณหัวแถว (ด้านที่ผู้เชิญกล่องเพลิงพระราชทานจะเดินผ่านก่อนเป็นอันดับแรก) กรณีมีแถว ๒ ฝั่ง สามารถแบ่งยืนด้านซ้าย - ขวาได้
๒.๓) เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานพิธี หรือผู้เชิญกล่องเพลิงพระราชทานไปวางบนโต๊ะปูผ้าขาว, หมุนพานเชิญให้ตราสัญลักษณ์หันไปทิศทางที่ถูกต้อง, ยกมือไหว้ที่กล่องเพลิงพระราชทาน ๑ ครั้ง (ใช้การไหว้ระดับที่ ๒) คือปลายนิ้วหัวแม่มือจรดปลายจมูก และปลายนิ้วชี้แนบระหว่างคิ้ว แล้วถอยออกมาทำความเคารพศพผู้วายชนม์ ๑ ครั้ง* (ผู้ตั้งแถวรับกล่องเพลิงพระราชทานทำความเคารพพร้อมเจ้าหน้าที่) จากนั้นเจ้าหน้าที่เดินลงจากเมรุ ผู้อยู่ในแถวเดินกลับไปยังบริเวณที่นั่ง เป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอนในการเชิญกล่องเพลิงพระราชทาน
“ระหว่างที่เจ้าหน้าที่เชิญหีบเพลิงพระราชทานเดินไปสู่เมรุนั้น ประชาชนที่มาร่วมงานควรนั่งอยู่ในความสงบโดยมิต้องยืนขึ้น ไม่ต้องทำความเคารพ และไม่มีการบรรเลงเพลงอย่างใดทั้งสิ้น เพราะยังไม่ถึงขั้นตอนพิธีการ เจ้าหน้าที่ผู้เชิญก็มิใช่ผู้แทนพระองค์ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย”
เมื่อได้เวลาอันเหมาะสม ให้พิธีกรดำเนินการในการอ่านหมายรับสั่ง สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและประวัติผู้วายชนม์ตามลำดับ (ซึ่งเจ้าภาพ และพิธีการได้ประสานงานกำหนดผู้ปฏิบัติเอาไว้แล้ว)
กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ได้แนะนำแนวทางการปฏิบัติ ดังนี้
“การอ่านหมายรับสั่ง ประวัติผู้วายชนม์ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณนั้นส่วนสำนักพระราชวังให้แนวทางไว้ ดังนี้
(๑) หมายรับสั่ง แสดงถึงการได้รับพระราชทานเพลิงศพ
(๒) สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
(๓) ประวัติผู้วายชนม์ เพื่อประกาศเกียรติคุณ
อนึ่ง สำนักพระราชวัง ได้หมายเหตุไว้ว่า การอ่านหมายรับสั่ง ประวัติผู้วายชนม์ สำนึกใน
พระมหากรุณาธิคุณนั้น เป็นขั้นตอนที่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ตามความเหมาะสม ในที่นี้ขอนำเสนอขั้นตอนการอ่านหมายรับสั่งไว้เพื่อประกอบการพิจารณา ดังนี้
(๑) หมายรับสั่ง แสดงถึงการได้รับพระมหากรุณาธิคุณที่ได้รับการพระราชทานเพลิงศพ
(๒) สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
(๓) ประวัติผู้วายชนม์ เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณ แล้วยืนไว้อาลัย ๑ นาที จากนั้นเรียนเชิญประธานพิธี ขึ้นทอดผ้าบังสุกุล และจุดเพลิงพระราชทาน ซึ่งจะเป็นการปฏิบัติงานพิธีได้อย่างต่อเนื่อง และเรียบร้อยสวยงาม
ประวัติผู้วายชนม์ เพื่อประกาศเกียรติคุณ และคำสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในงานพระราชทานเพลิงศพนั้น ให้อ่านเรียงตามลำดับที่กล่าวมา ทั้งนี้ หากจะอ่านเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ หรือไม่อ่านเลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับความประสงค์และความสะดวกของเจ้าภาพเป็นสำคัญ ส่วนการลงท้ายคำอ่านสามารถ
อ่านชื่อบุคคลผู้เป็นทายาททั้งหมดหรือจะออกชื่อแต่เจ้าภาพก็ย่อมกระทำได้
ในการพระราชทานเพลิงศพหากเจ้าภาพประสงค์จะให้อ่านหมายรับสั่ง คำสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และประวัติผู้วายชนม์ ให้อ่านเรียงลำดับดังกล่าว”
๓) ขั้นตอนการปฏิบัติในพิธีการพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ
๓.๑) เมื่อใกล้ถึงเวลาตามกำหนดการพระราชทานเพลิงศพ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานพิธี
แต่งกายเครื่องแบบปกติขาวไว้ทุกข์ จำนวน ๒ คน ขึ้นไปประจำบนเมรุโดยใช้บันไดด้านข้าง ทำความเคารพศพผู้วายชนม์ ๑ ครั้ง แล้วเดินไปยังโต๊ะกล่องเพลิงพระราชทาน ไหว้กล่องเพลิงพระราชทาน ๑ ครั้ง (ใช้การไหว้ระดับที่ ๒) เจ้าหน้าที่ผู้เชิญกล่องเพลิงพระราชทาน เปิดถุงผ้าและฝากล่อง นำเทียนปักในโคมเชิญเพลิง และจุดไฟจากกลักไม้ขีดไฟพระราชทาน ปิดโคมให้เรียบร้อย จากนั้นนำดอกไม้จันทน์พระราชทานไปวางไว้บนพานเชิญดอกไม้จันทน์ และจัดวางให้เหมาะสมในการปฏิบัติต่อไป เมื่อเสร็จสิ้นการเตรียมการแล้ว ให้เจ้าหน้าที่ทั้ง ๒ นาย มายืนรอการปฏิบัติบริเวณด้านข้างของโต๊ะกล่องเพลิงพระราชทาน โดยให้ยืนด้านในไม่ควรยืนด้านหน้าของโต๊ะ ตามความเหมาะสมของสถานที่
๓.๒) เมื่อถึงเวลาตามกำหนดการพระราชทานเพลิงศพ พิธีกรเชิญประธานฝ่ายฆราวาสขึ้นบนเมรุทางบันไดด้านหน้า (ผู้ร่วมพิธีทุกคนลุกยืนพร้อมประธานฝ่ายฆราวาส) โดยมีผู้เชิญผ้าไตร และดอกไม้จันทน์ของประธานฝ่ายฆราวาส (ถ้ามี) เดินตามประธานฝ่ายฆราวาสขึ้นไปปฏิบัติ ในระหว่างนี้ให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติเตรียมเชิญโคมเพลิง และพานดอกไม้จันทน์พระราชทาน ออกมายืนเตรียมพร้อมปฏิบัติ โดยจุดที่ยืนนั้น
ให้ดูความเหมาะสมของสถานที่เป็นหลัก จะต้องไม่ขวางทางขึ้นลงของประธานฝ่ายฆราวาส, ประธานฝ่ายสงฆ์ และต้องดูทิศทางของกระแสลมที่อาจพัดเพลิงพระราชทานจนดับขณะปฏิบัติหน้าที่ได้
๓.๓) ประธานฝ่ายฆราวาสทอดผ้าไตรบริเวณหน้าหีบศพผู้วายชนม์ ลักษณะการวางผ้าให้วางในแนวตั้ง (เมื่อหันหน้าเข้าหีบศพผู้วายชนม์) เสร็จแล้วให้ถอยออกมาเล็กน้อย เพื่อให้ประธานฝ่ายสงฆ์พิจารณาผ้าบังสุกุลต่อไป ในระหว่างนี้ให้พิธีกรนิมนต์ประธานฝ่ายสงฆ์ขึ้นพิจารณาผ้าไตรบังสุกุล เพื่อความต่อเนื่องของพิธีการ
๓.๔) เจ้าภาพหรือเจ้าหน้าที่วัด ควรจัดให้มีผู้เชิญพัดรองและดูแลประธานฝ่ายสงฆ์ ขึ้น - ลง ในการพิจารณาผ้าไตรบังสุกุล เพราะนอกจากจะเป็นการถวายการดูแลประธานฝ่ายสงฆ์ที่อาจมีสุขภาพไม่แข็งแรงแล้ว ยังมีธรรมเนียมการปฏิบัติในบางจังหวัดที่พระสงฆ์จะยืนรอบริเวณด้านบนเมรุเพื่อวางดอกไม้จันทน์ต่อจากประธานฝ่ายฆราวาสในขณะพระราชทานเพลิงศพ ซึ่งดูแล้วไม่เรียบร้อย เนื่องจากมีพระสงฆ์ยืนต่อแถวในขณะประกอบพิธีฯ เป็นจำนวนมาก จึงควรจัดให้มีผู้ดูแลและนิมนต์พระสงฆ์เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม กล่าวคือ ให้นิมนต์พระสงฆ์ขึ้นวางดอกไม้จันทน์อีกครั้งหลังจากที่ประธานฝ่ายฆราวาสลงจากเมรุแล้ว เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพิธีการ
๓.๕) เมื่อประธานฝ่ายสงฆ์ลงจากเมรุเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่เข้าปฏิบัติในการถอนภูษาโยง และตั้งพานรับเพลิง (หากทางวัดไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำเมรุ ให้หัวหน้าชุดและพนักงานขับรถยนต์ช่วยปฏิบัติขั้นตอนดังกล่าว) เชิญประธานฝ่ายฆราวาสประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
- ประธานฝ่ายฆราวาส ถวายความเคารพไปยังทิศที่ประทับพระบาทสมเด็จ
พระเจ้าอยู่หัวหรือยกมือไหว้ไปที่ดอกไม้จันทน์พระราชทาน ๑ ครั้ง
-ใช้สองมือหยิบดอกไม้จันทน์พระราชทาน จุดไฟจากโคม และนำไปวางบนพานรับเพลิง หากมีดอกไม้จันทน์ของประธานฝ่ายฆราวาสให้นำไปวางไว้บนโต๊ะโดยไม่ต้องจุดไฟและไม่ต้องวางบนพานรับเพลิงประธานฝ่ายฆราวาสและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติทำความเคารพศพผู้วายชนม์ ๑ ครั้ง จากนั้นประธานฝ่ายฆราวาสจะเดินลงจากเมรุทางบันไดด้านหน้า เจ้าหน้าที่เข้าถอนพานรับเพลิง (เจ้าหน้าที่เมรุ หรือหัวหน้า
ชุดปฏิบัติในกรณีทางวัดไม่มีบุคลากร)
- เจ้าหน้าที่ปฏิบัติเชิญโคมเพลิงพระราชทาน ไปต่อกับตะเกียงหรือโคมไฟสำหรับต่อเลี้ยงเพลิงพระราชทาน เพื่อนำไปใช้ในเวลาเผาจริงให้กับเจ้าหน้าที่เมรุ เชิญสิ่งของพระราชทาน
กลับลงกล่องเพลิงพระราชทาน นำไปวางไว้ในที่อันเหมาะสม และแจ้งกับเจ้าภาพ
๓.๖) พิธีกรเชิญประธานฝ่ายสงฆ์และคณะสงฆ์ขึ้นวางดอกไม้จันทน์ ตามด้วยข้าราชการ
ชุดปกติขาว และประชาชนตามลำดับ
๓.๗) เจ้าหน้าที่ลาเจ้าภาพ เก็บแบบประเมินความพึงพอใจในการปฏิบัติหน้าที่ฯ และเดินทางกลับ (การส่งแบบประเมิน ฯ ดังกล่าว ควรให้กับเจ้าภาพเมื่อไปถึงพิธีทันที เพื่อที่เจ้าภาพจะได้มีเวลาในการพิจารณาการประเมิน ทำให้สามารถเก็บคืนได้หลังพิธีการเสร็จสิ้นทันที โดยไม่เป็นการเร่งรัดเจ้าภาพ)
สถานภาพปัจจุบัน
๑) สถานการณ์คงอยู่ขององค์ความรู้ : มีการปฏิบัติอย่างแพร่หลาย
๒) สถานภาพปัจจุบันของการถ่ายทอดความรู้และปัจจัยคุกคาม : มีการถ่ายทอดความรู้ผ่านการฝึกอบรมทั้งจากกองพิธีการศพที่ได้รับพระราชทานในส่วนกลาง และการฝึกทบทวนภายในของหน่วยงานส่วนภูมิภาค
ข้อเสนอแนะ
เจ้าหน้าที่ปฏิบัติ ควรฝึกทบทวนในการปฏิบัติให้มีความชำนาญอยู่ตลอด และสามารถป้องกันรวมถึงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี