ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 16° 12' 51.3749"
16.2142708
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 25' 20.7617"
100.4224338
เลขที่ : 194211
พิธีกรรมการไหว้ครูลิเก จังหวัดพิจิตร
เสนอโดย พิจิตร วันที่ 5 กันยายน 2564
อนุมัติโดย พิจิตร วันที่ 13 กันยายน 2564
จังหวัด : พิจิตร
0 2012
รายละเอียด

๑. ประวัติความเป็นมาศลิปะการแสดงลิเก

ลิเก เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษา ฮิบรู ว่า ซาคูร (Zakhur) ซึ่งหมายถึง การสวดสรรเสริญพระเจ้าในศาสนายูดาย หรือยิว มาแต่โบราณหลายพันปี ต่อมาชาวอาหรับเรียกการสวดสรรเสริญพระเจ้าว่า ซิกร (Zikr) และ ซิกิร (Zikir) ผู้สวดนั่งล้อมเป็นวงโยกตัวไปมา เมื่อการสวดแพร่หลายเข้าไปในอินเดียโดยชาวอิหร่าน เรียกว่า ดฮิกิร (Dhikir) โดยมีการตีกลองรำมะนาประกอบ ครั้นการสวดแพร่มาถึงจังหวัดทางภาคใต้ของประเทศไทย ก็เรียกเป็นภาษาถิ่นว่า ดิเก (Dikay) และจิเก (Jikay) ชาวมุสลิมนำดิเกเข้ามาสู่กรุงเทพมหานคร ตอนต้นสมัยรัตนโกสินทร์ การเรียกก็เปลี่ยนเป็น ยิเก หรือ ยี่เก (Yikay) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงเรียกว่า ลิเก (Likay) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒ และใช้เรียกอย่างเป็นทางการตั้งแต่นั้นมา ส่วนคำว่า ยี่เก ยังคงใช้เรียกกันอยู่ อนึ่ง ลิเกได้ถูกเปลี่ยนชื่อตามพระราชกฤษฎีกากำหนดวัฒนธรรมทางศิลปกรรม พ.ศ. ๒๔๘๕ เป็น นาฏดนตรี และเรียกคำนี้แทนลิเกอยู่ประมาณ ๑๕ ปี ก็กลับมาเรียกว่า ลิเก เหมือนเดิมจนถึงปัจจุบัน

"ลิเก" เป็นละครผสมระหว่างการพูด การร้อง การรำ และการแสดงกิริยาท่าทางตามธรรมชาติ โดยมีวงปี่พาทย์บรรเลงประกอบ ทำนองเพลงหลักที่ใช้สำหรับร้องดำเนินเรื่อง เรียกว่า รานิเกลิง (รา-นิ-เกลิง) หรือ ราชนิเกลิง (ราด-นิ-เกลิง) ส่วนอื่น ๆ ที่ใช้สำหรับร้องรำและประกอบกิริยานำมาจากเพลงของละครรำ และเพลงลูกทุ่งซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในขณะนั้น ผู้แสดงรับบทชายจริงหญิงแท้ มีบทพูดและบทร้องตามท้องเรื่องที่โต้โผกำหนดให้ก่อนการแสดง บางครั้งมีการบรรยายเรื่องและตัวละครจากหลังเวที เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจง่ายขึ้น เนื้อเรื่องมักเป็นการชิงรักหักสวาทและอาฆาตล้างแค้นย้อนไปในอดีตหรือ

ในปัจจุบันโครงเรื่องมักซ้ำกัน จะต่างกันที่รายละเอียด การแสดงลิเกแบ่งเป็น ๓ ส่วนคือโหมโรงดนตรีเพื่อเรียกผู้ชม และให้ผู้แสดงเตรียมพร้อม ออกแขก เพื่อต้อนรับผู้ชม ขอบคุณเจ้าภาพ แนะนำการแสดงและผู้แสดง และละครที่ดำเนินเรื่องเป็นฉากสั้นๆติดต่อกันไปอย่างรวดเร็ว ลิเกมีแสดงทั้งในเวลากลางวันกลางคืน ช่วงกลางวันเริ่มแสดงตั้งแต่ ๐๙.๐๐ น. เป็นต้นไป และหยุดพักเที่ยง แล้วแสดงต่อจนถึงเวลาประมาณ ๑๖.๐๐ น. ส่วนช่วงกลางคืนเริ่มแสดงตั้งแต่ เวลา ๒๐.๐๐ น.- ๒๔.๐๐ น.

๒. ขั้นตอนการแสดงลิเก

โหมโรง

เป็นการบูชาเทพยดาและครูบาอาจารย์ พร้อมทั้งอัญเชิญท่านเหล่านั้น มาปกปักรักษาและอำนวยความสำเร็จให้แก่การแสดง นอกจากนั้น ยังเป็นการ อุ่นโรง ให้ผู้แสดงเตรียมตัวให้พร้อมเพราะใกล้จะถึงเวลาแสดง และเป็นสัญญาณแจ้งแก่ประชาชนที่อยู่ทั้งใกล้และไกล ให้ได้ทราบว่าจะมีการแสดงลิเก และใกล้เวลา ลงโรงแล้ว จะได้ชักชวนกันมาชม

โหมโรงเป็นการบรรเลงปี่พาทย์ตามธรรมเนียมการแสดงละครของไทย เพลงที่บรรเลงเรียกว่า โหมโรงเย็น ประกอบด้วย เพลงชั้นสูงหรือเพลงหน้าพาทย์ ๑๓ เพลง บรรเลงตามลำดับคือ สาธุการ ตระนิมิตร รักสามลา ต้นเข้าม่าน ปฐม ลา เสมอ เชิดฉิ่ง เชิดกลอง ชำนาญ กราวใน และวา ถ้าโหมโรงมีเวลาน้อยก็ตัดเพลงลงเหลือ ๔ เพลงคือ สาธุการ ตระนิมิตร กราวใน และวา แต่ถ้ามีเวลามากก็บรรเลงเพลงเบ็ดเตล็ดแทรกต่อจากเพลงกราวใน แล้วจึงบรรเลงเพลงวาเป็นสัญญาณจบการโหมโรง

ออกแขกเป็นการคำนับครู อวยพรผู้ชม ขอบคุณเจ้าภาพ แนะนำเรื่อง อวดผู้แสดง ฝีมือการร้องรำ และความหรูหราของเครื่องแต่งกาย เพื่อให้ผู้ชมสนใจ และเตรียมพร้อมที่จะชมต่อไป ออกแขกเป็นการเบิกโรงลิเกโดยเฉพาะการออกแขกมี ๔ ประเภทคือ ออกแขกรดน้ำมนต์ ออกแขกหลังโรง ออกแขกรำเบิกโรง และออกแขกอวดตัว

การออกแขกอวดตัว

ออกแขกรดน้ำมนต์โต้โผ คือ หัวหน้าคณะหรือผู้แสดงอาวุโสชาย แต่งกายแบบแขกมลายูบ้าง ฮินดูบ้าง มีผู้ช่วยเป็นตัวตลกถือขันน้ำตามออกมา แขกร้องเพลงออกแขกชื่อว่า เพลงซัมเซ เลียนเสียงภาษามลายู จบแล้วกล่าวสวัสดีและทักทายกันเอง ออกมุขตลกต่าง ๆ เล่าเรื่องที่จะแสดงให้ผู้ชมทราบ จบลงด้วยแขกประพรมน้ำมนต์เพื่อเป็นสิริมงคลแก่การแสดง และเป็นการอวยพรผู้ชม การออกแขกรดน้ำมนต์ไม่ค่อยมีแสดงในปัจจุบัน

ออกแขกหลังโรงโต้โผหรือผู้แสดงชายที่แต่งตัวเสร็จแล้วช่วยกันร้องเพลงซัมเซอยู่หลังฉากหรือหลังโรง แล้วจึงต่อด้วยเพลงประจำคณะ ที่มีเนื้อเพลงอวดอ้างคุณสมบัติต่าง ๆ ของคณะ จากนั้นเป็นการประกาศชื่อและอวดความสามารถของศิลปินที่มาร่วมแสดง ประกาศชื่อเรื่องและเนื้อเรื่องย่อที่จะแสดง แล้วลงท้ายด้วยเพลงซัมเซอวยพรผู้ชม

ออกแขกรำเบิกโรงคล้ายออกแขกหลังโรง โดยมีการรำเบิกโรงแทรก ๑ ชุด ก่อนลงท้ายด้วยเพลง ซัมเซอวยพรผู้ชม รำเบิกโรงนี้มักแสดงโดยลูกหลานของผู้แสดงที่มีอายุน้อย ๆ เป็นการฝึกเด็ก ๆ ให้เจนเวทีเป็นการรำชุดสั้นๆสำหรับรำเดี่ยว เช่น พม่ารำขวาน พลายชุมพล มโนห์ราบูชายัญ หรือชุดที่คิดขึ้นเอง เช่น ชุดแขกอินเดีย ในกรณีที่เป็นการแสดงเพื่อแก้บน รำเบิกโรงจะเป็นรำเพลงช้าเพลงเร็ว โดยผู้แสดงชาย - หญิง ๒ คู่ ตามธรรมเนียมของการรำแก้บนละคร ซึ่งเรียกว่า “รำถวายมือ”เมื่อจบรำเบิกโรงแล้ว ข้างหลังโรงจะร้องเพลงซัมเซอวยพรผู้ชม

ออกแขกอวดตัวคล้ายออกแขกรำเบิกโรง แต่เปลี่ยนจากรำเดี่ยวหรือรำถวาย มือมาเป็นการอวดตัวแสดงทั้งโรง ผู้แสดงทุกคนจะแต่งเครื่องลิเก นำโดยโต้โผหรือพระเอกอาวุโสร้องเพลงประจำคณะ ต่อด้วยการแนะนำผู้แสดงเป็นรายตัว จากนั้นผู้แสดงออกมารำเดี่ยว หรือรำหมู่ หรือรำพร้อมกันทั้งหมด คนที่ไม่ได้รำก็ยืนรอ เมื่อรำเสร็จแล้วก็ร้องเพลงซัมเซอวยพรผู้ชม แล้วทยอยกันกลับเข้าไป

ละครเป็นการแสดงลิเกเรื่องราวที่โต้โผซึ่งเป็นผู้เล่าเรื่องกำหนดขึ้นก่อนการแสดงเพียงเล็กน้อย แล้วเล่าเรื่องพร้อมทั้งแจกแจงบทบาทด้วยปากเปล่าให้ผู้แสดงแต่ละคนฟังที่หลังโรง ในขณะกำลังแต่งหน้าหรือแต่งตัวกันอยู่ โดยจะเริ่มต้นแสดงหลังจากจบออกแขกแล้ว โต้โผจะคอยกำกับอยู่ข้างเวทีจนกว่าเรื่องจะดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ในกรณีที่เกิดปัญหา เช่น การแสดงเชื่องช้า ตลกฝืด ตัวแสดงบาดเจ็บ โต้โผก็จะพลิกแพลงให้เรื่องดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น ผู้แสดงทุกคนต้องรู้บท รู้หน้าที่ และด้นบทร้องบทเจรจาของตนให้เป็นไปตามแนวเรื่องของโต้โผได้ตลอดเวลา

ลาโรง

เป็นธรรมเนียมการแสดงละครไทยที่มีการบรรเลงปี่พาทย์ลาโรง ผู้แสดงกราบอำลาผู้ชม โต้โผกล่าวขอบคุณผู้ชม และเชิญชวนให้ติดตามชมการแสดงคณะของตนในโอกาสต่อไป ลิเกเริ่มการแสดงเป็นละคร ด้วยฉากตัวพระเอก แต่ในระยะหลังๆนี้มักเปิดการแสดงด้วยฉากตัวโกง เพื่อให้การดำเนินเรื่องรวบรัด และฉากตัวโกงก็อึกทึกครึกโครมทำให้ผู้ชมตื่นเต้นและติดตามชมการแสดง การดำเนินเรื่องแบ่งออกเป็นฉากสั้นๆติดต่อกันไปอย่างรวดเร็ว ยิ่งดึกยิ่งใกล้จะจบ การแสดงก็ยิ่งคึกคัก ตื่นเต้น โลดโผน ตลกโปกฮา จนถึงมีฉากตลกเป็นฉากใหญ่ให้ผู้ชม ครื้นเครง แล้วรีบรวบรัดจบเรื่อง ซึ่งบางครั้งก็ไม่จบบริบูรณ์ แต่ผู้ชมก็ไม่ติดใจสงสัย

การแสดงในฉากแรกๆเป็นการเปิดตัวละครสำคัญในท้องเรื่อง ผู้แสดงจะส่งสัญญาณให้นักดนตรีบรรเลงเพลงสำหรับรำออกจากหลังเวที เช่น เพลงเสมอหรือเพลงมะลิซ้อน เมื่อรำถวายมาถึงหน้าตั่งหรือเตียงที่วางอยู่กลางเวทีก็นั่งลง หรือทำท่าถวายมือยกเท้าจะขึ้นไปนั่ง แต่กลับยืนอยู่หน้าเตียง แล้วร้องเพลงแนะนำตัวเอง และตัวละครที่สวมบทบาท พร้อมทั้งร้องเพลงขอบคุณผู้ชมและออดอ้อนแม่ยก เพลงที่ร้องเป็นเพลงไทยอัตราสองชั้นด้นเนื้อร้องเอาเอง จากนั้นเป็นการร้องเพลงลูกทุ่งยอดนิยมอีก ๑ เพลง แล้วจึงดำเนินเรื่องร้องรำและเจรจาด้วยการด้นตลอดไปจนจบฉาก เพลงที่ใช้ร้องด้นดำเนินเรื่องเรียกว่า เพลงลิเก ที่มีชื่อว่า เพลงรานิเกลิง หรือ ราชนิเกลิง เมื่อตัวแสดงหมดบทในการออกมาครั้งแรกแล้ว ก็ลาโรงด้วยการร้องเพลงแจ้งให้ผู้ชมทราบว่า ตนคิดอะไรและจะเดินทางไปไหน จากนั้นปี่พาทย์ทำเพลงเสมอให้ผู้แสดงรำออกไป

การแสดงในฉากต่อ ๆ มาผู้แสดงมักเดินกรายท่าออกมา ผู้แสดงบนเวทีหรือผู้บรรยายหลังโรงจะแจ้งสถานที่และสถานการณ์ในท้องเรื่องให้ผู้ชมทราบ แล้วจึงดำเนินเรื่องไปจนจบฉากอย่างรวดเร็ว เมื่อผู้แสดงหมดบทบาทของตนเองแล้ว ก็จะร้องเพลงด้วยเนื้อความสั้นๆ แล้วกลับออกไปด้วยเพลงเชิด ซึ่งใช้สำหรับการเดินทางที่รวดเร็ว

การแสดงในฉากตลกใหญ่ซึ่งเป็นฉากสำคัญที่ผู้ชมชื่นชอบนั้น ผู้แสดงจะเวียนกันออกมาแสดงมุขตลกต่าง ๆ โดยมีตัวตลกตามพระ คือผู้ติดตามพระเอก กับตัวโกงเป็นผู้แสดงสำคัญในฉากนี้ เนื้อหามักเป็นการที่ตัวตลกตามพระหามุขตลกมาลงโทษตัวโกง ทำให้คนดูสะใจ และพึงพอใจที่คนไม่ดีได้รับโทษตามหลักคำสอนของศาสนา ที่ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

การแสดงในฉากจบมักเป็นฉากที่ตัวโกงพ่ายแพ้แก่พระเอก ผู้แสดงเกือบทั้งหมดออกมาไล่ล่ากัน ประฝีปากและฝีมือกัน โดยในตอนสุดท้ายพระเอกเป็นฝ่ายชนะ ส่วนตัวโกงพ่ายแพ้ และได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องหนีไปหรือยอมจำนนอยู่ ณ ที่นั้น การแสดงก็จบลงโดยไม่มีการตายบนเวที เพราะถือว่าเป็นเรื่องอัปมงคล ผู้แสดงมักทำท่านิ่ง เพื่อแสดงให้ทราบว่าการแสดงจบลงแล้ว

๓. พิธีกรรมการไหว้ครูลิเก จังหวัดพิจิตร

ประวัติความเป็นมาและความสำคัญ

พ่อแก่พระฤาษี หรือบางครั้งก็เรียกกันว่า ครูฤาษี ถือเป็นบรมครูแห่งศาสตร์ของการแสดงตามตำนานกล่าวไว้ว่า พระฤาษี มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 108 องค์ ปางเสมอ เพรถือว่าเป็นปางที่มีฤทธิ์มากที่สุด ในบรรดาทั้ง 108 องค์ คำว่า ฤาษี มาจากคำว่า ฤาษี แปลว่า ผู้เห็นด้วยความรู้พิเศษอันเกิดจากฌาน ซึ่งสวามารถแลเห็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคตได้ บางครั้งก็เรียก พ่อแก่ หรือ ฤาษี ว่า “ตุริกาญชฺญ” แปลว่า ผู้รู้กาลทั้งสาม นอกจากนี้พระฤาษียังถือว่าเป็นผู้ประทานสรรพวิชาความรู้ ทั้งมวลแก่มนุษยชาติ เนื่องด้วยตำราทางโหราศาสตร์และตำราทางเทววิทยา กล่าวไว้สอดคล้องกันว่า พระพฤหัสบดี ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เป็นอาจารย์แห่งสรรพวิชาความรู้ทั้งมวล

พ่อแก่ หรือ พระฤาษี ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนในแวดวงศิลปะแขนงต่าง ๆ ล้วนนิยมเคารพนับถือบูชา เนื่องด้วยเกิดจากความเชื่อที่ว่า ในอดีตพ่อแก่หรือพระฤาษีได้เป็นผู้นำเอาศิลปะแขนงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การร้องรำ ทำเพลง หรือแม้แต่การร่ายรำ นาฎศิลป์ต่าง ๆ มาถ่ายทอดให้แก่มนุษย์ได้รับรู้ความงาม ความอ่อนช้อยของศิลปะ รู้จักความอ่อนโยน รู้จักรัก รู้จักเมตราและการให้อภัย ก่อให้เกิดความสุขแก่มวลมนุษยชาติ

ดังนั้น ศิลปิน หรือผู้เกี่ยวข้องในศิลปะทุกแขนงในประเทศไทย จึงได้เคารพบูชาพ่อแก่ หรือครูฤาษีว่าเปรียบดังบรมครูแห่งศาสตร์ของการแสดงเมื่อไหด้บูชาแล้วจะก่อให้เกิดสิริมงคล มีความเจริญก้าวหน้าในด้านการงาน มีเสน่ห์ เมตตามหานิยมในตัวนักแสดง

พระฤาษี และเครื่องหมายแห่งความกตัญญูรู้คุณอาจารย์ พ่อแก่เป็นคำสามัญใช้ในวงการโขน ละคร ความจริงคือ พระฤาษีครู และหมายรวมถึง ครูอาจารย์ทุกท่านในอดีตจนถึงปัจจุบันที่รู้จักและไม่รู้จักชื่อของท่านและเป็นเครื่องหมายแห่งความกตัญญูรู้คุณอาจารย์นาฏศิลปะ ในพิธีไหว้ครูโขน ละคร จึงนิยมปั้นหุ่น รูปพระฤาษี ครูเป็นประธานในพิธีเศียรของฤาษี จึงได้ถูกนำมากราบไหว้ สักการะบูชา เป็นที่เคารพของเหล่าศิลปิน นักแสดงทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นนักร้อง นักแสดง โขน ลิเก ลำตัด ฯลฯ โดย เศียรฤาษีจะถูกเรียกขนานนามว่าเศียรพ่อแก่ หรือเศียรครูมาจวบจนกระทั่งทุกวันนี้

วันครู

เนื่องด้วยพระอิศวรมหาเทพ ร่ายพระเวทให้ฤาษี ๑๙ ตน ป่นเป็นธุลี แล้วห่อด้วยผ้าสี แก้วไพฑูรย์ ประพรมด้วยน้ำอมฤต บังเกิดเป็นเทวราช มีสีกายดั่งแก้วไพฑูรย์ มีวิมานบูษราคัม ทรงกวางทองเป็นพาหนะ รักษาเขา พระสุเมรุด้านทิศตะวันตก มีร่างกายแสดงด้วยสัญลักษณ์ของฤาษี จึงมีปัญญาบริสุทธิ์ เฉลียวฉลาด พูดจาไพเราะเสนาะหูเป็นอาจารย์แห่งสรรพวิชาความรู้ทั้งมวลรวมถึงเป็นอาจารย์ของเหล่าเทพเทวดา จึงให้ถือว่าวันพฤหัสบดี อันแสดงด้วยสัญลักษณ์ของฤาษีเป็นวันครู จึงมีการไว้ครูกันในวันนี้ ซึ่งมีสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

ความเชื่อ

การจัดพิธีไหว้ครูนั้น มักนิยมจัดกันในวันพฤหัสบดีซึ่งถือว่าเป็นวันครูอันเกี่ยวข้องกับตำนานเทพเจ้า พระพฤหัสบดีในปัจจุบันบางครั้งก็นิยมจัดกันในวันอาทิตย์ได้อีก ๑ วัน แต่ไม่ว่าจะจัดวันพฤหัสบดีหรือวันอาทิตย์จะต้องไม่ตรงกับวันพระเพราะถือว่าครูจะไม่ลงมา และหาซื้อเครื่องสังเวยลำบาก เดือนที่นิยมกระทำพิธีไหว้ครูตามแบบโบราณนั้น นิยมประกอบพิธีในเดือนที่เป็นเลขคู่ ยกเว้นเดือน ๙ เดือนเดียวที่อนุโลมเพราะถือเป็นเคล็ดว่าเป็นเลขที่ดีก้าวหน้าและมักทำกันในวันข้างขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นวันฟู ข้างแรมอันถือว่าเป็นวันจม ไม่นิยมประกอบพิธีกัน

พิธีไหว้ครู หมายถึงการสำรวมใจ รำลึกถึงพระคุณของบรมครูที่ประสิทธิ์ประศาสตร์วิชารำลึกถึงพระคุณของบรมครูที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้แก่ศิษย์ และพร้อมใจกันเปล่งเสียงวาจาด้วยความเคารพตามครูผู้กระทำพิธีขณะอ่านโองการ พิธีครอบครูเป็นพิธีที่นิยมกันมาช้านาน หมายถึงการนำศีรษะครู มาครอบ (เพื่อรับเป็นศิษย์) และครูจะคอยควบคุมรักษา คอยช่วยเหลือให้ศิษย์มีความจำในกระบวนท่ารำ จังหวะดนตรีหากมีสิ่งใดที่ไม่งามจะเกิดขึ้นกับศิษย์ ครูจะช่วยปัดเป่าให้พ้นจากตัวศิษย์พิธีครอบครูนั้นนับว่าเป็นการทำให้ผู้เรียนมีกำลังใจว่าครูจะคุ้มครองรักษาครูจะช่วยเหลือแม้จะรำผิดพลาดไปบ้าง จะทำให้ผู้เรียนไม่ตระหนกตกใจจนเกิไปเพราะมีความเชื่อมั่นว่าตัวเองได้ทำพิธีครอบครูแล้ว ครูคงให้อภัยในความผิดพลาดอีกประการหนึ่งพิธีครอบครูนั้น ผู้ศึกษานาฎศิลป์ทุกคน ถือว่าเป็นพิธีสำคัญ และจำเป็นสำหรับผู้ศึกษาปฏิบัติท่ารำที่อยู่ในระดับสูง เช่น การรำเพลงหน้าพาทย์ก่อนจะรำ ผู้ศึกษาต้องผ่านพิธีครอบครูก่อนจึงจะต่อท่ารำได้

การไหว้ครูและครอบครู

การไหว้ครู และครอบครู เป็นการแสดงกตเวทีต่อบุพการี ครูบาอาจารย์ในพิธีการนั้น จะต้องจัดให้มีเครื่องสังเวยและครูผู้อ่านโองการตามแบบแผนส่วนใหญ่จะเลือกกระทำพิธีไหว้ครูในวันพฤหัสบดี “ประเพณีการไหว้ครู มีมาแต่โบราณคนไทยเป็นคนที่มีกตัญญูอย่างแรงกล้า และได้รับการอบรมต่อ ๆ กันมาให้เป็นผู้มีกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ การที่จะกระทำกิจการใด ๆ ก็ต้องได้รับคำแนะนำจากครู แม้แต่การเลียนแบบหรือลักจำเขามาก็ต้องเคารพผู้ให้กำเนิดหรือประดิษฐ์สิ่งนั้น ในการศึกษาศิลปะวิทยาการต่าง ต้องมีการไหว้ครูก่อนทั้งนั้น การไหว้ครู ถือว่ามีความสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการเรียนศิลปะการดนตรีและนาฎศิลป์ เป็นพิธีการที่ค่อนข้างยิ่งใหญ่และมีพิธีรีตองมากกว่าการไหว้ครูทางหนังสือ” พิธีไหว้ครู ที่ปฏิบัติกันเคร่งครัดได้แก่ พิธีไหว้ครูอาจารย์ทางดุริยางคศิลป์ และนาฎศิลป์ ถือกันว่าเพลงหน้าพาทย์ดนตรีบางเพลง และท่ารำบางท่า เป็นเพลงและท่ารำ ที่ศักดิ์สิทธิ์ ถ้ายังไม่ได้ทำพิธีไหว้ครู และพิธีครอบเสียก่อนแล้วบรรดาครูอาจารย์ทั้งหลายก็ไม่กล้าสอบ กล้าหัสให้ศิษย์ ด้วยเชื่อกันว่าจะเกิดผลร้ายแก่ครูผู้สอน และแก่ศิษย์เองด้วยถ้าเกิดอุบัติเหตุใด ๆ ขึ้น ก็จะกล่าวกันว่า “ครูแรง” เหตุนี้โรงเรียนนาฎศิลป์ของกรมศิลปากร จึงได้กำหนดงานพิธีไหว้ครูและพิธีครอบขึ้นเป็นประจำปีละครั้งในวันพฤหัสบดีซึ่งถือเป็นวันครูในตอนต้น ภาคเรียนแรกแต่ละปีการศึกษา ทำนองเดียวกับโรงเรียนต่าง ๆ พียงแต่มีพิธีไหว้ครูนาฎศิลป์และดุริยางคศิลป์เพิ่มจากไหว้ครูธรรมดาและมีพิธีครอบครูประกอบด้วย เพื่อครู ศิษย์และนักเรียนจะได้เริ่มสอนเริ่มเรียน กันไปอย่างเรียบร้อยและสบายใจ ดังนั้น สมาคมลิเกจังหวัดพิจิตร ตระหนักถึงความสำคัญของการประกอบ พิธีกรรมการไหว้ครู จึงกำหนดประกอบพิธีกรรมการไหว้ครูลิเก ในวันพฤหัสบดี ข้างขึ้น เดือน ๖ ของทุกปี

๕. ขั้นตอนพิธีกรรมการไหว้ครู

๑) จัดเตรียมสถานที่และทำความสะอาดบริเวณที่จัดให้เรียบร้อย

๒) เชิญศีรษะ ทั้งที่เป็นเทพเจ้า เทวดา ฤาษี และคนธรรพ์มาประดิษฐานเพื่อเป็นประธานตั้งไว้บนโต๊ะที่เตรียมพร้อมแล้ว

๓) จัดเครื่องสังเวย เครื่องสักการะ เครื่องกระยาบวด บายศรี ดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องสังเวยจะจัดเป็น ๓ ชุด คือ

๓.๑) ส่วนของพระมหาเทพ เทวดา นางฟ้า เป็นอาหารสุก

๓.๒) ส่วนของพระครูฤาษี พระปรคนธรรพ เป็นอาหารสุก

๓.๓) ส่วนของพระพิราพ ซึ่งเป็นเทพอสูร เป็นอาหารดิบ

๔) เชิญประธานในพิธีจุดเทียนชัยบูชาครู ผู้ประกอบพิธีอ่านโองการอัญเชิญปฐมบูรพาจารย์

๕) ดนตรีบรรเลงเพลงหน้าพาทย์แต่ละเพลงตามที่ครูผู้ประกอบพิธีจะเรียกเพลง หลังจาก ที่อ่านโองการเชิญครูแต่ละองค์

๖) ครูผู้ประกอบพิธีกล่าวถวายเครื่องสังเวย แล้วประธานและผู้ร่วมพิธีจุดธูปปักที่เครื่องสังเวยทีละ ๑ ดอก จนครบ

๗) รำถวายมือ ซึ่งนิยมรำเพลงช้า เพลงเร็ว เพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงบางเพลง เช่น ตระนิมิต ตระบองกัน คุกพาทย์ เป็นต้น

๘) ครูผู้ประกอบพิธี ทำพิธีครอบให้ศิษย์ที่มาร่วมพิธี โดยนำศีรษะครูมาครอบ

๙) ลูกศิษย์นำขันกำนล มีดอกไม้ ธูปเทียน ผ้าเช็ดหน้าขาว เงินกำนลครู ๒๔ บาท (อาจแต่งต่างกันมีตั้งแต่ ๖ บาท ๑๒ บาท ๒๔ บาท หรือ ๓๖ บาท) ผู้ที่ได้รับครอบถือว่าเป็นศิษย์ที่มีครู และในวงการนาฎศิลป์ได้รับคนผู้นี้เป็นนาฎศิลป์โดยสมบูรณ์

๑๐) กล่าวลาเครื่องสังเวย และสวดส่งอัญเชิญกลับ

๖. เครื่องสังเวย และเครื่องบูชาครู

บายศรีใบตองสด

บายศรีหลัก ๙ ขั้น บายศรีตอ บายศรีเทพ

บายศรีปากชาม บายศรีพญานาค ๓ เศียร

เครื่องสังเวยบูชาครู

หัวหมู ไก่

เป็ด หมูช่วง

ปลาซ่อนนิ่ง ขนมจีน น้ำยา

อาหารคาว หวาน เหล้าแดง

เหล้าขาว น้ำอัดลม

บุหรี่ น้ำสะอาด

เนย ข้าวตอก / ดอกไม้

ถั่ว งา

เครื่องกะยาบวช

ขนมทองหยิบ ฝอยทอง ขนมต้มแดง ต้มขาว

ขนมถ้วยฟู ขนมบัวลอย กล้าวบวชชี

ฟักทองแกงบวด เผือกแกงบวด มันแกงบวด

ผลไม้

มะพร้าวอ่อน กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า

มะม่วง ฟักเงิน ฟักทอง ส้มโอ

กล้วยเครือ มะพร้าวทะลาย องุ่น

ส้มเปลือกบาง ทับทิม แตงโม

ขนุน แอปเปิ้ล ลิ้นจี่

ทุเรียน เผือก มัน ดิบ เผือก มัน สุก

เครื่องบูชา

เทียนชัย

มาลัยกร ถวายครู

ธูปหอม / ธูปกำยาน

เทียนน้ำมนต์

พิธีครอบครู

พิธีครอบครู หมายถึง การนำศีรษะครูมาครอบ(รับเป็นศิษย์) และครูจะคอยควบคุมรักษาครูจะอยู่กับศิษย์คอยช่วยเหลือให้ศิษย์มีความจำในกระบวนการรำ จังหวะดนตรี หากมีสิ่งใดที่ไม่งามจะเกิดขึ้นกับศิษย์ ครูจะช่วยปัดเป่าให้พ้นจากตัวศิษย์ ทำให้ผู้เรียนมีกำลังใจ มีความมั่นใจมากขึ้น และพิธีครอบครูนั้น ผู้ศึกษาศิลปะทุกคนถือว่าเป็นพิธีสำคัญ และจำเป็นสำหรับผู้ที่ศึกษาปฏิบัติท่ารำที่อยู่ใรระดับสูง เช่น การรำเพลงหน้าพาทย์ ก่อนจะรำผู้ศึกษาจะต้องผ่านพิธีครอบครูก่อนจึงจะต่อท่ารำได้

การจัดตั้งหิ้งบูชา

การจัดตั้งหิ้งบูชา จะต้องหันหน้าไปทางทิศเหนือ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และทิศตะวันออกเท่านั้น ที่เหลืออีก 5 ทิศ เป็นทิศที่ไม่เป็นมงคล หิ้งบูชาควรไว้รองจากหิ้งพระพุทธรูปการจัดตั้งเครื่องสังเวยหน้าหิ้งบูชาควรจัดข้าว น้ำ ผลไม้ให้ครบ ประกอบด้วย กล้าวสุก มะพร้าวอ่อน ขนุน ขนมถ้วยฟู ต้นแดง ต้มขาว หูช้าง ขนมถั่ว ขนมงา เครื่องกระยาบวช ทั้ง 5 คือ กล้ายบวชชี ฟักทองแกงบวด เผือกแกงบวด มันแกงบวด ขนมบัวลอย จะทำรวมกันเป็นที่เดียวก็ได้ ถ้าหากมีทุเรียน ทับทิม ฟักเงิน ฟักทอง แตงไทย แกงกวา แตงโม สับปะรด จะเป็นมงคลยิ่ง โดยเฉพาะกล้ายควรใช้กล้าวน้ำไทย ถ้าหาไม่ได้ก็ใช้กล้วยน้ำว้า พิธีเช่นนี้จะขาดไม่ได้ คือ บายศรีปากชาม ถ้าหากจะทำได้มากกว่านี้ก็ยิ่งเพิ่มบารมีมากขึ้นอีก เช่น บายศรีพรหม บายศรีเทพ บายศรีตอ เป็นต้น การจัดตั้งหิ้งบูชา ถ้าหากเจตนาอัญเชิญเทพไม่ความจะมีของคาว ควรจะจัดเพิ่มให้มีนม เนย เผือก ทั้งดิบและสุก ถั่ว งา ทั้งดิบและสุก จัดให้ครบทุก ๆ พิธี จะต้องมี น้ำร้อน น้ำชา หมากพลู บุหรี่ น้ำเปล่า ตั้งเอาไว้ประจำ ไม่ต้องลา ทั้งกล้าว อ้อย มะพร้อมอ่อน ปูอาสนะด้วยผ้าขาวบริสุทธิ์ เครื่องใช้ทุกชิ้นต้องเป็นของใหม่ ทุกอย่าง

คาถาบูชาพ่อแก่

โอมมะโม พระภะระระยะ นะโมนะมะ

คันฐะมาลา สิทธานัง กะพะมานะ

สัมมาอะระหังวันทามิ

คาถาบูชาขอพรพ่อแก่

อิมัง ทุปะถูปัง พุพพะคันฐัง

ครูอาจาริยะ คุณณัง อะหังปูเชมิ

ผลไม้ที่เป็นมงคล

ขนุน ทุเรียน กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า มะพร้อมอ่อน ทับทิม ลูกอิน ลูกจัน องุ่น แตงไทย มะม่วง ลูกเกด ลูกตาล ลูกอินทผลัม แอปเปิล ลิ้นจี่ ลำไย ส้ม สัปปะรด

ผลไม้ที่ห้ามขึ้นหิ้งบูชา

ละมุด มังคุด พุทรา น้อยหน่า น้อยโหน่ง มะเฟือง มะไฟ มะตูม มะขวิด กระท้อน ลูกพลับ ลูกท้อ ระกำ ลูกจาก ลางสาด

๗.สถานที่ตั้งขององค์ความรู้:

นายทองเริ่ม กระจ่างเอี่ยม อายุ ๗๙ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๕๒/๒ ถ. เศรษฐะทัตต์ ตำบลตะพานหิน อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร เบอร์โทรศัพท์ ๐๙๙-๐๗๔๓๗๗๐

๘. คุณค่าและบทบาทของวิถีชุมชนที่มีต่อองค์ความรู้เรื่องนี้

๑)คุณค่าขององค์ความรู้ทางวัฒนธรรม

พิธีกรรมการไหว้ครูลิเก นับเป็นพิธีกรรมที่มีความสำคัญต่ออาชีพศิลปะการแสดงลิเก ที่แสดงออกถึงความการบูชาบูรพาจารย์ครั้งนี้ เป็นการแสดงความเคารพนบน้อมสักการระด้วย กาย วาจา ใจ อันเป็นวัฒนธรรมไทยแต่ดั้งเดิม นับเป็นการสืบทอดวัฒนธรรมที่ดีงามของชาติให้ยั่งยืนสืบต่อไป

๒)บทบาทของชุมชนในการสืบสาน รักษา ต่อยอด ขององค์ความรู้ทางวัฒนธรรม

สมาคมลิเกจังหวัดพิจิตร กำหนดการจัดพิธีกรรมการไหว้ครู ในวันพฤหัสบดี ข้างขึ้น เดือน 6 ของทุกปี

๙. การส่งเสริม สนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ หรือภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม

สมาคมลิเกจังหวัดพิจิตร ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงวัฒนธรรม

๙.๑ โครงการอนุรักษ์ สืบทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม จังหวัดพิจิตร ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๐ (กิจกรรมการประกอบพิธีกรรมการไหว้ครูลิเก จังหวัดพิจิตร)

๙.๒ โครงการอนุรักษ์ สืบทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม จังหวัดพิจิตร ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๑ กิจกรรมการประกอบพิธีกรรมการไหว้ครูลิเก จังหวัดพิจิตร

๑๐. สถานภาพปัจจุบัน

๑)สถานะการคงอยู่ขององค์ความรู้ :มีการปฏิบัติอย่างแพร่หลาย

๒)สถานภาพปัจจุบันของการถ่ายทอดความรู้และปัจจัยคุกคาม :สมาคมลิเกจังหวัดพิจิตร กำหนดจัดพิธีไหว้ครูลิเก วันพฤหัสบดี

๑๑. ข้อเสนอแนะ

หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ควรให้การสนับสนุนพิธีกรรมการไหว้ครูลิเกให้คงอยู่สืบไป

๑๒. ข้อมูลอ้างอิงบุคคล

๑. ชื่อ -นามสกุลนายวิรัตน์ ยื่นแก้วตำแหน่งนายกสมาคมลิเกจังหวัดพิจิตรที่อยู่เลขที่ ๒๓ ซ.ชมฐีระเวช ๑ ตำบลตะพานหิน อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตรรหัสไปรษณีย์๖๖๑๑๐ โทร ๐๙๒-๑๕๘๒๔๕๙

๒. ชื่อ-นามสกุลนายทองเริ่ม กระจ่างเอี่ยมตำแหน่งศิลปินลิเกอาวุโส ผู้ประกอบพิธีอ่านโองการที่อยู่บ้านเลขที่ ๕๒/๒ ถ. เศรษฐะทัตต์ ตำบลตะพานหิน อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตรเบอร์โทรศัพท์๐๘๑-๒๘๑๗๔๒๖

๑๓. ข้อมูลอ้างอิงอื่น ๆ

หนังสือ พิธีกรรมการไหว้ครูลิเก สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร

หนังสือ การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน “ลิเก” จังหวัดพิจิตร

สถานที่ตั้ง
สมาคมลิเกจังหวัดพิจิตร
เลขที่ 23 หมู่ที่/หมู่บ้าน - ซอย ชมฐีระเวช ถนน -
อำเภอ ตะพานหิน จังหวัด พิจิตร
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร
บุคคลอ้างอิง นางศศิรัชต์ ชูมา อีเมล์ saranrat656@gmail.com
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร อีเมล์ culture.phichit01@gmail.com
เลขที่ - หมู่ที่/หมู่บ้าน - ซอย - ถนน บุษบา
ตำบล ในเมือง อำเภอ เมืองพิจิตร จังหวัด พิจิตร รหัสไปรษณีย์ 66000
โทรศัพท์ 081 8742821 โทรสาร ุุ0 5661 2675
เว็บไซต์ www.m-culture.go.th/phichit
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่