นายประมวล มณีโรจน์ เครือข่ายศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย สาขาวรรณศิลป์
เกิด: วันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ ณ บ้านทุ่งบัว ตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา
สถานที่ปัจจุบัน : ตำบลโคกสัก อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง
ครอบครัว : บุตรของ จ.ส.ต.เพียร และนางอ้วน มณีโรจน์
อาชีพ/ตำแหน่ง : ข้าราชการบำนาญ
ความชำนาญ/ความสนใจ : บทกวี เรื่องสั้น บทความ
ผลงาน
- พ.ศ. ๒๕๒๐ เรื่องสั้นหมู่บ้านวิสามัญ
- พ.ศ. ๒๕๒๑ เรื่องสั้นว่าวสีขาว
- พ.ศ. ๒๕๒๒ บทกวีโลกในอุ้งมือ
- พ.ศ. ๒๕๒๗ บทความโลกของลุ่มทะเลสาบ
- พ.ศ. ๒๕๓๐ บ้านหลังสุดท้าย
รางวัลหรือเกียรติคุณ
- พ.ศ. ๒๕๒๐ รางวัลปากกาทอง –เดลิไทม์ เรื่องสั้น “เบื่อ”
- พ.ศ. ๒๕๒๑ รางวัลศิลปะวรรณลักษณ์ เรื่องสั้น “ทุ่งน้ำ”
- พ.ศ. ๒๕๒๓ รางวัลช่อการะเกด เรื่องสั้น “ศาลสีขาว”
- พ.ศ. ๒๕๓๙ รางวัลช่อการะเกด (ยอดนิยม) เรื่องสั้น
“ตัวสุดท้ายเดมิโน”
- พ.ศ. ๒๕๓๙ รางวัลช่อการะเกด (ยอดเยี่ยม) เรื่องสั้น
“ตัวสุดท้ายเดมิโน
ด้านการศึกษา
๑. จบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนวัดทุ่งบัว ตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา
๒. จบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๗ ที่โรงเรียนบ้านโตนดด้วน อำเภอกระแสสินธุ์
๓. จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ จากโรงเรียนชาญเวทย์ ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา
๔. ตำรวจหน่วยปราบปรามพิเศษ (นปพ.)
๕. จบการศึกษาวิทยาลัยครูสงขลา สถาบันราชภัฎสงขลา ได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ป.กศ.สูง)
๖. จบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒวิทยาเขตสงขลา (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยทักษิณ) วิชาเอกภาษาไทย วิชาโทภูมิศาสตร์ สำเร็จการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๔
ความเป็นมา
สมัยเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ประมวล เคยส่งผลงานไปลงตีพิมพ์ในหนังสือจักรวาล ถัดมาก็เป็นหนังสือของทีวี ๑๐ หาดใหญ่ คอลัมน์ "เขาเริ่มต้นที่นี่" ใน ฟ้าเมืองไทยของอาจินด์ ปัญจพรรค์ เคลิไทม์วันอาทิตย์ ในยุคของสุภาพคลี่ขจาย เขามีความใฝ่ฝันที่จะพบนักเขียนมากที่สุด แต่ก็ไม่มีโอกาสจะได้พบเพราะนักเขียนส่วนใหญ่อยู่ที่กรุงเทพฯ ในช่วงที่เขาเริ่มเขียนนวนิยาย เขาอยากพบ เศก ดุสิตและพนมเทียนมากที่สุด โดยเฉพาะพนมเทียนเป็นนักเขียนที่มีอิทธิพลต่อประมวลมากที่สุดทั้งในด้านภาษา และการวางโครงเรื่อง นักเขียนคนแรกที่เขาเจอคือ จำลอง ฝั่งชลจิตร ส่วนนักเขียนที่ทำให้เขาประทับใจมากที่สุดคือ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ผู้พิจารณาตีพิมพ์เรื่องสั้นของเขาเรื่องหนึ่ง
เรื่องสั้นที่ประมวลถือว่าได้เขียนอย่างจริงจังตีพิมพ์ในหนังสือ "หนุ่มสาว" ของ กรณ์ ไกรลาศ หรือ ปกรณ์ พงศ์วรภา โดยใช้นามแฝงว่า "รำพันพิลาป" ซึ่งกรณ์ ไกรลาส แนะนำให้ใช้ชื่อจริงด้วยเหตุผลว่านามแฝงมันเชยเหลือเกิน
นายประมวล มณีโรจน์ มีผลงานทั้งเรื่องสั้น บทกวี บทความบทความทางวิชาการและบทวิเคราะห์ ตีพิมพ์ เผยแพร์ในนิตยสาร วารสาร หนังสือพิมพ์และหนังสืออื่น ๆ มากมาย ปี พ.ศ.๒๕๓๑ สำนักพิมพ์ประภาคารได้จัดพิมพ์รวมเรื่องสั้นเล่มแรกของเขาชื่อ "หมู่บ้านวิสามัญ" โดยการรวมเรื่องสั้นที่เคยตีพิมพ์กระจัดกระจายตามนิตยสารและหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ก่อนหน้านั้น เรื่องราวส่วนใหญ่ในเรื่องสั้นของเขาเป็นการสะท้อนภาพชีวิต การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของภาคใต้เป็นการปรับใช้ข้อมูลทางคติชนวิทยาในเรื่องสั้นสมัยใหม่ ได้อย่างลงตัว ปี พ.ศ.๒๕๓๒ สำนักพิมพ์ประภาคารได้จัดพิมพ์รวมเรื่องสั้นเล่มที่สองของเขาชื่อ "ว่าวสีขาว" โดยรวบรวมเรื่องสั้นคัดสรรของเขาที่เคยตีพิมพ์เผยแพร่เช่นเดียวกับเล่มแรก และเนื้อหาของเรื่องสั้นส่วนใหญ่ก็มีลักษณะเดียวกันกับเรื่องสั้นใน "หมู่บ้านวิสามัญ"
ปี พ.ศ.๒๕๒๕ สอบบรรจุเป็นข้าราชการครูโรงเรียนบ้านขอนหาด ตำบลขอนหาด อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ต่อมาสอบโอนไปเป็นข้าราชการครูในสังกัดกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนกงหราพิชากร อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง อยู่ที่นั่นประมาณ ๑๐ปี จึงย้ายไปอยู่ที่โรงเรียนตะโหมด อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง
ด้านบทความทางวิชาการ บทวิเคราะห์ทางวรรณกรรมและสังคม ประมวลเป็นผู้สนใจเกี่ยวกับประวัติชุมโจรในจังหวัดพัทลุง ได้ทุ่มเทศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่หลายปี โดยการตระเวนเก็บข้อมูลจากหลายท้องที่ แล้วนำเสนอออกมาเป็นบทความชื่อ "โจรพัทลุง-กรณีตำนานโจรแห่งตำบลดอนทรายความแรงของลมฝนย่อมเกี่ยวเนื่องกับเมฆหมอกแห่งฤดูกาล"ตีพิมพ์ในวารสาร "ทักษิณคดี" ของสถาบันทักษิณคดีศึกมหาวิทยาลัยทักษิณ ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๑ มิถุนายน -กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๗ เขายังมีบทความบทสัมภาษณ์ตีพิมพ์เผยแพร่ในนิตยสาร วารสารต่าง ๆ อีกมาก เช่น ถนนหนังสือ ไรเตอร์ โลกหนังสือ เป็นต้น