ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 7° 37' 5.9999"
7.6183333
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 4' 23.9999"
100.0733333
เลขที่ : 194357
พิธีกรรม : ทำบุญทวดเพลา
เสนอโดย พัทลุง วันที่ 9 กันยายน 2564
อนุมัติโดย พัทลุง วันที่ 5 มกราคม 2566
จังหวัด : พัทลุง
0 365
รายละเอียด

พิธีกรรม : ทำบุญทวดเพลา

ทวดเพลา หรือ ตาเพลา เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สิงสถิตประจำหนังสือเพลา ซึ่งชาวบ้านตำบลหานโพธิ์ ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ให้ความเคารพนับถือ และมีความเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ สามารถดลบันดาลให้ทั้งคุณและโทษแก่ชาวบ้านได้ จึงทำให้เกิดมีประเพณีทำบุญทวดเพลาขึ้นในวันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๖ ของทุกปี เพื่อเป็นการบวงสรวงให้ทวดเพลาคุ้มครองภัยอันตรายทั้งปวงแก่ผู้นับถือ ซึ่งได้ถือปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยโบราณสืบต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน

"เพลา" เดิมเป็นชื่อหนังสือและชื่อกระดาษชนิดหนึ่งที่จารเรื่องราวเกี่ยวกับตำนานวัด ตำนานเมือง กัลปนาวัด และพระราชกำหนด ซึ่งพระมหากษัตริย์ในอดีตได้ทรงโปรดเกล้าฯพระราชทานให้กับวัดต่างๆ ในภาคใต้ เช่น พระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้ทรงพระราชทานหนังสือเพลาหรือกัลปนาให้วัดพระบรมธาตุไขยาวรวิหาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช วัดพะโคะ และวัดจะทิ้งพระ จังหวัดสงขลา วัดเขียนบางแก้ว และวัดสะทัง จังหวัดพัทลุง เป็นต้น หนังสือเพลาเหล่านี้ในแต่ละวัดจะมีหัวหน้าข้าพระเป็นผู้เก็บรักษาดูแล เรียกว่า "ผู้ถือเพลา" หรือ "ผู้รักษาเพลา" ด้วยเหตุที่หนังสือนี้ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์จึงเปรียบเสมือนตัวแทนของพระองค์ และถือว่าเป็นหนังสือศักดิ์สิทธิ์ ทำให้ต้องปฏิบัติต่อหนังสือเพลาเสมือนปฏิบัติต่อองค์พระมหากษัตริย์ เช่น การนำหนังสือเพลาออกมาอ่าน ผู้ถือเพลาจะนำเพลาทูนศีรษะกั้นร่มหรือฉัตร และถวายบังคมสามครั้งจึงเปิดอ่านได้ เป็นต้น

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้ทรงยกเลิกการพระราชทานกัลปนาวัด หนังสือเพลาส่วนหนึ่งได้ตกอยู่ที่ผู้ถือเพลา จนกระทั่งเมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้เสด็จตรวจราชการหัวเมืองปักษ์ใต้ ได้พบหนังสือเพลาที่เมืองนครศรีธรรมราชเมืองสงขลา และเมืองพัทลุง ได้ทรงเก็บรวบรวมหนังสือดังกล่าวไปไว้ที่หอพระสมุดวชิรญาณ (หอสมุดแห่งชาติ) กรุงเทพฯ ด้วยเหตุนี้ผู้ถือเพลาและทายาทที่สืบต่อๆ มา ยังมีความเชื่อว่าหนังสือเพลาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีวิญญาณเทพารักษ์หรือหวงสิงสถิตอยู่ แม้หนังสือเพลาจะถูกเก็บไปหมดแล้ว แต่ความเชื่อที่ว่าทวดเพลาจะเป็นผู้คุ้มครองผู้ถือเพลาและทายาทยังมีความผูกพันอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เกิดพิธีทำบุญทวดเพลาขึ้นในวันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๖ ของทุกปีดังกล่าวแล้ว

การทำบุญทวดเพลาที่กำหนดจัดพิธีในวันแรม ๒ คำเดือน ๖ ก็เพื่อให้สืบเนื่องกับการสมโภชพระมหาธาตุเจดีย์วัดเขียนบางแก้ว ตำบลจองถนน ซึ่งได้กำหนดในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ ถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๖ ของทุกปี แต่เดิมพิธีทำบุญทวดเพลามีอยู่หลายแห่ง โดยกำหนดให้เป็นไปตามสถานที่อยู่ของผู้ถือเพลาและทายาทที่สืบต่อๆ มา เช่น บ้านสะทัง ตำบลหานโพธิ์ บ้านพรุ ตำบลจองถนน บ้านทุ่งแซะ ดำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง เป็นต้น ปัจจุบันมีการทำบุญทวดเพลาเพียงแห่งเดียวที่บ้านของนางลอย คชปักษี อายุ ๘๕ ปี (พ.ศ.๒๕๓๙) บ้านเลขที่ ๑๗ บ้านพรุ ตำบลจองถนน ซึ่งอยู่ห่างจากวัดเขียนบางแก้วไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร นางลอย คชปักษี ได้เล่าให้ฟังว่านางมีบรรพบุรุษเป็นผู้ถือเพลาวัดเขียนบางแก้ว เท่าที่จำได้เดิมมีนายอ้นกับนางสุขเป็นผู้ถือเพลา ต่อมาได้มีข้าหลวงมาจากเมืองนครศรีธรรมราชได้นำหนังสือเพลาทั้งหมดไปจากนายอ้น ๑๒ ฉบับ ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่า "เพลา ๑๒ ชา" (น่าจะตรงกับสมัยที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพนำหนังสือเพลาเข้าไปกรุงเทพฯ ดังกล่าวแล้ว) นายอันได้เป็นผู้ทำพิธีทำบุญทวดเพลามาทุกปี จนเมื่อนายอ้น-นางสุข ถึงแก่กรรมนางนุ่ม-นายไข่ พรมมณี ผู้เป็นบุตรได้สืบทอดการทำบุญทวดเพลามาทุกปี เมื่อทั้งสองถึงแก่กรรมนางลอย-นายชู คชปักษีผู้เป็นบุตรก็ได้สืบทอดพิธีทำบุญทวดเพลามาจนปัจจุบันการทำบุญทวดเพลา นางลอย คชปักษี จะเป็นผู้นิมนต์พระสงฆ์ จำนวน (๕ รูป มาทำพิธีที่บ้าน โดยจัดเครื่องประกอบพิธีประกอบด้วย บายศรี ข้าวตอก ขนมพอง-ลา ขนมโค หรือตั้งเครื่อง ๑๒ บูชาด้วยธูป เทียน ดอกไม้ เริ่มพิธีโดยญาติพี่น้องทุกคนมานั่งรวมกันหน้าโต๊ะหมู่บูชา มีหมอไสยศาสตร์เป็นผู้กล่าวบูชาชุมนุมเทวดา ไหว้สัสดีอัญเชิญทวดเพลามารับเครื่องสังเวย หลังจากนั้นพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ให้พรเพื่อเป็นสิริมงคล และให้ทวดเพลาคุ้มครองบุตรหลาน ญาติที่น้องเมื่อพระสงฆ์สวดจบจะมีเทศนา ๑ กัณฑ์ แล้วจึงนิมนต์พระสงฆ์ฉันภัตตาหารเพลเป็นอันเสร็จพิธีทำบุญทวดเพลา แต่ปัจจุบันการทำบุญทวดเพลาไม่นิยมนิมนต์พระสงฆ์มาสวด มีเพียงหมอไสยศาสตร์ เป็นผู้ประกอบพิธีเท่านั้น

คำสำคัญ
ทำบุญทวดเพลา
สถานที่ตั้ง
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง
ถนน ราเมศวร์
ตำบล คูหาสวรรค์ อำเภอ เมืองพัทลุง จังหวัด พัทลุง
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่ม ๗ (๓๓๙๖).กรุงเทพ.บริษัท สยามเพรส แมเนจเม้นท์ จำกัด.
บุคคลอ้างอิง นางสาวจำลองลักษณ์ รอดเนียม อีเมล์ culture-phatthalung@hotmail.com
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง
ถนน ราเมศวรร์
ตำบล คูหาสวรรค์ อำเภอ เมืองพัทลุง จังหวัด พัทลุง รหัสไปรษณีย์ 93000
โทรศัพท์ ๐๗๔๖๑๗๙๕๘ โทรสาร ๐๗๔๖๑๗๙๕๙
เว็บไซต์ https://www.m-culture.go.th/phatthalung/main.php?filename=index
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่